คุณลักษณะที่น่าปรารถนาของนิพพาน
คุณลักษณะพระนิพพาน มีกล่าวไว้จำนวนมากในพระไตรปิฎก แต่ในที่นี้จะนำมากล่าวเฉพาะคุณลักษณะที่น่าปรารถนา อันมีอยู่ในพระนิพพาน ซึ่งพอจะเทียบเคียงกับความรู้สึกของคนโดยทั่วไปให้เข้าใจได้
1. นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง ไม่มีสุขอื่นที่ยิ่งกว่า (นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ, นิพฺพาน สุขา ปรํ นตฺถิ)
ความสุขเป็นสิ่งที่สรรพสัตว์ทุกหมู่เหล่าล้วนปรารถนากันทั้งสิ้น ที่ต้องดิ้นรน กระเสือกกระสน กระวนกระวายกันอยู่ทุกวันนี้ ก็เพื่อต้องการหาความสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสุขที่ไม่กลับกลายเป็นทุกข์อีก แต่ก็ยังแสวงหากันไม่พบ ส่วนมากความสุขที่พบและคิดว่าเป็นสุขสุดยอดแล้ว แต่ก็กลับมีทุกข์เป็นผลตามมาจนได้
เนื่องด้วยว่าความสุขอย่างอื่นเป็นสุขอันเกิดจากเจตสิก คือ สุขเวทนาเจตสิก ซึ่งเป็นสภาพที่ปรุงแต่งจิตให้มีความสุข เพราะเสวยอารมณ์ที่ชอบใจอันเป็นโลกิยธรรม คือ กามสุขฝ่ายอกุศล-กุศล หรือฌานสุข อันเกิดจากสมาธิขั้นสูง ความสุขเหล่านี้เกิดจากตัณหา 3 คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา อันเป็นตัวสมุทัย คือ ตัวเหตุแห่งทุกข์เจือปนอยู่ สิ่งใดเกิดแต่ตัณหามีตัณหาเจือปนอยู่ สิ่งนั้นย่อมนำผู้นั้นวนกลับสู่กองทุกข์อีก เพราะมีกำหนดเวลาของการเสวยสุข ฉะนั้นจึงยังเป็นสุขที่ไม่แท้จริง
ส่วนนิพพานสุข เป็นสุขที่ไม่มีเวทนา ไม่มีตัณหาเจือปนปรุงแต่ง(อสังขตธรรม) สิ่งใดที่ไม่มีการปรุงแต่ง ไม่แปรปรวนเป็นธรรมดา สิ่งนั้นย่อมเที่ยง ยั่งยืน เป็นอมตะ ดังนั้นสุขในนิพพานจึงเป็นสุขอย่างยิ่ง
การจะหาความสุขจากการสัมผัสพระนิพพานในปัจจุบันชาตินี้ แม้เป็นสิ่งที่ดูเหมือนว่าจะยาก แต่เราก็ไม่ควรจะละเลิกใฝ่หา เพราะตราบใดที่ยังเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนาก็ถือว่าเป็นผู้มีอุปกรณ์ คือ กายกับจิตที่พร้อมจะสัมผัสนิพพานสุขในปัจจุบันชาติได้ ถ้าปฏิบัติได้ถูกวิธี แม้บุญบารมียังมิเต็มเปี่ยมที่จะบรรลุนิพพานสุขแท้จริงในชาตินี้ได้ แต่ขณะปฏิบัติจะได้รับความสุขที่พอให้เทียบเคียงกันได้กับความสุขในพระนิพพานเป็นลำดับไป นั่นคือ การทำใจให้หยุดนิ่ง จนบรรลุสมาธิระดับฌานต่างๆ ตั้งแต่ปฐมฌาน จนถึงสัญญาเวทยิตนิโรธ (ปฐมฌานจนถึงเนวสัญญานาสัญญายตนฌานเป็นนิพพานโดยอ้อมหรือโดยเทียบเคียง แต่สัญญาเวทยิตนิโรธ จัดเป็นนิพพานโดยตรง เพราะเป็นความสุขแท้จริงเช่นเดียวกับในอายตนนิพพาน ที่สัมผัสได้ในปัจจุบันชาติ (อํ.อฏฐก. 23/251-255)
