การแข่งขันเล่านิทานชาดก

วันที่ 24 เมย. พ.ศ.2558

กิจกรรมเชิงกัลยาณมิตร : การแข่งขันเล่านิทานชาดก
 

      กิจกรรมพิเศษที่เพิ่มขึ้นในการจัดนิทรรศการทางก้าวหน้าครั้งที่ 4 เมื่อ พ.ศ. 2528 คือการแข่งขัน  เล่านิทานชาดก โดยใช้รูปแบบและระเบียบการของการแข่งขันเล่านิทานชาดก ซึ่งมีขึ้นเป็นครั้งแรก ในการจัดนิทรรศการ ทางก้าวหน้าภาคเหนือŽ ที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2528

       ปรากฏว่าได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากโรงเรียนระดับชั้นประถมศึกษาในกรุงเทพมหานคร มีโรงเรียนที่มาแข่ง 80 ทีม มีการแข่งรอบคัดเลือกรอบแรกทั้งช่วงเช้าและช่วงบ่าย รวม 4 วัน แล้วแข่งรอบคัดเลือกครั้งที่ 2 ตอนเช้าและตอนบ่ายอีกครั้ง วันสุดท้ายของนิทรรศการจึงเป็นการแข่งรอบชิงชนะเลิศ ในปีที่ 2 ที่จัดให้มีการแข่งขันเล่านิทานชาดกนั้น มีโรงเรียนที่ส่งนักเรียนมาแข่งขันถึง 105 โรงเรียน ต้องจัดแข่งขันรอบแรกที่เวทีชั่วคราวที่ศูนย์การค้ามาบุญครองเซ็นเตอร์ โดยคัดให้เหลือ 45 ทีม แล้วจึงคัด อีกครั้งให้เหลือ 15 ทีม มาแข่งรอบสุดท้าย ณ ศาลาพระเกี้ยวระหว่างงานนิทรรศการ

     การแข่งขันเล่านิทานชาดกเป็นกิจกรรมที่สนุกสนาน และทำให้บรรยากาศระหว่างงานนิทรรศการมีสีสัน ด้วยเครื่องแต่งกายของนักเรียนเล็กๆ ที่แต่งมาให้สอดคล้องกับเรื่องชาดก ของโรงเรียน ถึงกับเช่าเครื่องละครเพื่อประกอบการแสดงชาดกเรื่องสุวรรณสาม แต่การแข่งขันเล่านิทานชาดกต้องมีคณะกรรมการหลายคนอยู่ประจำที่ศาลาพระเกี้ยว จึงทำให้คณะกรรมการบางท่านจำเป็นต้องขาดการเรียน ติดต่อกันเป็นวันๆ ในช่วงจัดนิทรรศการ ดังนั้นในปีต่อมาคณะกรรมการชมรมพุทธศาสตร์ต้องไปจัดนิทรรศการอย่างย่อที่ศูนย์การค้ามาบุญครอง จึงต้องงดกิจกรรมพิเศษนี้

 

การแข่งขันเล่านิทานชาดกครั้งประวัติศาสตร์

     ในระหว่างนิทรรศการ ทางก้าวหน้าŽ ครั้งที่ 7 พ.ศ. 2531 ได้มีการแข่งขันเล่านิทานชาดก อีกครั้ง โดยปรับปรุงระเบียบการใหม่ ลดจำนวนทีมที่แข่งขันในแต่ละวัน เพื่อมิให้คณะกรรมการผู้จัดงานต้องขาดเรียนมาก และเพื่อความสะดวกสำหรับท่านอาจารย์ที่ให้เกียรติมาเป็นคณะกรรมการตัดสิน การแข่งขันเล่านิทานชาดกจึงอยู่ในระหว่างเวลาประมาณ 11.30 - 13.00 น. และขอให้ทุกโรงเรียนใช้ระบบประหยัดในการใช้อุปกรณ์ประกอบการแสดง มีโรงเรียนที่สมัครรวม 13 โรงเรียน

 

โรงเรียนแรกที่ส่งใบสมัครพร้อมเรื่องย่อที่จะแสดงคือ โรงเรียนราชินี มีรายนามนักเรียนในทีมดังนี้

