ผู้อยู่ใกล้พระรัตนตรัย

วันที่ 21 ตค. พ.ศ.2551

 

 

           คนเราทุกคนล้วนต้องการความสงบสุข และต้องการพบที่พึ่งที่ระลึกที่แท้จริง จึงพากันแสวงหาที่พึ่ง แต่ก็ยังไม่พบ เพราะชีวิตส่วนใหญ่ยังมัวหลงระเริงอยู่กับโลกภายนอก แต่ผู้มีปัญญาจะแสวงหาเข้าไปสู่ชีวิตภายใน นั่นคือพระรัตนตรัย ซึ่งเป็นที่พึ่งที่ระลึกอันสูงสุด ปราศจากมลทินคือกิเลสอาสวะทั้งหลาย เมื่อเขาอยากรู้เรื่องราวของชีวิตก็รู้ได้หมด เช่นอยากรู้ว่าตนเกิดมาจากไหน เกิดมาทำไม อะไรคือเป้าหมายของชีวิต
        การที่คนเราจะรู้สิ่งเหล่านี้ได้นั้น ต้องเป็นผู้มีจิตที่เปี่ยมด้วยศักยภาพสูงส่ง มีจิตที่ปราศจากนิวรณ์ ปราศจากมลทินของใจ มีความสะอาดบริสุทธิ์ของจิตเป็นอย่างยิ่ง คือต้องทำใจหยุดได้อย่างสมบูรณ์ หยุดในหยุดเข้ากลางไปเรื่อยๆ ปล่อยจิตให้ดำเนินเข้าไป สู่เส้นทางสายกลางที่เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา จนกระทั่งใจใสใจบริสุทธิ์ ก็สามารถรู้เห็นสิ่งต่างๆ ไปตามความเป็นจริง
        พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ขุททกนิกาย ธรรมบท ว่า
        “ทูเร สนฺโต ปกาเสนฺติ       หิมวนฺโตว  ปพฺพโต
        อสนฺเตตฺถ น ทิสฺสนฺติ         รตฺติขิตฺตา ยถา สรา
        สัตบุรุษทั้งหลาย ย่อมปรากฏในที่ไกล เหมือนภูเขาหิมพานต์  ส่วนอสัตบุรุษ ย่อมไม่ปรากฏในสถานที่นี้ เหมือนลูกศรที่ถูกคนยิงไปในยามราตรี ฉะนั้น”
        สัตบุรุษ หมายถึงบุคคลผู้ประเสริฐ ผู้มีตนอันฝึกดีแล้วสามารถที่จะเป็นที่พึ่ง ให้แก่ตนเองและผู้อื่นได้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของพวกเรานับว่าเป็นสัตบุรุษอย่างแท้จริง ทรงฝึกฝนตนเอง จนกระทั่งได้บรรลุพระสัพพัญญุตญาณ เป็นบรมครูและเป็นที่พึ่ง ให้สรรพสัตว์ทั้งหลายได้ ถึงแม้พระพุทธองค์จะเสด็จดับขันธปรินิพพานไปนานแล้วก็ตาม แต่ถ้าเราฝึกใจให้ใสสะอาดบริสุทธิ์อยู่เสมอ หมั่นทำใจหยุดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกาย มีพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ตลอดเวลา จนกระทั่งได้เข้าถึงพระรัตนตรัยในตัว เมื่อนั้น เราจะมีที่พึ่งที่ระลึก ชีวิตก็จะมีแต่ความสุข แล้วโลกก็จะเข้าถึงสันติสุขอย่างแท้จริง
