พระสัมมาสัมพุทธเจ้ากับการทำหน้าที่กัลยาณมิตร

วันที่ 25 สค. พ.ศ.2557

พระสัมมาสัมพุทธเจ้ากับการทำหน้าที่กัลยาณมิตร

พระสัมมาสัมพุทธเจ้ากับการทำหน้าที่กัลยาณมิตร

        พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ชื่อว่าเป็นยอดกัลยาณมิตรของโลก เพราะทรงแนะนำชาวโลกให้พ้นจากทุกข์ พบสุขอันเป็นอมตะ ซึ่งจะหาศาสดาหรือเจ้าลัทธิใดๆ ในโลกนี้มาเทียบไม่ได้เลย พระพุทธองค์ทรงสอนได้ทั้งมนุษย์และเทวดา ที่เรียกว่า สตฺถา เทวมนุสฺสานํ ทรงเป็นครูของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย พระองค์ทรงสามารถสอนให้คนเกิดความรู้ถึงขั้นวิชชาญาณและสัมโพธิญาณได้ด้วยการพูดธรรมดา สามารถให้ผู้ฟังรู้ถึงขั้นอริยสัจจะ และเกิดการเปลี่ยนแปลงถึงขั้นจากปุถุชนเป็นอริยบุคคลได้ ซึ่งในสมัยปัจจุบันหาไม่ได้อย่างนี้อีกแล้ว ด้วยความที่พระองค์เป็นครูชั้นยอดนี่เอง จึงทรงทำงานประกาศคำสอนใหม่อย่างได้ผลในชั่วระยะเวลาเพียง 8 เดือน สามารถทำหน้าที่ยอดกัลยาณมิตรให้เหล่าเวไนยสัตว์เกิดความรู้แจ้งเห็นจริง เป็นอริยบุคคลถึง 1,250 องค์ และในชั่วพระชนมชีพของพระองค์นั้น พระพุทธศาสนาก็ตั้งเป็นหลักแหล่งลงอย่างมั่นคง ในดินแดนแถบลุ่มแม่น้ำคงคา และต่อมากลายเป็นศาสนาของโลกในที่สุด การได้ศึกษาคุณสมบัติและวิธีการสอนของพระพุทธเจ้า จึงเท่ากับเป็นการศึกษาวิธีสอนตามหลักพุทธศาสตร์ เราจะได้หลักการเพื่อประยุกต์ใช้ในการทำหน้าที่กัลยาณมิตรในยุคปัจจุบัน

 

คุณสมบัติของกัลยาณมิตรตามแบบอย่างพระพุทธองค์

1. มีความกรุณาเป็นพื้นฐาน

          ทรงสงสารสรรพสัตว์ เพราะเห็นว่าตกอยู่ในความมืดคืออวิชชา ยังไม่รู้เส้นทางสว่างแก่ชีวิต ไม่รู้เส้นทางไปสู่สวรรค์และนิพพาน การสอนไม่ได้มุ่งเรื่องลาภสักการะหรือชื่อเสียงเหมือนครูในโลกยุคปัจจุบัน แต่สอนเพื่อมุ่งช่วยศิษย์ให้พ้นจากความทุกข์ ไม่หวังผลสิ่งใดตอบแทน ไม่ต้องการความร่ำรวย เพราะพระองค์ทรงข้ามพ้นความจนและความรวยมาได้แล้ว ครูที่หวังผลประโยชน์ตอบแทนจากศิษย์หรือหวัง ความร่ำรวยจากศิษย์ จะเป็นครูที่ดีไม่ได้ เช่นเดียวกัน ผู้ที่ทำหน้าที่กัลยาณมิตรเพื่อหวังลาภ ยศ สรรเสริญ ยังไม่ชื่อว่าเป็นกัลยาณมิตรอย่างแท้จริง