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกความสุขในระดับฌานสุขว่า ทิฏฐธรรมนิพพาน นิพพานเข้าถึงได้ในอัตภาพปัจจุบันนี้บ้าง สันทิฏฐิกนิพพาน นิพพานที่ผู้บรรลุพึงเห็นเองบ้าง อมตธรรมบ้าง นิโรธบ้าง เป็นต้น ในภาคปฏิบัติ พระมงคลเทพมุนี (สด จันทสโร) ได้กล่าวไว้ว่า
ฌานนั้นแจ่มใสอยู่เสมอ ไม่ให้เสื่อม ไม่ให้สร่าง ไม่ให้หายไป อยู่ฌานนั้นร่ำไปเรียกว่าได้รับความสุข ในปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน สุขเยี่ยมยอดประเสริฐเลิศกว่าในโลกนี้นัก
เมื่อเข้าถึงปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน แล้วก็ลืมยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ทีเดียว สิ่งอื่นไม่เหลือใน รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส เอาใจรูปพรหมไปนั่งอยู่บนปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌานลืมยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ที่มาเคาะใจทั้งหลับทั้งตื่น สูงขึ้นไป สุขสูงขึ้นไปกว่านี้ เข้าถึงอรูปฌาน อากาสานัญจายตนฌาน วิญญานัญจายตนฌาน อากิญจัญญายตนฌาน เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน เมื่อไปถึงอรูปฌานเช่นนั้นละก็ ความยินดีในรูปฌานนั้น ติดอยู่ในรูปฌานนั้นหายไป หลุดไม่ติดเลย ก็ไปติดอยู่ในอากาสานัญจายตนฌาน วิญญานัญจายตนฌาน อากิญจัญญาย ตนฌาน เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ได้รับความสุขอยู่ 840,000 มหากัลป์ เนวสัญญานาสัญญายตนฌานอยู่ขอบภพข้างบนนี่ สุขเลิศประเสริฐนัก ยอดสุขของในภพมีเท่านี้แหละ สูงกว่าไม่มี ยอดแล้วถึงเนวสัญญานาสัญญายตนะ ยอดสุขในภพแล้ว ไม่มีสุขยิ่งกว่านี้ขึ้นไป
ถ้าจะให้สุขยิ่งกว่านี้ขึ้นไป ต้องไปสู่ มรรค ผล นิพพาน พวกมีธรรมกายไปสู่นิพพานได้ ก็ได้ไปสอบสวนสุขในนิพพานได้ เข้าไปในนิพพานได้ เป็นนิ่งอยู่ในนิพพานเสียนี่ รับสุขในนิพพาน ทีเดียว เมื่อได้รับสุขชนิดนี้ในนิพพานแล้ว คนที่พูดมากๆ เงียบหมด ไม่พูดแล้ว ใจคอครึ้ม สบาย เอิบอิ่ม ตื้นเต็ม ปลาบปลื้มว่าสุขชนิดนี้เราไม่เคยพบ ไม่เคยเห็น”13)
บทสรุปของลักษณะแรกนี้บ่งบอกถึงผลของการปฏิบัติที่ถูกวิธีตามลำดับก่อนจะถึงนิพพานสุขแท้จริงว่า ต้องได้รับผลคือความสุข(เว้นกามสุข) ทุกขั้นตอนของการปฏิบัติและการเข้าถึง ยิ่งมีความสุขเพิ่มขึ้นเรื่อยไปนั่นแสดงว่าถูกหนทางนิพพานแล้ว เพราะปฏิปทาข้อปฏิบัติให้ถึงนิพพานกับนิพพานต้องมีรสเป็นอันเดียวกันคือความสุขจากการหลุดพ้น
2. นิพพานเที่ยง ยั่งยืน มั่นคง ไม่แปรปรวน ไม่สูญหาย เป็นธรรมชาติที่มีอยู่จริงโดยปรมัตถ์
