สาระสำคัญเกี่ยวกับวิบากแห่งกรรมดีและกรรมชั่วของบุคคลก็คือ ความเห็นที่ว่า "กฎแห่งกรรม มีจริง" นั้น เป็น ภาพใจของคนที่กอปรด้วย "อุเบกขาจิต" อุเบกขาในบริบทนี้มิได้หมายถึงการวางเฉยแบบตอไม้ แต่ทว่าเป็นการวางเฉยของใจ ที่ประกอบด้วยปัญญาสามารถพิจารณาไตร่ตรองด้วยสติสัมปชัญญะสามารถแยกระหว่างกรรมดีกับกรรมชั่วออกจากกันได้อย่างถูกต้องสามารถตรองอย่างลึกซึ้งได้ด้วยเหตุผลว่าเหตุแห่งการทำกรรมดีนั้น เริ่มต้นด้วยใจที่เป็นกุศล อันได้แก่ อโลภะ อโทสะ อโมหะ ดังนั้นผลปลายทางที่จะเกิดขึ้น ย่อมเป็นผลดี และให้ความสุขอย่างแน่นอนส่วนเหตุแห่งการทำกรรมชั่วนั้น เริ่มต้นด้วยใจที่เป็นอกุศล อันได้แก่ โลภะ โทสะ โมหะ ดังนั้นผลปลายทางที่จะเกิดขึ้น ย่อมมีทุกข์และโทษอย่างแน่นอน ใจคนประเภทนี้สามารถรู้เท่าทันว่า ผลของกรรมดีหรือกรรมชั่วที่เกิดขึ้นแล้วนั้น เป็นธรรมโดยธรรมชาติที่ควรจะเป็น ไม่ใช่เรื่องฝนธรรมชาติแต่ประการใดภาพใจที่ละเอียดสามารถพิจารณาไตร่ตรองวิบากแห่งกรรมดีและกรรมชั่วของบุคคลได้อย่างถูกต้อง ย่อมทำให้เป็นบุคคลที่ถือธรรมเป็นใหญ่ รับผิดชอบธรรมะด้วยการพยายามเคี่ยวเข็ญ ตนเองและผู้อื่นให้ประพฤติธรรม มีจิตใจปราศจากอคติใดๆ ทั้งสิ้น บุคคลที่ ภาพใจกอปรด้วย "อุเบกขาจิต"เช่นนี้ ชื่อว่ามีความเห็นถูกเป็น "สัมมาทิฏฐิ"ในทางกลับกัน บุคคลที่มีใจมืดมิดด้วยอำนาจกิเลส ย่อมแยกไม่ออกระหว่างกรรมดีกับกรรมชั่วเพราะใจมีอคติ แม้ตนเองหรือพรรคพวกของตนก่อกรรมชั่ว ก็ยังคิดเข้าข้างว่าเป็นกรรมดี เขาจึงทำกรรมชั่วอยู่เป็นนิจ โดยไม่ สนใจหรือไม่เชื่อกฎแห่งกรรม บุคคลที่มีอคติไม่ถือธรรมเป็นใหญ่เช่นนี้ ชื่อว่า มีความเห็นผิดเป็น "มิจฉาทิฏฐิ" ไม่รับผิดชอบความเป็นธรรมในสังคม
จากหนังสือ DOU
วิชาGB 203 สูตรสำเร็จการพัฒนาสังคมโลก
กลุ่มวิชาสูตรสำเร็จการพัฒนาสังคมโลก