พุทธวิธีการตอบปัญหา

วันที่ 28 สค. พ.ศ.2557

พุทธวิธีการตอบปัญหา

พุทธวิธีการตอบปัญหา , พระสัมมาสัมพุทธเจ้า , กัลยาณมิตร , เพื่อนดี , มิตรแท้

     การตอบคำถามของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีอยู่หลายวิธี ขึ้นอยู่กับปัญญาและอัธยาศัยของผู้ถามปัญหาว่า มีพื้นฐานทางด้านธรรมะมากน้อยเพียงไร โดยสรุปอยู่ 4 วิธี คือ

1.เอกังสพยากรณียปัญหา ปัญหาที่จะต้องแก้โดยส่วนเดียว

2.ปฏิปุจฉาพยากรณียปัญหา ปัญหาที่จะต้องย้อนถามแล้วจึงแก้

3.วิภัชชพยากรณียปัญหา ปัญหาที่จะต้องจำแนกแล้วจึงแก้

4.ฐปนียปัญหา ปัญหาที่ควรงดเสีย เป็นปัญหาที่ไม่ควรตอบ เพราะตอบไปก็ไม่เกิดประโยชน์ เช่น โลกเที่ยงหรือไม่เที่ยง    โลกมีที่สุดหรือไม่มีที่สุด    ชีพก็อันนั้นหรือสรีระก็อันนั้น   ชีพเป็นอื่นหรือสรีระก็เป็นอื่น    สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมเกิดอีกหรือ ฯ   สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมไม่เกิดอีกหรือ ฯ  สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมเกิดอีกก็มี ย่อมไม่เกิดอีกก็มีหรือ ฯ  สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมเกิดอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เกิดอีกก็หามิได้หรือ

    ปัญหาเหล่านี้เป็นเหมือนปัญหาโลกแตก ไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์ทั้งต่อผู้ถามและผู้ตอบ ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย คลายกำหนัด เพื่อบรรลุมรรค ผล นิพพาน จึงไม่ควรตอบ และไม่จำเป็น ต้องไปแสวงหาคำตอบ


ถ้อยคำที่ควรพูด 3 อย่าง

   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กถาวัตถุ 3 นี้ กถาวัตถุ 3 คืออะไร คือบุคคลพึงพูดเรื่องราวปรารภเวลา ที่เป็นอดีตว่า กาลที่ล่วงแล้วได้เป็นอย่างนี้อย่าง 1 พูดเรื่องราวปรารภเวลาที่เป็นอนาคตว่า กาลภายหน้าจักเป็นอย่างนี้อย่าง 1 พูดเรื่องราวปรารภเวลาที่เป็นปัจจุบันบัดนี้ว่า กาลที่เกิดขึ้นจำเพาะหน้าบัดนี้ เป็นอยู่อย่างนี้ อย่าง 1

    ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลพึงรู้กันได้ด้วยกถาสัมปโยค ว่าจะเป็นบุคคลควรสนทนา หรือว่าเป็นบุคคลไม่ควรสนทนา ถ้าบุคคลที่ถูกถามปัญหาแล้ว ไม่แก้ตรงซึ่งเอกังสพยากรณียปัญหา (ปัญหาที่ต้องแก้ตรง) ไม่แก้จำแนกซึ่งวิภัชชพยากรณียปัญหา (ปัญหาที่ต้องแก้จำแนก) ไม่ย้อนถามแล้วจึงแก้ซึ่งปฏิปุจฉาพยากรณียปัญหา (ปัญหาที่ต้องย้อนถามแล้วจึงแก้) ไม่ยกเลิกซึ่งฐปนียปัญหา (ปัญหาที่ต้องยกเลิก) เช่นนี้ บุคคลนี้เป็นบุคคลไม่ควรสนทนา

    ถ้าบุคคลที่ถูกถามปัญหาแล้ว แก้ตรงซึ่งเอกังสพยากรณียปัญหา  แก้จำแนกซึ่งวิภัชชพยากรณีย - ปัญหา ย้อนถามแล้วจึงแก้ซึ่งปฏิปุจฉาพยากรณียปัญหา ยกเลิกซึ่งฐปนียปัญหา เช่นนี้ บุคคลนี้เป็นบุคคล ควรสนทนา

    ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลพึงรู้กันได้ด้วยกถาสัมปโยค ว่าจะเป็นบุคคลควรสนทนา หรือว่าเป็นบุคคลไม่ควรสนทนา ถ้าบุคคลที่ถูกถามปัญหาแล้ว ไม่มั่นอยู่ในฐานะ (ข้อที่เป็นได้) และอฐานะ (ข้อที่เป็นไม่ได้) ไม่มั่นอยู่ในข้อที่กำหนดไว้ ไม่มั่นอยู่ในวาทะของผู้อื่น ไม่มั่นอยู่ในข้อปฏิบัติ บุคคลเช่นนี้ เป็นบุคคลไม่ควรสนทนา ถ้าบุคคลที่ถูกถามปัญหา มั่นอยู่ในฐานะและอฐานะ มั่นอยู่ในข้อที่กำหนดไว้ มั่นอยู่ในวาทะของผู้อื่น มั่นอยู่ในข้อปฏิบัติ บุคคลเช่นนี้ เป็นบุคคลควรสนทนา

    ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลพึงรู้กันได้ด้วยกถาสัมปโยค ว่าจะเป็นบุคคลควรสนทนา หรือว่าเป็นบุคคลไม่ควรสนทนา ถ้าบุคคลที่ถูกถามปัญหาแล้ว พูดกลบเกลื่อนนอกเรื่องนอกทาง แสดงความขุ่นเคืองความโกรธแค้นความน้อยใจให้ปรากฏ บุคคลอย่างนี้ เป็นบุคคลไม่ควรสนทนา ถ้าบุคคลที่ถูกถามปัญหาแล้วไม่พูดกลบเกลื่อน ไม่นอกเรื่องไม่นอกทาง ไม่แสดงความขุ่นเคืองความโกรธแค้นความน้อยใจให้ปรากฏ บุคคลอย่างนี้ เป็นบุคคลควรสนทนา

    ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลพึงรู้กันได้ด้วยกถาสัมปโยค ว่าจะเป็นบุคคลควรสนทนา หรือว่า เป็นบุคคลไม่ควรสนทนา ถ้าบุคคลที่ถูกถามปัญหาแล้ว พูดพล่าม พูดเหยียบย่ำ พร่ำหัวเราะ คอยจับคำพลาด บุคคลชนิดนี้เป็นบุคคลไม่ควรสนทนา ถ้าบุคคลที่ถูกถามปัญหาแล้ว ไม่พูดพล่าม ไม่พูดเหยียบย่ำ ไม่พร่ำ หัวเราะ ไม่คอยจับคำพลาด บุคคลอย่างนี้ เป็นบุคคลควรสนทนา….

    ชนเหล่าใดพูดกันอยู่ ผิดใจกัน มั่นมุ่งไปคนละทาง ต่างยกตัวกระทบกระเทียบกันอย่าง อนารยชน จ้องหาช่องผิดของกันและกัน ชนเหล่านั้นย่อมยินดีคำผิด คำพลาด ความเผลอ ความเพ้อของกันและกัน อารยชนไม่ประพฤติการพูดกันอย่างนั้น

    ถ้าอารยชนใคร่จะพูด ก็เป็นผู้ฉลาด รู้จักกาล พูดแต่ถ้อยคำที่ประกอบด้วยเหตุผล ที่อารยชนประพฤติกัน ไม่โกรธ ไม่ยกตัว มีใจสงบ ไม่ตีเสมอ ไม่รุนแรง ไม่เอาหน้า รู้ชอบแล้วจึงกล่าว ทีเขาพูดถูก ก็อนุโมทนา เมื่อเขาพูดผิด ก็ไม่รุกราน ไม่ใฝ่เอาเปรียบ เขาพูดพลั้งไปบ้างก็ไม่ถือ ไม่พูดพล่าม ไม่พูดเหยียบย่ำเขา ไม่พูดคำสบถสาบาน. การพูดของสัตบุรุษทั้งหลาย เป็นการพูดเพื่อให้เกิดความรู้ ความเลื่อมใส อารยชนทั้งหลายย่อมพูดกันอย่างนี้ นี่เป็นการสนทนากันแห่งอารยชน ผู้มีปัญญา รู้ความข้อนี้แล้ว พึงพูดจาอย่ายกตัว

 

สรุป

    ด้วยความที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นสัพพัญญูรู้แจ้งโลกทั้งปวง ทรงรู้แจ้งอัธยาศัย นิสัย จริต และธาตุของหมู่สัตว์ได้อย่างชัดเจน การทำหน้าที่ยอดกัลยาณมิตรของโลกของพระพุทธองค์ จึงประสบ ความสำเร็จได้อย่างยอดเยี่ยม ทำให้ได้รับการเฉลิมพระนามว่า สัพพัญู ทรงเป็นศาสดาเอกของโลก คือทรงเป็นครูสอนที่เก่งที่สุดในโลก คือเป็น สตฺถา เทวมนุสฺสานํ ทรงสอนได้ไม่ใช่เพียงแต่มนุษย์เท่านั้น แต่สามารถสอนได้กระทั่งเทวดา พรหม นาค ยักษ์ ครุฑ คนธรรพ์ทั้งหลาย พุทธวิธีในการสอนสรรพสัตว์ จึงหลากหลาย ซึ่งไม่มีศาสดาใดในโลกจะสามารถสั่งสอนศิษยานุศิษย์ได้มากเท่ากับพระพุทธองค์

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.048578866322835 Mins