2. ไม่ถือตัวไม่หยิ่งยโส

        ถ้าเพื่อความรู้ของศิษย์แล้ว จะเสด็จไปที่ไหนและไกลเพียงใดก็ไม่เคยปฏิเสธ จะประทับนั่งที่ไหนก็ได้ พบกับใครสนทนากับใครก็ได้ เพื่อจะช่วยโจรร้าย พระพุทธองค์ต้องเสด็จเข้าป่าไปเผชิญหน้ากับโจรร้ายที่ฆ่าคนมานับร้อย ดังเช่นครั้งที่เสด็จไปโปรดองคุลิมาลซึ่งกำลังจะฆ่ามารดาตนเองเพราะความหลงผิด บางทีเมื่อถึงคราวจำเป็น ก็ทรงลงมือล้างเลือดล้างหนอง อุจจาระปัสสาวะของภิกษุที่กำลังอาพาธ เช่นเสด็จไปโปรดพระติสสเถระผู้มีกายเปื่อยเน่า เรื่องเกิดขึ้นในสมัยพุทธกาล คือมีกุลบุตรท่านหนึ่ง ออกบวชอุทิศชีวิตในพระพุทธศาสนา ได้ฉายาว่า พระติสสเถระ มีอยู่วันหนึ่ง โรคร้ายเกิดขึ้นในสรีระของท่านตุ่มเล็กๆ เท่าเมล็ดผักกาดผุดขึ้นมาที่ผิวหนัง เนื่องจากกรรมเก่าของท่านตามมาทัน ต่อมาตุ่มนั้นโตขึ้นเรื่อยๆ ขนาดประมาณเท่าเมล็ดถั่วเขียว แล้วก็โตเท่าเมล็ดถั่วดำ ใหญ่โตขึ้นเท่าเมล็ดกระเบา เท่าผลมะขามป้อม สุดท้ายก็โตเท่ากับผลมะตูม จากนั้นก็แตกออก มีเลือดและหนองไหลเยิ้มไปทั่วร่างกาย

        ร่างกายของท่านเป็นแผลเหวอะหวะไปทั่ว ท่านต้องทนทุกข์ทรมานมาก นอกจากนี้ร่างกายของท่านยังส่งกลิ่นเหม็นรุนแรง จนเพื่อนสหธรรมิกไม่กล้าเข้าใกล้ เท่านั้นยังไม่พอกระดูกของท่านแตกหัก ท่านขยับเขยื้อนตัวไม่ได้ นอนจมกองน้ำเลือดน้ำหนองอยู่ในกุฏิตามลำพังผ้านุ่ง และผ้าห่มเปรอะเปื้อนไปหมด นอนรอคอยวันตายอย่างน่าสงสาร

         พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงเห็นท่านถูกพวกลัทธิวิหาริก ทอดทิ้ง ไม่มีที่พึ่งในยามยากด้วยพระมหากรุณาอันไม่มีประมาณ พระพุทธองค์จึงเสด็จออกจากพระคันธกุฎี ไปที่โรงไฟทรงต้มน้ำร้อนด้วยพระองค์เอง พวกภิกษุทราบว่าพระบรมศาสดาเสด็จมา จึงกราบทูลขันอาสาจะช่วยกันทำแล้วช่วยกันยก เตียงที่พระติสสภิกษุนอน นำไปสู่โรงไฟ พระบรมศาสดาทรงให้พวกภิกษุเปลื้องผ้าเอาผ้าห่มของพระติสสะออก เอาไปขยำกับน้ำร้อน แล้วนำไปผึ่งแดด ส่วนพระองค์เองสรงน้ำให้พระติสสะ เมื่อผ้าห่มแห้งทรงช่วย ท่านให้นุ่งผ้าห่ม ทรงให้นำผ้านุ่งที่ท่านนุ่งไปซักแล้วผึ่งแดด เมื่อผ้านุ่งนั้นแห้งพระองค์ก็ทรงให้นุ่งผ้าผืนนั้น