ทุกข์อย่างหนึ่งของสรรพสัตว์โดยเฉพาะมนุษย์เรา คือ ความพลัดพราก ความแปรปรวนไปไม่ยั่งยืนจากสิ่งอันเป็นที่รัก และได้ประสบสิ่งอันไม่เป็นที่รัก ไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ สิ่งของ สภาพร่างกายของตนเอง ล้วนทำให้เกิดทุกข์และเป็นสิ่งที่ไม่น่าปรารถนาทั้งสิ้น แต่สิ่งอะไรก็ตามที่เที่ยงแท้ถาวรไม่เป็นอื่นอีก ก็น่าไปอยู่ น่าสัมผัส น่าปรารถนา และน่าจะไปเป็นสิ่งนั้น ดังนั้นก็หาไม่ได้ในภพ 3 นอกจากพระนิพพาน ดังที่พระผู้มีพระ-ภาคเจ้าตรัสไว้ใน โมฆราชมาณวกปัณหานิทเทส14) ว่า
“ บุคคลไม่พึงปรารถนาภพหรืออัตภาพอะไรๆ อื่น เว้นไว้แต่พระนิพพาน (อายตนนิพพานและพระ-ธรรมกายที่เข้านิพพาน) อันไม่มีปฏิสนธิ”
อาจมีผู้สงสัยว่า แม้เราบรรลุนิพพานแท้จริงด้วยอัตภาพใดก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ ทิพย์ รูปพรหม อรูปพรหม แต่ถ้ายังเป็นกายในภพสามอันมีลักษณะไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และอนัตตามิใช่ตัวตนที่แท้จริง กายเหล่านั้นก็จำต้องแตกสลายไปในที่สุด ไม่สามารถที่จะเสวยผลแห่งนิพพานสุขตลอดนิรันดร์กาลได้ เพราะพระอรหันต์บางท่านก็นิพพานเร็วนัก เช่น พระพาหิยะพอบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ขณะที่แสวงหาบาตรจีวรเพื่ออุปสมบท ยังมิทันได้บริขารก็ถูกโคขวิดนิพพานก่อน หรือพระโคธิกเถระเชือดคอตนเองพร้อมกับการบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ก็นิพพานทันที เมื่อเป็นเช่นนี้ การที่อุตสาหะเพียรพยายามสั่งสมบุญบารมีมาตลอด แสนมหากัปบ้าง เป็นอสงไขยอันนับมิได้บ้าง เพื่อจะเข้าถึงนิพพานสุขซึ่งมีสภาพเที่ยง จะมีประโยชน์อย่างไร
ปัญหานี้คงเป็นที่คลางแคลงใจของบางท่านที่เป็นนักคิดใฝ่หาความรู้ หากไปถามนักปริยัติหรือนักวิชาการ คงได้คำตอบว่า ก็ความดับสูญไปไม่ต้องรับทุกข์อีกนั่นคือเป็นการเสวยผลนิพพานสุข ซึ่งเราคงคิดต่อไปอีกว่า ดับสูญไปแล้วจะเป็นสุขอย่างไร การถามตอบก็คงจะไม่จบ เพราะผู้ตอบตอบได้เพียงหลักการ อนึ่งพระนิพพานก็มิได้อยู่ในวิสัยของการตรึกนึกคิด ฉะนั้นทางที่ถูกต้องคงต้องหาคำตอบจากท่านผู้รู้ที่ปฏิบัติเข้าถึง เห็นได้เฉพาะตนแล้ว และตัวเราเองก็ต้องลงมือปฏิบัติธรรม คือ ให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา กันอย่างจริงจัง จึงจะหาคำตอบที่มาพร้อมกับความสุขได้ ในที่นี้จึงต้องขอยกตัวอย่างคำอธิบาย การเจริญภาวนาวิชชาธรรมกายของ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) กล่าวไว้โดยสรุปความว่า
