กิจกรรมเชิงกัลยาณมิตร : การจัดงานนิทรรศการ ทางก้าวหน้า
การจัดงานนิทรรศการครั้งแรกและความคาดหวัง
สำหรับความคาดหวังในการจัดนิทรรศการ ทางก้าวหน้า ครั้งที่ 1 นั้นคือต้องการที่จะให้ประชาชน นักเรียน นิสิต นักศึกษาที่มาชมนิทรรศการได้รับประโยชน์จากหลักธรรมในมงคล 38 ประการ และได้ความรู้ ความเข้าใจ และการฝึกปฏิบัติในเรื่องการฝึกสมาธิเบื้องต้นนำไปใช้ในการดำเนินชีวิตในชีวิตประจำวัน ได้เป็นอย่างดีแล้ว ที่สำคัญที่สุดก็คือต้องการประชาสัมพันธ์โครงการอบรมธรรมทายาท ณ วัดพระธรรมกาย ให้กับนักศึกษาชาย ได้รับทราบ โดยได้จัดบอร์ดรายละเอียดในการอบรมธรรมทายาทไว้ในงานนิทรรศการครั้งนี้ด้วย และยิ่งไปกว่าสิ่งอื่นใดก็คือตัวคณะกรรมการผู้จัดงานนอกจากจะได้บุญในการให้ธรรมทานแล้ว ตนเองยังได้เพิ่มพูนความรู้ ความเข้าใจในเนื้อหาหลักธรรมมงคล 38 ประการ การฝึกสมาธิเบื้องต้นและ ข้อมูลรายละเอียดในการอบรมธรรมทายาทภาคฤดูร้อน อีกทั้งยังจะได้สามารถฝึกการทำงานเป็นทีม ฝึกคุณธรรมในด้านความอดทน ความเสียสละต่อสังคมส่วนรวม ฝึกความรับผิดชอบต่องานที่ได้รับมอบหมาย และคณะกรรมการชมรมพุทธฯ ตลอดจนรุ่นพี่ ยังจะได้รู้จักสมาชิกใหม่ของชมรมที่มาช่วยในการจัดงานทำให้เห็นแวว และมองออกว่าน้องใหม่แต่ละคนนั้น มีอัธยาศัยเป็นอย่างไร จะได้มอบหมายงานพระพุทธศาสนาได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม ในการทำงานชมรมสืบต่อไปในอนาคต
นิทรรศการ ”ทางก้าวหน้า” ครั้งที่ 1
แต่เดิมนั้นโครงการตอบปัญหาธรรมะทางก้าวหน้า เป็นเพียงกิจกรรมเสริมส่วนหนึ่งเท่านั้นที่ จัดขึ้นมาในงานนิทรรศการ ทางก้าวหน้า ครั้งที่ 1 ซึ่งจัดขึ้น ณ ศาลาพระเกี้ยว จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวันพุธที่ 10 ถึงวันอังคารที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2525 โดยมีชมรมพุทธศาสตร์ 6 สถาบัน อันได้แก่ ชมรมพุทธศาสตร์และประเพณีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับชมรมพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร และวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา วิทยาเขตเทคนิคกรุงเทพฯ
การจัดงานนิทรรศการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่ออธิบายหลักธรรมในมงคลสูตร 38 ประการ อันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนา อันจะนำมาเพื่อความก้าวหน้า ความเป็นสิริมงคลและความสุข ที่แท้จริงในการดำเนินชีวิต สำหรับชนทุกระดับชั้น เป็นการอธิบายหัวข้อธรรมะให้เข้าใจง่าย สามารถ นำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ โดยใช้ภาพการ์ตูนประกอบ และมีการฝึกสมาธิสำหรับนิสิต นักศึกษา รวมทั้งประชาชนทุกวันอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีการประกวดบทความ หนทางสู่ความก้าวหน้าตามแนวพุทธศาสนา สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา ผู้ชนะเลิศจะได้รับโล่พระราชทาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และทุนการศึกษา 5,000 บาท การตอบปัญหาธรรมะแข่งขันระหว่างทีมโรงเรียนต่างๆ ผู้ชนะเลิศ จะได้รับโล่พระราชทานสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และทุนการศึกษา 4,000 บาท และการประกวดเรื่องสั้น ประสบการณ์ในชีวิตเรื่อง คบคนพาล พาลพาไปหาผิด คบบัณฑิต บัณฑิตพาไปหาผล ผู้ชนะเลิศ จะได้รับโล่พระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และทุนการศึกษา 3,000 บาท สำหรับพิธีเปิดงานนิทรรศการในครั้งนี้ได้รับเกียรติจากพลเอกอาทิตย์ กำลังเอก ผู้บัญชาการทหารบก มาเป็นประธานในพิธีเปิดงานนิทรรศการ ทางก้าวหน้า ครั้งที่ 1 นี้ที่ศาลาพระเกี้ยว จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เวลา 15.30 น. ในวันพุธที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2525 และในวันปิดงานนิทรรศการ ท่านรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ คุณชง วงษ์ขัน ได้มาเป็นประธานในการมอบโล่พระราชทานและรางวัลทุนการศึกษา
ในการจัดงานนิทรรศการครั้งนี้ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างยิ่งที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ ในวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2525 เวลาประมาณ 15.00 น. เพื่อทรงทอดพระเนตรการจัดบอร์ดธรรมะของนิสิตนักศึกษา ทั้งที่อยู่ชั้นล่างและ ชั้นบนของศาลาพระเกี้ยว และก่อนที่จะเสด็จพระราชดำเนินกลับ ยังมีพระราชดำรัสกับคณะกรรมการ จัดงานว่า อยากให้ช่วยกันทำหนังสือพระพุทธประวัติสำหรับเด็กด้วย ซึ่งนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณ ที่จะต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์การทำกิจกรรมของชมรมพุทธศาสตร์ 6 สถาบัน ซึ่งถือได้ว่าเป็นเกียรติประวัติ เป็นสิริมงคลของการร่วมกันจัดงานในครั้งนี้อีกด้วย
ผลสำเร็จจากการจัดนิทรรศการครั้งที่ 1
ก่อนวันปิดงานนิทรรศการ มีโรงเรียนหลายแห่งขอจองชุดนิทรรศการ เพื่อนำไปจัดแสดงที่โรงเรียนของตน คณะกรรมการต้องจัดลำดับให้สอดคล้องกับวันจัดนิทรรศการของชมรมพุทธศาสตร์ อีก 5 สถาบัน หลายครั้งที่ต้องมาจัดซ่อม หรือทำใหม่ เพราะชำรุดจนใช้ต่อไม่ได้
อาจารย์หลายท่านขอทราบวิธีการ กฎระเบียบในการจัดตั้งชมรมพุทธศาสตร์ เมื่อเสร็จงานนิทรรศการแล้ว กรรมการจึงได้จัดทำหนังสือแนวทางในการบริหารงานชมรมพุทธศาสตร์ให้กับอาจารย์ ที่สนใจอีกด้วย
การฝึกสมาธิ เป็นกิจกรรมหนึ่งในการจัดนิทรรศการที่ได้รับความสนใจจากโรงเรียนต่างๆ เป็นจำนวนมาก มีโรงเรียนที่ต้องการพระอาจารย์เพื่อไปสอนการปฏิบัติธรรมได้ติดต่อมาที่ชมรมพุทธศาสตร์จุฬาฯ และที่วัดพระธรรมกาย แต่เนื่องจากในเวลานั้น บุคลากรในการสอนปฏิบัติธรรมยังมีจำนวนน้อย จึงไม่อาจ ตอบสนองความต้องการของโรงเรียนที่มาติดต่อได้
หลังจากปิดงาน มีนักเรียน นิสิตนักศึกษา ลงชื่อสมัครไปวัดเพื่อฝึกสมาธิและฟังพระธรรมเทศนา ประมาณ 400 คน และมีนิสิตนักศึกษาชาย ขอลงชื่อสมัครอบรมธรรมทายาทประมาณ 50 คน
จำนวนผู้ที่มาชมนิทรรศการ ประมาณ 8,000 คน มีทั้งนิสิต นักศึกษา ประชาชนทั่วไปและนักเรียน ทุกระดับชั้น
อาจารย์ที่สอนวิชาพระพุทธศาสนาในโรงเรียนมัธยมศึกษาและพระอาจารย์จากโรงเรียนพุทธศาสนา วันอาทิตย์ ได้่ให้ความสนใจและให้กำลังใจแก่คณะกรรมการฯ อย่างยิ่ง ท่านได้ฝากความหวังว่า ขอให้ คณะกรรมการจัดกิจกรรมเช่นนี้ต่อไปอีก
นิทรรศการ ”ทางก้าวหน้า” ครั้งที่ 2
การจัดนิทรรศการทางก้าวหน้าครั้งที่ 2 นั้น ต้องเลื่อนจัดงานนิทรรศการออกมาจากกำหนดเดิม อีกถึง 2 ครั้ง เพราะสาเหตุอันเนื่องมาจากสภาวะน้ำท่วมและโรงเรียนส่วนมากยังไม่สามารถเปิดเทอมได้ในขณะนั้น หลังจากที่สภาวะดังกล่าวได้ผ่านพ้นไปแล้ว และได้มีการกำหนดวันจัดงานที่แน่นอนแล้ว ทางคณะกรรมการจัดงานจึงได้มีการประชาสัมพันธ์การจัดงานนิทรรศการขึ้น
