การทำหน้าที่กัลยาณมิตรของอุปติสสะ
วันหนึ่ง ขณะนั้นเป็นเวลาเช้า พระอัสสชิ ซึ่งเป็นหนึ่งในพระปัญจวัคคีย์ที่บรรลุธรรมแห่งพระพุทธองค์แล้ว ได้ถือบาตรจีวร เข้าไปบิณฑบาตยังพระนครราชคฤห์นั้น ท่านเป็นผู้มีกิริยามรรยาท น่าเลื่อมใส มีนัยน์ตาทอดลง ถึงพร้อมด้วยอิริยาบถ สารีบุตรปริพาชกได้เห็นพระอัสสชิ กำลังเที่ยวบิณฑบาตในพระนครราชคฤห์ และเห็นกิริยามรรยาทอันน่าเลื่อมใส จึงเกิดความดำริว่า บรรดาพระอรหันต์ หรือท่านผู้ได้บรรลุพระอรหัตมรรคในโลก ภิกษุรูปนี้คงเป็นผู้ใดผู้หนึ่งแน่ ถ้ากระไร เราพึงเข้าไปหาภิกษุรูปนี้ แล้วจะถามว่า ท่านบวชเฉพาะใคร ใครเป็นศาสดาของท่านหรือท่านชอบใจธรรมของใคร? สมัยหนึ่ง มีนักบวชชื่อสญชัยปริพาชกอาศัยอยู่ในพระนครราชคฤห์ พร้อมด้วยปริพาชกบริษัทหมู่ใหญ่ซึ่งเป็นศิษย์ จำนวน ๒๕๐ คน ครั้งนั้น พระสารีบุตรพระโมคคัลลานะ เมื่อยังไม่ได้บวชในพระพุทธศาสนา ท่านมีนามเดิมว่าอุปติสสะและโกลิตะ ได้ศึกษาและประพฤติพรหมจรรย์อยู่ในสำนักสญชัยปริพาชกท่านนี้ ท่านทั้งสองได้ทำกติกากันไว้ว่า ผู้ใดบรรลุอมตธรรมก่อน ก็ขอให้ผู้นั้นได้บอกอมตธรรมแก่อีกคนหนึ่งด้วย
แต่แล้วเกิดได้ยั้งคิดว่า ยังเป็นกาลไม่สมควรจะถามภิกษุรูปนี้ เพราะท่านกำลังเข้าละแวกบ้านเที่ยวบิณฑบาต ผิฉะนั้น เราพึงติดตามภิกษุรูปนี้ไปข้างหลัง รอเวลาที่ท่านเสร็จกิจแล้วจึงจะเข้าไปสนทนาด้วย ครั้นได้เวลาอันเหมาะสมแล้ว สารีบุตรปริพาชกได้เข้าไปหาพระอัสสชิและได้พูดจาปราศรัยพอให้เป็นที่บันเทิง เป็นที่ระลึกถึงกันแล้ว สารีบุตรปริพาชก จึงได้กล่าว กับท่านพระอัสสชิว่า “อินทรีย์ของท่านผ่องใส ผิวพรรณของท่านบริสุทธิ์ผุดผ่อง ท่านบวชเฉพาะใคร ใครเป็นศาสดาของท่าน หรือท่านชอบใจธรรมของใคร ขอรับ?”
พระอัสสชิตอบว่า “มีอยู่ ท่าน พระมหาสมณะศากยบุตร เสด็จออกทรงผนวชจากศากยตระกูล เราบวชเฉพาะพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเป็นศาสดาของเรา และเราชอบใจธรรมของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น.”
สารีบุตรปริพาชกจึงถามว่า “ก็พระศาสดาของท่านสอนอย่างไร แนะนำอย่างไร?”
“เราเป็นคนใหม่ บวชยังไม่นาน เพิ่งมาสู่พระธรรมวินัยนี้ ไม่อาจแสดงธรรมแก่ท่านได้กว้างขวาง แต่จักกล่าวใจความแก่ท่านโดยย่อ.” พระอัสสชีกล่าว
“น้อยหรือมากนิมนต์กล่าวเถิด ท่านจงกล่าวแต่ใจความแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าต้องการใจความอย่างเดียว ท่านจักทำพยัญชนะให้มากทำไม.”
