วาจาสุภาษิตกับการทำหน้าที่กัลยาณมิตร

วันที่ 25 สค. พ.ศ.2557

วาจาสุภาษิตกับการทำหน้าที่กัลยาณมิตร

วาจาสุภาษิตกับการทำหน้าที่กัลยาณมิตร

      วาจาสุภาษิต ไม่ว่าจะพูดด้วยถ้อยคำสำเนียงภาษาใด วาจานั้นย่อมเป็นวาจาชั้นสูง ควรแก่การสรรเสริญของนักปราชญ์บัณฑิต เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายต่างก็ชื่นชมอนุโมทนาสาธุการ เพราะเป็นถ้อยคำที่กลั่นออกมาจากใจที่บริสุทธิ์ ยิ่งถ้าเป็นวาจาของกัลยาณมิตร ผู้ประกอบด้วยจิตเมตตาแนะนำให้สร้างแต่คุณงามความดี ยิ่งนับว่าเป็นวาจาสูงสุด เพราะนำไปสู่มรรคผลนิพพานได้ และกัลยาณมิตร ผู้กล่าวแต่วาจาสุภาษิตนั้น ย่อมได้รับอานิสงส์อันเลิศ วาจาสุภาษิต หมายถึง คำพูดที่ผู้พูดได้กลั่นกรองไว้ดีแล้ว มิใช่สักแต่พูด พูดแล้วเป็นคุณทั้งแก่ตัวผู้พูดและผู้ฟัง

 

องค์ประกอบของวาจาสุภาษิต

  1.ต้องเป็นคำจริง ไม่ใช่คำพูดที่ปั้นแต่งขึ้น เป็นคำพูดที่ไม่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ไม่บิดเบือนจากความจริง ไม่เสริมความ ไม่อำความ ต้องเป็นเรื่องจริง

  2.ต้องเป็นคำสุภาพ เป็นคำพูดไพเราะ ที่กลั่นออกมาจากน้ำใจที่บริสุทธิ์ ไม่เป็นคำหยาบ คำด่า คำประชดประชัน คำเสียดสี คำหยาบนั้นฟังก็ระคายหู แค่คิดถึงก็ระคายใจ

    3.พูดแล้วก่อให้เกิดประโยชน์ เกิดผลดีทั้งแก่คนพูดและคนฟัง ถึงแม้คำพูดนั้นจะจริงและเป็นคำสุภาพ แต่ถ้าพูดแล้วไม่เกิดประโยชน์อะไร กลับจะทำให้เกิดโทษ ก็ไม่ควรพูด

   4.พูดด้วยจิตเมตตา พูดด้วยความปรารถนาดีอยากให้คนฟังมีความสุข มีความเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป ในข้อนี้หมายถึงว่า แม้จะพูดจริง เป็นคำสุภาพ พูดแล้วเกิดประโยชน์ แต่ถ้าจิตยังคิดโกรธมีความริษยา ก็ยังไม่สมควรพูด เพราะผู้ฟังอาจรับไม่ได้

   5.พูดถูกกาลเทศะ แม้ใช้คำพูดที่ดี เป็นคำจริง เป็นคำสุภาพ เป็นคำพูดที่มีประโยชน์ และพูดด้วยจิตที่เมตตา แต่ถ้าผิดจังหวะ ไม่ถูกกาลเทศะ ผู้ฟังยังไม่พร้อมที่จะรับแล้ว จะก่อให้เกิดผลเสียได้ เช่น จะกลายเป็นประจานกันหรือจับผิดไป

      พูดถูกเวลา (กาล) คือรู้ว่าเวลาไหนควรพูด เวลาไหนยังไม่ควรพูด ควรพูดนานเท่าไร ต้องคาดผล ที่จะเกิดขึ้นไว้ด้วย

      พูดถูกสถานที่ (เทศะ) คือรู้ว่าในสถานที่เช่นไร เหตุการณ์แวดล้อมเช่นไรจึงสมควรที่จะพูด หากพูดออกไปแล้วจะมีผลดีหรือผลเสียอย่างไร เช่น มีความหวังดีอยากเตือนเพื่อนไม่ให้ดื่มเหล้า แต่ไปเตือนขณะเพื่อนกำลังเมาอยู่ในหมู่เพื่อนฝูงทำให้เขาเสียหน้า อย่างนี้นอกจากเขาจะไม่ฟังแล้ว เราเองอาจเจ็บตัวได้

      คนฉลาดไม่ใช่เป็นแต่พูดเท่านั้น ต้องนิ่งเป็นด้วย คนที่พูดเป็นนั้น ต้องรู้ในสิ่งที่ไม่ควรพูดให้ยิ่งกว่าสิ่งที่ควรพูด

 

ลักษณะของทูตที่ดี (ทูตสันติ)

1.ยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ไม่ด่วนปฏิเสธ

2.เมื่อถึงคราวพูดก็สามารถทำให้ผู้อื่นฟัง

3.รู้จักกำหนดขอบเขตของการพูดให้กะทัดรัด

4.จำเนื้อความทั้งหมดที่จะพูด

5.เข้าใจเนื้อความทั้งหมดโดยละเอียดตามความเป็นจริง

6.ทำให้ผู้อื่นเข้าใจตามได้

7.ฉลาดในการพูดที่เป็นประโยชน์และมิใช่ประโยชน์

8.ไม่พูดชวนให้เกิดการทะเลาะวิวาท

 

สรุป

        การทำหน้าที่กัลยาณมิตรที่สมบูรณ์แบบนั้น  คือกัลยาณมิตรจะต้องเป็นผู้ทำได้จริง ในสิ่งที่สอนคนอื่น หรือได้บรรลุผลสำเร็จทั้งทางโลกและทางธรรมในระดับหนึ่งมาก่อน จึงสอนเรื่องดีๆ แก่คนอื่น ถ้าตนเองทำไม่ได้สักอย่างแล้วไปสอนคนอื่น หาสมควรไม่ ดังพุทธพจน์ที่ว่า

          “บุคคลพึงยังตนนั้นแลให้ตั้งอยู่ในคุณอันสมควรเสียก่อน พึงพร่ำสอนผู้อื่นในภายหลังบัณฑิตไม่พึงเศร้าหมอง หากว่า ภิกษุพึงทำตนเหมือนอย่างที่ตนพร่ำสอนคนอื่นไซร้ ภิกษุนั้นมีตนอันฝึกดี แล้วหนอ พึงฝึก ได้ยินว่าตนแลฝึกได้ยาก ตนแลเป็นที่พึ่งของตน บุคคลอื่นไรเล่าพึงเป็นที่พึ่งได้ เพราะว่าบุคคลมีตนฝึกฝนดีแล้ว ย่อมได้ที่พึ่งอันได้โดยยาก”

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.017941284179687 Mins