ทักษะการหน้าที่กัลยาณมิตรทางกาย
1. พฤติกรรมและการแสดงออกภายนอกของมนุษย์
พระพุทธศาสนาได้จำแนกอธิบาย ถึงพฤติกรรมของมนุษย์ ที่แสดงออกมาจากธรรมชาติของมนุษย์ ทั้งส่วนที่เป็นร่างกายและส่วนที่เป็นจิตใจ ว่ามีส่วนประกอบขึ้นมาอย่างไร อะไรคือสิ่งที่มนุษย์ได้รู้สึกรับรู้สิ่ง ภายนอกที่มากระทบหรือกระตุ้นจนเกิดความรู้สึกขึ้นภายใน และมีการแสดงออกเป็นพฤติกรรมภายนอกซึ่งอธิบายไว้ในหมวดธรรมว่าด้วย ขันธ์ 5 ดังนี้
หลักคำสอนว่าด้วยขันธ์ 5 นี้ เป็นเรื่องที่ว่าด้วยสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวมนุษย์ที่รับรู้หรือมีประสบการณ์ หรือก็คือการกล่าวถึงองค์ประกอบของตัวมนุษย์ทั้งร่างกายและจิตใจว่าเกิดจากการรวมกันขึ้นขององค์ประกอบ 5 อย่าง ซึ่งทำให้เกิดการรับรู้ในสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ อันเป็นผลมาจากการได้รับรู้ใน รูป รส เสียง กลิ่น สัมผัส เป็นต้น การเกิดขึ้นและรับรู้ในประสบการณ์ดังกล่าวย่อมมีผลต่อคุณภาพชีวิตของมนุษย์ทั้งที่ดีและไม่ดี
ขันธ์ 5 ประกอบด้วย
1.รูป
2.เวทนา
3.สัญญา
4.สังขาร
5.วิญญาณ
ที่เรียกว่า “ขันธ์” เพราะเป็นสิ่งที่ดำเนินไปได้ ต้องอาศัยองค์ประกอบทั้ง 5 ทำงานร่วมกัน แต่อย่างไรก็ตาม ขันธ์ เป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน ยังมีการดำเนินไปและเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ
รูป คือ สิ่งที่เราพบเห็นทั่วไปที่เป็นวัตถุประกอบกันขึ้นเป็นรูปร่าง มีลักษณะต่างๆ แม้แต่ร่างกายของเราก็ถือเป็นรูป โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนประกอบของร่างกาย เช่น ตา หู จมูก ลิ้น กาย ซึ่งเป็นทวารรับรู้ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส เป็นต้น
เวทนา คือ ความรู้สึกหรือการรับรู้ทั้งสิ่งที่เป็นความชอบใจ ไม่ชอบใจ หรือรู้สึกเฉยๆ ทำให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกตอบสนองต่อสิ่งดังกล่าว ทั้งเป็นความสุข ความทุกข์ และไม่สุขไม่ทุกข์
สัญญา คือ ความจำได้หมายรู้ เกิดจากประสบการณ์ที่ได้กระทำหรือพบเห็น แล้วจะกำหนดจำในสิ่งที่เกิดขึ้นต่างๆ ดังกล่าว
สังขาร คือ สภาพที่ปรุงแต่ง เป็นสภาพที่ปรุงแต่งทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจให้เกิดมีการกระทำขึ้น เช่น ทางกาย ทำให้มีการหายใจเข้าออก ทางวาจา ทำให้มีวิตกวิจาร และทางใจ ทำให้เกิดการจำได้หมายรู้และรับรู้ในอารมณ์ต่างๆ เป็นต้น
วิญญาณ คือ การรู้แจ้งอารมณ์ โดยต้องอาศัยนามรูป รูป หมายถึง รูปร่างที่ปรากฏต่างๆ ส่วนนาม หมายถึงความรู้สึก การรับรู้ตอบสนอง เกิดความสนใจและจงใจในรูปที่ปรากฏกระทบความรู้สึกนั้น ถ้าไม่มีนามรูปมากระทบ ก็จะไม่เกิดการรู้แจ้งอารมณ์หรือวิญญาณเกิดขึ้น
จากข้างต้น สามารถสรุปความตอนนี้ได้ว่า ขันธ์ 5 ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ โดยทั้ง 5 ประการนี้ คือ ที่รับรู้ประสบการณ์และสิ่งที่มากระทบทุกอย่าง โดย “รูป” คือ ส่วนที่เป็นร่างกาย พฤติกรรม และส่วนภายนอกของร่างกายที่เป็นคุณสมบัติต่างๆ ของร่างกายนั้น “เวทนา” คือ ส่วนที่เป็นการรับรู้อารมณ์ หรือความรู้สึกที่เกิดขึ้น ทั้งพอใจ ไม่พอใจ และทั้งสุขใจ ไม่สุขใจ หรือเฉยๆ “สัญญา” คือส่วนที่การกำหนดได้หมายรู้ในอารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น สามารถที่จะกำหนดหรือเป็นตัวแปลความหมาย ให้รู้ว่าสิ่งที่รู้สึกนั้นเป็นเช่นไร “สังขาร” ในที่นี้หมายรวมถึงวาจา และใจด้วย คือส่วนที่เป็นความปรุงแต่งจิตให้เกิดเป็นความคิด ตั้งคำถาม โต้แย้ง หรือมีเจตนาใดๆ ขึ้น “ วิญญาณ” คือส่วนที่เป็นความรู้แจ้ง ในอารมณ์ที่มากระทบผ่านมาทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ซึ่ง “ใจ” ในที่นี้มีคุณสมบัติพิเศษ คือ สามารถรับรู้อารมณ์ต่างๆ ได้ทันที โดยไม่ต้องผ่านตัวกลางอื่นๆ ได้โดยตรง ดังนั้น “ใจ” จึงเป็นทั้งเป้าหมาย และจุดสุดท้ายของการรู้แจ้งในอารมณ์ที่เกิดขึ้น เพราะเหตุนี้ พระพุทธองค์จึงตรัสว่าความทุกข์และความสุขที่เกิดขึ้นนั้น มาจากการได้รับรู้มาจาก ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ นั่นเอง
ดังนั้น การจะทำหน้าที่กัลยาณมิตรให้มีประสิทธิภาพและได้อย่างสมบูรณ์ จะต้องเข้าใจถึงพฤติกรรม ภายนอก ทั้งการแสดงออกเพื่อให้เกิดความประทับใจภายนอก เช่น กิริยาท่าทางที่ดี มีการแต่งกายที่เหมาะสม ย่อมจะก่อให้บุคคลที่เราจะไปทำหน้าที่กัลยาณมิตรนั้น เกิดการได้รับรู้ในรูปที่ดี หรือรส ที่ดี หรือเสียงที่ไพเราะ หรือได้กลิ่นหอม ได้รับสัมผัสที่ดี เป็นต้น อันส่งผลให้เกิดความประทับใจต่อบุคคล ที่เราจะไปทำหน้าที่กัลยาณมิตรนั่นเอง