ในตัวบุคคลจะมีกายภายในซ้อนกันอยู่เป็นชั้นๆ ทั้งหยาบละเอียดรวม 18 กายคือ ตั้งแต่กายมนุษย์ละเอียด กายทิพย์หยาบ กายทิพย์ละเอียด กายรูปพรหมหยาบ กายรูปพรหมละเอียด กายอรูปพรหมหยาบ กายอรูปพรหมละเอียด และกายธรรมโคตรภูหยาบ กายโคตรภูละเอียด กายธรรมพระโสดาบันหยาบ กายโสดาบันละเอียด กายสกทาคามีหยาบ กายสกิทาคามีละเอียด กายอนาคามีหยาบ กายอนาคามีละเอียด กายธรรมพระอรหัตหยาบ กายธรรมพระอรหัตละเอียด กายเหล่านี้จะปรากฏให้เห็นในปัจจุบันชาตินี้ได้หากบุคคลนั้นปฏิบัติธรรมได้ถูกวิธี ก็จะเห็นเป็นแบบเดียวกันหมดเพราะมีอยู่แล้วในตัวทุกคน ซึ่งขึ้นอยู่กับการสั่งสมบุญบารมีมามากน้อยเพียงไร กายสุดท้าย คือ กายธรรมพระอรหัตของผู้ที่สั่งสมบุญบารมีเต็มเปี่ยมแล้วนี่แหละ จะเป็นผู้เสวยผลนิพพานสุขอย่างแท้จริง ทั้งในปัจจุบันชาตินี้ และเมื่อกายที่หุ้มอยู่ภายนอกเป็นชั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นกายมนุษย์ ทิพย์ รูปพรหม อรูปพรหม ซึ่งเป็นกายที่เกิดจากตัณหา เมื่อถึงเวลาต้องดับสลายไป กายธรรมอรหัตก็จะถูกอายตนนิพพานดึงดูดเข้าสู่อายตนนิพพาน เสวยนิพพานสุขอย่างเที่ยงแท้นิรันดร์กาล
ดังที่พระพุทธองค์ตรัสว่า “ นิพพานํ ปรมํ สุขํ พระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง” ซึ่งหมายถึง “ พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระอรหันตเจ้า ที่เข้านิพพานนั่นเองเป็นสุขอย่างยิ่ง”
แต่ทั้งนี้อย่าพึงเข้าใจว่า คงเป็นเช่นเดียวกันกับอัตตาของพวกเดียรถีย์ หรืออัตตาของพวกพราหมณ์ ซึ่งตั้งลัทธิตามที่คิดอนุมานเอา สมัยต้นกัปถือว่าเป็นชนชั้นล่าง เป็นนักคิด ไม่ใช่นักเพ่งฌาน (อชฺฌายิกา) ชอบถือแต่คัมภีร์เที่ยวบอกทางไปพรหมโลก แม้แต่พรหมก็ยังไม่เคยเห็นพรหมที่ตนถือว่าเป็นปรมัตตา (อัตตาที่ใหญ่ยิ่ง)ของพวกตน เมื่อถูกสืบสวนเอาจึงไม่อาจยืนยันรับรองได้ว่าเคยเห็นเคยเข้าถึงหรือมีผู้เข้าถึง ดังที่ตรัสว่า
“ วาเสฏฐะ ปาจารย์ แม้คนหนึ่งของพราหมณ์ผู้จบไตรเพท ที่เห็นพรหมมีเป็นพยานอยู่หรือ ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ไม่มีเลย พระเจ้าข้า”15)
หลักการปฏิบัติธรรมเจริญภาวนาวิชชาธรรมกายดังกล่าว จึงเป็นแนวทางในการหาคำตอบได้วิธีหนึ่งของผู้ใคร่ปฏิบัติเพื่อจะไปรู้ไปเห็นเองเท่านั้น เพราะเป็นสันทิฏฐิกธรรมไม่อาจนำมาชี้ให้ดูได้ สำหรับผู้ที่ชอบวิชาการ ก็อย่ารีบด่วนคัดค้านเสียทันที เพราะสิ่งที่มีอยู่ในตำราก็เป็นเพียงแนวทางหนึ่งเท่านั้น หาได้บอกรายละเอียดทั้งหมดไม่ หากใคร่ทราบรายละเอียดที่แท้จริง ต้องวางตำราแล้วหันมาปฏิบัติอย่างถูกวิธี ก็จะรู้เห็นเองเพราะสิ่งนี้มีอยู่แล้วในตัวเราทุกคน
3.นิพพานไม่ถูกปรุงแต่ง เพราะเว้นจากลักษณะอันปัจจัยปรุงแต่ง คือ เว้นจากความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
