ข้อคิดจากชาดก
เสรีววาณิชชาดก
ชาดกว่าด้วยปฐมเหตุแห่งการอาฆาตจองเวร
ที่พระเทวทัตมีต่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
สถานที่ตรัสชาดก
นครสาวัตถี
สาเหตุที่ตรัสชาดก
ครั้งหนึ่ง ในสมัยพุทธกาล มีพระภิกษุรูปหนึ่งเมื่อเข้ามาบวชเรียนในพระพุทธศาสนาใหม่ ๆ ได้ตั้งใจปฏิบัติธรรมอย่างเคร่งครัดด้วยความพากเพียร แต่ยังไม่เห็นผลก็บังเกิดความท้อแท้ หมดกำลังใจคลายความเพียรลง เพื่อนภิกษุด้วยกันปรารถนาจะสงเคราะห์ภิกษุรูปนี้ จึงพากันไปเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระพุทธองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณจะอนุเคราะห์ภิกษุรูปนี้ จึงทรงระลึกชาติด้วยบุพเพนิวาสานุสติญาณ แล้วตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุ เธอบวชในศาสนาที่มีแก่นสาร ให้มรรคผลเห็นปานนี้ เมื่อละความเพียรเสียแล้ว จะต้องโศกเศร้าไปตลอดกาลนานเหมือนดังเสรีววาณิชที่ไม่ได้ถาดทองมีค่านับแสนนั่นทีเดียว”
ภิกษุทั้งหลายได้ฟังดังนั้น จึงกราบทูลอาราธนาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสเรื่องของเสรีววาณิช
เนื้อหาชาดก
ในอดีตกาล นับย้อนกลับไป ๕ กัปจากภัทรกัปนี้ มีพ่อค้าเร่ ๒ คน อาศัยอยู่ในเมืองเสรีวะ พ่อค้าทั้งสองชื่อ เสรีวะ แม้ว่าจะมีชื่อเหมือนกัน แต่ทว่าทั้งสองกลับมีอุปนิสัยใจคอแต่ต่างกันราวฟ้ากับดิน
วันหนึ่ง ทั้งสองต่างนำสินค้าของตนข้ามแม่น้ำไปยังเมืองอัฏฐปุระ เพื่อจำหน่ายและซื้อของนำกลับมาขาย เมืองอัฏฐปุระมีหมู่บ้านหนึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของอดีตเศรษฐีซึ่งบัดนี้คงเหลือแต่ยายหลานคู่หนึ่ง ตรากตรำรับจ้างเขาเลี้ยงชีพพอประทังชีวิตไปวันๆ
พ่อค้าคนแรกเร่ขายสินค้าผ่านมาถึงบ้านยายหลานคู่นี้ หลานสาวเห็นเครื่องประดับสวยๆ ก็อยากได้จึงอ้อนวอนยายซื้อให้ หลานสาววิ่งเข้าไปในบ้านหยิบถาดเก่าคร่ำคร่ามาใบหนึ่งนำออกมาขออนุญาตยายแลกกับเครื่องประดับ ยายก็ตามใจ เมื่อพ่อค้ารับถาดมาถือ รู้สึกว่ามีน้ำหนักมากผิดธรรมดาจึงเอาเข็มลองขีดหลังถาดดูจึงรู้ว่าเป็นถาดทองคำ มีมูลค่านับแสนทีเดียว แต่เพราะความโลภจัดคิดจะได้ของฟรี จึงแสร้งบอกว่าถาดใบนี้ไม่มีราคาและโยนถาดทิ้งลงพื้น แล้วเดินจากไป
พอตกบ่าย พ่อค้าอีกคนก็มาขายสินค้า ยายหลานก็ส่งถาดให้เพื่อขอแลกกับเครื่องประดับชิ้นหนึ่ง เมื่อพ่อค้ารู้ว่าเป็นถาดทองคำ ด้วยมีใจเป็นธรรมและซื่อสัตย์ เขาจึงบอกความจริงแก่ยายหลาน ทั้งสองตกลงแลกสินค้ากับถาดทองคำ พ่อค้าใจซื่อจึงยกสินค้าและเงินทั้งหมดที่ตนมีอยู่ให้แก่ยายหลานคู่นี้ ขอไว้เพียงตาชั่งและเงินติดตัวพอเป็นค่าเดินกลับเมืองของตนเท่านั้น
