ประเภทของทาน

วันที่ 07 มีค. พ.ศ.2558

ประเภทของทาน

ประเภททานที่แบ่งตามวัตถุ คือ สิ่งของที่จะให้ มี 2 ประเภท 

1. อามิสทาน การให้อามิส คือการให้วัตถุสิ่งของต่างๆ เป็นทาน

2. ธรรมทาน การให้ธรรมะ คือการให้ความรู้ ความถูกต้องดีงาม เป็นทาน

อามิสทาน คือการให้สิ่งของเป็นทาน เช่น สิ่งของที่เป็นปัจจัยสี่ หรือการให้ทานวัตถุ มีข้าว น้ำ ผ้า ยานพาหนะ ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พักอาศัย ประทีปโคมไฟ เป็นต้น อามิสทาน แบ่งตามทายก (ผู้ให้) มี 3 ประเภทดังนี้

     1. ทานทาสะ บางทีเรียกว่า ทาสทานŽ หมายถึงการที่ทายกให้ของที่ด้อยกว่าของที่ตนบริโภค ใช้สอยเอง เช่น เมื่อได้มะม่วงมา 3 ผล ก็เลือกผลที่เล็กที่สุดให้ไป หรือได้ 3 ผลที่มีขนาดเท่าๆ กัน ก็เลือก ผลที่ไม่ชอบใจให้ไป การให้อย่างนี้ เรียกว่า ทาสทาน เพราะว่าใจของทายกตกเป็นทาสของความตระหนี่ แล้วจึงให้ ดุจการให้สิ่งของแก่คนที่เป็นข้าทาสบริวาร ฉะนั้น

     2. ทานสหาย บางทีเรียกว่า สหายทานŽ หมายถึง ทายกให้ของที่เสมอกันกับที่ตนบริโภคใช้สอย ตนบริโภคใช้ของอย่างไร ถึงคราวจะให้ผู้อื่นก็ให้ของอย่างนั้น เช่น ได้มะม่วงมา 3 ผล ก็ให้ผลที่ดีเช่นเดียว กับที่ตนจะบริโภค ดุจการให้สิ่งของแก่คนที่เป็นมิตรสหาย ฉะนั้น

     3. ทานสามี บางทีเรียกว่า สามีทานŽ หมายถึงทายกให้ของที่ดีประณีตกว่าของที่ตนบริโภคใช้สอย โดยเลือกเอาสิ่งของที่ดีที่สุดให้ไป ซึ่งชาวพุทธทั้งหลายเวลาจะให้ ก็ให้สามีทานเป็นส่วนมาก เช่น เวลาจะ ตักบาตรพระ จะคดข้าวปากหม้อ ซึ่งถือว่าเป็นส่วนที่ดีที่สุดเอาไว้ถวายพระก่อน หรือเวลาเลี้ยงพระภิกษุ สามเณร จะตกแต่งข้าวปลาอาหารอย่างประณีตบรรจงกว่าที่ตนเองบริโภคถวายท่าน หรือเวลาที่จะให้ของแก่ผู้ใดผู้หนึ่ง แม้ว่าจะมีฐานะเสมอหรือต่ำกว่าเรา ก็เลือกของที่ดีที่ชอบใจให้ไป อย่างนี้เรียกสามีทาน เพราะใจของผู้ให้เอาชนะความตระหนี่ เป็นนาย เป็นเจ้าของ เป็นอิสระ แล้วจึงให้ทาน ดุจให้สิ่งของแก่คน ที่ตนเคารพ หรือมีพระคุณแก่ตน เช่น บิดา มารดา ครูบาอาจารย์ พระภิกษุสงฆ์ ฉะนั้น

