ความรู้เรื่องของใจเพื่อการสร้างให้เกิดกำลังใจ

วันที่ 10 กย. พ.ศ.2557

ทักษะการทำหน้าที่กัลยาณมิตรทางจิตใจ

ทักษะการทำหน้าที่กัลยาณมิตรทางจิตใจ

ความรู้เรื่องของใจเพื่อการสร้างให้เกิดกำลังใจ

      ทั้งนี้ต้องเข้าใจในเบื้องต้นเกี่ยวกับ “ ใจ ” ว่า ความสำเร็จของคนทั้งหลายนั้นเริ่มต้นที่ใจถ้าบุคคล ใด รักษาและควบคุมจิตใจของตนเองได้ ก็จะสามารถกุมความสำเร็จได้ทุกอย่าง แต่ในทางตรงกันข้ามถ้าหากควบคุมจิตใจตัวเองไม่ได้ บุคคลนั้นก็จะสูญเสียทุกอย่างไปเช่นกัน ซึ่งใจคนเรามีส่วนประกอบและมีกระบวนการทำงานคล้ายกับเครื่องยนต์เครื่องจักร ที่มีการทำงานประสานกันเป็นทอดๆ ของอุปกรณ์ต่างๆ ดังนั้น ถ้าอุปกรณ์ส่วนใดเกิดชำรุด หรือบกพร่อง ก็ส่งผลให้การทำงานไม่สามารถบรรลุผลสมบูรณ์ได้

    กล่าวโดยย่อว่าใจคนเราคือ ธาตุกายสิทธิ์ชนิดหนึ่ง อาศัยอยู่ในกาย มีอำนาจรู้ ทำหน้าที่ประสานงานกับประสาททั้ง 5 นั้น คือ

  1.บังคับใช้ประสาททั้ง 5 (ประสาทตา หู จมูก ลิ้น กาย)

  2.รับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นกับประสาททั้ง 5 ด้วยอาการ 4 อย่าง คือ


เห็น ได้แก่ รับภาพ รับเสียง รับกลิ่น รับรส รับโผฏฐัพพะ (สิ่งแตะต้องกาย) รับอารมณ์ที่กระทบผ่านมาทาง ประสาททั้ง 5 แล้ว เปลี่ยนสิ่งที่มากระทบทั้งหมดเหล่านั้น ให้เป็นภาพ

จำ    ได้แก่ บันทึกภาพต่างๆ ที่เห็นผ่านมาแล้วนั้นไว้อย่างรวดเร็ว เหมือนภาพที่ถูกบันทึกไว้ใน ฟิล์มภาพยนตร์ เพื่อเก็บไว้เป็นข้อมูลต่อไป

คิด   ได้แก่ ใคร่ครวญพิจารณาข้อมูลต่างๆ ที่จำได้แล้วนั้น ไปในทำนองว่า ดี ชั่ว ชอบ ชัง หรือเฉยๆ

รู้     ได้แก่  ตัดสินใจเชื่อหรือรับทราบถึงสภาพสิ่งต่างๆ (ที่มากระทบกับประสาททั้ง 5 ก่อนที่จะรับและจำได้) ว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้


     หากใจของคนเราคิดดี ย่อมเป็นเหตุให้บุคคลนั้นพูดดี ทำดีตามไป แต่ถ้าใจคิดไม่ดี ย่อมเป็นเหตุให้บุคคลนั้นพูดชั่ว ทำชั่วตามไป ผู้ที่ฝึกใจให้ตั้งมั่นได้เป็นนิตย์ ย่อมเป็นผู้มีใจผ่องใสเข้มแข็ง มีความเห็นถูกต้องตามความเป็นจริง แต่สิ่งที่ทำอันตราย คอยรังควานให้ใจลำบาก อ่อนแอ เศร้าหมอง เรียกว่า กิเลส กิเลสทำให้คนดีกลายเป็นคนชั่ว ทำให้คนใจดีกลายเป็นคนใจดำ ทำให้คนใจงามกลายเป็นคนใจง่าย ทำให้คนอ่อนโยนกลายเป็นคนหยาบกระด้าง ยิ่งกว่านั้นยังทำให้คนบังอาจทำความผิด ทั้งๆ ที่รู้ ทำให้คนไม่ อาจทำความดีเพื่อบรรลุมรรคผลนิพพาน กิเลสมีอยู่หลายประเภท เช่นเดียวกับโรคต่างๆ ของร่างกายซึ่งมีอยู่มากมาย แต่ที่เป็นตัวการใหญ่ๆ มีอยู่ 3 ตระกูล คือ

1) ตระกูลโลภะ

2) ตระกูลโทสะ

3) ตระกูลโมหะ

   กิเลส ทุกตระกูลเมื่อเข้าครอบครองใจของผู้ใดได้แล้ว ย่อมทำให้ใจของผู้นั้นขุ่นมัวลงทันทีการทำงานของใจทั้ง 4 ขั้นตอนก็วิปริตคลาดเคลื่อนไป คือ

เห็น  ไม่ตรงตามความเป็นจริง เหมือนภาพบนจอโทรทัศน์ที่ถูกคลื่นรบกวน

จำ    ผิดๆ ไขว้ๆ เขวๆ เลือนๆ ลางๆ สลับหน้าสลับหลังไม่ต่อเนื่องกัน

คิด   สับสนวุ่นวาย จากถูกกลายเป็นผิด ดีกลายเป็นชั่ว รักกลายเป็นชัง ตามข้อมูลที่จำมาผิดๆ เหล่านั้น

รู้      ปักใจเชื่อตามความคิดผิดๆ เหล่านั้น กลายเป็นคนใจวิปริต ใจบาป สามารถทำความชั่วได้โดยไม่รู้จักกลัว ไม่รู้จักอาย


   กิเลสทั้ง 3 ตระกูล คือโลภะ โทสะ โมหะ จึงเป็นต้นเหตุให้คนทำชั่วทุกอย่าง เป็นมูลเหตุแห่งบาปทุกชนิด อุปมาได้ว่าโรคที่เกิดในกายสามารถกำจัดรักษาให้หายสิ้นได้ด้วย “ ยา” ฉันใด กิเลสที่เกิดในใจก็สามารถกำจัดให้หมดสิ้นได้ด้วย “ บุญ” ฉันนั้น ดังนั้น เมื่อกิเลสที่คอยคุกคามใจมนุษย์มีอยู่ 3 ตระกูล คือ โลภะ โทสะ โมหะ จึงจำเป็นต้องตั้งใจปฏิบัติธรรมตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อสร้างบุญขึ้นในใจให้มีกำลัง เหนือกิเลสให้ครบทั้ง 3 ประการ คือ ทาน ศีล ภาวนา และคอยเสริมสร้างกำลังบุญเหล่านี้ให้เข้มแข็ง ยิ่งขึ้น จนสามารถทำลายล้างกิเลสได้อย่างเด็ดขาด ใจจึงจะปลอดภัยประสบสันติสุขได้อย่างแท้จริง เพราะฉะนั้น หน้าที่กัลยาณมิตรก็คือ หน้าที่ที่จะไปยกระดับจิตใจชาวโลกให้สูงขึ้น หน้าที่นี้จึงเป็นหน้าที่อันสูงส่ง เพราะเป็นหน้าที่ของผู้ชี้ทางบุญให้กับชาวโลกทั้งหลาย

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.033676465352376 Mins