โรงเรียนกัลยาณมิตร

วันที่ 16 เมย. พ.ศ.2558

โรงเรียนกัลยาณมิตร

     โรงเรียนกัลยาณมิตรแต่ละโรงเรียน ต่างมีจุดมุ่งหมายเหมือนกันในการฝึกอบรมนักเรียนให้มีอริยวินัย มีลักษณะนิสัยเข้าเกณฑ์มาตรฐานคุณสมบัติของคนดีที่โลกต้องการ 4 ประการ คุณสมบัติของมิตรแท้ 16 ประการ คุณสมบัติของกัลยาณมิตร 7 ประการ ดังที่กล่าวมาแล้วในบทที่ 2 ซึ่งขอรวมเรียกคุณสมบัติเหล่านี้โดยสรุปว่ากัลยาณมิตรŽ

 

การฝึกอบรมนักเรียนให้เป็นกัลยาณมิตร

     การฝึกอบรมนักเรียนให้เป็นกัลยาณมิตรจำเป็นจะต้องจัดทำโครงการฝึกอบรมด้านธรรมะ ทั้งภาคปริยัติและภาคปฏิบัติ กล่าวคือ ปัญหาการเรียนการสอนธรรมะตามโรงเรียนต่างๆ ในประเทศไทยที่มีต่อเนื่องกันมาช้านานก็คือครูอาจารย์ผู้สอนวิชาศีลธรรมไม่มีความรู้ในวิชาที่สอนอย่างแท้จริง ไม่สามารถ อธิบายขยายความหัวข้อธรรมต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ในหลักสูตรและตำราเรียนให้นักเรียนเกิดความเข้าใจอย่างลึกซึ้งพอที่จะนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้จริง

     ในที่สุดจึงกลายเป็นว่าทั้งครูทั้งนักเรียนต่างมองไม่ใคร่เห็นประโยชน์ของธรรมะ ธรรมะเป็นของโบราณ ไม่เหมาะกับสภาพสังคมสมัยใหม่ ดังนั้นการเรียนการสอนวิชาพระพุทธศาสนาในโรงเรียน จึงกลายเป็น เรื่องน่าเบื่อหน่ายสำหรับทั้งนักเรียนและครูผู้สอน จนเป็นเหตุให้นักการศึกษาหัวตะวันตกพยายาม เสนอแนะให้ตัดวิชาพระพุทธศาสนาออกจากหลักสูตร ทั้งๆ ที่วิชานี้มีคุณค่าอย่างยิ่งต่อการดำเนินชีวิตอย่างสันติสุข กรณีนี้ก็คงเป็นทำนองเดียวกับวานรได้แก้วนั่นเอง

     ดังนั้น เพื่อที่จะแก้ปัญหาดังกล่าว โรงเรียนกัลยาณมิตรที่อยู่ในท้องที่เดียวกันหลายๆ โรงเรียน ควรประสานความร่วมมือกันในการทำโครงการโรงเรียนกัลยาณมิตร โดยร่วมกันจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการสำหรับครูอาจารย์ที่สอนวิชาพระพุทธศาสนา เพื่อร่วมกันทำสาระการเรียนรู้ ทำตำราเรียนและเพื่อวางแนวทางการจัดกิจกรรมทั้งในและนอกหลักสูตร โดยนิมนต์พระสงฆ์ผู้ทรงภูมิรู้ภูมิธรรม จากวัดกัลยาณมิตรมาเป็นวิทยากรบ้าง เชิญครูอาจารย์ที่ประสบความสำเร็จในการจัดทำโรงเรียนกัลยาณมิตรบ้าง หรือเชิญผู้ปกครองนักเรียนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการสอนวิชาพระพุทธศาสนาภาคปริยัติหรือ ปฏิบัติ หรือทั้ง 2 อย่าง มาเป็นวิทยาการในการอบรมมาสัมมนาบ้าง ย่อมจะสามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้ในระดับหนึ่ง

     นอกจากนี้ก็ควรปรึกษาหารือกันถึงแหล่งทรัพยากร สำหรับให้นักเรียนได้ไปค้นคว้าความรู้ประกอบการเรียน เช่น รายชื่อหนังสือ ตำรับตำราทางพระพุทธศาสนา นอกเหนือจากพระไตรปิฎก และอรรถกถาแปล รวมทั้งรายชื่อห้องสมุดสาธารณะ ที่มีตำรับตำราทางพระพุทธศาสนา พอที่จะให้นักเรียนสามารถไปศึกษาค้นคว้าประกอบการทำรายงาน หรือการอภิปรายในชั้นเรียน