        *ในสมัยพุทธกาล ณ เมืองอุคคะ มีเศรษฐีท่านหนึ่ง ชื่อว่า อุคคะ เป็นเพื่อนสนิทของ ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ตั้งแต่สมัยที่ยังเรียนหนังสือด้วยกัน วันหนึ่งท่านทั้งสองได้ตกลงกันว่า  ภายภาคหน้า เมื่อเราทั้งสองเจริญวัยมีครอบครัว และมีบุตรธิดาแล้ว หากผู้ใดขอลูกสาวเพื่อลูกชายตน ผู้นั้นก็ต้องให้ลูกสาวเมื่อทั้งสองเรียนจบแล้ว   ต่างก็แยกย้ายกันไปครองตำแหน่งเศรษฐีอยู่ในเมืองของตน (*มก. นางจูฬสุภัททา เล่ม ๔๓ หน้า ๑๘๒)
        ต่อมาอุคคเศรษฐี เดินทางไปยังเมืองสาวัตถีด้วยเกวียน ๕๐๐ เล่ม เพื่อทำการค้าขาย เมื่ออนาถบิณฑิกเศรษฐีรู้ข่าวการมาของสหาย จึงเรียกนางจูฬสุภัททา ผู้เป็นธิดาของตนมา    พลางสั่งว่า
        “ลูกเอ๋ย บิดาของเจ้าชื่ออุคคเศรษฐี ได้เดินทางมายังเมืองของเราแล้ว กิจที่สมควรทำแก่เขา พ่อขอมอบให้เป็นหน้าที่ของลูกก็แล้วกัน”
        นางรับคำแล้ว ได้จัดโภชนะรสเลิศด้วยมือของตนเอง ทั้งยังได้ตระเตรียมสิ่งของต่างๆ ไว้ต้อนรับ มีพวงดอกไม้ ของหอม และเครื่องลูบไล้ เป็นต้น ขณะที่ท่านเศรษฐีกำลังบริโภค นางก็จัดแจงน้ำสำหรับอาบไว้คอย เมื่อท่านเศรษฐีไปอาบน้ำ นางก็ทำภารกิจทุกอย่างจนสำเร็จเรียบร้อยไม่มีที่ติ
        อุคคเศรษฐีได้เห็นกิริยามารยาท และการเอาใจใส่ในหน้าที่การงานของนางแล้ว เกิดความพออกพอใจยิ่งนัก จึงได้นั่งสนทนากับท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีผู้เป็นสหาย ปรารภถึงความหลังครั้งยังเป็นหนุ่ม และกติกาที่ได้ตกลงกันไว้ โดยสู่ขอนางจูฬสุภัททา ให้เป็นภรรยาของบุตรชายตน โดยปกติแล้วอุคคเศรษฐีเป็นมิจฉาทิฏฐิมีความเห็นผิด ไม่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเหมือนอย่างท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี
        ดังนั้น ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีจึงนำเรื่องนี้เข้าไปกราบทูลพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธองค์ทรงเห็นอุปนิสัยแห่งการบรรลุธรรมของอุคคเศรษฐี จึงทรงอนุญาต ในที่สุดท่านเศรษฐีได้จัดงานดุจงานวิวาห์ที่ธนัญชัยเศรษฐีจัดให้นางวิสาขา ผู้เป็นธิดา
        ในวันที่ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีจะส่งลูกสาวไปนั้น ได้ถวายทานแด่พระภิกษุสงฆ์ โดยมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประมุข และส่งธิดาไปพร้อมด้วยสักการะอันยิ่งใหญ่ มหาชนพร้อมกับตระกูลของสามีในเมืองอุคคนครพากันต้อนรับนาง เมื่อนางจูฬสุภัททาไปถึง ก็ได้แสดงตนแก่ชาวนครเหมือนนางวิสาขาทำสิริสมบัติของตนให้ปรากฏต่อสายตาชาวเมือง โดยยืนอยู่บนรถพร้อมเครื่องประดับที่วิจิตรสวยงามประมาณค่ามิได้ นางได้รับเครื่องบรรณาการ ที่ชาวนครส่งมาให้ และทำการตอบแทนชาวนครทั้งหลายด้วยการส่งวัตถุสิ่งของตามสมควร