1.พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา    ชั้น ป. 5

2.เด็กหญิงวิมลฉัตร แสงอ่อน    ชั้น ป. 6

3.เด็กหญิงวรรณภาณี ทัศนาญชลี    ชั้น ป. 6

4.เด็กหญิงโสมนัส พู่มนตรี    ชั้น ป. 5

5.เด็กหญิงโชติมา เจริญพักตร์    ชั้น ป. 5

     นิทานชาดกที่แสดงคือ ติตติรชาดกŽ ซึ่งตามเนื้อเรื่องมีสัตว์ 3 ชนิด คือ ช้าง ลิงและนกกระทา และต้นไทรอีกหนึ่งต้น ครบจำนวนผู้แสดง 4 คน เนื้อเรื่องเล่าว่า สัตว์ทั้ง 3 ชนิดอาศัยอยู่ที่ต้นไทร แต่ตีกัน แกล้งกันอยู่ตลอดเวลาเพราะขาดความเคารพยำเกรงกัน ในที่สุดก็ตกลงกันว่า มาเคารพกันดีไหม แต่ละตัวจึงต้องบรรยายว่าใครเกิดก่อน ใครมีอาวุโสกว่ากัน เมื่อการแสดงนิทานชาดกได้เสร็จสิ้นลง แล้วได้มีการประกาศผล ปรากฏว่าโรงเรียนราชินีได้รับรางวัลชนะเลิศ ในการแข่งขันเล่านิทานชาดกในครั้งนี้ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภาทรงดีพระทัยยิ่ง ทรงจับมือพระสหายเขย่าขึ้นลงด้วยความยินดี รอยยิ้ม สว่างกระจ่างทั่วพระพักตร์ ผู้มีโอกาสเข้าชมหรือดูภาพถ่ายทอดทางโทรทัศน์ต่างประจักษ์ถึงพระปรีชาสามารถของพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภาเป็นอย่างยิ่ง

     การจัดแข่งขันตอบปัญหาธรรมะมีการจัดขึ้นหลายแห่ง แต่ที่จะนำมาเป็นกรณีตัวอย่างในที่นี้คือ โครงการจัดการแข่งขันตอบปัญหาธรรมะทางก้าวหน้า ที่ดำเนินการโดยชมรมพุทธศาสตร์สากลในอุปถัมภ์สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์

 

วิวัฒนาการโครงการฯ ทางก้าวหน้าŽ จากอดีตถึงปัจจุบัน

ยุคสมัยของโครงการตอบปัญหาธรรมะ ทางก้าวหน้าŽ แบ่งได้เป็น 4 ช่วง คือ

     ช่วงที่ 1 การจัดสอบยังอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2525 - 2529 จากร้อยเพิ่มเป็นหลักพัน (382 - 6,470 คน) ครั้งที่ 1 - 5 สนามสอบอยู่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สอบ 2 รอบ คือรอบคัดเลือก และรอบชิงชนะเลิศ รับรางวัลชนะเลิศ ที่ศาลาพระเกี้ยว จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

     ช่วงที่ 2 การจัดสอบขยายตัวไปสู่ระดับภูมิภาค พ.ศ. 2530 - 2534 จากพันสู่หลักหมื่น (4,778 - 19,047 คน) ครั้งที่ 6 - 10 ย้ายสนามสอบออกจากจุฬาฯ จัดสอบรอบคัดเลือกตามสนามสอบในต่างจังหวัด และในโรงเรียนในกรุงเทพฯ จัดสอบรอบชิงชนะเลิศที่วัดพระธรรมกาย รับรางวัลชนะเลิศที่ศาลาพระเกี้ยวจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

     ช่วงที่ 3 งานประจำขยายตัว พ.ศ. 2535 - 2540 จากหมื่นจนถึงเกือบแสน (19,916 - 92,554 คน) ครั้งที่ 11 -16 จัดสอบ รอบเดียวที่สนามสอบในต่างจังหวัดและกรุงเทพฯ รับรางวัลชนะเลิศที่วัดพระธรรมกาย

     ช่วงที่ 4 การจัดสอบเพิ่มเป็นหลักล้าน พ.ศ. 2541 - 2547 เริ่มต้นด้วยหลักล้าน (1,355,154 - 4,091,619 คน) ครั้งที่ 17 - 23 จัดสอบรอบชิงชนะเลิศพร้อมกันทั่วประเทศ เฉพาะระดับประถมศึกษาตอนต้นถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย รับรางวัลชนะเลิศที่วัดพระธรรมกาย

 

ช่วงที่ 1 การจัดสอบอยู่ในกรุงเทพมหานคร

      เนื่องจากนิทรรศการ ทางก้าวหน้าŽ ครั้งที่ 1 เปิดงานวันอังคาร ปิดงานวันพุธ ในสัปดาห์ต่อมา คณะกรรมการจึงวางแผนให้มีกิจกรรมในวันหยุดเสาร์ - อาทิตย์ เพื่อมิให้ศาลาพระเกี้ยวร้างผู้มาชมบอร์ด มงคลชีวิตŽ จึงจัดรายการตอบปัญหาธรรมะ ในวันเสาร์ - อาทิตย์ รับเฉพาะนักเรียนระดับมัธยมศึกษาในกรุงเทพมหานครเท่านั้น