สำหรับการจัดนิทรรศการ ทางก้าวหน้า ครั้งที่ 2 นี้ จัดขึ้น ตั้งแต่วันพุธ ที่ 18 ถึง วันจันทร์ ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2527 โดยมี พลเอกอาทิตย์ กำลังเอก ผู้บัญชาการทหารบกและผู้บัญชาการทหารสูงสุด ให้เกียรติมาเป็นประธานในวันพิธีเปิดงาน และคุณชวน หลีกภัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้เป็นเกียรติมาเป็นประธานวันปิดงานและประธานในพิธีมอบโล่พระราชทานอีกด้วย
นิทรรศการ ”ทางก้าวหน้า” ครั้งที่ 3 ถึง ครั้งที่ 8
ครั้งที่ 3 วันอังคาร ที่ 13 ถึง วันอาทิตย์ ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2527
ณ ศาลาพระเกี้ยว จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประธานวันเปิดงานคือ คุณปรีดา พัฒนถาบุตร รัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย ประธานวันปิดงานและประธานพิธีมอบโล่พระราชทานคือ ศ.ดร.เกษม สุวรรณกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ครั้งที่ 4 วันพุธ ที่ 13 ถึง วันอังคาร ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2528
ณ ศาลาพระเกี้ยว จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประธานวันเปิดงานคือ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี ประธานวันปิดงานและประธานพิธีมอบโล่พระราชทาน คือ คุณอาทร ชนเห็นชอบ ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย
ครั้งที่ 5 วันจันทร์ ที่ 17 ถึง วันจันทร์ ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2529
ณ ศาลาพระเกี้ยว จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประธานวันเปิดงานคือ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ผู้บัญชาการทหารบกและผู้บัญชาการทหารสูงสุด ประธานวันปิดงานและประธานพิธีมอบโล่พระราชทาน คือ คุณอาทร ชนเห็นชอบ ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย
ครั้งที่ 6 วันอังคาร ที่ 10 ถึง วันอาทิตย์ ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2530
จัดที่ศูนย์การค้ามาบุญครอง ประธานวันเปิดงานและประธานในพิธีมอบโล่พระราชทานคือ รศ.มานพ พงศทัต รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไม่มีพิธีปิดงาน
ครั้งที่ 7 วันจันทร์ ที่ 14 ถึง วันเสาร์ ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2531
ณ ศาลาพระเกี้ยว จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประธานวันเปิดงานและประธานพิธีมอบโล่พระราชทานคือ ดร.กำธร สถิรกุล รองปลัดทบวงมหาวิทยาลัย ประธานวันปิดงานและประธานพิธีมอบโล่พระราชทานการแข่งขันเล่านิทานชาดกคือ รศ. มานพ พงศทัต รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ครั้งที่ 8 วันจันทร์ ที่ 20 ถึง วันเสาร์ ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2532
ณ ศาลาพระเกี้ยว จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประธานวันเปิดงานและประธานพิธีมอบโล่พระราชทานโรงเรียนในกรุงเทพฯ คือ คุณดุษฎี ศศิธร รองอธิบดีกรมการศาสนา ประธานวันปิดงานและประธานพิธีมอบโล่พระราชทาน โรงเรียนในส่วนภูมิภาค คือ รศ.มานพ พงศทัต รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย