เราได้ศึกษาในบทที่ 1 แล้วว่า ที่อยู่ของมนุษย์ หรือมนุสสภูมินั้น อยู่บนพื้นดินลอยอยู่กลางอากาศ ในระดับเดียวกับไหล่เขาพระสุเมรุ ตั้งอยู่ในทิศทั้ง 4 ของเขาพระสุเมรุ ซึ่งเป็นแกนกลางของจักรวาล ผืนแผ่นดินใหญ่ทั้ง 4 ที่ลอยอยู่ในทิศทั้ง 4 เรียกว่า ทวีป มีชื่อและที่ตั้ง ดังนี้
1. ปุพพวิเทหทวีป ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเขาสิเนรุ
2. อปรโคยานทวีป ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของเขาสิเนรุ
3. ชมพูทวีป ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของเขาสิเนรุ
4. อุตตรกุรุทวีป ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของเขาสิเนรุ
ชาวโลกส่วนใหญ่ที่ยังไม่เริ่มศึกษาพระพุทธศาสนา มักมีความเข้าใจว่า มนุษย์มีอยู่เฉพาะในโลกที่เราอาศัยอยู่ในปัจจุบันเท่านั้น แต่หากได้ศึกษาคำสอนในพระพุทธศาสนาแล้วจะพบว่า โลกมนุษย์นั้นมีอยู่ถึง 4 ทวีปด้วยกัน แต่เราไม่สามารถไปถึงได้ เพราะอยู่ไกลกันมาก อีกทั้งยังมีความละเอียดประณีตมากกว่าโลกที่เราอยู่นี้ จึงทำให้มองไม่เห็นด้วยตาเนื้อ ต้องอาศัยทิพยจักษุ ดังที่เคยกล่าวมาแล้ว โลกที่เราอาศัยอยู่นี้ เรียกว่า ชมพูทวีป
ลักษณะของมนุษย์ ในทวีปทั้ง 4 เมื่อกล่าวโดยรวมแล้ว มีรูปร่าง สัณฐาน หน้าตา อยู่ในลักษณะเดียวกัน ต่างกันที่ขนาด ความได้สัดส่วน และความประณีตสวยงาม เช่น มนุษย์ในชมพูทวีป มีใบหน้ารูปไข่ อปรโคยานทวีป มีใบหน้ากลมเหมือนดวงจันทร์วันเพ็ญ ปุพพวิเทหทวีป มีรูปหน้าเหมือนมะนาวตัด หรือพระจันทร์ครึ่งซีกครึ่งวงกลม ส่วนอุตตรกุรุทวีป มีใบหน้าเป็นรูปสี่เหลี่ยม ความสวยงามของผู้คนใน 3 ทวีป ยกเว้นชมพูทวีป มีความสวยงามไม่แตกต่างกัน เนื่องจากมนุษย์โดยทั่วไป มีคุณธรรมในจิตใจเสมอเหมือนกัน เฉพาะในชมพูทวีปเท่านั้นที่ผู้คนมีความสวยงามมากน้อยต่างกัน ตามแต่กุศลกรรมที่ตัวเองได้ทำไว้ในอดีต
อายุมนุษย์ ทวีปทั้ง 4 ในช่วงแรกที่โลกมนุษย์เจริญ หรือในช่วงที่มีมนุษย์ต้นกัป ไม่ว่ามนุษย์ในทวีปใด ก็มีอายุถึงอสงไขยปีทั้งสิ้น เพราะจิตใจของคนในสมัยนั้นมีกิเลส คือ โลภะ โทสะ โมหะ เบาบาง ทำให้สิ่งแวดล้อม ดิน ฟ้า อากาศ และอาหารของมนุษย์สมบูรณ์ จึงเป็นเหตุให้อายุมนุษย์ยืนยาว
ครั้นต่อมามนุษย์ในทวีปทั้ง 4 มีอกุศลจิตเกิดขึ้น ทำให้สิ่งแวดล้อมต่างๆ เริ่มเปลี่ยนแปลงผิดปกติไปจากเดิม กล่าวคือ เมื่อหนาวก็หนาวเกิน เมื่อร้อนก็ร้อนเกิน ฝนก็ไม่ตกตามฤดูกาล คุณค่าทางอาหารก็ลดน้อยลง สิ่งเหล่านี้ทำให้อายุของมนุษย์ลดลงตามลำดับ เมื่ออายุขัยลดลงถึง 1,000 ปี มนุษย์ที่อยู่ในอุตตรกุรุทวีปก็คงที่เพียงนั้น ไม่ลดลงอีก เพราะไม่มีกิเลสเพิ่มขึ้นอีก ในทำนองเดียวกัน อายุขัยของมนุษย์ที่อยู่ในปุพพวิเทหทวีปคงที่อยู่ที่ 700 ปี ที่อปรโคยานทวีป อายุขัยของมนุษย์คงที่อยู่ที่ 500 ปี
คงไว้แต่ชมพูทวีปเท่านั้น ที่อายุขัยของมนุษย์ยังคงลดลงเรื่อยๆ เพราะมีกิเลสกล้าไม่สิ้นสุด และจะลดลงจนกระทั่งเหลือ 10 ปี อาหารทั้งปวงที่รสดีจะหมดไป สิ่งแวดล้อมจะเสื่อมโทรม ผู้คนมีโทสะกล้าแข็ง ในที่สุดก็เกิดการรบราฆ่าฟันกันเองจนเกิดการนองเลือดตลอด 7 วัน ในกาลนั้นจะมีมนุษย์บางกลุ่ม หลบหนีซ่อนตัวอยู่ในหุบเขาห่างไกล และเริ่มประกอบกุศลอีกครั้ง ซึ่งมีผลทำให้อายุขัยของมนุษย์เพิ่มขึ้น และจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งขึ้นไปถึงอายุ 80,000 ปี จนถึงอสงไขยปี อายุขัยของคนในชมพูทวีปจะขึ้นลงอยู่อย่างนี้ตามอำนาจกิเลสที่แรงกล้าหรือเบาบางของมนุษย์ในแต่ละยุค เรื่องนี้มีหลักฐานปรากฏอยู่ใน จักกวัตติสูตร2) นักศึกษาควรหาโอกาสศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม
ความเป็นอยู่ของมนุษย์ในทวีปทั้ง 3 ยกเว้นชมพูทวีป มีความเป็นอยู่ที่สุขสบาย มีสิ่งแวดล้อมที่สะอาดบริสุทธิ์ ไม่มีมลภาวะ ทำให้อาหารการกิน และน้ำท่าอุดมสมบูรณ์ โรคภัยไข้เจ็บไม่เบียดเบียนเหมือน อย่างในชมพูทวีป ที่เป็นเช่นนี้เพราะมนุษย์ใน 3 ทวีป มีศีลธรรมที่เป็นปกติ สม่ำเสมอ ส่วนมนุษย์ในชมพูทวีป มีความเป็นอยู่ที่แตกต่างกันมาก บางคนสุขสบาย บางคนลำบาก บางคนปานกลาง ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการกระทำของแต่ละคน แต่ละยุคในชมพูทวีป อาจกล่าวได้ว่า มนุษย์ในชมพูทวีป มีความแตกต่างกันมากที่สุดก็ว่าได้
ในหัวข้อต่อไปนี้ จะกล่าวถึงเรื่องของชมพูทวีปเป็นประเด็นสำคัญ เพราะเป็นโลกที่เราได้อยู่อาศัย และเป็นโลกแห่งความแตกต่างที่น่าศึกษาเรียนรู้เป็นอย่างยิ่ง เราศึกษาเรื่องโลกนี้ เพื่อเราจะได้ดำรงชีวิตอยู่ในโลกใบนี้ได้อย่างมีความสุข และปลอดภัยจากอบายภูมิ
------------------------------------------------------------------
2) จักกวัตติสูตร, ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค, มก. เล่ม 15 ข้อ 39-47 หน้า 108-118.
จากหนังสือ DOU GL 102 ปรโลกวิทยา
มนุสสภูมิ