ธรรมะจากพระบาลี

วันที่ 19 พค. พ.ศ.2552

หัวใจไร้สิ่งกีดขวาง

           ทุกความสำเร็จ ล้วนต้องแรกมาด้วยความพยายาม ระดับของความสำเร็จคือเครื่องวัดพลังแห่งความทุ่มเท สายฝนที่ตกลงมาอย่างรุนแรง ย่อมจะมีมหาเมฆที่ตั้งเค้าดำทะมึนประกอบกับลมพายุที่โหมกระหน่ำ เช่นกัน สายใยแห่งชีวิตเมื่อปรารถนาความสำเร็จ ยิ่งระดับความสำเร็จยิ่งสูง ก็ต้องประกอบไปด้วยความพยายามที่สูง น้ำมันทำให้รถขับเคลื่อนไปสู่ปลายทาง หัวใจที่ไร้สิ่งกีดขวางทำให้ชีวิตขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมาย สุดยอดอัจฉริยะบุคคลของโลก ไม่มีอะไรในตัวของท่านเหล่านั้นที่แตกต่างจากคนทั่วไป แต่มีอยู่เพียงอย่างเดียวนั้นก็คือ หัวใจที่ไม่ยอมแพ้ หัวใจที่เข้มแข็งอัดแน่นไปด้วยความมุ่งมั่นแม้ชีวิตตนเองก็ยอมสละได้ จริงแท้แล้ว สมญานามคู่ขนานกับนามว่าสุดยอดอัจฉริยะของโลก ของท่านเหล่านั้นที่ถูกลืมก็คือ สุดยอดบุคคลผู้ลำบากกว่าเขา
          ทุกความสำเร็จในหัวใจเรียกร้อง ไม่มีป้อมปราการใดจะมากางกั้น หากหัวใจตั้งมั่น นั่นหมายถึงความสำเร็จ ๙๙ % เหลืออีกเปอร์เซ็นต์เดียวคือลงมือทำดังเช่นพระภิกษุรูปหนึ่งผู้มีหัวใจไร้สิ่งกีดขวาง ผู้มีเป้าหมายมั่นคงมุ่งตรงต่อความบริสุทธิ์แห่งพรหมจรรย์ผู้ไม่กลัวลำบากไม่กลัวความเจ็บไม่กลัวความตาย ซึ่งเป็นบทเรียนแรกที่นักเรียนบาลีจะได้สัมผัสถึงประวัติชีวิตของท่าน ที่สมเด็จพุทธโฆษาจารย์ชาวสิงหล (ศรีลังกา) ท่านได้คัดสรรจากพระไตรปิฎกมารวบรวมรจนาไว้ และคณะสงฆ์ผู้บริหารการศึกษาบาลีไทยเอามาเป็นบทเรียน อันปรากฏในหนังสือพระธรรมบทเล่มที่ ๑
           ในเมืองสาวัตถี มีกุฎุพีผู้หนึ่งนามว่ามหาบาลสมัยนั้นเมืองสาวัตถี มีประชากรอาศัยอยู่จำนวนมากชาวเมืองได้ฟังธรรมจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บรรลุธรรมเป็นอริยสาวกเกือบค่อนเมือง เหล่าอริยสาวกที่เป็นฆราวาสมีกิจกรรมบุญหลักเพียง ๒ อย่างเท่านั้น คือก่อนพระภิกษุและสามเณรฉันภัตตาหารทั้งเช้าและเพล ได้พร้อมใจกันถวายทานและหลังจากพระและสามเณรฉันแล้วก็ถือเครื่องสักการบูชาไทยธรรม ไปเพื่อจะฟังธรรมและปฏิบัติธรรม วันหนึ่ง กุฎุมพีมหาบาลเห็นหมู่อริยสาวกกำลังไปวิหาร จึงถามว่า “มหาชนจะไปไหนกัน ?” ครั้นได้ยินว่า “ไปฟังธรรม” ก็คิดว่า “เราก็จักไป” ครั้นไปถึงถวายบังคมพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว จึงนั่งท้ายสุดของประชุมชน.
             ธรรมดาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย เมื่อจะทรงแสดงธรรม ทอดพระเนตรอุปนิสัยแห่งคุณ มีสรณะศีลและบรรพชาเป็นต้นก่อนแล้วจึงทรงแสดงตามอัธยาสัย.วันนั้น พระองค์ทอดพระเนตรอุปนิสัยของกุฏุมพีแล้วเมื่อทรงแสดงธรรม ได้ตรัสอนุปุพพีกถา คือทรงประกาศทานกถา สีลกถา สัคคกถา โทษความเลวทรามและความเศร้าหมองแห่งกามทั้งหลาย และอานิสงสืในเนกขัมมะ ท่านกุฎุมพีสดับรับฟังธรรมนั้นแล้ว ก็คิดได้ว่า “บุตรและธิดาก็ดี ย่อมไม่ไปตามผู้ไปสู่โลกหน้า ถึงร่างกายก็ไปกับตัวเองไม่ได้ไม่มีประโยชน์อะไรที่เราจะอยู่ครองเรือน” จึงตัดสินใจออกบวชทันทีโดยบอกลาญาติพี่น้องทางบ้านเรียบร้อย
              เมื่ออยู่ในสำนักอุปัชฌาย์ ถึง ๕ พรรษา ย่างเข้าพรรษาที่ ๖ เข้าไปเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถวายบังคมแล้วทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญในพระศาสนานี้มีสมณกิจหลักของเหล่าภิกษุกี่อย่าง ?” พระองค์ตรัสตอบว่า “มี ๒ อย่าง คือ คันถธุระและวิปัสสนาธุระ พระมหาบาลทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็คันถธุระและวิปัสสนาธุระเป็นอย่างไร ?” ตรัสตอบว่า กิจนี้ คือ การเรียนนิกาย(หมวดธรรม)หนึ่งหรือสองนิกายจนจบพุทธวจนะคือพระไตรปิฎก ตามสมควรแก่ปัญญาของตนทรงจำขึ้นใจ แล้วกล่าวบอกพุทธวจนะนั้น ชื่อว่าคันถธุระ ส่วนการเริ่มตั้งความสิ้นและความเสื่อมไว้ในอัตภาพ ยังวิปัสสนาให้เจริญ ด้วยอำนาจแห่งการกระทำสมาธิที่ต่อเนื่องแล้ว บรรลุพระอรหัตของภิกษุผู้มีความประพฤติดีคล่องแคล่ว ยินดียิ่งในเสนาสนะสงัด ชื่อว่าวิปัสสนาธุระ เลยกราบทูลพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า พระเจ้าข้า ข้าพระองค์บวชตอนแก่ ไม่สามารถจะบำเพ็ญคันถธุระให้สมบูรณ์ได้ แต่จักบำเพ็ญวิปัสสนาธุระให้สมบูรณ์ ขอพระองค์ตรัสบอกพระกรรมฐานแก่ข้าพระองค์เถิด
              ลำดับนั้น พระองค์ตรัสบอกพระกรรมฐานตั้งแต่ต้นจนถึงพระอรหัต ท่านถวายบังคมพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว สมัครพรรคพวกภิกษุด้วยกันได้ถึง ๖๐ รูปเดินทางไกลถึงหมู่บ้านชายแดนซึ่งเป็นหมู่บ้านใหญ่หมู่หนึ่งจึงเข้าไปบิณฑบาต ชาวบ้านพอเห็นพระภิกษุจำนวนมากก็เปรียบเสมือนต้นกล้าที่คอยฝนต่างดีใจกันใหญ่นิมนต์รับภัตตาหารพร้อมทั้งนิมนต์อยู่จำพรรษาที่อารามใกล้บ้านเหล่าพระภิกษุซึ่งมีพระมหาบาลเป็นหัวหน้าก็รีบรับนิมนต์ในวันจำพรรษา พระเถระเลยจัดประชุมพร้อมกัน แล้วถามว่า “ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจักให้พรรษานี้ผ่านไปด้วยอิริยบถเท่าใด ?”
             ภิกษุทั้งหลายเรียนตอบว่า “ด้วยอิริยาบถครบทั้ง ๔ ขอรับ” เลยพูดต่อว่า ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็ข้อนั้นสมควรแล้วหรือ ? เราทั้งหลาย ควรเป็นผู้ไม่ประมาทไม่ใช่หรือ ? เพราะเราทั้งหลายเรียนพระกรรมฐาน มาจากสำนักของพระพุทธเจ้า ผู้ยังทรงพระชนม์อยู่ และธรรมดาว่าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย สำหรับคนมักอวดไม่สามารถจะให้ทรงยินดีได้ ด้วยว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายนั้น สำหรับคนมีอัธยาศัยงามพึงให้ยินดีได้ และขึ้นชื่อว่าอบายทั้ง ๔ เป็นเหมือนเรือนของตัวเองแห่งคนผู้ประมาทแล้ว (ตกนรกเป็นปกติเหมือนไปมาบ้านตัวเอง) ขอท่านทั้งหลายจงเป็นผู้ไม่ประมาทเถิด พระภิกษุถามท่านว่า แล้วท่านภันเตจะปฏิบัติสมณกิจอย่างไร ก็เลยตอบว่า ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ข้าพเจ้าจักให้ทั้งพรรษาผ่านไปด้วยอิริยาบถ ๓ คือจักไม่เหยียดหลัง(ไม่เอาหลังแตะพื้นถึงไม่ได้ตั้งใจนอนก็ตาม) เหล่าภิกษุพอได้ยินดังนั้นก็รับสาธุการกันยกใหญ่ว่าสาธุ ขอจงเป็นผู้ไม่ประมาทเถิด ขอรับ
             เมื่อพระเถระไม่จำวัด เดือนแรกผ่านไป โรคตาก็เกิดขึ้น น้ำตาไหลออกจากตาทั้ง ๒ เหมือนสายน้ำไหลออกจากหม้อทะลุ ท่านบำเพ็ญสมณธรรมตลอดทั้งคืนรุ่งเช้าเข้าห้องนั่งสมาธิต่อ พอถึงเวลาบิณฑบาต ภิกษุทั้งหลายก็ไปยังสำนักของท่านเรียนว่า “ได้เวลาไปบิณฑบาตแล้ว ขอรับ” พระเถระตอบว่า “ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ถ้าอย่างนั้น ท่านทั้งหลายช่วยถือบาตร และจีวรเถิด” ภิกษุทั้งหลาย เห็นตาของพระเถระนองน้ำตารูปหนึ่งจึงเรียนถามว่า “นั่นเป็นอะไร ขอรับ” ท่านตอบว่าท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ลมแทงตาของข้าพเจ้า รูปนั้นจึงเรียนท่านต่อว่า ท่านขอรับ หมอปวารณาเราไว้ไม่ใช่หรือ ? เราควรบอกหมอ พระเถระตอบว่า ดีละ ท่านผู้มีอายุหมอได้ทราบข่าวก็ให้ยามาหยอด
            แต่ว่าท่านตั้งใจไม่จำวัดทั้งพรรษาซึ่งหมายถึงการไม่เอาหลังแตะพื้นด้วย เนื่องจากในการรักษาต้องนอนหยอด ยาจึงออกฤทธิ์ได้เต็มที่ พอท่านไม่ทำอย่างที่หมอแนะนำ โรคก็ไม่หาย สุดท้านหมอมาดูอาการแต่ด้วยความตั้งใจที่เด็ดเดี่ยว ยอมเสียตาดีกว่ายอมเสียสัจจะเมื่อไม่นอนหยอดหมอก็ตอบปฏิเสธไม่รักษาให้ท่านอีกต่อไป แทนที่พระเถระจะน้อยใจกลับมีหัวใจที่เข้มแข็งยิ่งกว่าเดิมดังที่ท่านได้เตือนตัวเองว่า “ผู้มีอายุ ท่านจักเห็นแก่ดวงตาหรือจักเห็นแก่พระพุทธศาสนาก็ในสังสารวักอันมีที่สุดอันใครตามค้นไปก็รู้ไม่ได้ การนับตัวท่านผู้ตาบอดหานับไม่ได้ และพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ก็ตรัสรู้ดับขันธปรินิพพานก็หลายร้อยล้านพันองค์แล้ว ในพระพุทธเจ้าเหล่านั้น พระพุทธเจ้าแม้แต่พระองค์เดียวก็กำหนดไม่ได้” ท่านได้ผูกใจไว้เดี๋ยวนี้เองว่า “จักไม่เหยียดหลังจนตลอด ๓ เดือน ฉะนั้น ดวงตาของท่าน เสื่อมเสียหรือแตกเสียก็ตามเถิด ท่านจงทรงไว้พระพุทธสาสนาเถิดอย่าเห็นแก่ดวงตาเลย”
            เมื่อกล่าวสอนตนเองต่อได้กล่าวคาถาเหล่านี้อีกว่า “ดวงตาที่ท่านถือว่าเป็นของตัว เสื่อมไปเสียเถิด หูเสื่อมไปเสียเถิด กายเป็นเหมือนกันอย่างนั้นเถิด แม้สรรพสิ่งอันอาศัยกายนี้ ก็เสื่อมไปเสียเถิด เหตุไฉน ท่านจึงประมาทอยู่” พระเถระถูกหมอบอกไม่รักษาให้แล้วเพราะหมอเองก็กลัวเสียชื่อที่รักษาไม่หาย พระเถระเมื่อถูกหมอปฏิเสธก็ปฏิบัติธรรมตามปกติ หลังจากนั้นไม่นานพอเที่ยงคืนผ่านไป ทั้งดวงตา ทั้งกิเลสของท่านได้แตกดับไปพร้อมกัน ไม่ก่อนไม่หลัง
