แนวคิดของคนฉลาด

วันที่ 10 กค. พ.ศ.2558

 

แนวคิดของคนฉลาด

            ธรรมดาคนส่วนมากมักเชื่อเฉพาะในสิ่งที่ตนเองสัมผัสทางทวารห้าคือ ทางตา หู จมูก ลิ้น กายเท่านั้นว่า มีอยู่จริง สิ่งอื่นที่พ้นวิสัยการสัมผัสแห่งทวารห้าแล้วไม่มีจริง ความเชื่อเช่นนั้นเป็นการปิดกั้นความรู้ความเห็นของตน เท่ากับเป็นการประกาศความไม่ฉลาดของตนเองออกมา โดยลืมไปว่า ตนเองยังมีทวารที่ 6 คือ ใจ ที่เมื่อได้รับการฝึกฝนแล้ว สามารถรู้เห็นสิ่งที่นอกเหนือจากทวารทั้งห้าได้ ดังนั้นเพื่อความฉลาดของเรา ควรหันมาศึกษาแนวคิดและข้อปฏิบัติอันไม่ผิดในสิ่งที่ผู้รู้สมัยก่อนใช้ตัดสินใจ ดังที่ท่านกล่าวไว้ใน อปัณณกสูตร3) โดยสรุปความว่า

 

1. ถ้ามีสมณพราหมณ์สองพวก พวกหนึ่งบอกว่า การทำทานไม่มีผล บุญบาปไม่มี โลกนี้โลกหน้า เป็นต้น ไม่มี อีกพวกหนึ่งบอกว่า มี เราจะมีหลักคิดพิจารณาอย่างไร นักปราชญ์สมัยนั้นเขาคิดว่า ในคำพูดของสมณพราหมณ์ทั้งสองนั้น เราก็ยังไม่รู้ไม่เห็น จึงไม่ควรปักใจเชื่ออย่างใดอย่างหนึ่ง แต่เราคิดว่า ถ้าการทำทาน บุญบาป โลกนี้โลกหน้าไม่มีจริง คนที่ประพฤติทุจริตก็ยังถูกติเตียนว่าเป็นผู้ทุศีล และไม่เป็นที่ยกย่องของบัณฑิต แต่ถ้าโลกหน้ามีจริงคนที่ประพฤติทุจริตนอกจากถูกติเตียนในโลกนี้แล้ว ยังต้องพลัดไปสู่อบาย ทุคติ วินิบาต ส่วนคนที่ประพฤติสุจริตแม้ถ้าโลกหน้าไม่มีอยู่จริงเขาย่อมได้รับคำสรรเสริญในโลกนี้ ถ้าโลกหน้ามีจริง เขาย่อมได้ไปสู่สุคติโลกสวรรค์

 

2. ถ้ามีสมณพราหมณ์สองพวก พวกหนึ่งบอกว่า อรูปพรหมไม่มีอยู่โดยประการทั้งปวง อีกพวกหนึ่งบอกว่า อรูปพรหมมีอยู่โดยประการทั้งปวง นักปราชญ์สมัยนั้นคิดว่า เราไม่รู้ไม่เห็นในวาทะ(คำพูด) ทั้งสองอย่าง การที่เราจะเชื่ออย่างใดอย่างหนึ่งว่าจริง เป็นการไม่สมควร แต่เราคิดว่า ถ้าเราทำฌานให้เกิดขึ้น ถ้าอรูปพรหมไม่มีจริง อย่างน้อยเราก็ได้ไปเกิดเป็นรูปพรหม แต่ถ้าอรูปพรหมมีจริง เราจะได้ไปเกิดเป็นอรูปพรหม

 

3. ถ้ามีสมณพราหมณ์สองพวก พวกหนึ่งบอกว่า ความดับสนิทแห่งภพ (นิพพาน) ไม่มีโดยอาการทั้งปวง อีกพวกหนึ่งบอกว่า ความดับสนิทแห่งภพมีอยู่โดยอาการทั้งปวง นักปราชญ์สมัยนั้นคิดว่า เราไม่รู้ ไม่เห็น การจะยึดถือคำพูดคนใดคนหนึ่งเป็นการไม่สมควร แต่เราควรทำอรูปฌานให้เกิดขึ้น อาศัย อรูปฌานเป็นบาทเจริญวิปัสสนา ถ้าคำพูดของคนแรกเป็นจริง (ที่ว่านิพพานไม่มี) ข้อที่ เราจักเกิดขึ้นในเหล่าเทวดาที่ไม่มีรูป (อรูปพรหม) สำเร็จด้วยสัญญา ซึ่งไม่เป็นความผิด นี้เป็นฐานะที่มีได้

 

            อนึ่ง ถ้าคำของท่านสมณพราหมณ์ที่มีวาทะอย่างนี้มีความเห็นอย่างนี้ว่า ความดับสนิทแห่งภพ (นิพพาน) มีอยู่ด้วยอาการทั้งปวง ดังนี้ เป็นคำจริง ข้อที่เราจักปรินิพพานในปัจจุบัน เป็นฐานะที่จะมีได้

           ความเห็นของท่านสมณพราหมณ์ที่มีวาทะว่า ความดับสนิทแห่งภพ(นิพพาน) ไม่มีอย่างนี้ ใกล้ต่อธรรมเป็นไปกับด้วยความกำหนัด ใกล้ต่อธรรมเครื่องประกอบสัตว์ไว้ ใกล้ต่อธรรมเครื่องเพลิดเพลิน ใกล้ต่อธรรมเครื่องสยบ ใกล้ต่อธรรมเครื่องถือมั่น

            ส่วนความเห็นของท่านสมณพราหมณ์ที่มีวาทะอย่างนี้ว่า ความดับสนิทแห่งภพมีอยู่ด้วยอาการทั้งปวงนี้ ใกล้ต่อธรรมอันไม่เป็นไปกับด้วยราคะ ใกล้ต่อธรรมอันมิใช่ธรรมประกอบสัตว์ไว้ ใกล้ต่อธรรมอันมิใช่เครื่องเพลิดเพลิน ใกล้ต่อธรรมอันมิใช่เครื่องสยบ ใกล้ต่อธรรมอันไม่เป็นเครื่องยึดมั่น บุรุษผู้เป็นวิญญูนั้น ครั้นพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ย่อมปฏิบัติเพื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อความดับสนิทแห่งภพเท่านั้น

 

            จากเนื้อหาในพระสูตรข้างต้น ทำให้เราได้ข้อสรุปว่า ผู้ที่เป็นบัณฑิตนักปราชญ์สมัยนั้น ท่านคิดและปฏิบัติแบบนี้ คือ ไม่เชื่อแต่ไม่ปฏิเสธในสิ่งที่ตนเองยังไม่รู้ไม่เห็นทันที แต่จะลงมือศึกษาและปฏิบัติสุจริตธรรมจนรู้แจ้งเห็นจริงได้ด้วยตนเอง ดังนั้นนักศึกษาก็จะต้องปฏิบัติตามบัณฑิตนักปราชญ์ในกาลก่อน ด้วยการลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง เพื่อให้ได้ผลที่แจ่มแจ้งด้วยตัวของเราเอง แม้ยังไม่สำเร็จในชาตินี้ ก็จะเป็นอุปนิสัยติดไปในชาติเบื้องหน้า ไม่มีอะไรเสียเปล่าเลย

 

------------------------------------------------------------------------

3) อปัณณกสูตร, มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์, มก. เล่ม 20 ข้อที่ 103-124 หน้า 223-253.

จากหนังสือ DOU GL 102 ปรโลกวิทยา

นิพพาน

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.014419500033061 Mins