ประเภทของมนุษย์

วันที่ 06 กค. พ.ศ.2558

 

 

ประเภทของมนุษย์

            มนุษย์มีความเป็นอยู่ที่แตกต่างกันตามการกระทำของตนในอดีต ดังกล่าวมาแล้ว ลักษณะการกระทำของมนุษย์แต่ละคนนี้เอง ทำให้สามารถแยกประเภทของมนุษย์ได้เป็น 4 ประเภท ดังนี้

1. มนุษย์นรก คือ มนุษย์ที่มีนิสัยชั่วช้า บาปหนา โหดร้าย สันดานดิบ ชอบสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่นอย่างมาก ประพฤติทุจริตมิจฉาชีพผิดมนุษย์ธรรมดา ฆ่าสัตว์ ฆ่าคน ลักขโมย ปล้นจี้ทรัพย์ของผู้อื่นเป็นปกติ นิยมเป็นอันธพาลข่มเหงรังแกผู้บริสุทธิ์ ประหนึ่งว่าผุดขึ้นมาจากนรกที่มีความโหดร้ายทารุณ มนุษย์พวกนี้ไม่ชอบอยู่ในบ้านอย่างคนทั่วไป แต่กลับชอบอยู่ในคุกตะราง ถูกจองจำ หมดอิสรภาพ ต้องทนทุกข์ทรมานแสนสาหัส

 

2. มนุษย์เปรต คือ มนุษย์ที่มีชีวิตความเป็นอยู่อย่างยากลำบาก เที่ยวแสวงหาอาหารผ้านุ่งผ้าห่มเท่านั้น กว่าจะได้ก็ยากลำบาก แม้จะมีความเพียรขยันหาทรัพย์อย่างไร ก็ไม่พอใช้พอกินสักที มีแต่ความอดอยากเข้าครอบงำ มากไปด้วยความทุกข์ เขาว่าตรงไหนดี หากินสะดวกสบาย แต่พอไปถึงที่นั้นกลับไม่เจริญดังที่เขากล่าว คนมักเรียกขานคนประเภทนี้ว่า คนกาลกิณี เหมือนผุดมาจากภูมิเปรตที่มีแต่ความอดอยากแร้นแค้น

 

3. มนุษย์เดียรัจฉาน คือ มนุษย์บางพวกที่มักอาศัยอยู่กับผู้อื่น เหมือนกับแมว ม้า เป็ด ไก่ สุดแล้วแต่เจ้านายจะใช้ให้ทำอะไร ก็อุตสาหะทำการงานที่ลำบากไม่สะดวกสบาย หลังจากทำงานเสร็จแล้ว เจ้านายจะให้อะไรที่ถูกใจหรือไม่ถูกใจ ก็ต้องรับเอาไว้ ถ้าเป็นอาหารก็ไม่มีสิทธิ์เลือก ต้องกินอาหารเหลือเดนบ้าง อาหารหยาบบ้าง ถึงคราวเจ้านายดุด่าว่า ก็ต้องเกิดความสะดุ้งหวาดกลัว หาความสะดวกสบายไม่ได้เลย เพราะเป็นคนมีกรรม มากไปด้วยโมหะ ไม่มีความคิดที่จะเลี้ยงชีพของตนโดยความอิสระ ต้องทุกข์ทนต่อความเป็นทาสอย่างแสนสาหัส คนที่มีลักษณะนี้ เพราะการกระทำในอดีตมีความหลงผิด พ่อแม่ ครูบาอาจารย์ มีพระคุณล้นหัว แต่มองไม่เห็นพระคุณท่าน ไม่เชื่อฟังคำสอนของพ่อแม่ ครูบาอาจารย์ ซ้ำยังเถียงคำไม่ตกฟาก ไม่ให้ความเคารพอีกด้วย

 

4. มนุษย์เทวดา คือ มนุษย์ที่รู้จักสิ่งใดเป็นประโยชน์ สิ่งใดเป็นโทษ รู้จักบาปบุญคุณโทษ รู้จัก ว่าสิ่งไหนดี สิ่งไหนชั่ว แล้วละเว้นสิ่งที่เป็นบาปอกุศล ตั้งใจประพฤติตนอยู่ในความดี มีศีล 5 เป็นปกติ มิได้ขาด มีความละอายและเกรงกลัวต่อบาป ไม่กล้าทำชั่ว ใช้ชีวิตของตนเองได้อย่างมีสาระ ไม่อยู่ไปวันๆ เป็นมนุษย์ผู้มีใจสูง บำเพ็ญบุญกุศลอยู่เป็นประจำ ทำทั้งทาน ศีล ภาวนา ทั้งทำด้วยตนเองและชักชวน ผู้อื่น มนุษย์ประเภทนี้เป็นประดุจเทพบุตร เทพธิดา ที่จุติลงมายังโลกมนุษย์