             ดวงตาแห่งสัจจะของท่านที่ได้มืดบอดมานับชาติไม่ถ้วนได้สว่างแล้ว ด้วยการเอาดวงตาภายนอกเข้าแลก นับจากนั้นมาถึงแม้โลกจะเป็นเวลากลางวันหรือเวลากลางคืน พระเถระท่านมีเวลาเดียวคือเวลาสว่าง หลายความตั้งใจที่เราไขว่คว้าเอามาเป็นเจ้าของได้และความผิดหวังในหลายครั้งจึงเป็นเสมือนเงาตามตัว ยามเมื่อดวงอาทิตย์คือความตั้งใจได้ปรากฏตัวขึ้น ผู้คนส่วนมากจึงยอมรับความไม่สำเร็จประหนึ่งเป็นพี่เป็นน้องกันกับความตั้งใจ จึงคล้ายกับมีคติทางความคิดที่ตรงกันโดยต่างก็ยอมรับโดยสัญชาตญาณของผู้แพ้ว่า ยิ่งตั้งใจหลายอย่างมาก ยิ่งผิดหวังมาก
             จากบทเรียนที่ได้รับจากพระเถระในเรื่องนี้ ย่อมสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นจริงว่า คนอาจจะหลากหลายเป้าหมาย หลากหลายเส้นทาง แต่วิธีการไม่สู่เป้าหมายนั้นล้วนมีอย่างเดียวกันคือ ต้องมีหัวใจที่ไม่ยอมแพ้หากคุณเข้มแข็งก่อนเขา คุณก็จะชนะก่อน ระยะทางที่ยาวไกลย่อมพิสูจน์หัวใจของนักเดินทาง หน้าอกที่แตะเส้นชัยย่อมเกิดขึ้นหลังหัวใจที่ไปไกลกว่า กว่า ๒,๕๐๐ ปีที่ประวัติศาสตร์ของพระเถระยังได้รับการถ่ายทอดมาหลายชั่วอายุคน ชีวิตของท่านยากนักที่จะหาผู้ใดมาสร้างประวัติศาสตร์ซ้ำรอย ยิ่งในปัจจุบัน ผู้จะเอาชีวิตเป็นเดิมพันในการทำความดี การงมเข้มในมหาสมุทรนับว่าง่ายกว่า
            แต่นับเป็นความโชคดีของชาวโลกที่ยังมีบุญอยู่ไม่น้อย ถึงไม่ได้เกิดในสมัยพุทธกาล ก็ยังมีครูบาอาจารย์อย่างน้อยก็ท่านหนึ่งที่มีหัวใจเข้มแข็งในการทำความดีท่านนั้นก็คือ คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง ลูกชาวนาที่มีรูปร่างผอมบาง การมีชีวิตเป็นชาวชนบท การอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ สิ่งเหล่านี้หาเป็นสิ่งกีดขวางหัวใจที่เข้มแข็งของท่านไม่ “ลูกจันทร์นี่ หนึ่งไม่มีสอง” ที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดปากน้ำ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ได้กล่าวชมคือคำยืนยันถึงหัวใจที่เข้มแข็งของท่านว่า เข้มแข็งกว่าหัวใจหลายพันล้านดวงของชาวโลก ในอดีต การที่พระเถระท่านหนึ่งยอมสูญเสียดวงตาอันเป็นสุดที่รัก หาเป็นการสูญเสียที่ไร้เหตุผลไม่ลองคิดดูสิว่า หากท่านไม่ยอมสูญเสียดวงตา ไหนเลยพวกเราจักได้บทเรียนอันล้ำค่าเป็นประวัติศาสตร์คู่พระศาสนามานานจนถึงพวกเราได้ ชีวิตของท่านสิ้นไปแล้วแต่ตำนานท่านยังดำเนินไปอยู่ หรืออย่างน้อยท่านก็ยังมีชืวิตอยู่ในใจของพวกเรา ในปัจจุบัน กับคำพูดที่ว่า หากไม่มีคุณยาย คงไม่มีหลวงพ่อ ไม่มีวัดพระธรรมกายและหากไม่มีวัดพระธรรมกายและไม่มียอดนักสร้างบารมีอย่างเช่นพวกเรา คำพูดนี้นับว่ารวมเอาไว้ซึ่งความเป็นคนจริงของคุณยายและความเป็นเลิศแห่งวิชชาธรรมกายเอาไว้ด้วยกัน การตอบแทนพระคุณของท่านให้สมบูรณ์มากที่สุดสมกับชีวิตใหม่ที่คุณยายชุบชีวิตให้ ลำพังแค่คิดให้สมบูรณ์ใช่จะทำได้ การลงมือทำนั้นยิ่งห่างไกล ๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๔๕ วันสุดท้ายที่กายหยาบของท่านยังอยู่และเป็นวันแรกของการรวมเนื้อนาบุญแห่งโลกมากที่สุด ถึงแม้จะเป็นเศษเสี้ยวที่เราจะได้แทนคุณท่าน หากเราทำด้วยหัวใจที่เด็ดเดี่ยวเราจะมีความปีติเปี่ยมล้นจนยากจะลืมเลือน จะไม่มีคำว่าเสียใจเพราะพลาดโอกาสครั้งสำคัญนี้ในภายหลังอย่างแน่นอน
 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.021343966325124 Mins