     ผู้ให้คนใดที่มีจิตใจชนะความตระหนี่ คือความตระหนี่ไม่สามารถครอบงำได้ มีการสั่งสมการให้ ทานสามีอยู่เสมอ จนมีคุณธรรมนี้ติดตัว โบราณาจารย์เรียกผู้ให้นั้นว่า ”ทานบดี”Ž แปลว่าผู้เป็นใหญ่ในทาน กล่าวคือ เป็น ผู้มีจิตใจที่ไม่ถูกความตระหนี่ครอบงำ เป็นอิสระในทานนั้น ไม่ตกเป็นทาส หรือสหายของความตระหนี่ แต่เป็นใหญ่ในทานนั้นสม่ำเสมอทุกเวลา

อามิสทาน แบ่งตามเจตนาของผู้ให้ มี 2 ประเภท คือ

1. ปาฏิปุคคลิกทาน

2. สังฆทาน

     ปาฏิปุคคลิกทาน คือ ทานที่ให้เฉพาะเจาะจงบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เช่น เราจะทำบุญบ้าน เลี้ยงพระจำนวน 9 รูป ก็เจาะจงไปว่า ขอนิมนต์พระรูปนั้นรูปโน้น การมีเจตนาเจาะจงนิมนต์ เช่นนี้เรียกว่า ”ปาฏิปุคลิกทานŽ” พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงแสดงประเภทของปาฏิปุคคลิกทาน และอานิสงส์ที่ได้ของแต่ละประเภทไว้ 14 ประการ ตามลำดับ ดังต่อไปนี้

 อานิสงส์ของปาฏิปุคคลิกทาน

1. ให้ทานแก่สัตว์เดรัจฉาน ด้วยความเมตตาสงสาร ได้อานิสงส์ถึง 100 ภพ คือได้อายุ วรรณะ สุขะ พละ และปฏิภาณ อย่างละ 100 อัตภาพ

2. ให้ทานแก่ผู้ทุศีล ได้อานิสงส์ถึง 1,000 ภพ

3. ให้ทานแก่ผู้มีศีล ในช่วงที่ว่างจากพระพุทธศาสนา ได้อานิสงส์ถึง 100,000 ภพ

4. ให้ทานแก่ดาบสที่ได้อภิญญา ในช่วงที่ว่างจากพระพุทธศาสนา ได้อานิสงส์ถึง 1 แสนโกฏิภพ (ล้านล้านภพ)

5. ให้ทานแก่ผู้ที่ปฏิบัติเพื่อเป็นพระโสดาบัน ผู้เป็นคฤหัสถ์หรือเป็นบรรพชิตก็ตาม จะเป็น ฌานลาภีบุคคล (ผู้ได้ฌาน) หรือไม่ใช่ฌานลาภีบุคคลก็ตาม เป็นผู้มีศีล เข้าถึงไตรสรณคมน์ ได้อานิสงส์ถึงอสงไขยภพ (นับภพไม่ถ้วน)

6. ให้ทานแก่พระโสดาบันบุคคล ย่อมมีอานิสงส์มากยิ่งขึ้นไปอีก

7. ให้ทานแก่ผู้ที่ปฏิบัติเพื่อเป็นพระสกทาคามี ย่อมได้อานิสงส์มากยิ่งขึ้นไปอีก

8. ให้ทานแก่พระสกทาคามีบุคคล ย่อมได้อานิสงส์มากยิ่งขึ้นไปอีก

9. ให้ทานแก่ผู้ที่ปฏิบัติเพื่อเป็นพระอนาคามี ย่อมได้อานิสงส์มากยิ่งขึ้นไปอีก

10. ให้ทานแก่พระอนาคามีบุคคล ย่อมได้อานิสงส์มากยิ่งขึ้นไปอีก

11. ให้ทานแก่ผู้ที่ปฏิบัติเพื่อเป็นพระอรหันต์ ย่อมได้อานิสงส์มากยิ่งขึ้นไปอีก

12. ให้ทานแก่พระอรหันต์ ย่อมได้อานิสงส์มากยิ่งขึ้นไปอีก

13. ให้ทานแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า ย่อมได้อานิสงส์มากยิ่งขึ้นไปอีก

