ความเป็นอยู่ของสัตว์เดียรัจฉาน

วันที่ 04 กค. พ.ศ.2558

 

 

ความเป็นอยู่ของสัตว์เดียรัจฉาน

            หากจะกล่าวถึงความเป็นอยู่ของสัตว์เดียรัจฉานแล้ว สัตว์เดียรัจฉานมีความเป็นอยู่ที่ลำบากยากเข็ญกว่ามนุษย์มากนัก เพราะมีภัยแห่งชีวิตรอบด้าน การที่สัตว์จะมีชีวิตอยู่รอดไปแต่ละวันนั้น แสนจะลำบากยากเย็น เป็นชีวิตที่ตกต่ำแสนจะอาภัพ ได้รับแต่ความไม่สบายรอบด้าน ต้องแสวงหาอาหารกินตลอดเวลา กว่าจะได้อาหารมาก็ต้องแก่งแย่งกันอย่างดุเดือด มีความหวาดระแวงภัยอยู่เป็นนิตย์ ไม่ว่าจะเป็นภัยจากมนุษย์คอยตี คอยฆ่า ภัยจากสัตว์ใหญ่กว่าคอยขบกัด สารพัดจะต้องทนทุกข์ทรมาน และต้องเป็นสัตว์เดียรัจฉานอยู่อย่างนี้ไปจนกว่าจะสิ้นกรรมที่ทำไว้ ไม่ใช่ว่าจะตายเกิดในชาติเดียวเท่านั้น แต่ต้องตายเกิดนับภพนับชาติไม่ถ้วน เป็นสัตว์ชนิดนั้นซ้ำแล้วซ้ำอีก แล้วแต่กรรมที่ตนกระทำไว้

 

            ถึงแม้โลกของสัตว์เดียรัจฉานนี้ จะมีทุกข์ทรมานเรื่องการหาอาหาร เรื่องความหวาดระแวงในการดำรงชีวิต แต่ก็ยังมีความโชคดีกว่าสัตว์นรก เปรต อสุรกาย ที่ต้องเสวยผลแห่งกรรมอย่างเผ็ดร้อน ถูกทัณฑ์ทรมานอยู่ตลอดเวลา ยังพอจะมีความน่าชื่นชมยินดีอยู่บ้าง เพราะมีอกุศลเบาบางกว่าบ้าง เป็นเศษกรรมแล้ว แม้จะต้องประสบความลำบากอย่างไร ก็ยังมีความน่ายินดีอยู่ 3 ประการ

1. กามสัญญา รู้จักเสวยกามคุณ

2. โคจรสัญญา รู้จักกิน (รวมถึงรู้จักนอนด้วย)

3. มรณสัญญา รู้จักกลัวตาย

 

            ติรัจฉานภูมิจึงมีความหมายได้อีกอย่างหนึ่งว่า เป็นโลกของสัตว์ที่มีความยินดีในเหตุ 3 ประการ

ส่วนธรรมสัญญา ความรู้จักผิด ชอบ ชั่ว ดี หรือรู้จักกุศล อกุศลนั้น สัตว์เดียรัจฉานทั้งหลายไม่มีเลย เว้นแต่สัตว์เดียรัจฉานบางจำพวก เช่น โพธิสัตว์ จึงจะมีธรรมสัญญาปรากฏได้ แต่ไม่ใช่จะหาง่ายในโลกนี้

 

ประเภทของสัตว์เดียรัจฉาน

            สัตว์เดียรัจฉานมีจำนวนมากมายเหลือประมาณมากกว่ามนุษย์มากนัก อยู่บนบกเหมือนมนุษย์ก็มี อยู่ในน้ำก็มีและมีมากกว่าอยู่บนบกเสียอีก รูปร่างก็แตกต่างกันสุดจะพรรณนา ขนาดของสัตว์เดียรัจฉาน มีตั้งแต่ใหญ่โตมาก เช่น ช้าง และขนาดเล็กจนแทบจะมองไม่เห็นก็มี จากตำราทางพระพุทธศาสนา มีการจำแนกประเภทของสัตว์เดียรัจฉานออกเป็น 4 ชนิด คือ

1. อปทติรัจฉาน คือ จำพวกเดียรัจฉานที่ไม่มีขาเลย ได้แก่ ปลา งู ไส้เดือน เป็นต้น

2. ทวิปทติรัจฉาน คือ จำพวกเดียรัจฉานที่มี 2 ขา ได้แก่ นก เป็ด ไก่ เป็นต้น

3. จตุปปทติรัจฉาน คือ จำพวกเดียรัจฉานที่มี 4 ขา ได้แก่ ช้าง ม้า โค กระบือ เป็นต้น

4. พหุปปทติรัจฉาน คือ จำพวกเดียรัจฉานที่มีขามาก ได้แก่ กุ้ง แมงมุม ตะขาบ กิ้งกือ เป็นต้น

 

            ในเรื่องการแยกประเภทของสัตว์นั้น นักวิทยาศาสตร์ยังสามารถแยกได้อีกหลายแบบ แล้วแต่หลักการและการนำไปใช้งาน เช่น แยกเป็น 2 ชนิด เป็นสัตว์บก สัตว์น้ำ หรือ 3 ชนิด เช่น สัตว์บก สัตว์น้ำ สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ แต่จากข้อความที่กล่าวมาข้างต้น ใช้หลักการแยกชนิดจากจำนวนขาของสัตว์ ซึ่งก็เป็นวิธีการแยกประเภทที่ง่ายมาก ถ้านักศึกษาปรารถนาที่จะจำแนกประเภทของสัตว์ที่เห็นอยู่ทั่วไป นักศึกษาก็สามารถทำได้ไม่ยาก โดยอาศัยหลักการนี้จัดกลุ่มของสัตว์ได้

 

 

------------------------------------------------------------------

 

จากหนังสือ DOU GL 102 ปรโลกวิทยา

อบายภูมิ

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.008536950747172 Mins