ธิดาช่างหูก ตัวอย่างผู้ที่ทำหน้าที่กัลยาณมิตรต่อตนเอง

วันที่ 25 สค. พ.ศ.2557

ธิดาช่างหูก ตัวอย่างผู้ที่ทำหน้าที่กัลยาณมิตรต่อตนเอง

       มีเรื่องของหญิงสาวผู้เป็นธิดาของช่างหูก ผู้ทำหน้าที่กัลยาณมิตรให้กับตนเอง ด้วยการทำตามโอวาทของพระบรมศาสดาที่ทรงสอนให้พุทธบริษัทเจริญมรณานุสสติ นางได้ทำอย่างนั้นต่อเนื่องถึง 3 ปี อานิสงส์นี้ทำให้นางได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน เมื่อละโลกไปแล้ว ยังได้ไปบังเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต

      ดังเรื่องมีอยู่ว่า ในสมัยหนึ่ง พระบรมศาสดาเสด็จไปเมืองอาฬวี ได้ทรงประทานโอวาทให้มหาชนว่า “ท่านทั้งหลายจงเจริญมรณานุสสติว่า ชีวิตของเราไม่ยั่งยืน ความตายของเราแน่นอน เราพึงตายแน่แท้ ชีวิตของเรามีความตายเป็นที่สุด ชีวิตของเราไม่เที่ยง แต่ความตายเที่ยง เพราะฉะนั้น พวกท่านทั้งหลาย พึงเจริญมรณานุสสติเถิด” เมื่อทรงประทานโอวาทเสร็จ ก็เสด็จกลับวัดเชตวัน

      มหาชนครั้นได้ฟังพระธรรมเทศนานั้นแล้ว บางส่วนก็ปฏิบัติตาม บางส่วนก็ไม่ค่อยนำไปปฏิบัติเท่าที่ควร ยังมัวประมาทในชีวิตเหมือนเดิม ส่วนธิดาของนายช่างหูกคนหนึ่ง นางอายุเพียง 16 ปี แต่ก็มีปัญญาสอนตัวเองได้ นางได้ทำหน้าที่กัลยาณมิตรให้กับตนเอง เมื่อกลับมาที่บ้านก็ได้ทำการบ้านที่พระพุทธเจ้าทรงประทานให้ ด้วยการเจริญมรณานุสสติอยู่ตลอดเวลา

      สามปีต่อมา พระบรมศาสดาเสด็จไปโปรดชาวเมืองอาฬวีอีกครั้งหนึ่ง ธิดาช่างหูกก็มีโอกาสมาเข้าเฝ้า เพื่อฟังพระธรรมเทศนาเหมือนเดิม พระบรมศาสดาตรัสถามเธอในท่ามกลางบริษัทว่า “กุมาริกา เธอมาจากไหน ? ”

        กุมาริกาตอบว่า   “ไม่ทราบ พระเจ้าข้า”

        “เธอจะไปไหน”   “ไม่ทราบ พระเจ้าข้า”

        “เธอไม่ทราบหรือ”   “ทราบ พระเจ้าข้า”

        “เธอทราบหรือ”   “ไม่ทราบ พระเจ้าข้า”

     เมื่อธิดาช่างหูกตอบปัญหาเพียงสองคำว่า ทราบกับไม่ทราบเท่านั้น ทำให้มหาชนเกิดความไม่พอใจกันใหญ่ เพราะคิดว่าธิดาช่างหูกพูดเล่นลิ้นกับพระพุทธเจ้า เพื่อจะคลายความสงสัยของมหาชน พระบรมศาสดาจึงตรัสถามต่อไปว่า

        “กุมาริกา เมื่อเรากล่าวว่า เธอมาจากไหน ทำไมเธอจึงตอบว่า ไม่ทราบ”

        กุมาริกาผู้มีปัญญาลึกซึ้งได้ทูลตอบว่า “หม่อมฉันไม่ทราบว่า ตัวเองเกิดมาจากไหน จึงตอบว่า ไม่ทราบ”

        พระบรมศาสดาทรงประทานสาธุการว่า “ดีละ กุมาริกา เธอมีปัญญาแก้ปัญหาที่ตถาคตถามได้ดีแล้ว”

        ทรงถามข้อต่อไปว่า “เมื่อเราถามว่า เธอจะไปไหน ทำไมจึงกล่าวว่า ไม่ทราบ”

        กุมาริกาก็ทูลตามที่เข้าใจว่า “หม่อมฉันจุติจากโลกนี้แล้วไม่ทราบว่า จะไปเกิดในที่ไหน”

        ทรงถามว่า “และเมื่อเราถามว่า เธอไม่ทราบหรือ ทำไมจึงตอบว่าทราบล่ะ”

      กุมาริกาทูลตอบว่า “พระเจ้าข้าหม่อมฉันทราบว่าตัวเองจะต้องตายอย่างแน่นอนจึงตอบว่าทราบพระเจ้าข้า”

        “แล้วเมื่อตถาคตถามว่า เธอย่อมทราบหรือ ทำไมจึงตอบว่า ไม่ทราบ”

       กุมาริกาก็ทูลตอบว่า “ หม่อมฉันทราบแต่เพียงว่าจะต้องตาย แต่ไม่ทราบว่าจะตายเวลาไหน จึงตอบเช่นนั้น พระเจ้าข้า”

        พระบรมศาสดาทรงชมเชยธิดาช่างหูก ในความเป็นผู้มีใจจดจ่อต่อการเจริญมรณานุสสติ สามารถ ตักเตือนตนเองได้ ไม่มัวรอให้คนอื่นมาคอยจ้ำจี้จ้ำไซ แล้วตรัสเตือนพุทธบริษัทว่า

        “พวกท่านไม่ทราบถ้อยคำที่กุมาริกานี้กล่าว จึงกล่าวตู่ธิดาของเราผู้มีปัญญา”

      ดังนั้นแล้วทรงแสดงธรรมเรื่องมรณานุสสติอีกครั้งหนึ่ง เมื่อสิ้นสุดพระธรรมเทศนา ธิดาของช่างหูกได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน เป็นผู้ไม่มีความตกต่ำในชีวิตอีกต่อไป แต่เนื่องจากวิบากกรรมเก่าตามมาทัน เมื่อนางเดินทางกลับไปบ้าน เห็นพ่อกำลังนอนหลับอยู่ข้างเครื่องทอหูก นางได้ปลุกพ่อให้ตื่น ฝ่ายพ่อ กำลังนอนหลับเพลิน มือไปกระทบด้ามฟืมอย่างแรง ทำให้ปลายฟืมอีกด้านหนึ่งแทงเข้าที่หน้าอกของนาง อย่างแรง นางล้มลงกับพื้นและสิ้นใจ ณ ที่ตรงนั้นเอง เมื่อละโลกแล้วได้ไปบังเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0010894497235616 Mins