ลักษณะของกัลยาณมิตร
1. หากพิจารณาลักษณะกัลยาณมิตรโดยยึดหลักของประโยชน์ อันเป็นประโยชน์ที่จะได้รับจากการมีกัลยาณมิตรหรือจากการทำหน้าที่กัลยาณมิตร จะต้องดูว่าประโยชน์ที่เกิดขึ้นนั้นจะต้องเป็นประโยชน์ที่จะต้องนำไปสู่ความดี เป็นไปในทางสร้างสรรค์ ไม่ผิดกฎหมายบ้านเมือง หรือผิดต่อศีลธรรมอันดีในสังคมการจะมีบุคคลใดนำประโยชน์มาให้ในทางที่ผิดกฎหมายหรือผิดศีลธรรมอันดี เช่น ให้เงินสินบน ให้สินค้าผิดกฎหมาย ให้อาวุธที่ลักลอบมา หรือให้ของที่ขโมยมา แม้สิ่งดังกล่าวจะใช้อุปโภคบริโภคได้ หรือนำมาใช้งานได้แต่บุคคลที่นำมาให้นั้น ยังไม่ชื่อว่าเป็นกัลยาณมิตร
2. หากพิจาณาลักษณะกัลยาณมิตรโดยยึดหลักของการให้คำแนะนำพร่ำสอน ต้องดูว่าคำพร่ำสอนของกัลยาณมิตรนั้นจะต้องเป็นไปในทางที่นำไปสู่ความหลุดพ้นจากสิ่งชั่วร้ายและสิ่งไม่ดีทั้งหลายจะต้องช่วยบรรเทากิเลส ได้แก่ โลภะ โทสะ โมหะ ให้เบาบางลง มิใช่เป็นคำสอนให้กระทำในสิ่งที่ผิดกฎหมายหรือผิดศีลธรรม เช่น แนะให้ทุจริตในการสอบ แนะให้ไม่เชื่อเรื่องกฎแห่งกรรม เป็นต้น หรือแม้จะเป็นนักบวช นักบวชนั้นจะต้องให้คำสั่งสอนที่ดีงาม แม้อาจจะไม่ถูกใจแต่จะต้องถูกต้องตามหลักศีลธรรม หาใช่การเพิ่มกิเลส ขึ้นในตัวของผู้ที่เราจะไปเป็นกัลยาณมิตร เช่น การทำนายทายทักในสิ่งที่เราไม่รู้จริง การให้เลขให้หวย ซึ่งแม้จะแม่นหรือไม่แม่น ก็ถือว่ายังมิใช่การทำหน้าที่กัลยาณมิตร และนักบวชที่กระทำเช่นนี้ก็ยังไม่ชื่อว่าเป็นกัลยาณมิตร
3. หากพิจารณาลักษณะกัลยาณมิตรโดยยึดหลักของการทำงานร่วมกัน หรือการมีชีวิตความเป็นอยู่ร่วมกัน ผู้ที่จะเป็นกัลยาณมิตรจะต้องมีการทำงานร่วมกันหรืออยู่ด้วยกันอย่างเอื้ออาทร ต่างฝ่ายต่างช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มีความปรารถนาดีต่อกันอย่างจริงใจ เช่น หากเป็นเพื่อนร่วมชั้นเรียน จะต้องมีความปรารถนาดีต่อเพื่อนร่วมชั้น ด้วยการเป็นคู่คิดในการส่งเสริมการเรียนซึ่งกันและกัน ชักชวนกันอ่านหนังสือ ทบทวนความรู้ เพื่อการเรียนจะมีผลดีและสามารถศึกษาได้สำเร็จ หากเป็นคู่สมรส ก็จะต้องมีความซื่อสัตย์ต่อกัน ช่วยเหลือและรักษาน้ำใจซึ่งกันและกัน หากเป็นเพื่อนร่วมงาน บุคคลที่ได้ชื่อว่าเป็นกัลยาณมิตรนั้นจะต้องช่วยเหลือเพื่อนร่วมงานด้วยความปรารถนาดี คอยช่วยเหลือแนะนำและช่วยแก้ไขในสิ่งที่อาจจะผิดพลาดพลั้งเผลอ เป็นต้น นอกจากนี้จะต้องชักชวนกันทำความดีหรือขวนขวาย ในการทำความดีที่ยิ่งๆ ขึ้นไป ถ้ากระทำได้เช่นนี้ ได้ชื่อว่าเป็นกัลยาณมิตร
