ข้อคิดจากชาดก
นันทชาดก
ชาดกว่าด้วยความมานะถือตัว
สถานที่ตรัสชาดก
เชตวันมหาวิหาร นครสาวัตถี
สาเหตุที่ตรัสชาดก
พระสารีบุตร พระอัครสาวกเบื้องขวา ท่านมีลูกศิษย์มากมาย และเอาใจใส่สั่งสอน ลูกศิษย์อย่างดี ส่วนศิษย์ก็มีความเคารพท่านอย่างยิ่ง อยู่มาคราวหนึ่ง พระสารีบุตรได้ทูลลาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในที่ห่างไกล โดยมีพระภิกษุผู้เป็นศิษย์ซึ่งมีความประพฤติเรียบร้อย ติดตามไปรับใช้ด้วย
ครั้นถึงเขตชนบทแล้ว ศิษย์ผู้เรียบร้อยผู้นี้กลับประพฤติตนผิดจากเดิม คือมีท่าทีกระด้างกระเดื่อง ไม่เชื่อฟัง พระสารีบุตรเห็นผิดสังเกต และแม้ได้สำรวจตนเองแล้ว ก็หาได้พบข้อบกพร่องประการใดไม่ จึงได้แต่เก็บความสงสัยไว้
เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจแล้ว ท่านจึงได้เดินทางกลับ เมื่อกลับมาถึงเชตวันมหาวิหารอีกครั้ง ศิษย์ผู้นี้กลับมีนิสัยอ่อนโยน สร้างความแปลกใจให้ท่านเป็นมาก เพราะท่านเองก็มิได้ประพฤติตนผิดไปจากเดิม
เมื่อพระสารีบุตร จึงกราบทูลเรื่องศิษย์ผู้นี้ให้พระบรมศาสดาทรงทราบ พระพุทธองค์ทรงระลึกชาติด้วยบุพเพนิวาสานุสติญาณ แล้วตรัสว่า “ดูก่อนสารีบุตร มิใช่แต่ปัจจุบันเท่านั้นที่ภิกษุรูปนี้ประพฤติตนดังที่กล่าวมา แม้ในชาติก่อน เมื่ออยู่ในที่แห่งหนึ่ง ก็ทำตัวราวกับทาสที่เขาไถ่มาด้วยเงิน ๑๐๐ กหาปณะ แต่ครั้นไปอยู่อีกที่หนึ่ง กลับทำตัวเป็นศัตรูกับนายเสีย” แล้วนำ นันทชาดก มาตรัส ดังนี้
เนื้อหาชาดก
ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตครองกรุงพาราณสี มีชายชราฐานะร่ำรวยคนหนึ่งมีภรรยาสาวรุ่น ทั้งสองมีบุตรชายคนหนึ่ง
วันหนึ่ง ชายชราคิดคำนึงถึงตนเองว่า อายุมากแล้ว นึกเป็นห่วงลูกที่กำลังเติบโต จึงคิดนำฝังสมบัติไปเก็บไว้ให้ลูก จึงเรียกนายนันทะ ทาสซึ่งตนไว้วางใจที่สุดมาหา แล้วชวนกันไปฝังสมบัติในป่า
ต่อมาไม่นาน ชายชราได้สิ้นชีวิตลง ฝ่ายภรรยาก็เลี้ยงดูลูกน้อยจนกระทั่งเติบใหญ่ วันหนึ่ง นางได้กล่าวกับลูกว่า จงไปขุดทรัพย์สมบัติที่พ่อฝังไว้ นำมาสร้างฐานะในภายหน้าเถิด ชายหนุ่มจึงไปหานายนันทะ เพื่อขอให้พาไปยังที่ฝังสมบัติ