ลำดับนั้น พระอัสสชิ ได้กล่าวธรรมปริยายนี้แก่สารีบุตรปริพาชก ว่าดังนี้ “ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตทรงแสดงเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น และความดับแห่งธรรมเหล่านั้น พระมหาสมณะมีปกติทรงสั่งสอนอย่างนี้.”
ครั้นได้ฟังธรรมปริยายนี้ สารีบุตรปริพาชก เกิดมีดวงตาเห็นธรรมขึ้นทันที จิตใจผ่องใสปราศจากธุลี ปราศจากมลทินว่า ประจักษ์แจ้งแล้วว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลมีความดับไปเป็นธรรมดา
เวลาต่อมา สารีบุตรปริพาชกได้เข้าไปหาโมคคัลลานะปริพาชก ครั้นโมคคัลลานะปริพาชก ได้เห็นสารีบุตรปริพาชกเดินมาแต่ไกล จึงถามสารีบุตรปริพาชกว่า
“ผู้มีอายุ อินทรีย์ของท่านผ่องใส ผิวพรรณของท่านบริสุทธิ์ผุดผ่อง ท่านได้บรรลุอมตธรรมแล้วกระมังหนอ?”
“ถูกละ ผู้มีอายุ เราได้บรรลุอมตธรรมแล้ว.” สารีบุตรปริพาชกตอบ
“ท่านบรรลุอมตธรรมได้อย่างไร ด้วยวิธีไร?”
“ผู้มีอายุ วันนี้เราได้เห็นพระอัสสชิกำลังเที่ยวบิณฑบาตในพระนครราชคฤห์ ท่านเป็นผู้มีกิริยามรรยาทน่าเลื่อมใส ครั้นแล้วเราได้มีความดำริว่า บรรดาพระอรหันต์หรือท่านผู้ได้บรรลุอรหัตมรรคในโลก ภิกษุรูปนี้คงเป็นผู้ใดผู้หนึ่งแน่ ถ้ากระไร เราพึงเข้าไปหาภิกษุรูปนี้ แล้วถามว่า ท่านบวชเฉพาะใคร ใครเป็นศาสดาของท่าน หรือท่านชอบใจธรรมของใคร เรานั้นได้ยั้งคิดว่า ยังเป็นกาลไม่สมควรจะถามภิกษุรูปนี้ เพราะท่านยังกำลังเข้าละแวกบ้านเที่ยวบิณฑบาต ผิฉะนั้นเราพึงติดตามภิกษุรูปนี้ไปข้างหลัง เพราะเป็นทางอันผู้มุ่งประโยชน์ทั้งหลายจะต้องสนใจ”
“ลำดับนั้น พระอัสสชิเที่ยวบิณฑบาตในพระนครราชคฤห์ ถือบิณฑบาตกลับไปแล้ว ต่อมา เราได้เข้าไปหาพระอัสสชิ ครั้นถึงแล้ว ได้พูดปราศรัยกับพระอัสสชิ ครั้นผ่านการพูดปราศรัยพอให้เป็นที่บันเทิง เป็นที่ระลึกถึงกันไปแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง เรายืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กล่าวคำนี้ต่อพระอัสสชิว่า อินทรีย์ของท่านผ่องใส ผิวพรรณของท่านบริสุทธิ์ผุดผ่อง ท่านบวชเฉพาะใคร ใครเป็นศาสดาของท่าน หรือท่านชอบใจธรรมของใคร ขอรับ?”
“พระอัสสชิตอบว่า มีอยู่ ท่าน พระมหาสมณะศากยบุตรเสด็จออกทรงผนวชจากศากยตระกูล เราบวชเฉพาะพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เราได้ถามพระอัสสชิต่อไปว่า ก็พระศาสดาของชอบใจธรรมของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น”
“เราได้ถามพระอัสสชิต่อไปว่าก็พระศาสดาของท่านสอนอย่างไร แนะนำอย่างไร? พระอัสสชิตอบว่า เราเป็นคนใหม่ บวชยังไม่นาน เพิ่งมาสู่พระธรรมวินัยนี้ ไม่อาจแสดงธรรมแก่ท่านได้กว้างขวาง แต่จักกล่าวใจความแก่ท่านโดยย่อ เราได้เรียนว่า น้อยหรือมาก นิมนต์กล่าวเถิด ท่านจงกล่าวแต่ใจความแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าต้องการใจความอย่างเดียว ท่านจักทำพยัญชนะให้มากทำไม.”