        ในวันอันเป็นมงคลครั้งหนึ่ง อุคคเศรษฐีได้ทำสักการะแก่พวกชีเปลือย และบอกให้นางจูฬสุภัททามาไหว้ชีเปลือยเหล่านั้น นางจูฬสุภัททาเห็นแล้วไม่อาจมองดูได้ และไม่ปรารถนาจะเข้าไปหา แม้เศรษฐีจะส่งคนไปตามหลายครั้ง แต่ถูกนางปฏิเสธกลับมาทุกครั้ง จนกระทั่งเศรษฐีโกรธ จึงพูดขึ้นว่า
        “พวกเจ้าจงไล่นางไปให้พ้น” 
        นางจูฬสุภัททาคิดว่า ไม่มีเหตุผลเลยที่พ่อสามีจะทำอย่างนี้ จึงให้คนเรียกกุฎุมพี ๘ คน มาตัดสิน
        กุฎุมพีรู้ว่านางไม่มีความผิดจึงบอกให้เศรษฐียอมความเสีย เมื่อเป็นเช่นนั้น เศรษฐีก็พูดกับภรรยาว่า ลูกสะใภ้คนนี้ไม่ยอมไหว้สมณะของเรา ด้วยเข้าใจว่า ท่านเหล่านี้ไม่มีความละอาย แต่ภรรยาของเศรษฐีกลับคิดว่า พวกสมณะของลูกสะใภ้ นี้เป็นเช่นไรหนอ นางถึงสรรเสริญคุณของสมณะของตนเหลือเกิน   จึงให้คนเรียกนางมา พลางถามถึงลักษณะ สีลาจารวัตรของสมณะที่นางเคารพนับถือว่าเป็นอย่างไร
        เมื่อนางจูฬสุภัททาจะประกาศคุณของพระพุทธเจ้า   พระธรรมและพระสงฆ์ จึงกล่าวว่า
        “พระสมณะของดิฉันนั้น ท่านเป็นผู้มีอินทรีย์สงบ มีใจสงบ ท่านเดินยืนเรียบร้อย มีจักษุทอดลงต่ำ พูดพอประมาณ กายกรรมของท่านสะอาด วจีกรรมไม่มัวหมอง มโนกรรมหมดจดดี
        ท่านไม่มีมลทิน คือ อุปกิเลสทั้งหลาย มีรัศมีดุจแก้วมุกดา บริสุทธิ์ทั้งภายในและภายนอก เต็มเปี่ยมแล้วด้วยคุณธรรม ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ แม้โลกจะฟูขึ้นเพราะลาภ ยศ สรรเสริญ สุข หรือจะฟุบลงเพราะเสื่อมลาภ   เสื่อมยศ  ถูกนินทา หรือมีความทุกข์เข้าครอบงำ ท่านก็เป็นผู้มีใจปกติสม่ำเสมอ ไม่หวั่นไหวในโลกธรรมเหล่านั้นเลย สมณะของดิฉันเป็นอย่างนี้”
        เมื่อนางจูฬสุภัททากล่าวสรรเสริญคุณของพระรัตนตรัยให้ฟังโดยย่อแล้ว แม่สามีก็พูดกับนางว่า
        “ถ้าอย่างนั้น เธอจะเชิญท่านเหล่านั้นมาให้ฉันเห็นได้หรือไม่”
        นางจึงตอบว่า “ได้ค่ะ  คุณแม่”
        แล้วจึงจัดเตรียมมหาทานอย่างยิ่งใหญ่ เพื่อถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข เสร็จแล้วได้ยืนอยู่บนปราสาทชั้นบน หันหน้าไปทางวัดพระเชตวัน ระลึกถึงพระพุทธคุณ ทำการสักการะด้วยของหอมดอกไม้และธูปเทียนด้วยความเคารพ พร้อมกันนั้นก็ได้ทูลอาราธนาว่า