14. ให้ทานแก่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ย่อมได้อานิสงส์มากยิ่งขึ้นไปอีก

     ผู้ที่ปรารถนาความสุข และต้องการพ้นทุกข์ในวัฏสงสาร ในขณะที่บริจาคทานให้แก่ปฏิคาหกทั้ง 14 จำพวกนี้ ความปรารถนาที่จะพ้นทุกข์ก็จะสำเร็จได้โดยเร็ว

      สังฆทาน คือ ทานที่ให้แก่หมู่คณะ ไม่เฉพาะเจาะจงผู้ใดผู้หนึ่ง เมื่อผู้ให้ต้องการถวายปัจจัย ไทยธรรม (สิ่งของที่ควรถวายพระ) ก็เต็มใจถวายแก่ภิกษุทั้งนั้น ด้วยความเคารพยำเกรงในสงฆ์ (หมู่คณะ) โดยมิได้เจาะจงภิกษุรูปใดเป็นพิเศษ เช่น เมื่อจะนิมนต์พระไปทำบุญบ้าน ก็เข้าไปหาเจ้าอาวาส หรือ เจ้าหน้าที่รับนิมนต์ของวัด กราบเรียนท่านว่าจะทำบุญบ้าน ขอนิมนต์พระสงฆ์ไปรับไทยธรรม 9 รูป ทาง วัดจะส่งพระรูปใดไปรับไทยธรรม ก็มีความยินดี เต็มใจถวายทานแก่ท่าน ทานที่ผู้ให้มีเจตนากว้างไม่ เจาะจงนิมนต์อย่างนี้ เรียกว่า ”สังฆทานŽ” พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกับพระอานนท์ว่า ”สงฆ์”Ž มี 7 ประเภท และเมื่อบุคคลใดได้ถวายทาน แด่สงฆ์ประเภทใดประเภทหนึ่งนั้น ก็เรียกว่า “ สังฆทาน”

สงฆ์ทั้ง 7 ประเภท ได้แก่

1. สงฆ์ 2 ฝ่าย (ภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์) มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประมุข

2. สงฆ์ 2 ฝ่าย ในเวลาที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าดับขันธปรินิพพานแล้ว

3. ภิกษุสงฆ์

4. ภิกษุณีสงฆ์

5. บุคคลที่ได้รับอนุมัติจากสงฆ์ 2 ฝ่าย

6. บุคคลที่ได้รับอนุมัติจากภิกษุสงฆ์

7. บุคคลที่ได้รับอนุมัติจากภิกษุณีสงฆ์

     สรุปว่า ในปัจจุบันนี้ เราสามารถถวายทานแด่สงฆ์ได้เฉพาะในข้อที่ 3 และ 6 (เพราะภิกษุณีสงฆ์ ไม่มีแล้ว) สงฆ์จึงมีอยู่ 2 แบบ คือ

1. ภิกษุตั้งแต่ 4 รูปขึ้นไป จัดว่าเป็นสงฆ์ตามพระวินัย ดังนั้น การถวายทานแด่หมู่ภิกษุที่ไม่ เจาะจง ตั้งแต่ 4 รูปขึ้นไป ก็จัดเป็นสังฆทาน

2. ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ที่ได้รับอนุมัติจากสงฆ์ให้ไปรับไทยธรรม เช่น เราไปนิมนต์ โดยขอภิกษุ กับคณะสงฆ์ว่า ขอจงส่งภิกษุรูปหนึ่งไปรับสังฆทานที่บ้านด้วยŽ ครั้นได้ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ก็มีความเคารพยำเกรงในภิกษุรูปนั้น ยินดีว่าได้สงฆ์มาแล้ว ก็เต็มใจถวายทานนั้น ลักษณะเช่นนี้เรียกว่า สังฆทาน เหมือนกัน ดังมีเรื่องปรากฎในพระไตรปิฏกว่า

