พระธรรมเทศนา "ธัมมัสสวนกถา" ตอน ๑

วันที่ 22 กพ. พ.ศ.2546

 

.....พระธรรมราชานุวัตร หรือที่มักเรียกกันว่า "หลวงเตี่ย" พระเถระผู้มีความรู้ ลึกซึ้งกว้างขวาง ทั้งในด้านงานเขียนหนังสือ และแสดงพระธรรมเทศนา ด้วยภาษาที่สละสลวย เข้าใจง่าย อีกทั้งประวัติและผลงานของท่านที่ฝากเอาไว้ล้วนเป็นแบบอย่างของคนดี และพระดี ควรแก่การรับรู้และเข้าไปศึกษานำไปเพื่อปฏิบัติอย่างยิ่ง และจากโอกาสเนื่องในงานออกเมรุพระราชทานเพลิงศพที่ผ่านมา ผลงานของท่านส่วนหนึ่งได้รวบรวมจัดพิมพ์ขึ้นเป็น "โกวิทานุสรณ์" เพื่อจะให้เป็นประโยชน์ ในการสืบทอดงานของท่าน เป็นวิทยาทานที่ทรงคุณค่าสืบไป

 

.....ในภาระหน้าที่งานเผยแผ่ พระพุทธศาสนาทางหนึ่งนั้น หลวงเตี่ยเคยทำหน้าที่เป็นพระธรรมกถึก เทศน์ทางสถานีโทรทัศน์ และสถานีวิทยุกระจายเสียง ในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา และ "ธัมมัสสวนกถา" นี้ท่านได้แสดงไว้เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์เป็น พระรัตนเวที วัดพระเชตุพน แสดง ณ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งพระเทศไทย วันที่ ๙ กรกฏาคม พ.ศ.๒๕๑๑ เวลา ๑๘.๐๐ น.

 

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ ฯ

สุตวา จ โข ภิกขเว อริยสาวโก อกุสลัง ปชหติ กุสลัง ภาเวติ

สาวัชชัง ปชหติ อนวัชชัง ภาเวติ สุทธมัตตานัง ปริหรตีติฯ

 

.....บัดนี้จักแสดงพระธรรมเทศนาในมงคลสูตรข้อที่ ๒๖ ว่าด้วยการฟังธรรมตามกาลเป็นอุดมมงคล เป็นการสืบอนุสนธิพระธรรมเทศนา เพื่อเป็นเครื่องประดับปัญญา ความรอบรู้ ประคับประคองสติความระลึกได้ และเพิ่มพูนศรัทธาปสาทะความเลื่อมใสแห่งสาธุชนให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป

 

.....มนุษย์เราทุกคนต่างมีอายตะเครื่องติดต่อกับสิ่งภายนอกคือ ตาสำหรับติดต่อดูรูป หูฟังเสียง จมูกดมกลิ่น ลิ้นลิ้มรส กายรับการสัมผัส ใจรับอารมณ์ต่าง ๆ ในอายตนะเครื่องติดต่อทั้ง ๖ อย่างนี้ ตากับหู เป็นอวัยวะที่ต้องมีหน้าที่รับติดต่ออยู่ตลอดเวลา แล้วส่งต่อไปยังอวัยวะอื่น ๆ เพื่อกรองอีกครั้งหนึ่ง เปรียบเหมือนผู้รับข่าว แล้วส่งให้เจ้าหน้าที่กรองข่าวฉะนั้น หู ซึ่งมีหน้าที่ฟังนั้น ต้องฟังให้ดี ถ้าฟังไม่ดีก็เรียกกันว่า หูหาเรื่อง การฟังจึงเป็นมูลฐานสำคัญอย่างหนึ่ง ความเป็นไปของโลกในปัจจุบันนี้ บังคับให้คนต้องศึกษาแสวงหาความรอบรู้เพื่อความสวัสดีในการดำรงชีวิต ผู้รับความเจริญจึงต้องใส่ใจในการอ่านหนังสือต่าง ๆ โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ประจำวัน และฟังข่าววิทยุ การอ่านหนังสือก็ดี การฟังวิทยุก็ดี มีทั้งเรื่องดีและไม่ดี จึงก่อให้เกิดอารมณ์รัก อารมณ์ชัง เป็นเหตุให้กิเลสคือความโลภ โกรธ หลง เพิ่มพูนขึ้น พระพุทธเจ้าผู้เป็นพระบรมศาสดา เมื่อทรงตอบปัญหากับเทวดาถึงเหตุแห่งความเจริญอย่างยิ่งสำหรับชีวิต จึงตรัสการฟังธรรมว่าเป็นอุดมมงคลประการหนึ่ง