         ในปี 2525 เมื่อ 18 ปีก่อนนั้น จำนวนนักเรียน 200 ทีม (400 คน) ที่สมัครร่วมตอบปัญหาธรรมะมีจำนวนมากเกินความคาดหมาย ถึงแม้ว่าที่มาสอบจริง คือ 382 คน (191 ทีม) แต่นั้นก็เป็นตัวเลขที่น่าตื่นเต้นอย่างยิ่งในเวลานั้น

         ปีต่อมาเมื่อคณะกรรมการทดสอบสถานการณ์ในต่างจังหวัดด้วยการส่งระเบียบการและจดหมาย เชิญชวนให้โรงเรียนระดับมัธยมศึกษาทั่วประเทศ ส่งนักเรียนมาร่วมกิจกรรม ผลปรากฏว่านักเรียนที่มาสอบ เพิ่มขึ้นจากปีแรกถึง 4 เท่า โดยไม่มีผลกระทบจากการที่นิทรรศการครั้งที่ 2 ต้องเลื่อนถึง 2 ครั้ง คือจากกำหนดปลายเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2526 ไปจัดปลายเดือนมกราคม พ.ศ. 2527

          คณะกรรมการตื่นตาตื่นใจ และตื่นเต้น กับจำนวนรถทุกประเภทที่จองเรียงรายรอบศาลาพระเกี้ยว และตามคณะต่างๆ และต้องประหลาดใจยิ่งขึ้นเมื่อได้เห็นทะเบียนรถที่มาจากจังหวัดทั้งเหนือสุดและใต้สุด รวมทั้งจังหวัดห่างไกลในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นอกจากนั้นมีอาจารย์ที่พานักเรียนมาร่วมกิจกรรม เดินทางด้วยรถไฟ รถเมล์ พายเรือออกจากสวน โบกรถบรรทุก เพื่อมาต่อรถเมล์เข้ากรุงเทพฯ

        นิทรรศการครั้งที่ 3 จัดโดยชมรมพุทธศาสตร์ 9 สถาบัน คณะกรรมการมีความเชื่อมั่นว่านักเรียนทั่วประเทศ สนใจในการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมในหลักธรรมในพระพุทธศาสนา และได้เรียนรู้ว่าอาจารย์ที่พานักเรียนมาสอบนั้น มาด้วยความรักและปรารถนาดีต่อศิษย์อย่างจริงใจ เพราะการพานักเรียน มาร่วมกิจกรรมนี้หมายถึงการเพิ่มภารกิจในการสอนพิเศษนอกเวลา และความรับผิดชอบในการนำนักเรียนเดินทางออกนอกพื้นที่ รวมทั้งค่าใช้จ่ายหลายอย่างที่ไม่อาจเบิกได้

             จากปีแรกที่มีชมรมพุทธศาสตร์ 6 สถาบัน จัดนิทรรศการและจัดตอบปัญหาธรรมะที่จุฬาฯ อีก 5 ปีต่อมา มีชมรมพุทธศาสตร์ 18 สถาบันร่วมเป็นคณะกรรมการ ในขณะที่จำนวนนักเรียนที่มาร่วมตอบปัญหาธรรมะ เพิ่มขึ้นทุกปีจากร้อยเป็นพัน เป็นหลายพันและในปีสุดท้ายของช่วงที่ 1 นี้ จำนวนนักเรียนที่สมัครมีจำนวนถึง 9 พัน และเป็นที่คาดคะเนได้ว่า จำนวนนักเรียนที่มาร่วมกิจกรรมนี้จะต้องเพิ่มขึ้นในปีต่อไป

 

ช่วงที่ 2 เริ่มสอบระบบสอบเดี่ยวในการสอบทางก้าวหน้าครั้งที่ 5 (พ.ศ. 2529)

         ระบบการจัดสอบตั้งแต่ครั้งที่ 1 ถึง ครั้งที่ 4 นั้น สอบเป็นทีม ทีมละ 2 คน จัดสอบแยกแต่ละประเภทในแต่ละวัน ทำให้ต้องออกข้อสอบและตรวจข้อสอบ ประกาศผลสอบวันต่อวัน ในระหว่างสัปดาห์นิทรรศการ ในการสอบครั้งที่ 5 เป็นการเริ่มระบบสอบเดี่ยว มีนักเรียนสมัครประมาณ 9 พันคน การเตรียมจัดสถานที่เพื่อเป็นห้องสอบ ห้องตรวจข้อสอบ ห้องประชุมอาจารย์ผู้ประสานงานเป็นเรื่องใหญ่และซับซ้อนสำหรับคณะกรรมการฝ่ายที่รับผิดชอบ ซึ่งทุกฝ่ายได้ช่วยกันดำเนินการจนการสอบผ่านไปได้ด้วยความเรียบร้อย