     กุฎุมพีผู้เคารพสงฆ์ กุฎุมพีคนหนึ่งเป็นเจ้าของวัดแห่งหนึ่ง โดยปกติแล้วเขามีความเลื่อมใสในภิกษุผู้มีศีลาจารวัตร อันงาม แต่ไม่เคารพในภิกษุผู้ทุศีลเลย ได้ไปขอภิกษุรูปหนึ่งมาจากสงฆ์ ด้วยคำว่า “ ขอพระคุณเจ้าทั้งหลาย จงให้ภิกษุรูปหนึ่งจากสงฆ์แก่ข้าพเจ้าŽ” แม้เขาจะได้ภิกษุทุศีลรูปหนึ่ง เขาก็ปฏิบัติต่อภิกษุรูปนั้นด้วยความเคารพนอบน้อม ตกแต่ง เสนาสนะและเครื่องบูชาสักการะ พร้อมล้างเท้าให้ภิกษุรูปนั้น เอาน้ำมันทาเท้าให้ แล้วถวายไทยธรรมด้วย ความเคารพยำเกรงต่อสงฆ์ เหมือนกับบุคคลเคารพยำเกรงต่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ภิกษุรูปนั้นฉัน ภัตตาหารแล้วก็กลับวัด ต่อมา ภิกษุนั้นได้กลับมาขอยืมจอบที่บ้านของกุฎุมพีนั้นอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้กุฎุมพีเอาเท้าเขี่ยจอบให้ พวกชาวบ้านเห็นกิริยาของกุฎุมพีนั้นก็ถามว่า ”เมื่อเช้านี้ ท่านถวายทานแก่ภิกษุรูปนั้นด้วยความเคารพ นอบน้อมอย่างยิ่ง แต่บัดนี้ แม้สักว่ากิริยาที่เคารพก็ไม่มีŽ” กุฎุมพีตอบว่า การทำบุญเมื่อตอนเช้า เขาทำไปด้วยใจเคารพยำเกรงต่อสงฆ์ แต่มิได้หมายความว่า เขามีความเคารพยำเกรงต่อภิกษุรูปนั้นเป็นส่วนตัว จากเรื่องข้างต้น ชี้ให้เห็นว่ากุฎุมพีมีความเคารพต่อสงฆ์ เมื่อได้รับอนุมัติจากสงฆ์ให้พระภิกษุผู้ ทุศีลมารับสังฆทาน แม้ตนมิได้เคารพเลื่อมใสในภิกษุทุศีลรูปนั้น แต่ด้วยความเคารพที่เขามีต่อสงฆ์ ก็สามารถปฏิบัติต่อภิกษุรูปนั้นในขณะมารับสังฆทาน ด้วยความเคารพนอบน้อมอย่างเต็มใจได้ สังฆทานนั้นมีผลมากกว่าปาฏิปุคคลิกทานในทุกกรณี ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสแสดงไว้ชัดเจน เมื่อครั้งพระนางมหาปชาบดีโคตมี มีพระประสงค์จะถวายผ้าเจาะจงเฉพาะพระพุทธองค์ ดังเรื่องราวต่อไปนี้