        “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันขอกราบนิมนต์พระองค์พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ เพื่อฉันภัตตาหารเช้าในวันรุ่งขึ้น   ด้วยสัญญาณของหม่อมฉันนี้ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าทรง ทราบเถิดว่า พระองค์เป็นผู้อันหม่อมฉันนิมนต์ไว้แล้ว”
        หลังจากนั้น นางได้โปรยดอกมะลิ ๘ กำ ขึ้นไปในอากาศ ดอกไม้เหล่านั้นได้ลอยไปรวมตัว กันเป็นเพดานตาข่ายกลางอากาศเบื้องบนพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้กำลังแสดงธรรมในท่ามกลางบริษัททั้งสี่
        เมื่อจบพระธรรมเทศนา อนาถบิณฑิกเศรษฐีซึ่งมาฟังธรรมด้วย ได้ทูลนิมนต์ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อฉันภัตตาหารในวันรุ่งขึ้น แต่พระพุทธองค์ตรัสบอกว่า
        “ได้รับนิมนต์จากนางจูฬสุภัททาแล้ว”
        เศรษฐีทูลถามว่า “นางจูฬสุภัททาอยู่ไกลตั้ง ๑๒๐ โยชน์ นางจะมานิมนต์พระองค์ได้อย่างไร” 
        พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า “ดูก่อนคฤหบดี สัตบุรุษ ทั้งหลาย แม้อยู่ในที่ไกล ย่อมปรากฏอยู่ในที่ใกล้ เหมือนยืนอยู่เฉพาะเบื้องหน้า”
        แล้วได้ตรัสพระคาถาว่า “สัตบุรุษทั้งหลาย ย่อมปรากฏในที่ไกล เหมือนภูเขาหิมพานต์ ส่วนอสัตบุรุษย่อมไม่ปรากฏในที่นี้ เหมือนลูกศรที่ถูกยิงไปในยามราตรี ฉะนั้น”
        วันรุ่งขึ้นพระพุทธองค์พร้อมด้วยพระขีณาสพได้เสด็จไปฉันภัตตาหารตามที่นางจูฬสุภัททานิมนต์ ยังความปลาบปลื้มปีติยินดีและความเลื่อมใสแก่ครอบครัวของอุคคเศรษฐีเป็นอย่างมาก ในที่สุดทุกคนก็ได้บรรลุธรรมาภิสมัย
        จะเห็นได้ว่า บุคคลผู้ที่มีจิตใจใสสะอาดบริสุทธิ์ มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นอารมณ์เสมอ แม้กายจะอยู่ห่างไกลเพียงไหนก็ตาม แต่ใจนั้นอยู่ใกล้ท่านเสมอ ความห่างไกลของระยะทาง ไม่เป็นอุปสรรคที่ใจของเราจะไปพบท่านได้
        ดังนั้น ขอให้ทุกท่านหมั่นตรึกระลึกนึกถึงพระรัตนตรัยที่ศูนย์กลางกายอย่างสม่ำเสมอ อย่าให้ใจคลาดเคลื่อนจากศูนย์กลางกายออกไปภายนอก เพราะจะเป็นเหตุให้เราห่างไกล จากพระรัตนตรัย  เมื่อใจเราจดจ่ออยู่กับพระรัตนตรัยมากเพียงไร ความดีงามรวม ทั้งสิริมงคลทั้งหลายก็จะหลั่งไหลมาหาเรามากเพียงนั้น ซึ่งจะทำให้ชีวิตของเราและครอบครัว รวมไปถึงคนที่ใกล้ชิดพลอยได้รับความสุขไปด้วย ขอให้ทุกท่านหมั่นฝึกฝนใจให้หยุดนิ่งอยู่เป็นนิตย์ รักษาใจให้ผ่องใส นึกถึงพระรัตนตรัยอยู่เสมอ ในไม่ช้าเราจะสมปรารถนาและจะได้ อยู่ใกล้ชิดกับพระรัตนตรัยอย่างแท้จริง

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.1063466668129 Mins