นายนันทะรีบกุลีกุจอนำจอบเสียมไปยังป่าที่ฝังสมบัติไว้ แต่พอไปถึงที่ที่ฝังสมบัติกลับ หันมาตะคอกชายหนุ่ม พูดจากระทบกระเทียบต่างๆ นานา ชายหนุ่มเห็นท่าไม่ดี จึงชวนกลับบ้าน ครั้นถึงบ้านแล้ว นายนันทะกลับพูดจาอ่อนโยนเหมือนเดิม
ต่อมาอีกสองสามวัน ชายหนุ่มเห็นนายนันทะมีอารมณ์ดี จึงชวนไปขุดสมบัติในป่าอีก นายนันทะรีบไปด้วยความเต็มใจ ครั้นไปถึงที่ฝังทรัพย์ กลับพูดจาหยาบคาย โยนจอบโยนเสียมทิ้ง ชายหนุ่มจึง ได้แต่ชวนกลับบ้านเช่นคราวก่อน ชายหนุ่มมีความแปลกใจยิ่งนัก พลันนึกถึงเพื่อนเก่าของพ่อ ซึ่งเป็นที่นับถือว่าเป็นบัณฑิต จึงไปหาแล้วเล่าเรื่องทั้งหมดให้ฟัง
บัณฑิตผู้เฒ่าสืบสาวราวเรื่องแล้ว พอจะเข้าใจได้ว่านายนันทะผู้เป็นทาสนี้ เมื่อไปถึงที่ฝังทรัพย์คงเกิดมานะถือตัวว่าตนผู้เดียวเท่านั้นที่รู้ที่ฝังทรัพย์ นายจะต้องพึ่งพาอาศัยตน เพราะความลำพองใจจนลืมตัวเช่นนี้ จึงกล่าววาจาข่มขู่นาย แต่ครั้นมาถึงบ้านที่ตนอาศัยเขาอยู่อย่างทาสรับใช้ ก็บังเกิดความคุ้นเคย แสดงตนเป็นทาสดังเดิม
คิดดังนี้แล้ว บัณฑิตเฒ่าจึงกล่าวกับชายหนุ่มว่า “หลานเอ๋ย หากนายนันทะบุตรของนางทาสี ยืนกล่าวคำหยาบอยู่ตรงไหน ตรงนั้นแหละเป็นที่ฝังทรัพย์สมบัติของพ่อเจ้า”
วันรุ่งขึ้น ชายหนุ่มจึงชวนนายนันทะเข้าป่าไปขุดสมบัติอีก เมื่อไปถึง นายนันทะก็ด่าว่าเช่นเดิม แต่คราวนี้ ชายหนุ่มออกคำสั่งให้นายนันทะขุดสมบัติ ณ ที่นั้น เมื่อขุดขึ้นมาได้แล้ว จึงสั่งให้นันทะแบกกลับบ้าน ซึ่งเมื่อนายนันทะกลับมาถึงบ้าน ก็กลายเป็นคนสุภาพอ่อนโยนเช่นเคย
ประชุมชาดก
นันททาส ได้มาเป็นพระภิกษุลูกศิษย์
ชายหนุ่ม ได้มาเป็นพระสารีบุตร
บัณฑิตเฒ่า ได้มาเป็นพระพุทธองค์
ข้อคิดจากชาดก
๑. “คนแก่เมียสาว” จะต้องเป็นทุกข์ดังนี้ คือ เมื่อมีชีวิตอยู่ เป็นทุกข์เพราะสังขารที่ต่างกัน เมื่อถึงคราวจะตาย เป็นทุกข์เพราะห่วงภรรยาห่วงลูก คนโบราณจะสอนว่า อย่ามีเมียเด็ก อย่าซื้อควายเล็ก อย่าทำนาดอน
๒. คนบางคนเมื่อมีฐานะดีขึ้น มียศ มีตำแหน่งสูงขึ้น จะให้ความสำคัญกับตัวเองมาก ถึงขนาดลืมตัว ใช้วาจาข่มขู่ ลบหลู่คุณท่าน บุคคลดังกล่าวนี้มีอยู่ไม่น้อย ต้องเตรียมใจไว้รับ และไม่ควรร่วมงานด้วยต่อไป
นิทานชาดก
นันทชาดก
ชาดกว่าด้วยความมานะถือตัว