       พระบรมศาสดาประทับยืนที่เหนือศีรษะของท่าน ตรัสให้เห็นทุกข์เห็นโทษของสังขาร ร่างกายนี้ว่า กายของเธอนี้ไม่นานจะปราศจากวิญญาณแล้ว หาอุปการะมิได้ อีกไม่นานต้องนอนบนแผ่นดิน เหมือนท่อนไม้ที่ไม่มีประโยชน์Ž พระติสสเถระนอนฟังพระธรรมเทศนา ข่มความเจ็บปวดของร่างกาย ค่อยๆ ปล่อยใจตามกระแสเสียงของพระพุทธองค์ จนมีใจหยุดนิ่งเป็นอารมณ์เดียว ในที่สุดได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์


3. มีความอดทน

         ใจเย็น แม้จะถูกรุกรานด้วยคำหยาบคายก็ตาม คราวหนึ่งพระพุทธองค์เสด็จไปบิณฑบาตในนิคมของชาวถูลู มีพระภิกษุโอรสเจ้าลิจฉวีชื่อสุนักขัตตะ เป็นผู้ติดตาม พอเสด็จไปถึงที่แห่งหนึ่ง ได้พบอเจลกะตนหนึ่งชื่อโกรักขัตติยะ ซึ่งประพฤติตนอย่างสุนัข เดินด้วยข้อศอกและเข่ากินอาหารที่กองบนพื้นด้วยปาก เมื่อสุนักขัตตะเห็นเข้าก็คิดในใจว่า เขาเป็นพระอรหันต์ที่ดีองค์หนึ่ง เมื่อพระพุทธเจ้าทรงทราบความคิดของเขา จึงตรัสปรามว่า ดูก่อนโมฆบุรุษ คนอย่างเธอยังจะปฏิญาณตนว่าเป็นศากยบุตรอยู่อีกหรือ พระสุนักขัตตะจึงทูลถามว่า เหตุไฉนพระพุทธองค์จึงตรัสอย่างนั้น พระพุทธองค์ก็ตรัสตอบว่า เพราะเธอเชื่อว่า อเจลกะผู้ประพฤติเหมือนสุนัขเป็นพระอรหันต์ที่ดี เมื่อได้ยินเช่นนั้น สุนักขัตตะได้กล่าวย้อนว่า พระผู้มีพระภาคยังหวง ความเป็นพระอรหันต์ไว้อีกหรือ ซึ่งค่อนข้างจะเป็นการย้อนที่เจ็บแสบ แต่พระพุทธองค์ก็ทรงโต้ตอบ ต่อไปอย่างปกติ

      อีกคราวหนึ่ง พระพุทธองค์เสด็จเข้าไปบิณฑบาตในที่อยู่ของอัคคิกภารทวาชพราหมณ์ ผู้เคร่งในศาสนาพราหมณ์ กำลังทำการบูชาไฟ เมื่อเห็นพระพุทธเจ้าเสด็จมา เขาได้ส่งเสียงร้องบอกว่า หยุดอยู่นั้นแหละ คนหัวโล้น หยุดอยู่นั้นแหละสมณะ หยุดอยู่นั้นแหละคนถ่อย ซึ่งเป็นคำเรียกด้วยความดูถูกเหยียดหยาม แต่พระพุทธองค์ก็ได้ตรัสถามไปอย่างปกติว่า พราหมณ์ ท่านรู้จักคนถ่อยหรือ ธรรมที่ทำให้คนเป็นคนถ่อยเป็นอย่างไรหรือ เมื่อเขาบอกว่า ไม่รู้ พระองค์ก็ทรงแสดงธรรมแก่เขา จนปฏิญาณตนเป็นอุบาสกในที่สุด
 

4. มีความยุติธรรม ไม่เห็นแก่หน้า

        คราวหนึ่งพระพุทธเจ้าทรงรับนิมนต์เพื่อจะไปฉันที่บ้านของหญิงโสเภณีชื่อ อัมพปาลีไว้แล้ว หลังจากนั้นไม่นาน พวกเจ้าลิจฉวีผู้มีศักดิ์ใหญ่กว่าก็มาทูลนิมนต์บ้าง แต่พระพุทธองค์หาได้ทรงรับไม่ ตรัสบอกเจ้าลิจฉวีเหล่านั้นว่า พระองค์ได้รับนิมนต์นางอัมพปาลีไว้เสียแล้ว

