ปัญหาและอุปสรรคของบ้านกัลยาณมิตร

วันที่ 02 สค. พ.ศ.2553


 

.....จากหัวข้อต่าง ๆ เกี่ยวกับบ้านกัลยาณมิตรที่กล่าวมาแล้วทั้งหมด จะเห็นได้ว่า การเปิดบ้านกัลยาณมิตรย่อมมีคุณค่ามหาศาลต่อการครองชีวิตของแต่ละคน ๆ ต่อครอบครัว และต่อสังคมโดยรวม

 

   บุคคลที่เป็นตัวจักรสำคัญ ที่ทำให้บ้านกัลยาณมิตรขับเคลื่อนไปได้จนประสบความสำเร็จ ก็คือคู่สามีภรรยาที่ทำหน้าที่พ่อแม่ของลูก มีคุณสมบัติของคนดีที่โลกต้องการครบบริบูรณ์ทั้ง ๔ ประการ มีลักษณะของกัลยาณมิตรอย่างแท้จริง ประกอบกับมีเจตนามุ่งมั่น ที่จะใช้กิจกรรมของบ้านกัลยามิตร เป็นเวทีฝึกลูกของตนให้เป็นคนดีที่โลกต้องการและเป็นกัลยาณมิตร

 

 แท้ที่จริงการที่แต่ละครอบครัวจะเปิดบ้านกัลยาณมิตรนั้นไม่ใช่ของง่ายนักในระยะเริ่มต้น แต่ก็ไม่ใช่เรื่องสุดวิสัยสำหรับผู้ที่มีความตั้งใจจริง

 

   ถ้าคู่สามีภรรยาซึ่งเป็นผู้เปิดบ้านกัลยาณมิตร สามารถเอาชนะปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ได้ โครงการบ้านกัลยาณมิตรของเขาและเธอย่อมจะประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน

 

ต่อไปนี้คือ ตัวอย่างประกอบของปัญหาและอุปสรรค

 

๑. คู่สามีภรรยาที่เปิดบ้านกัลยาณมิตร มีคุณสมบัติของคนดีที่โลกต้องการไม่ครบบริบูรณ์ทั้ง ๔ ประการ ทั้งมีลักษณะกัลยาณมิตรไม่คงเส้นคงวา

 

๒. แม้คู่สามีภรรยาจะเชื่อมั่นในคุณค่าอันประเสริฐของพระพุทธศาสนา แต่มีความรู้เกี่ยวกับหลักธรรมสำคัญในพระพุทธศาสนาน้อยเกินไป จึงไม่สามารถนำมาปรับใช้แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในครอบครัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

๓. คู่สามีภรรยา มี ทิฏฐิ ศีล ตลอดจนศรัทธาในพระพุทธศาสนาไม่เสมอกัน การจัดกิจกรรมบ้านกัลยาณมิตร อาจจะเข้มแข็งเฉพาะในระยะแรก ครั้นนานไปก็จะย่อหย่อน อ่อนล้าลง ขาดความกระตือรือร้นเข้าทำนองไฟไหม้ฟาง ในที่สุดก็จะเลิกทำกิจกรรมกันไปเลย ซึ่งอาจจะมีผลทำให้ลูกเสื่อมศรัทธาในธรรมะไปด้วย

 

๔. ภาระหน้าที่ในการประกอบอาชีพของคู่สามีภรรยา จะเป็นอุปสรรคสำคัญอย่างหนึ่งในการทำกิจกรรมของสมาชิกในครอบครัวโดยพร้อมเพรียงกัน ตามเวลาที่กำหนด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคู่สามีภรรยาที่มีประสบการณ์ภายในเกี่ยวกับการเจริญภาวนาอยู่ในระดับต่ำ

 

๕. ครอบครัวที่เริ่มเปิดบ้านกัลยาณมิตร เมื่อลูก ๆ โตเกินวัยประถมต้นไปแล้ว อาจจะมีปัญหาในการชักชวน แนะนำ โน้มน้าวลูก ๆ เข้าร่วมกิจกรรมประจำทุกวัน

 

๖. รายการโทรทัศน์ภาคค่ำจะเป็นอุปสรรคสำคัญอย่างหนึ่ง ต่อการที่จะดึงสมาชิกทุกคนในครอบครัวมาปฏิบัติกิจกรรมพร้อม ๆ กัน

 

๗. ญาติผู้ใหญ่ เช่น ปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา แม้เพียงคนใดคนหนึ่งที่มาอยู่กับครอบครัว อาจเป็นได้ทั้งตัวปัญหาอุปสรรค หรือเป็นผู้ส่งเสริมการทำกิจกรรมของบ้านกัลยาณมิตร ทั้งนี้ขั้นอยู่กับคุณสมบัติเฉพาะตัวของญาติแต่ละคนที่มาอยู่กับครอบครัว

 

