ผลแห่งทาน ศีล ภาวนา

วันที่ 16 มีค. พ.ศ.2558

ผลแห่งทาน ศีล ภาวนา

     การสั่งสมทาน คือ การกำจัดความโลภและความตระหนี่ให้หมดสิ้นไปจากใจ

     การรักษาศีล คือ การฆ่าความโกรธ กำจัดความคิดพยาบาทอาฆาตผู้อื่นให้หมดไป

     การเจริญภาวนา คือ การกำจัดความไม่รู้ หรือ อวิชชาที่ห่อหุ้มใจของเราเอาไว้ ทำให้เกิดดวงปัญญารู้แจ้งเห็นแจ้งไปตามความเป็นจริงของโลกและชีวิตว่าคนเราเกิดมาเพื่อสั่งสมบุญ เมื่อบุญในตัวมากขึ้นๆ ก็จะกลั่นตัวกลายเป็นบารมี มีอานุภาพมากในการที่จะบันดาลความสุขความสำเร็จได้ตามความปรารถนาทุกประการ

   

     ผู้สั่งสมทานมามาก ผลแห่งบุญนี้จะทำให้เกิด ทรัพย์สมบัติŽขึ้นมากมายเอาไว้ใช้ในการ หล่อเลี้ยงตนเอง ทั้งเงินทอง ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ และยังเหลือไว้ใช้ในการทำทานต่อไปอีก โดยการ เผื่อแผ่ให้แก่ผู้อื่น

     ผู้รักษาศีลมาดี ผลแห่งบุญนี้จะทำให้เกิด รูปสมบัติŽ ขึ้นกับตน คือ ด้วยความที่เราเป็นผู้ไม่ เบียดเบียน ทำร้าย หรือสร้างความเดือดเนื้อร้อนใจให้กับผู้อื่นเป็นนิตย์ ย่อมยังผลให้ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ที่มีรูปร่างดี ทั้งใบหน้า ท่าทาง ผิวพรรณวรรณะ ไม่สูงไม่ต่ำ ไม่ดำไม่ขาว ไม่ผอมไม่อ้วน แต่มีลักษณะดี ได้สัด ได้ส่วน เป็นที่น่าดึงดูดตาดึงดูดใจของผู้ที่พบเห็น

     ผู้เจริญภาวนาเป็นนิตย์ ผลแห่งบุญนี้จะทำให้เกิด คุณสมบัติŽขึ้น คือ ด้วยการประกอบเหตุโดยหมั่นสั่งสมภาวนามยปัญญา ปัญญาอันเกิดจากการเจริญสมาธิภาวนามามาก จะทำให้มีปัญญาเฉลียวฉลาด มีปฏิภาณไหวพริบมีความคิดเฉียบแหลม สามารถศึกษาวิชาความรู้ในศาสตร์ต่างๆ ได้อย่างแตกฉาน

     สมบัติทั้ง 3 ประการนี้จะติดตามไปส่งผลให้กับตัวเราไม่ว่าจะเกิดอีกกี่ภพกี่ชาติก็ตาม เราจะเป็นผู้เพียบพร้อมสมบูรณ์ในทุกสิ่งทุกประการ การที่จะสั่งสมบุญใหม่เพิ่มขึ้น ก็กระทำได้โดยสะดวกง่ายดาย ไม่มีความยากลำบากในการสร้างบุญ

     ทาน ศีล ภาวนา คือการสร้างบารมี ทาน ศีล ภาวนา เมื่อทำแล้วย่อมได้อานิสงส์ คือ ผลอันดีงามแก่เหล่าชนทั้งหลายดังกล่าวมาแล้ว แม้พระโพธิสัตว์ผู้ปรารถนาที่จะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอนาคตเบื้องหน้า ก็มีอัธยาศัยรักในการบำเพ็ญทาน รักษาศีล และเจริญภาวนาทุกภพทุกชาติ สิ่งที่ท่านเหล่านั้นทำแล้วจะสั่งสมเกิดเป็นบุญและบุญที่สั่งสมมากขึ้นๆ ย่อมนำไปสู่วิถีทางที่เข้าถึงความเป็นเลิศ คือ บารมี

      