บุคคลที่ไม่มีความเป็นตัวของตัวเอง คือไม่มีอำนาจ หรือตกอยู่ในอำนาจของคนอื่น ไม่ได้ที่จะทำอะไรตามความปรารถนาของตนเอง ย่อมไม่มีความสุขฉันใด สภาพธรรมอะไรก็ตามที่เป็นไปในอำนาจของกระบวนธรรมหรืออาศัยธรรมอื่นจึงเกิดขึ้นได้ สภาพธรรมนั้นย่อมเข้าในลักษณะของอนัตตา คือ ไม่เป็นไปในอำนาจของตัวเอง แต่เป็นไปในอำนาจของกระบวนธรรมปรุงแต่งขึ้น(ปฏิจจสมุปบาท) แต่สภาพธรรมใดไม่ตกอยู่ในอำนาจของกระบวนธรรม ไม่ต้องอาศัยปัจจัยอย่างอื่น แต่มีปรากฏอยู่แล้ว แก่บุคคลผู้มีปัญญาพึงเห็นได้เอง ดังที่ท่านกล่าวไว้ใน ปฏิสัมภิทามรรค ว่า
“ ชื่อว่าชวนปัญญา เพราะหมายถึง ปัญญาเทียบเคียง พินิจ พิจารณาทำให้เห็นแจ่มแจ้งว่า เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จักษุ อวิชชา ฯลฯ ชราและมรณะ ทั้งที่เป็นอดีต อนาคตและปัจจุบัน ไม่เที่ยงเพราะสิ้นไป เป็นทุกข์เพราะว่าเป็นสิ่งที่น่ากลัว เป็นอนัตตา เพราะว่าไม่มีแก่นสาร แล้วแล่นไปในนิพพาน เป็นที่ดับรูป…อวิชชา…ชราและมรณะ (อันเป็นอนัตตา) ”
สภาพธรรมนั้นก็ชื่อว่า เป็นสิ่งที่มีอำนาจเป็นของตนเอง พึ่งตนเองได้ (อตฺตทีปา อตฺตสรณา) ไม่เป็นไปเพื่ออาพาธ(ถูกบีบคั้น) จะเรียกว่า เป็นอัตตาตัวตนของตนเองที่แท้จริงก็ย่อมได้ ดังเช่นที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสใน อนัตตลักขณะสูตร ว่า
“ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้ารูป…วิญญาณนี้จักได้เป็นอัตตาแล้วไซร้ รูป…วิญญาณนี้ก็ไม่พึงเป็นไปเพื่ออาพาธ ซึ่งก็เป็นไปไม่ได้ที่รูป…วิญญาณจะไม่เป็นไปเพื่ออาพาธ เพราะเป็นสิ่งที่มิใช่ตัวตนแท้จริง(อนัตตา) แต่มีอยู่สิ่งเดียวเท่านั้นที่ไม่เป็นไปเพื่ออาพาธ สิ่งนั้น คือ พระนิพพาน อันเป็นสภาพที่น่าปรารถนา น่าอยู่ น่าไปสัมผัส ”
จากคุณลักษณะที่น่าปรารถนาของนิพพานที่กล่าวมา 3 ประการนั้น เป็นการกล่าวเฉพาะคุณลักษณะเด่น เพื่อให้เห็นความน่าปรารถนาของนิพพาน ที่ควรแก่การปฏิบัติไปให้ถึงนิพพานในอนาคตให้ได้ ซึ่งความจริงแล้วยังมีคุณลักษณะที่น่าปรารถนาของนิพพานอีกมาก เช่น ไม่มีการทะเลาะวิวาท ไม่มีการเบียดเบียน เป็นที่สงบเย็น เป็นต้น ซึ่งหากนักศึกษาต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถค้นหาจากตำราวิชาการด้านพระพุทธศาสนาได้ทั่วไป
------------------------------------------------------------------------
13) มรดกธรรมของหลวงพ่อวัดปากน้ำ(พระมงคลเทพมุนี), (กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิซซึ่ง), 2539, หน้า 592-600.
14) โฆษราชมาณวกปัญหานิทเทส, ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส, มก. เล่ม 67 ข้อ 505 หน้า 388-397.
15) เตวิชชสูตร, ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค, มก. เล่ม 12 ข้อ 369 หน้า 261.
จากหนังสือ DOU GL 102 ปรโลกวิทยา
นิพพาน