กิจกรรมเชิงกัลยาณมิตร : งานประจำขยายตัว
ช่วงเวลาระหว่าง พ.ศ. 2535 - 2540 มีการเปลี่ยนระบบการสอบ เป็นการวัดผลจากการสอบรอบเดียวตั้งแต่การสอบครั้งที่ 11 (พ.ศ. 2535) เพื่อความสะดวกต่ออาจารย์และนักเรียนจำนวนมากที่ไม่มีงบประมาณเพียงพอในการเดินทางหลายครั้ง
การยุติการสอบสองรอบ จึงมีทั้งฝ่ายอาจารย์ที่โล่งใจสะดวกสบายขึ้น และฝ่ายอาจารย์ที่เสียดายประสบการณ์ต่างๆ ที่นักเรียนได้เรียนรู้ แต่ผลที่ได้จากการจัดสอบรอบเดียวนั้นทำให้เกิดการ ขยายตัวที่เด่นชัด 2 ประการ คือ ทำให้มีนักเรียนระดับประถมศึกษาเข้าสอบเพิ่มขึ้นทุกปี และทำให้มีการเพิ่มสนามสอบโรงเรียนในแต่ละอำเภอได้มากขึ้นได้มีการยกเลิกระบบโควต้าในการสอบครั้งที่ 12 (พ.ศ. 2536) ให้สมัครได้โดยไม่จำกัดจำนวนนักเรียน และได้เพิ่มรางวัลประเภททีมในการสอบครั้งที่ 13 (พ.ศ. 2537) โดยการคิดคะแนนสูงสุดของนักเรียน 40 คนแรก
ในปีต่อมา การสอบครั้งที่ 14 (พ.ศ. 2538) คณะกรรมการลองแยกการสอบประเภททีมให้มาสอบที่วัดพระธรรมกายในเดือนพฤศจิกายน มีโรงเรียนสมัครมาสอบเป็นจำนวนมาก แต่ไม่อาจเดินทางมาใน วันสอบเพราะเกิดภาวะน้ำท่วมใหญ่ในภาคเหนือและภาคกลาง
การเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญอีกครั้งคือการเริ่มใช้กระดาษคำตอบที่ตรวจด้วยคอมพิวเตอร์ ในการสอบครั้งที่ 15 (พ.ศ. 2539) โดยเริ่มใช้กับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาก่อน มีการวางระบบการทำงานของ ซุปเปอร์ไวเซอร์อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการแบ่งพื้นที่สนามสอบในต่างจังหวัดและกรุงเทพมหานครเป็นภาคโดยให้อยู่ภายใต้การดูแลของซีเนียร์ ซุปเปอร์ไวเซอร์ซึ่งเป็นรุ่นพี่ที่เคยทำหน้าที่เป็น ซุปเปอร์ไวเซอร์ มาแล้ว
วิวัฒนาการในการสอบครั้งที่ 16 (พ.ศ. 2540) ทำให้สามารถรองรับการขยายตัวครั้งใหญ่ในยุคต่อไป มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ 3 ประการ
ประการแรก คือ การใช้กระดาษคำตอบที่ตรวจด้วยคอมพิวเตอร์สำหรับนักเรียนทุกระดับ ซึ่งนักเรียนระดับประถมศึกษาสามารถปรับตัวได้อย่างดี
ประการที่สอง คือ การเริ่มระบบใหม่ประกาศผลสอบเฉพาะนักเรียนที่ผ่านเกณฑ์ที่ได้รับรางวัลเท่านั้น
ประการที่สาม คือ การพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ใหม่ทั้งระบบ ทันใช้งานกับจำนวนนักเรียนที่ เข้าสอบถึงหลักล้านในการสอบครั้งต่อไป