การสอนแบบอนุสาสนีปาฏิหาริย์

วันที่ 28 สค. พ.ศ.2557

การสอนแบบอนุสาสนีปาฏิหาริย์

 การสอนแบบอนุสาสนีปาฏิหาริย์

      การสอนแบบอนุสาสนีปาฏิหาริย์ เป็นการบรรยายหรือการแสดงแบบธรรมดา โดยไม่ต้องใช้ฤทธิ์เดช หรือการดักใจช่วยแต่อย่างใด ในการสอน พระพุทธเจ้าทรงใช้วิธีอนุสาสนีมากที่สุดและได้ผลดีที่สุด เพราะพระพุทธเจ้าไม่ได้มีฤทธิ์เพียงอย่างเดียว แต่เนื่องจากพระพุทธองค์ทรงเปี่ยมด้วยพระปัญญาธิคุณ คือมีปัญญา เป็นเลิศ ความรู้ทั้งมวลอยู่ในศูนย์กลางธรรมกายอรหัตของพระพุทธองค์ ด้วยปัญญาอันเฉียบแหลมของพระองค์นั้น ทำให้ทรงรู้ว่าจะต้องใช้ธรรมะบทใดมาแสดง พร่ำสอนเหล่าสาวกให้ได้บรรลุธรรมตาม

 

ทรงพิจารณาจนรู้จักจริต

    พระพุทธองค์ทรงพิจารณาถึงภูมิปัญญาและภูมิหลังของผู้ฟัง แล้วก็ทรงปรับปรุงเนื้อหาของเรื่องที่จะสอน และวิธีสอนให้เหมาะสมกับคนฟัง ทรงตรวจดูสัตวโลกด้วยพุทธจักขุ

      "..ได้ทรงเห็นสัตว์ทั้งหลาย บางพวกมีธุลีคือกิเลสในจักษุน้อย บางพวกมีธุลีคือกิเลสในจักษุมาก บางพวกมีอินทรีย์แก่กล้า บางพวกมีอินทรีย์อ่อน บางพวกมีอาการดี บางพวกมีอาการทราม บางพวกสอนให้รู้ได้ง่าย บางพวกสอนให้รู้ได้ยาก บางพวกมีปรกติเห็นปรโลกและโทษโดยความเป็นภัยอยู่..”

     ก่อนทรงแสดงธรรม พระพุทธองค์ทรงทราบอนาคตของผู้ฟังด้วยการพิจารณาอย่างรอบคอบ ว่าใครจะได้บรรลุมรรคผลขั้นไหน ในการสั่งสอนคน พระพุทธองค์มิได้ทรงสอนคนทุกประเภทเท่าเทียมกัน แต่ทรงสอนตามฐานะความสัมพันธ์กับพระองค์ คราวหนึ่งนายบ้านอสิพันธกบุตรได้เข้าไปทูลถามพระองค์ว่า ถ้าพระพุทธองค์ทรงมีพระทัยเกื้อกูลแก่สัตว์ถ้วนหน้า ไฉนพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงแสดงธรรมโดยเคารพแก่คนบางพวก ไม่ทรงแสดงธรรมโดยเคารพแก่คนบางพวก พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า ถ้าเจ้าของนา มีนาอยู่ 3 ประเภท คือ นาดี นาปานกลาง และนาเลว เขาย่อมจะหว่านข้าวในนาดีก่อน พระพุทธองค์ทรงสอนธรรมแก่ภิกษุและภิกษุณีของพระองค์ก่อน ต่อจากนั้นจึงจะสอนพวกอัญญเดียรถีย์สณพราหมณ์ และปริพาชกเหล่านั้น

       ในการพิจารณาดูพื้นฐานทางจิตใจของผู้ฟังนั้น บางทีพระองค์ก็ทรงใช้ญาณพิเศษ เครื่องกำหนดรู้ใจของผู้อื่นเข้าช่วยด้วย ดังเรื่องต่อไปนี้

      "..ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกำหนดใจของบริษัททุกหมู่เหล่าด้วยพระทัยแล้ว ได้ทรงพิจารณาว่าในบริษัทนี้ ใครหนอแลควรจะรู้แจ้งธรรม พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงเห็นสุปปพุทธกุฏฐินั่งอยู่ในบริษัทนั้น ครั้นแล้วได้ทรงพระดำริว่า ในบริษัทนี้ บุรุษนี้แลควรจะรู้แจ้งธรรม..”

 

ทรงสอนตามจริตอัธยาศัย

      พระพุทธโฆษจารย์ นักปราชญ์ชาวอินเดียที่ไปศึกษาและทำงานอยู่ในลังกา ผู้แต่งคัมภีร์ วิสุทธิมรรค ได้จำแนกคนออกเป็น 6 ประเภท ตามคุณภาพทางจิตใจ ที่เรียกว่า จริต คือ

1.ราคจริต มีความโน้มเอียงในทางรักใคร่

2.โทสจริต มีความโน้มเอียงในทางโกรธเคือง

3.โมหจริต มีความโน้มเอียงในทางลุ่มหลง

4.วิตกจริต มีความโน้มเอียงในทางฟุ้งซ่าน

5.สัทธาจริต มีความโน้มเอียงในทางเชื่อง่าย

6.พุทธิจริต มีความโน้มเอียงในทางใคร่ครวญไตร่ตรอง

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.031523664792379 Mins