กิจกรรมเชิงกัลยาณมิตร : การจัดสอบขยายตัวไปสู่ระดับภูมิภาค
ต้นปีการศึกษา 2530 มีเหตุการณ์หลายอย่างที่ทำให้คณะกรรมการต้องตัดสินใจว่า จะจัดนิทรรศการและจัดตอบปัญหาธรรมะทางก้าวหน้าหรือไม่ในที่สุดได้มีการวางแผนกันอย่างเร่งรีบได้ผลสรุปว่าให้มีการจัดสอบรอบคัดเลือกในสนามสอบต่างจังหวัดและกรุงเทพฯ รวม 10 สนามสอบกระจายไปตามภาคต่างๆได้แก่ เชียงใหม่ พิษณุโลก ขอนแก่น ร้อยเอ็ด สงขลา (หาดใหญ่) และนครปฐม
เมื่อนักเรียนสอบผ่านรอบคัดเลือกแล้ว ครั้งแรกนี้ได้คัดนักเรียนเพียง 600 คน มาสอบรอบชิงชนะเลิศที่วัดพระธรรมกายที่สภาธรรมกายหลังคาจากซึ่งเพิ่งสร้างเสร็จใช้งานได้เพียง 2 ปี คณะกรรมการต้องใช้รถสิบล้อขนโต๊ะเก้าอี้ที่ขอยืมมาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ซึ่งใช้เวลาเตรียมสถานที่ทั้งคืน
เมื่อแจ้งผลสอบแล้ว มีการจัดให้นักเรียนที่ได้รับรางวัลไปร่วมพิธีรับรางวัลและเปิดงานนิทรรศการทางก้าวหน้า (ขนาดย่อ) ที่ชั้นล่าง ศูนย์การค้ามาบุญครอง ซึ่งเปิดทำการใหม่ จึงมีพื้นที่ว่างโล่งอยู่ตลอดชั้นล่าง
สิ่งใหม่ในการจัดสอบครั้งที่ 6 คือ ทำให้เกิดชื่อ ซุปเปอร์ไวเซอร์ เป็นครั้งแรก และเป็นภารกิจของซุปเปอร์ไวเซอร์รุ่นต่อๆมาในการไปทำหน้าที่ประสานงานกับคณะครูอาจารย์ ขนส่งข้อสอบจัดการสอบตามโรงเรียนต่างๆที่จัดเป็นสนามสอบทั่วประเทศเป็นครั้งแรกที่มีการประกาศรายชื่อนักเรียนที่ได้รับรางวัลก่อนหน้านั้นเป็นการประกาศรายชื่อโรงเรียนเท่านั้น และการฝ่ายทะเบียนส่งผลสอบพร้อมกับคะแนนของนักเรียน ทำให้เป็นที่พอใจของอาจารย์ประสานงาน แต่การจัดระบบโควต้า คือจำกัดจำนวนนักเรียนที่เข้าสอบ เพื่อให้ฝ่ายทะเบียนจัดระบบงานใหม่นั้นทำให้เกิดความเศร้าโศกเสียใจแก่นักเรียนจำนวนมากที่ไม่ได้เข้าสอบคณะกรรมการรู้สึกเสียใจกับน้องๆเป็นอย่างมาก ในปีต่อๆมาจึงมีการเพิ่มจำนวนนักเรียนที่ส่งเข้าสอบได้มากขึ้นและยกเลิกระบบโควต้าในการสอบครั้งที่ 12 (พ.ศ. 2536)
บัดนี้คณะกรรมการได้เรียนรู้ว่าการตอบปัญหาธรรมะ ทางก้าวหน้า ไม่ใช่งานกิจกรรมอีกแล้ว แต่ได้กลายเป็นภารกิจ เป็นหน้าที่ ที่จะต้องทำต่อไป
วิวัฒนาการระหว่างการสอบครั้งที่ 6 - 10
ในช่วงเวลาระหว่างการสอบครั้งที่ 6 - 10 นั้น ได้ผ่านการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาสิ่งใหม่ขึ้นตามลำดับ หลังจากผ่านความยุ่งยากในการจัดสถานที่เพื่อการสอบชิงชนะเลิศครั้งแรกไปแล้ว ในช่วงเวลาอีก 4 ปี ต่อจากนั้น ระหว่าง พ.ศ. 2530- 2534 ได้มีการเตรียมสถานที่ จัดกำหนดการให้นักเรียนได้สวดมนต์ทำวัตรเช้า และถวายสังฆทานก่อนสอบ มีสถานที่สำหรับประชุมอาจารย์ ประการสำคัญคือ มีอาหารกลางวันเลี้ยงนักเรียน อาจารย์ ผู้ปกครองและญาติมิตรที่ตามมาเชียร์ บางโรงเรียนที่ต้องการ พักค้างทั้งก่อนและหลังการสอบก็ได้รับความสะดวกจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายธุดงค์ของวัดพระธรรมกายเป็นอย่างดี