   ทานเป็นก้าวแรกของการสร้างบารมี พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อครั้งเสวยพระชาติเป็นสุเมธดาบส ได้สั่งสมบารมีของตนจนกระทั่งได้รับ พุทธพยากรณ์จากพระทีปังกรพุทธเจ้า ว่าในอีก 4 อสงไขยแสนมหากัป จะต้องตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เช่นเดียวกันอย่างแน่นอน คำพยากรณ์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นเป็นสิ่งที่ประเสริฐเลิศที่สุด เป็นอมตวาจา ไม่มีทางเปลี่ยนแปลงเป็นอื่นไปได้เลย ดุจดังก้อนดินที่บุคคลโยนขึ้นไปในอากาศ ย่อมตกลงที่ภาคพื้นแผ่นดินแน่นอน เมื่อพระทีปังกรพุทธเจ้าเสด็จจากไปแล้ว สุเมธดาบสจึงเริ่มพิจารณาว่า มีอะไรหนอที่จะเป็นเหตุให้เป็นพระพุทธเจ้าได้ เมื่อพิจารณาอย่างดีแล้วได้ระลึกดูก็รู้ว่า ”ทานบารมี เป็นบารมีแรกที่พระพุทธเจ้า ทั้งหลายได้ประพฤติปฏิบัติกันมา เราควรสร้างทานบารมีนี้ก่อนบารมีอื่นๆŽ” ดังมีหลักฐานแสดงไว้ใน ขุททกนิกาย

1. ทานบารมี ได้แก่ ทานที่บำเพ็ญด้วยการสละทรัพย์ภายนอก (วัตถุสิ่งของ)

2. ทานอุปบารมี ได้แก่ ทานที่บำเพ็ญด้วยการสละอวัยวะ เลือด เนื้อ

3. ทานปรมัตถบารมี ได้แก่ ทานที่บำเพ็ญด้วยการสละชีวิต

     การรักษาศีลเป็นบารมี เมื่อสุเมธดาบสพิจารณาเห็นทานบารมีแล้ว ต่อจากนั้นจึงพิจารณาถึงเหตุลำดับต่อไปที่ทำให้เป็น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ เมื่อพิจารณาอย่างดีแล้ว จึงเห็นถึงศีลบารมี ดังมีหลักฐานแสดงไว้ในขุททกนิกาย อปทาน

1. ศีลบารมี คือ การรักษาศีลด้วยความรักศีลยิ่งกว่าสมบัติภายนอก เมื่อถึงคราวต้องทำผิดศีล ก็ยอมเสียสละสมบัติภายนอกออกไป เพื่อรักษาศีลของตนให้บริสุทธิ์ ชื่อว่าบำเพ็ญศีลบารมี

2. ศีลอุปบารมี คือ การรักษาศีลด้วยความรักศีลยิ่งกว่าอวัยวะในร่างกายของตน เมื่อถึงคราว ต้องทำผิดศีล ก็ยอมเสียสละอวัยวะ เลือดเนื้อ เพื่อรักษาศีลให้บริสุทธิ์ ชื่อว่าบำเพ็ญศีลอุปบารมี

3. ศีลปรมัตถบารมี คือ การรักษาศีลด้วยความรักศีลยิ่งกว่าชีวิตของตน เมื่อถึงคราวต้องทำผิดศีล ก็ยอมเสียสละชีวิต เพื่อรักษาศีลของตนให้บริสุทธิ์ ชื่อว่าบำเพ็ญศีลปรมัตถบารมี

     การออกบวชเพื่อเจริญภาวนา เป็นบารมี เมื่อสุเมธดาบสพิจารณาเห็นศีลบารมีแล้ว ต่อจากนั้นจึงพิจารณาต่อไปถึงเนกขัมมบารมี คือ การออกบวชประพฤติพรหมจรรย์ ดังมีหลักฐานแสดงไว้ใน ขุททกนิกาย

     ดังนั้น ทาน ศีล ภาวนา จึงเป็นหลักในการสร้างบารมีทั้ง 10 ทัศ บารมีที่เหลือที่ไม่ได้นำมากล่าว ในที่นี้ ล้วนมีทาน ศีล ภาวนา เป็นพื้นฐานทั้งสิ้น บารมีที่เกิดจากทาน ศีล ภาวนา ทำได้เข้มข้นมากเท่าไร ก็จะส่งผลให้การบำเพ็ญบารมี 10 ทัศ เต็มเปี่ยมได้เร็วเท่านั้น

   สรุป มนุษย์ทุกคนเมื่อเกิดมาแล้วมีความจำเป็นต้องสั่งสมบุญ เพราะทางมาแห่งบุญทั้ง 3 ประเภท คือ การทำทาน การรักษาศีล และการเจริญภาวนา มีความสำคัญมากต่อการบรรลุเป้าหมายชีวิตทั้ง 3 ระดับ ทั้งเป้าหมายบนดิน เป้าหมายบนฟ้า โดยเฉพาะเป้าหมายเหนือฟ้า คือ การบรรลุพระนิพพาน ดังนั้น ทาน ศีล ภาวนา จึงถือเป็นงานของชีวิต เป็นหน้าที่ที่ทุกคนจะต้องลงมือกระทำให้ติดเป็น นิสัยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และต้องประพฤติปฏิบัติจนกระทั่งเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ที่เรียกว่าวิถีชีวิตให้ได้

 

 

จากหนังสือ DOU
วิชา SB 101 วิถีชาวพุทธ

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0013005336125692 Mins