     นอกจากความร่วมมือระหว่างครูอาจารย์โรงเรียนกัลยาณมิตรในการจัดทำเรื่องต่างๆ ดังกล่าวแล้ว ยังอาจจัดให้นักเรียนแต่ละโรงเรียนทำกิจกรรมร่วมกันเป็นครั้งคราวตามความเหมาะสม เช่น การจัด ตอบปัญหาธรรมะในกลุ่มโรงเรียนกัลยาณมิตรที่อยู่ในเขตท้องที่เดียวกัน การจัดนิทรรศการทางก้าวหน้าหรือการจัดกิจกรรมค่ายคุณธรรมระหว่างปิดภาคเรียนฤดูร้อน โดยใช้เวลาประมาณ 1 ถึง 2 สัปดาห์ และใช้สถานที่ในโรงเรียนหนึ่ง แล้วเชิญอีกโรงเรียนหนึ่งให้ส่งนักเรียนมาเข้าค่ายอบรมด้วย โดยหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันไปตามโรงเรียน ต่างๆ ซึ่งในการจัดค่ายอบรมแต่ละครั้งแต่ละแห่ง จะประกอบด้วยโรงเรียนเจ้าภาพหนึ่งโรงเรียน และโรงเรียนที่เป็นแขกรับเชิญหนึ่งโรงเรียน อย่างไรก็ตามเพี่อความสะดวกในการควบคุมดูแลของอาจารย์ทั้งสองโรงเรียน และเพื่อให้การอบรมได้ผลอย่างจริงจัง จำเป็นต้องไม่ให้จำนวนนักเรียนมากเกินไป ถ้ามีนักเรียนเป็นจำนวนมากก็ควรแบ่งออกเป็นหลายชุดหลายรุ่น ตามความเหมาะสม

     อนึ่ง โรงเรียนกัลยาณมิตร ที่ประสบความสำเร็จ ในการจัดกิจกรรมนอกหลักสูตรภายในโรงเรียนของตน อาจจะสามารถจัดกิจกรรมนอกหลักสูตรระหว่างโรงเรียนขึ้นได้ โดยไม่มีปัญหายุ่งยาก การสร้างเครือข่ายโรงเรียนกัลยาณมิตร จะเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการสร้างเครือข่ายคนดีให้เกิดขึ้นใน สังคมโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ใหญ่กับกลุ่มเยาวชน กลุ่มผู้ใหญ่ได้แก่ครูบาอาจารย์กับผู้ปกครองนักเรียน กลุ่มเยาวชนได้แก่นักเรียนในโรงเรียนกัลยาณมิตรที่อยู่ในเครือข่ายเดียวกัน

     ถ้าการทำกิจกรรมของโรงเรียนกัลยาณมิตรแต่ละแห่ง บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ทุกประการ ต่อแต่นี้ไปปัญหานักเรียนต่างสถาบันยกพวกตีกัน ฆ่ากัน จะไม่เกิดขึ้นอีกอย่างแน่นอน ยิ่งกว่านั้น เมื่อเยาวชนจากโรงเรียนกัลยาณมิตร เติบโตเป็นผู้ใหญ่พวกเขาก็จะเป็นประชาชนที่มีอริยวินัย มีสัมมาทิฏฐิ คือมีความเข้าใจถูกในเรื่องโลกและชีวิต ย่อมส่งผลให้พวกเขาคิดถูก พูดถูก และทำถูก คือทำแต่สิ่งที่ ถูกต้องและดีงาม ตามแบบอย่างของบุคคลที่ได้ชื่อว่าเป็นกัลยาณมิตร เมื่อสมาชิกในสังคมมีแต่กัลยาณมิตร คนประเภทมิตรเทียมย่อมสูญพันธุ์ไปโดยปริยาย สังคมนั้นย่อมมีสันติสุขอย่างแท้จริง ความคิดเช่นนี้ บางท่านอาจจะมองว่าเป็นความเพ้อฝัน จริงอยู่ในเบื้องต้นอาจจะทำให้ท่านรู้สึกเช่นนั้น ทว่าถ้าทุกคน ตั้งใจสร้างอริยวินัยให้เกิดขึ้นในตนเองให้ได้ คุณสมบัติของกัลยาณมิตรจะพัฒนาขึ้นในตัวเราโดยปริยาย และแล้วต่างคนต่างก็ตั้งใจเป็นกัลยาณมิตรให้แก่กันและกันโดยตลอด ความฝันย่อมจะกลายเป็น ความจริงอีกไม่นานเกินรอ

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.022162250677745 Mins