“ผู้มีอายุ ครั้งนั้น พระอัสสชิได้กล่าวธรรมปริยายนี้ ว่าดังนี้” ครั้นได้ฟังธรรมปริยายนี้ โมคคัลลานะปริพาชก ก็ได้ดวงตาเห็นธรรมเช่นเดียวกับสารีบุตรปริพาชก ท่านมีจิตผ่องใสปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน รู้ประจักษ์ชัดว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลมีความดับไปเป็นธรรมดา
ปริพาชกทั้งสองจึงปรึกษากันว่าควรที่จะเชิญชวนสญชัยปริพาชก ซึ่งเป็นอาจารย์เข้าไปสักการะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยกัน เพราะแม้พระอัสสชิซึ่งเป็นพระสาวก ยังกล่าวธรรม จนท่านทั้งสองได้ดวงตาเห็นธรรม หากได้เข้าเฝ้าถวายสักการะแด่พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ย่อมจะเกิดประโยชน์แก่ชีวิตอย่างมหาศาล แต่สญชัยปริพาชก ไม่ปรารถนาที่จะไปด้วย ยังมีความพอใจที่จะเป็นอาจารย์ของหมู่ปริพาชกอยู่เช่นเดิม
อย่างไรก็ตาม สารีบุตรปริพาชกและโมคคัลลานะปริพาชก ก็ชวนกันเดินทางไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยความมุ่งมั่น
พระพุทธองค์ครั้นได้ทอดพระเนตรเห็นสารีบุตรโมคคัลลานะมาแต่ไกล จึง มีรับสั่งกับพระภิกษุทั้งหลายว่า
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย สหายสองคนนั้น คือโกลิตะ และอุปติสสะ กำลังมานั่น จักเป็นคู่สาวกของเรา จักเป็นคู่อันเจริญชั้นเยี่ยมของเรา”
ครั้งนั้น สารีบุตรปริพาชกและโมคคัลลานะปริพาชกได้พากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ครั้นถึงแล้วได้ซบเศียรลงที่พระบาทของผู้มีพระภาค แล้วทูลขอบรรพชาอุปสมบทต่อพระผู้มีพระภาคว่า
“ขอพวกข้าพระพุทธเจ้า พึงได้บรรพชา พึงได้อุปสมบทในสำนักพระผู้มีพระภาค พระพุทธเจ้าข้า.”
พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า “พวกเธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว พวกเธอจงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด.”
หลังจากบวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาเรียบร้อยแล้ว ปริพาชกทั้งสองได้กลายเป็นพระอรหันต์ และเป็นอัครสาวกผู้ที่มีบทบาทในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งรู้จักท่านทั้งสองในนาม พระสารีบุตร และพระโมคคัลลานะนั่นเอง และจากเรื่องราวดังกล่าว แสดงให้เห็นความเป็นกัลยาณมิตรระหว่างพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ จนทำให้ท่านทั้งสองได้ดวงตาเห็นธรรม จนกระทั่งได้พบพระบรมครู คือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ดังนั้น จะเห็นได้ว่า การเป็นกัลยาณมิตรให้บุคคลอื่น และการมีบุคคลอื่นมาเป็นกัลยาณมิตรให้เรานั้น หากมุ่งช่วยเหลือเกื้อกูลกันในทางที่ดีงาม ย่อมจะทำให้ชีวิตมีความเจริญก้าวหน้า ทั้งนี้เพราะเราเองจะเป็นคนดีเพียงคนเดียวไม่ได้ และจะอยู่เพียงลำพังคนเดียวในโลกไม่ได้ จำเป็นจะต้องมีความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น ซึ่งการจะมีความสัมพันธ์กับบุคคลเหล่าอื่นแบบใด จะเป็นในรูปแบบของการเป็นกัลยาณมิตรหรือไม่ใช่การเป็นกัลยาณมิตร ย่อมมีผลต่อชีวิตของเรา
หากเราหยิบยื่นความสัมพันธ์แก่บุคคลอื่นในการเป็นกัลยาณมิตร หรือเราได้รับการหยิบยื่นด้วยความเป็นกัลยาณมิตรจากบุคคลอื่น ก็ย่อมเชื่อแน่ได้ว่า ชีวิตของเราย่อมประสบกับความดีงาม และพบกับความสำเร็จในการดำเนินชีวิต ทั้งชีวิตในทางโลกและในทางธรรม