ลำดับขั้นตอนและการเตรียมตัวเพื่อการทำหน้าที่กัลยาณมิตร
ในการทำหน้าที่กัลยาณมิตรโดยทั่วไปนั้น ผู้ออกทำหน้าที่ย่อมจะต้องสื่อสารกับบุคคลที่จะไปพบทั้งด้วยการแสดงออกทางกายและทางวาจา โดยมีจิตใจที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความปรารถนาดีต่อทุกคนในที่นี้ แม้จะเน้นเรื่องการใช้วาจาในการทำหน้าที่กัลยาณมิตร แต่กระนั้น ก็ย่อมจะมีความเกี่ยวโยงกับการแสดงออก ด้านอื่นๆ ที่จะต้องผสมผสานกันอย่างเหมาะสม ทั้งนี้ลำดับขั้นตอนโดยทั่วไปมีดังนี้
1.การกล่าวสวัสดี และพนมมือนอบน้อมไหว้อย่างพองาม
2.การกล่าวทักทายผู้ที่เราไปพบ พร้อมทั้งใช้คำสรรพนามให้เหมาะสมตามวัยของแต่ละท่าน เช่น ลุง ป้า น้า อา
3.การแนะนำตัวเอง เช่น บอกชื่อ และมาจากไหน เป็นต้น
4.บอกจุดประสงค์และเหตุผลที่มาพบ
5.การทำความรู้จัก สร้างบรรยากาศที่เป็นมิตร ก่อให้เกิดความเข้าใจอันดีซึ่งกันและกัน
6.สนทนาธรรมหรือนำเรื่องการทำความดีมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ตลอดจนแนะนำวิธีการทำบุญ เช่น การทำทาน การรักษาศีล และการเจริญภาวนา เป็นต้น
7.สรุปเรื่องหรือเนื้อหาที่คุย ให้จบลงในเวลาที่เหมาะสม ไม่นานเกินไป
8.หากมีของฝาก ให้มอบของฝากที่เหมาะสม เช่น หนังสือธรรม เป็นต้น
9.การอนุโมทนาบุญก่อนกลับ ทั้งนี้ต้องแสดงความยินดีในความดีของเขาด้วย
10.การอวยพรที่ออกจากความปรารถนาดีจากตัวเรา
11.การอำลากลับ ซึ่งจะต้องไม่ลืมว่าเวลาจะกลับควรไหว้ และกล่าวสวัสดีลากลับ
สิ่งที่พึงตระหนักในการทำหน้าที่กัลยาณมิตรประการหนึ่ง ก็คือ การเตรียมข้อมูลและเนื้อหาธรรมะ ที่จะนำไปถ่ายทอดแนะนำแก่บุคคลทั้งหลาย ดังนั้น ผู้จะทำหน้าที่กัลยาณมิตรนั้นจะต้องเป็นผู้ขวนขวายในการศึกษาธรรมะ แม้จะไม่เชี่ยวชาญแบบนักปราชญ์ แต่ก็จำเป็นต้องมีความรู้ในเรื่องราวที่เราจะนำไปแนะนำแก่บุคคลทั้งหลายเป็นอย่างดี และเรื่องราวที่มักจะนำเข้าสู่การสนทนาในเบื้องต้นนั้น ผู้ที่จะไปทำหน้าที่กัลยาณมิตร ควรจะมีความรู้ในหัวข้อธรรม ดังต่อไปนี้
1.การทำทาน
2.การรักษาศีล
3.การเจริญภาวนา
นอกจากนี้ สิ่งที่ควรรู้เพิ่มเติมก็เป็นเรื่องราวและข่าวคราวทั่วไปเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา แต่ก็ถือว่าจะเป็นเสน่ห์สำหรับผู้ที่จะไปทำหน้าที่กัลยาณมิตร ถ้าหากมีความรอบรู้ในด้านอื่นๆ อีก เพราะจะเป็นประโยชน์ในการนำไปสู่การเปิดการสนทนา ในลักษณะที่พูดภาษาเดียวกันกับคู่สนทนาก่อน แล้วค่อยย้อนกลับมาพูดคุยหรือสนทนาในเรื่องธรรมะที่เราเตรียมไปได้