ประเภทของนิพพาน

วันที่ 11 กค. พ.ศ.2558

 

ประเภทของนิพพาน

            นักศึกษาควรทำความเข้าใจก่อนว่า ตามภาวะแท้จริงแล้ว นิพพานมีอย่างเดียวเท่านั้น แต่ที่แยกประเภทออกไป ก็เพื่อแสดงอาการของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับนิพพานบ้าง พูดถึงนิพพานโดยปริยาย คือ ความหมายบางแง่บางด้านบ้าง โดยพยัญชนะ หรือตามตัวอักษรบ้าง ได้แบ่งประเภทนิพพานที่รู้จักกันทั่วไป คือแบ่งเป็นนิพพานธาตุ 2 ประเภท ตามคัมภีร์อิติวุตตกะ ได้แก่

1. สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ เรียกว่า นิพพานเป็น คือ นิพพานธาตุมีอุปาทิเหลือ หรือนิพพานยังมีเชื้อเหลือ

2. อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ เรียกว่า นิพพานตาย คือ นิพพานธาตุไม่มีอุปาทิเหลือ หรือนิพพานไม่มีเชื้อเหลือ

 

            สิ่งที่เป็นเกณฑ์แบ่งประเภทในที่นี้คือ “    อุปาทิ” ซึ่งอรรถาธิบายว่า ได้แก่ สภาวะที่ถูกกรรมกิเลสถือครอง หรือสภาพที่ถูกอุปาทานยึดไว้มั่น หมายถึงเบญจขันธ์ (ขันธ์ 5) เมื่อถือความตามคำอธิบายนี้ จึงได้ความหมายว่า

1. สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ ได้แก่ นิพพานยังมีเบญจขันธ์เหลือ หรือนิพพานที่ยังเกี่ยวข้องกับเบญจขันธ์ หมายถึง ดับกิเลส แต่ยังมีเบญจขันธ์เหลือ ได้แก่ นิพพานของพระอรหันต์ผู้ยังมีชีวิตอยู่ ตรงกับคำที่คิดขึ้น ในรุ่นอรรถกถาว่า กิเลสปรินิพพาน (ดับกิเลสสิ้นเชิง)

เพื่อความเข้าใจที่ชัดเจนมากขึ้น ขอนำข้อมูลในภาคปฏิบัติที่มีกล่าวไว้ใน คู่มือสมภาร ของพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) มากล่าวไว้ ดังนี้

 

“    นิพพานที่เป็นสถานที่อยู่ของกายธรรมนั้น อยู่ในศูนย์กลางของกายธรรมนั่นเอง ที่กล่าวนี้หมายความถึงเวลาที่กายมนุษย์ของพระพุทธเจ้าพระอรหันต์ยังมีชีวิตอยู่ ใช้กายธรรมเดินสมาบัติ 7 เที่ยว ตามแบบวิธีเดินสมาบัติที่เคยกล่าวไว้แล้วนั้น กายธรรมก็จะตกสูญเข้าสู่นิพพานในศูนย์กลางกายธรรมนั้น นิพพานนี้ชื่อว่า นิพพานเป็น หรือ สอุปาทิเสสนิพพาน เพราะเป็นนิพพานที่อยู่ในศูนย์กลางกายธรรมที่ซ้อนอยู่ในกลางกายอรูปพรหม กายรูปพรหม กายทิพย์ และกายมนุษย์เป็นลำดับเช่นนี้ ยังอยู่ในกลางของกายที่ยังหมกมุ่นครองกิเลสอยู่ตามสภาพของกายนั้นๆ ความบริสุทธิ์ของนิพพานที่อยู่ในท่ามกลางกิเลสเหล่านี้เอง ที่เรียกว่า สอุปาทิเสสนิพพาน”

 

2. อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ได้แก่ นิพพานไม่มีเบญจขันธ์เหลือ หรือนิพพานที่ไม่เกี่ยวข้องกับเบญจขันธ์ หมายถึง ดับกิเลสไม่มีเบญจขันธ์เหลือ ได้แก่ นิพพานของพระอรหันต์เมื่อสิ้นชีวิต ตรงกับคำที่คิดขึ้นใช้ในรุ่นอรรถกถาว่า ขันธปรินิพพาน (ดับขันธ์ 5 สิ้นเชิง)

ในภาคปฏิบัติ พระมงคลเทพมุนี (สด จันทสโร) ได้กล่าวไว้ในคู่มือสมภารว่า (โดยย่อ) ดังนี้

 

“    นิพพานเป็นอายตนะอันหนึ่ง ซึ่งแตกต่างออกไปจากโลกายตนะและอายตนะทั้ง 6 ทั้ง 12 นั้น เป็นอายตนะที่สูงกว่าวิเศษกว่า และประณีตกว่าอายตนะอื่น แต่ก็ทำหน้าที่ในลักษณะคล้ายคลึงกัน คือ โลกายตนะทำหน้าที่ดึงดูดสัตว์โลกที่ยังมีความผูกพันอยูกับโลกไว้ ไม่ให้พ้นไปจากโลกได้ ส่วนอายตนะ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ทำหน้าที่ดึงดูด รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ ตามหน้าที่ของตนๆ และในทำนองเดียวกัน อายตนะนิพพานก็มีหน้าที่ดึงดูดพระพุทธเจ้าพระอรหันต์เข้าไปสู่อายตนนิพพาน”

