การรักษาศีล

วันที่ 11 มีค. พ.ศ.2558

การรักษาศีล

 วิรัติ หรือ เวรมณี แม้ว่าศีลจะเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วโดยธรรมชาติของมนุษย์ก็ตามแต่การจะได้ชื่อว่าเป็นผู้รักษาศีลนั้นย่อมมิใช่เพียงแค่การไม่ทำความชั่วแต่เพียงอย่างเดียวเพราะบางคนที่ยังไม่ทำความชั่วอาจเป็นเพราะยังไม่มีโอกาสที่จะทำเช่นนักโทษที่ถูกกักขังไว้ไม่มีโอกาสไปเบียดเบียนใครย่อมไม่อาจบอกได้ว่าเขาเป็นผู้รักษาศีลหรือเด็กทารกที่นอนอยู่ในเปลแม้จะไม่ได้ทำความชั่วอะไรแต่ก็เป็นไปเพราะความที่ไม่รู้เดียงสาจึงไม่อาจกล่าวว่าเด็กนั้นรักษาศีลได้เพราะศีลนั้นสำคัญที่เจตนาการจะได้ชื่อว่าเป็นผู้รักษาศีลจึงต้องเริ่มต้นที่ความตั้งใจและความตั้งใจงดเว้นจากความชั่วŽนี่เองคือความหมายของคำว่าวิรัติหรือเวรมณี

     “ วิรัติŽ ” จึงเป็นสิ่งที่บ่งชี้ถึงการมีศีลบุคคลใดก็ตามจะได้ชื่อว่าเป็นผู้มีศีลรักษาศีลก็ต่อเมื่อมีวิรัติอย่างหนึ่งอย่างใดต่อไปนี้

1. สมาทานวิรัติ

2. สัมปัตตวิรัติ

3. สมุจเฉทวิรัติ

     สมาทานวิรัติ คือความตั้งใจงดเว้นจากบาปเพราะได้สมาทานศีลไว้แล้วหมายความว่าเราได้ตั้งใจไว้ก่อนว่าจะรักษาศีล ครั้นไปพบเหตุการณ์ที่ชวนให้ล่วงละเมิดศีลก็ไม่ยอมให้ศีลขาดดังมีเรื่องเล่าถึงการสมาทานวิรัติของอุบาสกท่านหนึ่ง

     อุบาสกผู้หนึ่ง ณ ประเทศศรีลังกา อุบาสกผู้หนึ่งได้รับศีลจากพระปิงคลพุทธรักขิตเถระแห่งอัมพริยวิหาร วันหนึ่งอุบาสกผู้นี้ได้ออกไปไถนาพอถึงเวลาพักก็ปลดโคออกจากไถปล่อยให้กินหญ้าไปตามสบายปรากฏว่าโคได้หายไปเขาจึงออกตามหาจนไปถึงภูเขาชื่อทันตรวัฑฒมานะ ณ ที่นั้นเองเขาได้ถูกงูเหลือมตัวหนึ่งรัดเข้าจึงชักมีดอันคมกริบออกมาเงื้อขึ้นหมายจะฆ่างูนั้นแต่แล้วเขากลับฉุกคิดได้ว่า “ตัวเรานี้ได้รับศีลจากพระเถระผู้เป็นที่เคารพศรัทธาการจะมาล่วงละเมิดศีลเช่นนี้ช่างไม่สมควรเลยŽเขาได้เงื้อมีดขึ้นถึง 3 ครั้ง แต่ในที่สุดก็ตกลงใจว่าเราจะยอมสละชีวิตแต่จะไม่ยอมสละศีลŽ” คิดได้ดังนี้จึงโยนมีดทิ้งไปด้วยเดชแห่งศีลที่ตั้งใจรักษาจึงทำให้งูเหลือมใหญ่นั้นคลายตัวออกแล้วเลื้อยหนีเข้าป่าไป
 