     พระนางมหาปชาบดีโคตมี ครั้งหนึ่ง พระนางมหาปชาบดีโคตมีทรงถือผ้าคู่หนึ่งเข้าไปเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังที่ประทับ กราบทูลพระพุทธองค์ว่า”ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ผ้าใหม่คู่นี้ หม่อมฉันกรอด้าย ทอเอง ตั้งใจนำมาถวายเฉพาะพระองค์ ขอพระองค์ทรงโปรดอนุเคราะห์รับผ้าคู่นี้ด้วยเถิดŽ” พระศาสดาได้สดับคำกราบทูลแล้ว ตรัสตอบว่า ”ดูก่อนโคตมี พระนางจงถวายสงฆ์เถิด เมื่อถวายสงฆ์แล้ว จักเป็นการได้บูชาอาตมภาพและ สงฆ์ด้วยŽ”พระนางกราบทูลขอถวายเฉพาะพระองค์แม้ครั้งที่ 2 และแม้ครั้งที่ 3 แต่พระพุทธองค์ก็ตรัสตอบ เช่นเดิม เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสยืนยันอย่างนี้ พระอานนท์จึงกราบทูลพระองค์ว่า  “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์ทรงโปรดรับผ้าคู่ใหม่ของพระนางมหาปชาบดีโคตมีด้วยเถิด พระนางมีอุปการะมาก เป็นพระมาตุจฉา (น้าหญิง) ผู้ทรงบำรุงเลี้ยงประทานพระขีรรส (น้ำนม) แด่ พระองค์ในเมื่อพระชนนีสวรรคตแล้ว และแม้พระองค์ก็ทรงมีอุปการะแก่พระนางเป็นอันมาก พระนางทรง อาศัยพระองค์จึงทรงเข้าถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะ และทรงเว้นจากเวรทั้ง 5 ได้ ประกอบด้วยความเลื่อมใส ไม่หวั่นไหวในพระรัตนตรัย และทรงประกอบด้วยอริยศีล ถึงที่สุดแห่งทุกข์ทั้งปวงŽ”พระศาสดาทรงรับรองคำของพระอานนท์ และตรัสเช่นเดิม โดยทรงมุ่งให้พระนางได้บุญมากได้อานิสงส์มากๆ เพราะการถวายสังฆทานมีผลมากกว่าปาฏิปุคคลิกทานดังพระดำรัสว่า  ”ดูก่อนอานนท์ เราไม่กล่าวปาฏิปุคคลิกทานว่ามีผลมากกว่าสังฆทาน โดย ปริยายใดๆ เลย สังฆทานเป็นประมุขของผู้หวังบุญ พระสงฆ์นั่นแหละเป็น ประมุขของผู้บูชา และพระสงฆ์เป็นเนื้อนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่าŽ”ในข้อนี้เราจะเห็นได้ว่า พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญจิตใจของผู้ให้โดยไม่เฉพาะเจาะจง (การให้สังฆทาน) เป็นสำคัญ เพราะการให้เช่นนี้ แสดงถึงจิตใจที่มีพลังมาก มีเจตนากว้างขวาง เผื่อแผ่มาก ไม่เห็น แก่คนที่คุ้นเคยกัน มุ่งหวังเพื่อให้แก่หมู่คณะเป็นสำคัญ และจะเป็นประโยชน์ที่ยิ่งใหญ่ในอนาคตกาล ข้างหน้า ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า  “ เราไม่ดำรงอยู่นาน แต่ศาสนาของเรา จักตั้งอยู่ด้วยพระภิกษุสงฆ์ใน ภายภาคหน้า ชนรุ่นหลังจงเคารพยำเกรงในสงฆ์ ถ้าเป็นเช่นนี้ พระศาสนาจักตั้งอยู่ได้นาน”
อานิสงส์ของสังฆทาน

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงอานิสงส์ของสังฆทานว่ามีผลมากดังเรื่องต่อไปนี้

     เวลามสูตร พราหมณ์ผู้หนึ่งชื่อว่าเวลามะ อยู่ในชมพูทวีป เวลามพราหมณ์นั้นเป็นคนมีจิตใจเลื่อมใสต่อการบริจาค ทาน ได้จัดสร้างโรงทานขึ้นที่บ้านของตน และประกาศให้คนทั้งหลายที่อยู่ในชมพูทวีปนี้มารับทาน คือ รับอาหารที่โรงทานนี้ได้ตลอด 7 ปี 7 เดือน 7 วัน หรือถ้าหากบุคคลใดไม่มีที่พักอาศัยหรือเครื่องนุ่งห่มแล้ว ขอให้มาแจ้งความประสงค์ต่อตน จะได้จัดการให้ทานแก่ผู้นั้นโดยทั่วถึงทั้งหมด และในวันสุดท้ายได้ให้ ถาดทอง ถาดเงิน ถาดสำริด ซึ่งมีทองและเงินอยู่เต็มถาด อย่างละ 84,000 และช้าง รถ หญิงสาว บัลลังก์ ซึ่งประดับอย่างงดงาม อย่างละ 84,000 โคนมอีก 84,000 ตัว และผ้าคู่อีก 84,000 คู่ ทานที่เวลามพราหมณ์ทำนั้นได้ชื่อว่า ”มหาทานŽ” อานิสงส์ของการให้มหาทาน มีมากน้อยเพียงไร พระพุทธองค์ทรงเปรียบเทียบเป็นข้อๆไว้ดังนี้