สิ่งใหม่ในครั้งที่ 7 (พ.ศ. 2531) คือการทำ จดหมายข่าวทางก้าวหน้าเพื่อประกาศรายชื่อนักเรียนที่ได้รับรางวัลทุนการศึกษามีพิธีรับรางวัลที่ศาลาพระเกี้ยวในวันปิดงานนิทรรศการ
ในการสอบครั้งที่ 8 (พ.ศ. 2532) ได้เริ่มมีการพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ในการทำงานทะเบียนและประมวลผลทำคะแนนทำให้สามารถรองรับจำนวนนักเรียนที่เพิ่มขึ้นในปีต่อๆ มา ปีนี้เป็นปีสุดท้ายที่มีการจัดนิทรรศการ ทางก้าวหน้า และจัดพิธีรับรางวัลที่ศาลาพระเกี้ยวซึ่งต้องแบ่งเป็น 2 วัน เพราะจำนวนนักเรียนที่ได้รับรางวัลประเภทต่างๆ มากขึ้น โรงเรียนในกรุงเทพฯรับรางวัลวันเปิดงานนิทรรศการ และโรงเรียนในภูมิภาครับรางวัลในวันปิดนิทรรศการ
เปลี่ยนสถานที่และรูปแบบพิธีรับรางวัล
ดังนั้นในการสอบครั้งที่ 9 พ.ศ. 2533 จึงมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกอย่างหนึ่ง คือการเปลี่ยนสถานที่และรูปแบบพิธีรับรางวัล โดยจัดพิธีรับรางวัลที่สภาธรรมกายสากล วัดพระธรรมกาย คณะกรรมการ ได้กราบอาราธนาพระอุปัชฌาย์ของธรรมทายาท คือท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (สุวรรณ สุวณฺณโชโต ป.ธ.7) มาเป็นประธาน และท่านได้เมตตารับเป็นประธานติดต่อมาจนถึงปี พ.ศ. 2536
เมื่อท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ ถึงแก่มรณภาพเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2537 พระเดชพระคุณพระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดราชโอรสาราม ได้เมตตามาเป็นประธานในพิธีรับรางวัลจนถึงปี พ.ศ. 2540
จุดหักเหที่สำคัญ
จุดหักเหที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการขยายตัวของกิจกรรมนี้ คือการจัดตั้งชมรมพุทธศาสตร์สากล ในอุปถัมภ์สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ เมื่อวันศุกร์ ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2534 โดยพระเดชพระคุณพระราชภาวนาวิสุทธิ์ (หลวงพ่อธัมมชโย) ตั้งชื่อให้ และอนุญาตให้ใช้สำนักงานกัลยาณมิตรเป็นที่ทำการ ชั่วคราว เพื่อให้บัณฑิตชมรมพุทธฯ รุ่นพี่ทำหน้าที่ประสานงานกับรุ่นน้องจากสถาบันต่างๆ
ในการจัดสอบครั้งที่ 10 (พ.ศ. 2534) นั้นเอง ชมรมพุทธศาสตร์สากล ในอุปถัมภ์สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (ปัจจุบันเป็นชมรมพุทธศาสตร์สากลในอุปถัมภ์สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์)ก็ได้เริ่มทำหน้าที่เป็นศูนย์อำนวยการกลางแทนชมรมพุทธศาสตร์ จุฬาฯ