    สัมปัตตวิรัติ คือ ความตั้งใจงดเว้นจากบาปเมื่อเกิดเรื่องขึ้นเฉพาะหน้าแม้ว่าเดิมทีนั้นไม่ได้สมาทานศีลไว้แต่เมื่อไปพบเหตุการณ์ที่ชวนให้ล่วงละเมิดศีลก็คำนึงถึง ชาติ ตระกูล การศึกษา หรือความดีต่างๆ เป็นต้นจึงทำให้เกิดความตั้งใจที่จะงดเว้นจากบาปเวรขึ้นในขณะนั้นนั่นเอง ดังเช่นเรื่องราวของจักกนอุบาสก

  จักกนอุบาสก เมื่อครั้งที่จักกนะอุบาสกยังเล็กอยู่นั้น มารดาของเขาได้ล้มป่วยลงหมอบอกว่าต้องใช้เนื้อกระต่ายเป็นๆมาทำยารักษาจึงจะหายพี่ชายของจักกนะจึงบอกให้เขาไปหากระต่ายมาจักกนะจึงออกไปที่ทุ่งนาและได้พบกระต่ายน้อยตัวหนึ่งกำลังกินข้าวกล้าอยู่เมื่อกระต่ายน้อยเห็นจักกนะมันจึงรีบวิ่งหนีแต่ก็หนีไม่พ้นเพราะบังเอิญไปถูกเถาวัลย์พันตัวไว้ได้แต่ร้องอยู่ จักกนะจึงจับตัวมาได้แต่เมื่อเห็นอาการลนลานด้วยความกลัวของกระต่ายน้อยเขาเกิดความสงสารคิดขึ้นมาว่า

     “ควรหรือที่เราจะเอาชีวิตของผู้อื่นมาเพื่อช่วยชีวิตมารดาของเราŽ” จักกนะจึงปล่อยกระต่ายน้อยตัวนั้น พร้อมกับกล่าวว่า “ เจ้าจงไปกินหญ้ากินน้ำของเจ้าตามสบายเถิดŽ ”

     เมื่อกลับมาถึงบ้าน จักกนะถูกพี่ชายซักถาม จึงเล่าความจริงให้ฟัง และถูกพี่ชายต่อว่าอย่างมากมาย แต่เขาก็มิได้โต้ตอบ ได้แต่ขยับเข้าไปใกล้ๆมารดาแล้วกล่าวสัจวาจาว่า

     “ตั้งแต่ข้าพเจ้าเกิดมายังไม่เคยจงใจฆ่าสัตว์ใดเลยด้วยคำสัตย์นี้ขอให้มารดาจงหายจากโรคเถิดŽ ” ทันใดนั้นเองมารดาของเขาก็หายป่วยเป็นอัศจรรย์
 
     สมุจเฉทวิรัติ หรือ เสตุฆาตวิรัติ คือ การงดเว้นจากบาปได้อย่างเด็ดขาดเป็นวิรัติของพระอริยเจ้าซึ่งละกิเลส คือ ความโลภ โกรธ หลง ได้แล้วเมื่อใจท่านปราศจากกิเลสที่เป็นเหตุให้ทำความชั่วจึงไม่มีการผิดศีลอย่างแน่นอน

     วิรัตินั้นเป็นสิ่งสำคัญยิ่งเพราะการกระทำใดๆก็ตามหากปราศจากความตั้งใจมุ่งมั่นแล้วการกระทำนั้นๆย่อมไม่หนักแน่นมั่นคงพร้อมจะแปรเปลี่ยนอยู่เรื่อยไปดังนั้นแม้จะยังไม่ได้ทำความชั่วขึ้นก็ตามแต่ถ้าหากไม่มีวิรัติก็ไม่จัดว่าเป็นการรักษาศีล

 

 

 จากหนังสือ DOU
วิชา SB 101 วิถีชาวพุทธ

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0010553320248922 Mins