 

            นอกจากการแบ่งประเภทของมนุษย์ตามลักษณะของการกระทำแล้ว พระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังได้แบ่งบุคคลตามการกระทำในอดีตที่ส่งผลในปัจจุบัน และกรรมในปัจจุบันที่ส่งผลต่อการไปสู่คติในอนาคต ดังที่มีกล่าวไว้ใน ปุคคลสูตร4) ซึ่งแบ่งเป็น 4 ประเภท ดังนี้

            ประเภทที่ 1 บุคคลผู้มืดมามืดไป คือ มนุษย์ที่ภพชาติในอดีตได้ทำบาปอกุศลไว้มาก จึงเกิดมาเป็นคนยากจน เป็นคนพิกลพิการไม่สมบูรณ์ ขาดโอกาสในการทำกิจต่างๆ แม้เป็นอย่างนี้ ก็ยังประพฤติผิดศีลผิดธรรม ทำบาปอกุศลทั้งทางกาย วาจา และใจ เมื่อละโลกไปแล้ว ก็ต้องไปเป็นสัตว์นรก เปรต อสุรกาย หรือสัตว์เดียรัจฉาน ชีวิตยิ่งตกต่ำลงไป ไม่รู้ว่าวันใดจะกลับเจริญรุ่งเรืองขึ้นอีก

            ประเภทที่ 2 บุคคลผู้มืดมาสว่างไป คือ มนุษย์ประเภทนี้ แม้จะมีชีวิตที่ยากลำบาก เพราะผลแห่งกรรมชั่วในอดีต แต่ก็คิดได้ สอนตัวเองเป็น แม้ไม่มีโอกาสดีๆ อย่างคนอื่นเขา แต่ไม่ย่อท้อต่อโชคชะตา อาศัยความดี ความเพียร และกัลยาณมิตรแนะนำแนวทางในการทำความดี มีความตั้งใจในการประกอบกุศลกรรมด้วยกาย วาจา ใจ อย่างต่อเนื่อง เมื่อละโลกนี้ไป ก็ได้บังเกิดในสวรรค์

            ประเภทที่ 3 บุคคลผู้สว่างมาแต่มืดไป คือ มนุษย์ผู้เกิดมามีความสมบูรณ์พร้อม เกิดในตระกูลสูง มีความเป็นอยู่สุขสบาย ไม่ลำบากในการทำมาหากิน มีโอกาสประกอบกุศลกรรมได้โดยง่าย แต่เป็นบุคคลที่มีความประมาทในชีวิต ใช้โอกาสที่ตนได้มานั้น ประกอบอกุศลกรรม ประพฤติผิดศีล ผิดธรรม เมื่อตายไปก็บังเกิดในอบายภูมิ ไปสู่ดินแดนที่มีแต่ความมืดมน

            ประเภทที่ 4 บุคคลผู้สว่างมาสว่างไป คือ มนุษย์ผู้ที่เกิดในตระกูลสูง ไม่ลำบากในการทำมาหากิน มีโอกาสที่จะทำทาน รักษาศีล และเจริญภาวนาได้อย่างเต็มที่ อย่างสะดวกสบาย และเป็นผู้ไม่ประมาทในชีวิต ได้ใช้โอกาสนั้น ประกอบกุศลกรรมอย่างเต็มที่ เมื่อตายไปย่อมไปบังเกิดในสุคติโลกสวรรค์

 

            ในหัวข้อนี้ เราพอจะจำแนกประเภทของมนุษย์ได้ ตามลักษณะของการกระทำเป็นประการสำคัญ เมื่อนักศึกษาได้ทำความเข้าใจอย่างแจ่มชัดแล้ว เราควรย้อนกลับมาดูตัวเราเองว่า เรามีพฤติกรรมเช่นไร จัดอยู่ในคนประเภทไหน จะได้รีบแก้ไขตัวเอง ปรับปรุงตัวให้ดียิ่งๆ ขึ้น เพื่อความสุขในปัจจุบัน และความสุขในอนาคต

 

 

------------------------------------------------------------------


4) ปุคคลสูตร, สังยุตตนิกาย สคาถวรรค, มก. เล่ม 24 ข้อ 394-397 หน้า 502-505.

จากหนังสือ DOU GL 102 ปรโลกวิทยา

มนุสสภูมิ

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.04625156323115 Mins