        ครูที่ขาดความยุติธรรมในใจ โปรดศิษย์บางคน เข้าข้างศิษย์บางคน ไม่อาจเป็นครูที่ดีได้ กัลยาณมิตรที่ดี ต้องไม่เลือกที่รักผลักที่ชัง ควรมีใจประกอบด้วยกรุณาต่อทุกคน ไม่เลือกเชื้อชาติหรือชนชั้น วรรณะ
 

5. มีความรอบคอบ

      ทรงพิจารณาอย่างถี่ถ้วน ไม่ตัดสินใจอย่างหุนหันพลันแล่น ความรอบคอบของพระพุทธองค์ทรงแสดงออกมาในพระดำรัสดังนี้

     “ดูก่อนจุนทะ แม้หากว่าสิ่งที่เป็นอดีต ไม่เป็นของจริง ไม่เป็นของแท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ตถาคตไม่พยากรณ์สิ่งนั้นแม้หากว่าสิ่งที่เป็นอดีต เป็นของจริง เป็นของแท้ แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ตถาคตก็ไม่พยากรณ์แม้สิ่งนั้นแม้หากสิ่งที่เป็นของจริง เป็นของแท้ ประกอบด้วยประโยชน์ ตถาคตย่อมรู้กาลเพื่อจะพูดสิ่งนั้น” (สิ่งที่เป็นอนาคตและปัจจุบันก็เช่นเดียวกัน)

      จากพระพุทธพจน์นี้ เราจะเห็นได้ทันทีว่า แม้แต่สิ่งที่เป็นความจริงพูดไปแล้วมีประโยชน์ พระพุทธองค์ก็ยังทรงดูกาลเทศะที่พึงจะตรัสออกมา นับว่าทรงมีความรอบคอบอย่างยิ่ง

   อีกคราวหนึ่ง ขณะที่พระพุทธองค์ทรงต้อนรับพระเจ้าปเสนทิแห่งรัฐโกศลที่บุพพาราม ได้มีชฎิล 7 คน นิครนถ์ 7 คน อเจลกะ 7 คน เอกสาฎก 7 คน และปริพาชก 7 คน มีขนรักแร้ และเล็บยาว หาบบริขารพะรุงพะรังเดินผ่านไป เมื่อพระเจ้าปเสนทิโกศลทอดพระเนตรเห็น ได้คุกเข่าประคองอัญชลีไปทางคนเหล่านั้น เป็นการถวายความเคารพ แล้วกราบทูลพระพุทธเจ้าว่า คนเหล่านั้นเป็นพระอรหันต์จำพวกหนึ่งในบรรดาพระอรหันต์ทั้งหลายในโลก

       พระพุทธองค์ตรัสว่า “ดูก่อนมหาบพิตร มหาบพิตรเป็นคฤหัสถ์ บริโภคกาม ทรงครองฆราวาสอันคับคั่งด้วยโอรสและมเหสี …ยากที่จะทรงทราบได้ว่า ท่านเหล่านั้นเป็นพระอรหันต์…

      ดูก่อนมหาบพิตร ศีลพึงทราบได้ด้วยการอยู่ร่วมกัน ความเป็นผู้สะอาดพึงทราบได้ด้วยการปราศรัย…กำลังใจพึงทราบได้ในคราวมีอันตราย ..ปัญญาพึงทราบได้ด้วยการสนทนา ..ก็ศีล..ความเป็นผู้สะอาด..กำลังใจ..ปัญญานั้นแลพึงทราบได้ด้วยกาลนาน ไม่ใช่โดยกาลนิดหน่อย พิจารณาจึงจะทราบได้ ไม่พิจารณาไม่พึงทราบ ผู้มีปัญญาจึงจะทราบ ผู้มีปัญญาทรามไม่พึงทราบ”8)