         วันสอบคือวันเสาร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2529 มีนักเรียนมาสอบกว่า 6 พันคน ลงทะเบียนเวลา 8.30 น. สถานที่ลงทะเบียนคือสนามฟุตบอล หน้าหอประชุมจุฬาฯ จากจุดที่หน้าหอประชุม นักเรียน เดินแถวตามกรรมการถือธงสีนำหน้า กระจายไปตามห้องสอบตามตึกคณะต่างๆ ทั่วจุฬาฯ รวมทั้งคณะแพทย์ศาสตร์ที่ต้องข้ามถนนอังรีดูนังค์ และคณะนิติศาสตร์ คณะนิเทศศาสตร์ และคณะครุศาสตร์ที่ต้องข้ามถนนพญาไท

 

ช่วงที่ 3 ขั้นตอนสำคัญที่ล่าช้า

       คณะกรรมการเตรียมห้องบรรยายรวมของอาคารแถบ นีละนิธิ คณะวิทยาศาสตร์เป็นห้องตรวจข้อสอบและสามารถรวมนักศึกษาช่วยกันตรวจกระดาษคำตอบ (2 รอบ) และรวมคะแนนของนักเรียนที่มาสอบได้ในค่ำคืนวันเสาร์นั้น

     ลำดับต่อจากนั้นคืองานที่ต้องใช้เวลาอย่างมาก เกินความคาดคิดของทีมงานฝ่ายทะเบียน คือการเรียงลำดับคะแนนซึ่งต้องทำอย่างละเอียดรอบคอบทุกขั้นตอน มีการแยกประเภทเป็น 8 ประเภท ประเภทละ 50 รางวัล รวม 400 รายการ และยังมีรางวัลพิเศษเพิ่มขึ้นมาอีกทุกประเภท

       เมื่อลำดับคะแนนได้แล้ว การพิมพ์ประกาศผลด้วยเครื่องพิมพ์ดีดไฟฟ้าที่มีเพียง 2 เครื่อง ใช้เวลายาวนาน อย่างที่ผู้ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ในวันนี้ไม่มีวันเข้าใจ

     ด้วยเหตุนี้ กำหนดเวลาที่ประกาศผลสอบในวันอาทิตย์จึงล่วงเลยจากเวลา 13.00 น. กลายเป็นเวลาเย็นเกือบค่ำ และแล้วคำถามว่า  เมื่อไรจะประกาศผลสอบ?Ž ก็เปลี่ยนเป็นคำถามว่า  จัดงานเป็นหรือเปล่าŽ

     นิสิตนักศึกษาที่มีป้ายติดหน้าอกเสื้อว่า ทางก้าวหน้าŽ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของกรรมการจัดงาน ต่างหลบขึ้นไปชั้นบนของศาลาพระเกี้ยว เอาป้ายที่ติดเสื้อออก แล้วเดินลงมาปะปนกลมกลืนไปกับผู้อื่นจนถึงเวลาประกาศผลสอบ

 

ช่วงที่ 4 ถึงจุดอิ่มตัวที่จุฬาฯ

        สถานการณ์ในบ่ายวันอาทิตย์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2529 คือ สัญญาณที่บ่งบอกว่า การจัดตอบปัญหาธรรมะ ทางก้าวหน้าŽ ไม่ใช่งานกิจกรรมที่จะจัดสอบในระบบเดิม และการจัดสอบพร้อมกันในวันเดียวที่จุฬาฯ ก็เป็นอันพ้นวิสัยอีกต่อไป ปัญหาเรื่องสถานที่นั้นเด่นชัดว่าต้องหาทางขยับขยายออกไปจากจุฬาฯ แต่เรื่องใหญ่สำหรับคณะกรรมการ คือการที่ไม่สามารถบริการเรื่องอาหารแก่นักเรียนที่มาจากต่างจังหวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือน้องเล็กๆ ระดับประถมศึกษาจากโรงเรียนในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นเมื่อแยกระดับประถมศึกษาตอนต้น และประถมศึกษาตอนปลาย

     บัดนี้จึงถึงเวลาอันสมควรที่การตอบปัญหาธรรมะ ทางก้าวหน้าŽ ต้องอำลาจากจุฬาฯ และนั่นคือ หัวเลี้ยวหัวต่ออันสำคัญยิ่ง ที่การตอบปัญหาธรรมะ ทางก้าวหน้าŽ ได้พัฒนายั่งยืนมาจนถึงทุกวันนี้

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.001304566860199 Mins