ส่วนพ่อค้าใจคด เมื่อเดินออกมาจากบ้านยายหลาน ใจก็จดจ่ออยู่แต่ถาดทองคำ จึงย้อนกลับไป ทำทีท่าว่ามีเมตตาจะอนุเคราะห์ให้แลกเครื่องประดับได้ ยายกล่าวตำหนิพ่อค้าใจคดและบอกว่าตนได้แลกถาดทองคำกับพ่อค้าใจซื่อไปแล้ว
พ่อค้าใจคดได้ยินดังนั้นก็เกิดความเสียใจจนสุดระงับได้ ถึงกับเป็นลมหมดสติไป พอฟื้นขึ้นมาความเสียดายได้พุ่งแล่นท่วมท้นหัวใจจนควบคุมสติไว้ไม่อยู่ วิ่งไล่ตามพ่อค้าใจซื่อไป เมื่อมาถึงท่าน้ำเห็นเรือกำลังลอยลำอยู่กลางแม่น้ำ จึงร้องตะโกนให้คนแจวเรือรับจ้างย้อนกลับมารับตน แต่พ่อค้าใจซื่อรู้ทันจึงสั่งให้เร่งฝีพายให้เร็วขึ้นอีก พ่อค้าใจคดเมื่อทำอะไรไม่ได้ก็ยิ่งแค้นหนักขึ้น มือทั้งสองกำเม็ดทรายชูขึ้น พร้อมกับกล่าวคำอาฆาตว่า
“ หากจำนวนเม็ดทรายในกำมือนี้ คือภพชาติที่เจ้าและข้าจะต้องเกิดอีก ข้าก็จะขอติดตามจองล้างจองผลาญเจ้าไปจนถึงที่สุดจนกว่าจะเข้านิพพานกันไปข้างหนึ่ง ”
ด้วยจิตที่เร่าร้อนแผดเผาด้วยเพลิงโทสะอันรุนแรง บีบคั้นหัวใจวาณิชใจคดผู้นี้แตกสลาย กระอักเลือดขาดใจตายอยู่ตรงนั้นเอง จิตที่ผูกเวรนี้เมื่อละโลกไปแล้วก็ดำดิ่งสู่นรก ทนทุกข์ทรมานอยู่เป็นเวลานานแสนนาน
ส่วนพ่อค้าใจซื่อได้กลับบ้านตน นำถาดทองคำไปขายตั้งตัวทำการค้า ร่ำรวยเป็นเศรษฐีและได้ทำบุญทำทานอยู่จนตลอดชีวิตของเขา นับตั้งแต่นั้นมา พ่อค้าทั้งสองหากเกิดมาพบกันชาติใด ไม่ว่าจะเกิดเป็นสัตว์ เป็นมนุษย์ หรือแม้แต่เกิดเป็นญาติกันก็ตามพ่อค้าใจคดก็ตามล้างผลาญพ่อค้าใจซื่อตลอดมาทุก ๆ ชาติ
ประชุมชาดก
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงจบพระธรรมเทศนาแล้ว ทรงแสดงอริยสัจสี่โดยอเนกปริยาย พระภิกษุนั้นสามารถประคับประคองใจให้สงบนิ่ง ได้บรรลุอรหัตผล ณ ที่นั้นเอง
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประชุมชาดกว่า
พ่อค้าใจคด ได้เกิดมาเป็นพระเทวทัต
พ่อค้าใจซื่อ ได้เกิดมาเป็นพระองค์เอง
ข้อคิดจากชาดก
๑. โลภนักมักลาภหาย
๒. คนพาลมองเห็นโทษของผู้อื่นอยู่ร่ำไป แต่มองไม่เห็นโทษของตนเอง
๓. คนพาลเมื่อรู้ธรรมก็ไม่ยอมปฏิบัติตามธรรม ความรู้นั้นย่อมเป็นไปเพื่อความฉิบหายแก่เขา เพราะแม้รู้เรื่องภพชาติซึ่งเป็นเรื่องที่รู้ได้ยากยิ่งก็ยังนำความรู้นั้นไปเพื่อผูกอาฆาตจองเวร
ข้อคิดจากชาดก
เสรีววาณิชชาดก
ชาดกว่าด้วยปฐมเหตุแห่งการอาฆาตจองเวร
ที่พระเทวทัตมีต่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า