1. การทำทานของเวลามพราหมณ์นี้ ย่อมได้อานิสงส์ถึงอสงไขยภพ

2. อานิสงส์ที่เวลามพราหมณ์ได้รับนี้ ยังสู้อานิสงส์ของผู้ถวายอาหารแด่พระโสดาบันบุคคลเพียง องค์เดียวและครั้งเดียวไม่ได้

3. อานิสงส์ที่ได้รับจากการถวายอาหารแด่พระโสดาบันบุคคล 100 องค์ ยังสู้อานิสงส์ของการ ถวายอาหารแด่พระสกทาคามีบุคคลเพียงองค์เดียวและครั้งเดียวไม่ได้

4. อานิสงส์ที่ได้รับจากการถวายอาหารแด่พระสกทาคามีบุคคล 100 องค์ ยังสู้อานิสงส์ของการ ถวายอาหารแด่พระอนาคามีบุคคลเพียงองค์เดียวและครั้งเดียวไม่ได้

5. อานิสงส์ที่ได้รับจากการถวายอาหารแด่พระอนาคามีบุคคล 100 องค์ ก็ยังสู้อานิสงส์ของการถวายอาหารแด่พระอรหันต์บุคคลเพียงองค์เดียวและครั้งเดียวไม่ได้

6. อานิสงส์ที่ได้รับจากการถวายอาหารแด่พระอรหันต์ 100 องค์ ก็ยังสู้อานิสงส์ของการถวายอาหารแด่พระปัจเจกพุทธเจ้าองค์เดียวและครั้งเดียวไม่ได้

7. อานิสงส์ที่ได้รับจากการถวายอาหารแด่พระปัจเจกพุทธเจ้า 100 องค์ ก็ยังสู้อานิสงส์ของการถวายอาหารแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพียงองค์เดียว และครั้งเดียวไม่ได้

8. อานิสงส์ที่ได้รับจากการถวายอาหารแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์เดียวนั้น ก็ยังสู้อานิสงส์ของการ ถวายอาหารแด่ภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย (สังฆทาน) มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประมุขไม่ได้

9. อานิสงส์ที่ได้รับจากการถวายอาหารแด่ภิกษุสงฆ์มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประมุขนั้นก็ยังสู้อานิสงส์ของการสร้างวิหารทาน (ถาวรทาน)แด่ภิกษุสงฆ์ที่อยู่ทั่วทั้ง 4 ทิศไม่ได้ (การถวายอาหารเป็นสังฆทาน มีอานิสงส์น้อยกว่าการถวายถาวรทานเป็นสังฆทาน) 