    เมื่อได้ฟังพุทธพจน์จนเกิดความซาบซึ้งแล้ว พระเจ้าปเสนทิจึงทรงรับสารภาพออกมาว่า นักบวชเหล่านั้นเป็นราชบุรุษ ปลอมตัวไปสอดแนมราชการในชนบท เป็นคนของพระเจ้าปเสนทินั่นเอง
 

6. มีความประพฤติน่าเคารพบูชา

      ครูไม่ใช่ผู้ให้ความรู้แก่ศิษย์อย่างเดียว แต่เป็นแบบอย่างทางความประพฤติแก่ศิษย์ด้วย ฉะนั้นครูจะต้องเป็นทั้งผู้แนะและผู้นำ จะต้องปฏิบัติในสิ่งที่ตนสอน พระพุทธเจ้าตรัสเกี่ยวกับพระองค์เองว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเป็นผู้กล่าวอย่างใดทำอย่างนั้น เป็นผู้ทำอย่างใด กล่าวอย่างนั้น ด้วยเหตุนี้ ตถาคตจึงชื่อว่า ยถาวาที ตถาการี หรือ ยถาการี ตถาวาที”
 

7. รู้จักภูมิสติปัญญาของนักเรียน

       ครูที่ดีต้องรู้จักระดับสติปัญญาของนักเรียนว่าสูงต่ำแค่ไหน  แล้วปรับปรุงวิธีการสอนของตนให้เหมาะสมกับแต่ละคนหรือแต่ละกลุ่มบุคคล 4 ประเภท

พระพุทธเจ้าทรงพบว่า คนเรามี 4 ประเภท ตามระดับสติปัญญา คือ

1.อุคฆฏิตัญญู ผู้สามารถรู้ได้ฉับพลัน เพียงแต่ยกหัวข้อขึ้นแสดงก็รู้ได้ทันที

2.วิปจิตัญญู ผู้สามารถรู้ได้ต่อเมื่อมีการอธิบายขยายความของหัวข้อที่ยกขึ้นไว้

3.เนยยะ ( ผู้พอแนะนำได้ ) ผู้สามารถเข้าใจได้ เมื่อยกหัวข้อขึ้นแสดงอธิบายความอย่างละเอียด แล้วก็มีการซักถามทบทวนอีกครั้งหนึ่ง จึงจะเข้าใจได้

4.ปทปรมะ ( ผู้มีบทเป็นอย่างยิ่ง ) หมายถึงผู้ต้องใช้บทบาทมากจึงจะเข้าใจได้

ปทปรมะน่าจะมี 2 ประเภท คือ

4.1   ประเภทสอนไม่ได้เลย คือคนประเภทปัญญาอ่อน ไม่มีทางจะเข้าใจอย่างลึกซึ้งได้

4.2 ประเภทมีความเห็นผิดอย่างรุนแรง และยึดถือในความเห็นของตนอย่างเหนียวแน่น ประเภทนี้พอสอนได้ แต่ต้องใช้วิธีพิเศษ ดังจะกล่าวต่อไปนี้

 

เปรียบด้วยบัว 4 เหล่า

     คน 4 ประเภทนี้อาจจะเปรียบได้ด้วยดอกบัว 4 ประเภท คือ

     พวกอุคฆฏิตัญญู เปรียบเหมือนบัวพ้นน้ำแล้ว รอแต่แสงแดดเท่านั้นเมื่อรับแสงแดดจะบานทันที

     พวกวิปจิตัญญู เปรียบเหมือนบัวปริ่มน้ำ วันรุ่งขึ้นจะพ้นน้ำ และจะบานเมื่อได้รับแสงแดด

     พวกเนยยะ เปรียบเหมือนบัวอยู่ใต้พื้นผิวน้ำ วันต่อๆไปก็จะขึ้นเหนือน้ำ รับแสงแดดแล้วก็บาน

   พวกปทปรมะ เปรียบเหมือนบัวที่ยังติดดิน ถ้าไม่ได้รับการประคบประหงมเป็นพิเศษ อาจจะเป็นภักษาแห่งปลาและเต่า

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0016631801923116 Mins