การฟังธรรม

วันที่ 09 มีค. พ.ศ.2558

การฟังธรรม
 

คุณสมบัติของผู้ฟังธรรม

        ผู้ฟังธรรมที่จะได้รับประโยชน์จากการฟังธรรมอย่างเต็มที่ควรจะมีคุณสมบัติเหล่านี้อยู่ในตัวคือ

1.ไม่ดูแคลนหัวข้อธรรมที่ได้ฟังว่าง่ายไปเพราะธรรมะทุกบททุกข้อในพระพุทธศาสนาไม่ว่าจะง่ายหรือยากก็ตามหากฟังด้วยการพิจารณาและนำไปปฏิบัติตามอย่างจริงจังย่อมส่งผลให้ผู้นั้นมีโอกาสบรรลุธรรมในที่สุด

2.ไม่ดูแคลนความรู้ความสามารถของผู้แสดงธรรม คือ อย่าคิดว่าผู้แสดงธรรมนี้ด้อยกว่าเราโดยยกเอาวัยวุฒิคุณวุฒิ หรือชาติวุฒิ เป็นต้นฯมาเป็นข้อดูหมิ่นดูแคลนเพราะบางครั้งผู้แสดงธรรมอาจมีคุณธรรมสูงกว่าเราก็เป็นได้

3.ไม่ดูแคลนตนเองว่าฉลาดไม่พอจะรองรับธรรมเพราะแม้บางครั้งเราอาจจะฟังธรรมไม่เข้าใจแต่ขอให้อดทนฟังไปอีกหน่อยก็จะค่อยๆเข้าใจไปเองนอกจากเข้าใจแล้วยังจะได้เพาะนิสัยรักในการฟังธรรมซึงจะนำประโยชน์สุขมาให้กับตนเองทั้งในปัจจุบันและอนาคต

4.มีใจเป็นสมาธิขณะฟังธรรม คือ ฟังด้วยความตั้งใจไม่พูดคุยหรือหยอกล้อเล่นกันเพราะถ้ายิ่งฟังด้วยใจเป็นสมาธิมากเท่าไรก็จะเกิดความรู้ความเข้าใจในธรรมะได้มากเท่านั้น

5.มีโยนิโสมนสิการ คือ พิจารณาตามธรรมนั้นโดยแยบคายรู้จักจับแง่มุมดีๆมาขบคิดพิจารณาซึ่งจะส่งผลให้มีปัญญาแตกฉานในธรรมได้อย่างรวดเร็ว

กาลที่ควรฟังธรรม

1.วันธรรมสวนะหรือวันพระนั่นเองแต่ในปัจจุบันอาจเลือกเอาวันที่เราว่างจากภารกิจทั้งหลายเช่นวันหยุดสุดสัปดาห์ หรือวันที่ทางวัดกำหนดให้มีการแสดงธรรม

2.เมื่อเวลาที่จิตถูกวิตกครอบงำ คือ เมื่อใจเราคิดไม่ดีเกิดความขุ่นมัวเศร้าหมองไม่ผ่องใสหรือมีความฟุ้งซ่านรำคาญใจเมื่อนั้นก็ควรไปฟังธรรมเช่นในเวลาที่เกิดความคิดฟุ้งซ่านด้วยเรื่องทางเพศ(กามวิตก)หรือเมื่อเกิดความโกรธอยากทำร้ายทำลายผู้อื่น(พยาบาทวิตก)หรือเมื่อเกิดความคิดอยาเบียดเบียนกลั่นแกล้งใคร(วิหิงสาวิตก)ก็ให้รีบขวนขวายไปฟังธรรมโดยเร็ว

3.เมื่อมีผู้รู้มาแสดงธรรมเพราะบุคคลอย่างนี้หาได้ยากดังนั้นเมื่อมีโอกาสที่จะได้ประโยชน์จากท่านก็ไม่ควรปล่อยให้ผ่านไป

 

 

จากหนังสือ DOU
วิชา SB 101 วิถีชาวพุทธ

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0019081314404806 Mins