 

.....กุศลเจตนาอันบังเกิดขึ้นทำลายเสียซึ่งความฟุ้งซ่าน เป็นต้นแล้วดำรงจิตให้ใคร่ อยู่แต่ในประโยชน์ทั้งสดับพระธรรมโดยเคารพ ชื่อว่า ธรรมสวนะ การสดับพระธรรม คำว่าพระธรรมนั้นมีปริยายเป็นเอนกประการ ที่ประสงค์ในที่นี้ก็คือสวากขาตธรรม อันสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสชอบแล้ว เป็นกุศลปักษ์ฝ่ายข้างดีซึ่งให้ธรรมจารีประสบอิฎฐผลวิบากสุข เป็นสันทิฎฐิกะเห็นผลแห่งการประพฤติธรรมนั้นได้ด้วยตนเอง ไม่จำเป็นต้องมีบุคคลอื่นมาชี้แจงบอกเล่า เป็นกาลิก คือให้ผลไม่นิยมกาลฤดู ปฏิบัติคราวใดผลย่อมเกิดได้โดยทันที เป็นเอหิปัสสิกะ อาจท้าหรือชวนคนอื่นให้ดูได้ เป็นโอปนยิกะ คืออาจนำเข้ามาไว้ในหัวใจเป็นนิตยกาล เป็นปัจจัตตัง คือวิญญูชนทราบได้เฉพาะนี้จัดเป็นธรรมอันควรฟังอย่างหนึ่ง ธรรมนั้นเป็นของมีอยู่โดยธรรมชาติ ไม่มีผู้แสดงก็เหมือนของที่คว่ำอยู่ ยากที่จะแพร่หลายทั่วสกลโลกได้ พระพุทธเจ้าทรงวิจารณปัญญาค้นหาสิ้นกาลช้านาน เมื่อพระญาณปรีชาแก่กล้าแล้ว ทรงตรัสรู้พระธรรมโดยลำพังพระองค์ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในเพราะเหตุนี้ ในบุรพภาค ทรงทอดอาลัยไม่ทรงดำริจะสอนบรรดาสาวกเพราะทรงเห็นว่า สัตว์ทั้งหลายต้องมีธรรมวิจัยจริง ๆ จึงจะรู้ได้ตลอดไปในสรรพธรรม แต่หากทรงพระกรุณาในสรรพสัตว์ผู้มีปัญญาสุขุมก็มีอยู่ในอปรภาค จึงทรงแสดงแก่พระสาวกแลพระสาวกที่เรียกว่าอนุพุทธนั้น ได้เที่ยวจาริกประกาศพระธรรมในนานาประเทศ ประชาชนได้บรรลุมรรคผลมีจำนวนมาก ปัจฉิมชนที่เป็นพุทธมามกะได้นิยมการฟังธรรมเป็นอาจิณ มูลเหตุเป็นมาอย่างนี้ การฟังธรรมจึงเป็นที่นิยมของพุทธศาสนิกชน

(อ่านต่อฉบับวันเสาร์ที่ ๑ มีนาคม ๒๕๔๖)

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0066764672597249 Mins