4. หากพิจารณาลักษณะกัลยาณมิตรโดยยึดหลักของความเป็นผู้สม่ำเสมอ หรือความเสมอต้นเสมอปลาย ผู้ที่จะเป็นกัลยาณมิตรนั้น จะต้องมีพฤติกรรมที่ดีอย่างสม่ำเสมอ หรือมีความเสมอต้นเสมอปลายจนทำให้บุคคลทั้งหลายมีความมั่นใจว่า ผู้ที่มาเป็นกัลยาณมิตรให้นั้นน่าเชื่อถือและไว้วางใจได้ แม้กระทั่งสามารถปรึกษาเรื่องส่วนตัวและหวังได้ว่าจะได้รับคำแนะนำที่ตนไม่อาจจะแก้ไขด้วยตนเองได้ เช่น ปัญหาสุขภาพ ปัญหาครอบครัว เป็นต้น
จากลักษณะที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้นนี้ แสดงถึงความเป็นกัลยาณมิตรว่ามิใช่เพียงความเป็นเพื่อนหรือมิตรธรรมดา แต่เป็นมิตรหรือเพื่อนที่ดี แนะนำในสิ่งที่ดีงาม และชักชวนกระทำแต่ในสิ่งที่มีประโยชน์ไม่ผิดกฎหมายหรือผิดศีลธรรม และในขณะเดียวกันการที่บุคคลจะมีกัลยาณมิตร หรือที่เรียกว่า"กัลยาณมิตตตา" นั้น จะต้องเป็นผู้ที่รู้จักเลือกคบหามิตรที่แนะนำหรือชักชวนเพื่อนให้ทำ แต่สิ่งที่ดีงามดังนั้นบุคคลใดที่ได้ชื่อว่ามีกัลยาณมิตรนั้น ย่อมจะมีชีวิตที่ประสบแต่ความเจริญ ดังความปรากฏ ในพระไตรปิฎกที่กล่าวถึงการจะเป็นผู้มีความเจริญรุ่งเรืองในชีวิตนั้น จะต้องกระทำดังเรื่องราวต่อไปนี้
ครั้งเมื่อ สมัยพุทธกาล ขณะที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ นิคมแห่งชาวโกฬิยะ ชื่อ กักกรปัตตะ ใกล้เมืองโกฬิยะ ครั้งนั้นมีชายคนหนึ่งชื่อว่า ทีฆชาณุ ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เป็นคฤหัสถ์ยังบริโภคกาม อยู่ครองเรือน นอนเบียดบุตร ใช้จันทน์ในแคว้นกาสี ยังทรงดอกไม้ของหอมและเครื่องลูบไล้ ยังยินดีเงินและทองอยู่ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญขอพระผู้มีพระภาคโปรดแสดงธรรมที่เหมาะแก่ข้าพระองค์ อันจะพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขในปัจจุบัน เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขในภายหน้าเถิด ฯ"
พระผู้มีพระภาคตรัสต่อชายหนุ่มคนนี้ว่า
"ดูกรพยัคฆปัชชะ2 ธรรม 4 ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เพื่อความสุขในปัจจุบันแก่กุลบุตร 4 ประการเป็นไฉนคือ อุฏฐานสัมปทา 1 อารักขสัมปทา 1 กัลยาณมิตตตา 1 สมชีวิตา 1 ฯ"
จากประโยคดังกล่าว จะพบว่า การจะมีประโยชน์สุขในชีวิตปัจจุบันได้นั้น จะต้องประกอบด้วยธรรมะประการหนึ่ง คือ "กัลยาณมิตตตา"