 

            ข้อสรุปในส่วนของภาคปฏิบัติมีดังนี้ อนุปาทิเสสนิพพาน คือ สถานอันเป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้า เรียกว่า อายตนนิพพาน ส่วนสอุปทิเสสนิพพาน คือ พระพุทธเจ้าที่ประทับอยู่ในอายตนนิพพานนั้น เรียกว่า พระนิพพาน (คือพระธรรมกายที่ประทับอยู่ ณ อายตนะนั้น)

           เพื่อความแจ่มชัดยิ่งขึ้นไป และเพื่อให้นักศึกษาได้พิจารณาด้วยตนเอง จะนำข้อความตามบาลีเกี่ยวกับประเภทของนิพพานใน ธาตุสูตร12) มากล่าวไว้ดังนี้

 

“    จริงอยู่ พระสูตรนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้ว พระสูตรนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นพระอรหันต์ตรัสแล้ว เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นิพพานธาตุ 2 ประการนี้ 2 ประการเป็นไฉน คือ สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ 1 อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ 1”

 

“    ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็สอุปาทิเสสนิพพานธาตุเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นพระอรหันตขีณาสพอยู่จบพรหมจรรย์ ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระลงได้แล้ว มีประโยชน์ของตนอันบรรลุแล้ว มีสังโยชน์ในภพสิ้นรอบแล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ ภิกษุนั้นย่อมเสวยอารมณ์ทั้งที่พึงใจและไม่พึงใจ ยังเสวยสุขและทุกข์อยู่ เพราะความที่อินทรีย์ 5 เหล่าใดเป็นธรรมชาติไม่บุบสลาย อินทรีย์ 5 เหล่านั้นของเธอยังตั้งอยู่นั่นเทียว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความสิ้นไปแห่งราคะ ความสิ้นไปแห่งโทสะ ความสิ้นไปแห่งโมหะ ของภิกษุนั้น นี้เราเรียกว่า สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ”

 

“    ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็อนุปาทิเสสนิพพานธาตุเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นพระอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์ ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระลงได้แล้ว มีประโยชน์ของตนอันบรรลุแล้ว มีสังโยชน์ในภพสิ้นรอบแล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ เวทนาทั้งปวงในอัตภาพนี้แหละของภิกษุนั้น เป็นธรรมชาติอันกิเลสทั้งหลายมีตัณหาเป็นต้นให้เพลิดเพลินมิได้แล้ว จักเย็น ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เราเรียกว่า อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ”

 

            เมื่อพิจารณาตามพระสูตรนี้ที่แสดงนิพพานธาตุ 2 อย่างนั้น จะเห็นได้ว่าเป็นการกล่าวถึงนิพพานโดยบรรยายอาการ หรือลักษณะแห่งการเกี่ยวข้องกับนิพพาน คือกล่าวถึงนิพพานเท่าที่เกี่ยวข้องกับบุคคลผู้บรรลุ หรืออาจกล่าวได้ว่า ใช้บุคคลผู้บรรลุนิพพาน เป็นอุปกรณ์สำหรับทำความเข้าใจเกี่ยวกับนิพพาน มิใช่เป็นการบรรยายภาวะของนิพพานล้วนๆ โดยตรง ทั้งนี้เพราะภาวะของนิพพานเองแท้ๆ เป็นทิฏฐิกะ คือผู้บรรลุจะเห็นได้เอง และเป็น ปัจจัตตัง เวทิตัพพัง วิญญูหิ อันวิญญูชนรู้ได้จำเพาะที่ตัวเอง ดังได้กล่าวแล้วข้างต้น โดยนัยนี้การอธิบายโดยแบ่งนิพพานเป็น 2 อย่าง

 

            สรุปความว่า นิพพานมีอย่างเดียว แต่มองเป็น 2 ด้าน ด้านที่หนึ่งคือ นิพพานในแง่ของความสิ้นกิเลส ซึ่งมีผลต่อการติดต่อเกี่ยวข้องกับโลกภายนอก หรือต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ด้านที่สอง คือ นิพพานในแง่ที่เป็นภาวะจำเพาะล้วนๆ แท้ๆ ซึ่งเป็นประสบการณ์เฉพาะของผู้บรรลุ ไม่อาจหยั่งถึงด้วยประสบการณ์ทางอินทรีย์ 5 เป็นเรื่องนอกเหนือจากประสบการณ์ที่เนื่องด้วยขันธ์ 5 ทั้งหมด

 

------------------------------------------------------------------------

12) ธาตุสูตร, ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ, มก. เล่ม 45 ข้อ 222 หน้า 304.

จากหนังสือ DOU GL 102 ปรโลกวิทยา

นิพพาน

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0012429316838582 Mins