     จากนั้นพระศาสดาทรงแสดงอานิสงส์ของการสร้างบุญที่มีมากยิ่งกว่าสังฆทานขึ้นไปดังนี้ อานิสงส์ที่ได้รับจากการสร้างวิหารเพื่อสงฆ์ทั้ง 4 ทิศนั้น ก็ยังสู้อานิสงส์ของการเข้าถึงไตรสรณคมน์ไม่ได้ อานิสงส์ที่ได้รับจากการเข้าถึงไตรสรณคมน์นั้น ก็ยังสู้อานิสงส์ของการสมาทานศีล 5 ศีล 8 พร้อมด้วยไตรสรณคมน์นั้นไม่ได้อานิสงส์ที่ได้รับจากการสมาทานศีล 5 ศีล 8 พร้อมด้วยไตรสรณคมน์ ก็ยังสู้อานิสงส์ของการ แผ่เมตตาให้แก่สัตว์ทั้งหลายมีความสุขเพียงชั่วครู่หนึ่งไม่ได้ อานิสงส์ที่ได้รับจากการแผ่เมตตาให้แก่สัตว์ทั้งหลายมีความสุขเพียงชั่วครู่นั้น ก็ยังสู้อานิสงส์ ของการเจริญวิปัสสนาเพียงชั่วครู่ไม่ได้  จะเห็นได้ว่าอานิสงส์ของการบำเพ็ญสังฆทานจะมีผลมากกว่าปาฏิปุคคลิกทาน แต่อานิสงส์ของ การรักษาศีล และการเจริญวิปัสสนามีมากกว่านั้นอีก แต่ทั้งนี้มิได้หมายความว่าจะมุ่งแต่เจริญวิปัสสนา เพียงอย่างเดียวโดยไม่ทำทาน เพราะการให้ทานย่อมมีประโยชน์แก่บุคคลทุกจำพวกการให้ทานนั้นยังช่วยให้ผู้มีศีล และมีปัญญา (เจริญวิปัสสนา) ได้รับอานิสงส์ที่ประณีตไพบูลย์ยิ่ง ขึ้น ทำให้สร้างบารมีได้สะดวกสบายกว่าการไม่ได้ทำทาน ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบพระราชธิดา สุมนาผู้มาทูลถามในสุมนสูตรว่า

     “ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าสาวกของพระองค์ 2 คน มีศรัทธา มีศีล มีปัญญาเท่าๆ กัน คนหนึ่ง ทำทานกุศล แต่อีกคนหนึ่งไม่ทำ คนทั้งสองนั้นเมื่อตายไปแล้ว พึงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ แต่คนทั้งสองนั้น ทั้งที่เป็นเทวดาเหมือนกัน พึงมีความพิเศษแตกต่างกันหรือไม่Ž”พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “ ดูก่อนสุมนา คนทั้งสองนั้นจะมีความพิเศษแตกต่างกัน คือหากเกิดเป็นเทวดา ผู้ทำทานกุศลย่อม ได้รับสิ่งที่เป็นทิพย์อันเลิศกว่าผู้ไม่ทำทานกุศล 5 ประการ คือ อายุ วรรณะ สุข ยศ และอธิปไตย (ความ เป็นใหญ่)Ž”พระราชธิดาทูลถามต่อไปว่า

     “ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ถ้าเทวดาทั้งสองจุติจากเทวโลกมาสู่ความเป็นมนุษย์ คนทั้งสองนั้นจะมีความพิเศษแตกต่างกันหรือไม่Ž”  “ ดูก่อนสุมนา คนทั้งสองนั้นจะมีความพิเศษแตกต่างกัน คือ ผู้ทำทานกุศล หากเกิดเป็นมนุษย์ ย่อมได้รับสิ่งอันเลิศกว่าผู้ไม่ทำทานกุศลด้วยเหตุ 5 ประการ คือ อายุ วรรณะ สุข ยศ และอธิปไตย ที่เป็นของมนุษย์Ž”  “ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าคนทั้งสองนั้นออกบวชเป็นบรรพชิต จะมีความพิเศษแตกต่างกันหรือไม่Ž”

     พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า  “ ดูก่อนสุมนา คนทั้งสองนั้นจะมีความพิเศษแตกต่างกัน คือ คนที่ทำทานกุศล เวลาเป็นบรรพชิต ย่อมได้รับสิ่งอันเลิศกว่าคนที่ไม่ทำทานกุศลด้วยเหตุ 5 ประการ คือ

