หนังสือที่ใช้อ้างอิงในการสอบ "มงคลชีวิต"
หนังสืออ้างอิงที่ใช้ในการสอบปีแรกคือ คำบรรยายพุทธศาสตร์และหนังสือมงคลชีวิตของ พันเอก ปิ่น มุทุกันต์ และหนังสือสาระสำคัญจากมงคล 38 ประการ ของ อาจารย์ วศิน อินทรสระ และได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจัดพิมพ์หนังสือมงคลสูตรคำฉันท์ บทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 โดยได้รับความอนุเคราะห์ค่าใช้จ่ายในการจัดพิมพ์จากคุณสวัสดิ์ โอสถานุเคราะห์ หนังสือเล่มนี้ได้ใช้เป็นหนังสืออ้างอิงสำหรับระดับอุดมศึกษาในการสอบครั้งที่ 3
ปีต่อมา คณะกรรมการชมรมพุทธศาสตร์ 6 สถาบัน ได้จัดพิมพ์หนังสือมงคลชีวิต ฉบับธรรมทายาท เล่มที่ 1 (มงคลที่ 1 - 18) คณะกรรมการมีเจ้าภาพให้ความอนุเคราะห์ในการจัดพิมพ์หนังสือ จึงสามารถแจกหนังสือให้นักเรียนทุกคนที่สมัคร ต่อมาเมื่อการสอบกระจายไปทั่วประเทศ และจำนวนนักเรียนมากขึ้น คณะกรรมการจึงต้องจัดสรรใหม่เฉพาะโรงเรียนที่สมัครใหม่ และโรงเรียนในส่วนภูมิภาคเท่านั้น
ได้มีการเปลี่ยนแปลงหนังสืออ้างอิงหลายเล่มในระหว่าง พ.ศ. 2530 - 2538 ต่อมาเมื่อจำนวนนักเรียนที่เข้าสอบเพิ่มขึ้นทุกปีคณะกรรมการได้เห็นภาระในการจัดหาหนังสือสำหรับโรงเรียนในต่างจังหวัดจึงได้เริ่มวางแผนที่จะปรับปรุงหนังสืออ้างอิงให้สอดคล้องกับสถานการณ์
ในปี พ.ศ. 2539 คณะกรรมการชมรมพุทธศาสตร์สากลฯ ได้จัดพิมพ์หนังสือมงคลชีวิตฉบับธรรมทายาท (ปรับปรุงใหม่ 2539) โดยรวมมงคลที่ 1- 38 ให้อยู่ในเล่มเดียวกัน และจำหน่ายในราคาประหยัด เพื่อให้นักเรียนสามารถเป็นเจ้าของหนังสือ และใช้อ้างอิงได้ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาจนถึงระดับอุดมศึกษา
ระดับของนักเรียนและหนังสืออ้างอิง
ระดับประถมศึกษาตอนต้น (ประถมศึกษาปีที่ 3 - 4) มงคลที่ 1 - 11
ระดับประถมศึกษาตอนปลาย (ประถมศึกษาปีที่ 5 - 6) มงคลที่ 1 - 21
ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นหรือเทียบเท่า มงคลที่ 1 - 30
ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า มงคลที่ 1 - 38
ระดับอุดมศึกษา มงคลที่ 1 - 38
ระดับนักเรียนทหาร-ตำรวจ มงคลที่ 1 - 38
ในปี พ.ศ. 2542 - 2543 ได้มีการจัดพิมพ์หนังสือมงคลชีวิต ฉบับธรรมทายาท โดยมีการแก้ไขเนื้อหาในหนังสือ 2 ครั้ง ครั้งแรกใน พ.ศ.2542 และล่าสุดเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2543 ได้เปลี่ยนชื่อ เป็น หนังสือมงคลชีวิต ฉบับทางก้าวหน้า (พ.ศ. 2543)