๘. บรรดาลูก ๆ ที่อยู่ในวัยรุ่น ถึงแม้จะเคยร่วมกิจกรรมของบ้านกัลยาณมิตรมาแต่เล็กแต่น้อย ก็อาจจะเปลี่ยนแปลงเป็นการแสดงความเบื่อหน่ายไม่อยากเข้าร่วมกิจกรรมดังเช่นเคย ถ้าเขาไปคบหาสมาคมกับเพื่อนที่โรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา ที่ไม่ศรัทธาในพระพุทธศาสนา และถ้าพ่อแม่รู้สึกอิดหนาระอาใจกับพฤติกรรมเช่นนั้นของลูก ๆ ไม่เคี่ยวเข็ญลูก ๆ ให้ปรับตัวปรับใจเสียใหม่ การเปิดบ้านกัลยาณมิตรของครอบครัวนี้ย่อมไม่ประสบผลสำเร็จ

 

๙. พระธรรมคำสั่งสอนจำนวนมากมายถึง ๘๔, ๐๐๐ พระธรรมขันธ์ เมื่อรวมสรุปลงเป็นภาคปฏิบัติในชีวิตประจำวัน สำหรับฆราวาสแล้วก็จะมีเพียง ๓ เรื่อง คือ ทาน ศีล และภาวนา ซึ่งมีคำศัพท์เรียกโดยเฉพาะว่า “ บุญกิริยาวัตถุ ๓ “ การปฏิบัติบุญกิริยาวัตถุ ๓ เป็นประจำวัน จะสามารถตอกย้ำความรู้ความเข้าใจในพระพุทธศาสนา ให้มั่นคงอยู่ในจิตใจพุทธศาสนิกยิ่ง ๆ ขึ้น ไป แต่ถ้าบ้านกัลยาณมิตรเพียงแต่ชักนำส่งเสริมให้สมาชิกในครอบครัว ปฏิบัติบุญกิริยาวัตถุ ๓ โดยไม่มีการให้ความรู้ด้านพระธรรมวินัยเท่าที่ควร สมาชิกก็อาจจะยังไม่เกิดปัญญาสามารถนำความรู้และประสบการณ์จากการปฏิบัติกิจกรรม มาปรับใช้ในชีวิตจริงได้ ถ้าเป็นเช่นนั้น โครงการบ้านกัลยาณมิตรก็ยากที่จะประสบความสำเร็จ

 

๑๐. ครอบครัวที่ประสบความสำเร็จ ในการเปิดบ้านกัลยาณมิตรที่ทายาทสืบสกุลเป็นคนดีที่โลกต้องการ มีลักษณะกัลยาณมิตรอย่างครบถ้วน ประสบความสำเร็ตในการประกอบอาชีพการงาน แต่ถ้าทายาทเหล่านั้นเมื่อแต่งงานมีครอบครัวไปแล้ว ไม่เปิดบ้านกัลยาณมิตร เพราะมีความคิดว่าการฝึกอบรมให้ลูก ๆ ของตนเป็นคนดี ไม่ใช่เรื่องยากเย็น อะไรเพราะตนเองซึ่งเป็นพ่อแม่เป็นคนดีอยู่แล้ว หรือจะเป็นเพราะมีเหตุผลอื่นใดก็ตาม วงจรกัลยาณมิตรของตระกูลก็อาจจะจบอยู่ที่รุ่นลูกของตน ไม่มีสืบต่อไปถึงรุ่นหลาน เข้าทำนองตระกูลเศรษฐีตั้งอยู่ไม่นาน อาจจะล่มสลายลงแค่เพียงสองสามชั่วคนเท่านั้น

 

   แท้ที่จริง คตินิยม ในเรื่องกิจกรรมบ้านกัลยาณมิตรนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่เคยมีมาแล้วแต่ครั้งบรรพบุรุษไทยสมัยโบราณกาล เพราะวิถีชีวิตไทยผูกพันอยู่กับวัดและพระพุทธศาสนา ผู้คนต่างทำกิจกรรมเกี่ยวกับธรรมะทั้งที่บ้านและที่วัดเป็นประจำ ดังจะเห็นจากเรื่องราวและร่องรอยในประวัติศาสตร์ชาติไทยว่า มีชุมชนที่ไหน ต้องมีวัดที่นั่น อีกทั้งวัดยังเป็นทั้งโรงเรียน และสถาบันแห่งศาสตร์ทั้งปวง

 

   ดังนั้น พระธรรมคำสั่งสอนในพระพุทธศาสนา รวมทั้งพระสงฆ์จึงมีอิทธิพลต่อทัศนคติ วัฒนธรรม ตลอดจนบุคลิกภาพของชาวพุทธไทยสืบทอดกันมาเป็นเวลายาวนาน เป็นที่ปรากฏต่อสายตาชาวโลกว่าคนไทยยิ้มง่าย ใจดี มีเมตตากรุณา น่ารัก แต่วัฒนธรรมทางจิตใจอันดีงามเหล่านี้กำลังจะหมดไป เพราะคนรุ่นใหม่ไม่ได้รับการปลูกฝังให้เกิดความเข้าใจซาบซึ้งอย่างแท้จริง จึงหันไปชื่นชมยึดถือวัฒนธรรมและวิถีชีวิตแบบตะวันตก ที่หลั่งไหลเข้ามาสู่ประเทศไทย พร้อมกับวิทยาการและเทคโนโลยีสมัยใหม่
 
 
 
 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0014246503512065 Mins