(1) เมื่อออกปากขอย่อมได้จีวรมาก เมื่อไม่ออกปากขอย่อมได้น้อย

(2) เมื่อออกปากขอย่อมได้บิณฑบาตมาก เมื่อไม่ออกปากขอย่อมได้น้อย

(3) เมื่อออกปากขอย่อมได้เสนาสนะมาก เมื่อไม่ออกปากขอย่อมได้น้อย

(4) เมื่อออกปากขอย่อมได้บริขาร คือยาที่เป็นเครื่องบำบัดไข้มาก เมื่อไม่ออกปากขอย่อมได้น้อย

(5) เมื่อจะอยู่ร่วมกับเพื่อนพรหมจรรย์เหล่าใด เพื่อนพรหมจรรย์เหล่านั้นก็ประพฤติต่อเธอด้วย กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม เป็นที่พอใจเป็นส่วนมาก ไม่เป็นที่พอใจเป็นส่วนน้อย ย่อมนำสิ่งเป็นที่พอใจ มาเป็นส่วนมาก ย่อมนำสิ่งไม่เป็นที่พอใจมาเป็นส่วนน้อยŽ”

     พระราชธิดาทูลถามต่อไปว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญก็ถ้าคนทั้งสองนั้นบรรลุอรหัตจะมีความพิเศษแตกต่างกันหรือไม่Ž”พระองค์ตรัสตอบว่า“เราไม่กล่าวว่ามีเหตุแตกต่างกันใดๆในความหลุดพ้นจากกิเลสของคนทั้งสองนั้นŽ”ด้วยความปีติท่วมท้น พระราชธิดาจึงอุทานว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ช่างน่าอัศจรรย์จริงหนอ ข้อนี้กำหนดได้ว่าสมควรแท้ที่คนทั้งหลายจะให้ทาน สมควรแท้ที่คนทั้งหลายจะทำบุญ เพราะบุญเป็นอุปการะแม้แก่เทวดา มนุษย์ และบรรพชิตŽ”พระองค์ได้ตรัสรับรองว่า“ อย่างนั้นสุมนาสมควรแท้ที่คนทั้งหลายจะให้ทานสมควรแท้ที่คนทั้งหลายจะทำบุญ เพราะบุญ เป็นอุปการะแม้แก่เทวดา มนุษย์และบรรพชิตŽ”

     จากพระพุทธพจน์ที่ยกมาข้างต้นย่อมแสดงให้เห็นว่าเมื่อเกิดมาเป็นมนุษย์ก็ควรสั่งสมทานกุศลให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพราะผู้ที่ทำทานกุศลไว้ดีแล้วย่อมมีโอกาสที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตได้ดีกว่าและไม่ว่าจะเกิดในภพชาติใดๆย่อมสมบูรณ์ไปด้วยโภคทรัพย์สมบัติไม่ต้องกังวลในการแสวงหาทรัพย์เพื่อเลี้ยงชีพเมื่อเป็นเช่นนี้ย่อมมีโอกาสให้ได้สั่งสมบุญบารมีให้ยิ่งๆขึ้นไปได้โดยง่าย จะทำทานมัย ศีลมัย หรือภาวนามัย ก็ทำได้สะดวกสบาย ทั้งยังส่งเสริมให้บรรลุเป้าหมายสูงสุดของชีวิต คือ พระนิพพานได้อย่างรวดเร็ว

ธรรมทาน คือ การให้คำแนะนำสั่งสอนสิ่งที่ดี บอกศิลปวิทยาที่ดีที่มีประโยชน์ในการดำเนินชีวิต เป็นเหตุให้มีความสุข รวมถึงการอธิบายให้รู้และเข้าใจในเรื่องบุญบาป ให้ละสิ่งที่เป็นอกุศล ดำรงตนอยู่ใน ทางกุศล ซึ่งจะนำพาตนให้สะอาดบริสุทธิ์ หมดจดจากกิเลสอาสวะทั้งปวงได้

 

 

จากหนังสือ DOU
วิชา SB 101 วิถีชาวพุทธ

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0011556466420492 Mins