ผลของสมถะ

วันที่ 16 กค. พ.ศ.2558

 

 ผลของสมถะ

            เมื่อใจหยุด หรือที่พระมงคลเทพมุนีกล่าวว่า เข้าสิบแล้วก็ตกศูนย์ ตกศูนย์ คือ ใจหยุด พอใจหยุดเรียกว่าเข้าสิบ จะปรากฏผลแห่งการปฏิบัติ คือ เห็นเป็นดวงใสเท่าดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ผุดขึ้น ท่านกล่าวเพิ่มเติมไว้ว่า

 

“    นั่นตกศูนย์แล้ว เข้าสิบแล้ว เห็นศูนย์แล้ว เรียกว่า เข้าสิบแล้วเห็นศูนย์ พอเห็นศูนย์ ใจก็หยุดอยู่กลางศูนย์นั้นแหละ กลางดวงใส เท่าดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์นั้น ดวงนั้นแหละเรียกว่า ดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน หรืออีก นัยหนึ่ง ดวงนั้นแหละเรียกว่า ดวงปฐมมรรค หนทางเบื้องต้นมรรค ผล นิพพาน จะไปสู่มรรคผลนิพพาน ต้องเข้ากลางดวงนั้นแห่งเดียว ไปได้ทางเดียว ทางอื่นไม่มี”7)

 

            ดวงปฐมมรรคนี้เอง ท่านเรียกว่า ปฐมฌานเบื้องต้น หลังจากที่เข้าถึงดวงปฐมมรรคแล้ว พอใจหยุดนิ่งต่อไป ที่เรียกว่า การเข้ากลาง ก็จะเข้าถึงสภาวธรรมภายในที่ละเอียดไปตามลำดับ พระมงคลเทพมุนีได้กล่าวไว้ว่า

 

“    พอหยุดถูกส่วนเข้าเท่านั้นแหละ เกิดขึ้นมาอีกดวงหนึ่งเป็นดวงศีล โตเท่า ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์เหมือนกัน หยุดอยู่กลางดวงศีลนั้นแหละ พอถูกส่วนเข้า เท่านั้น เกิดขึ้นอีกดวงหนึ่ง เรียกว่า ดวงสมาธิ โตเท่าดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์เหมือนกันหยุดอยู่กลางดวงสมาธินั่นแหละ พอถูกส่วนเข้าเท่านั้นเกิดขึ้นอีกดวงหนึ่งเท่าดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์เหมือนกัน เรียกว่า ดวงปัญญา หยุดอยู่กลาง ดวงปัญญานั่นแหละ พอถูกส่วนเข้าเกิดขึ้นอีกดวงหนึ่งเรียกว่า ดวงวิมุตติ หยุดอยู่กลางดวงวิมุตตินั่นแหละ พอถูกส่วนเข้าเกิดขึ้นอีกดวงหนึ่งเรียกว่า ดวงวิมุตติญาณทัสสนะ”8)

 

            และเมื่อใจหยุดเข้ากลางต่อไป ก็จะเข้าถึงกายมนุษย์ละเอียด เมื่อเอาใจหยุดเข้ากลางดวงธรรม ที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ละเอียดขนาดเท่าฟองไข่แดงของไก่ จนเกิดดวงปฐมมรรคของกายมนุษย์ละเอียด เข้ากลางต่อไป ก็จะเข้าถึงดวงศีล ดวงสมาธิ ดวงปัญญา ดวงวิมุตติ ดวงวิมุตติญาณทัสสนะ เข้าถึง กายทิพย์ ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายทิพย์โตขึ้นเป็น 3 เท่า เอาใจจรดที่ศูนย์กลางกายฐานที่ 7 ของกายทิพย์หยาบ จิตตกศูนย์ รวมกับดวงธรรมที่ฐานที่ 6 เป็นปฐมมรรคของกายทิพย์หยาบ เข้ากลางดวงนี่ ผ่านดวงธรรมอีก 5 ดวง ดังกล่าวแล้ว จะเข้าถึงกายทิพย์ละเอียด เอาใจหยุดไปที่ศูนย์กลางกายฐานที่ 7 ของกายทิพย์ละเอียด จนตกศูนย์รวมกับดวงธรรมกายทิพย์ละเอียดขนาดโตเป็น 4 เท่าฟองไข่แดงของไก่ เป็นดวงปฐมมรรคที่ฐาน ที่ 7 ของกายทิพย์ละเอียด ปฏิบัติต่อไปก็จะเข้าถึงกายรูปพรหมหยาบ ซึ่งมีดวงธรรมขนาดโตเป็น 5 เท่า เมื่อเกิดดวงปฐมมรรคและเข้ากลางผ่านดวงธรรม 5 ดวงดังกล่าวแล้ว จะเข้าถึงกายรูปพรหมละเอียด มีดวงธรรมประจำกายโต 6 เท่า กายอรูปพรหมหยาบ ดวงธรรมขนาดโตเป็น 7 เท่า และกายอรูปพรหม-ละเอียดโต 8 เท่า

            กายภายในทั้ง 7 กาย นี้เป็นผลแห่งสมถะ หรือใจหยุดที่เกิดขึ้นตามลำดับ นอกจากนี้ท่านยังได้อธิบายสภาวะของฌานในกายแต่ละกายไว้ในพระธรรมเทศนาเรื่องสมาธิ ว่า

 

“    ใจหยุดกลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์เป็นดวงใส พอถูกส่วนมีดวงผุดขึ้นมากลางดวง วัดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2 วา หนาคืบ มีกายมนุษย์ละเอียดอยู่กลางดวง ใจของกายมนุษย์ละเอียดหยุดนิ่งอยู่กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ละเอียด เห็นดวงจิตของตัวเอง….. เกิดปีติชอบอกชอบใจ เต็มส่วนของปีติ มีความสุขกายสบายใจ แล้วนิ่งเฉย เกิดแต่วิเวก เป็นปฐมฌานของกายมนุษย์ละเอียด ใจขยายจากปฐมฌานของกายมนุษย์ละเอียด ใจของกายมนุษย์ละเอียดก็หยุดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ละเอียด หยุดนิ่งกลางดวงจิตที่เห็นใสนั่น พอถูกส่วนเข้าเกิดขึ้นอีกดวง เรียกว่า ทุติยฌาน เข้าถึงกายทิพย์หยาบ เข้าถึงกายทิพย์ละเอียด อาศัยกายทิพย์หยาบเข้าฌาน ใจของกายทิพย์ละเอียดขยายจากฌานที่ 2 ทุติยฌานเกิดดวงผุดขึ้นมาเป็น ฌานที่ 3 ตติยฌาน เข้าถึงกายรูปพรหมหยาบ ใจของกายรูปพรหมละเอียดขยายจากตติยฌาน หยุดนิ่งกลางดวงถูกส่วนมีผุดขึ้นมาอีกดวงหนึ่งเป็นดวงที่สี่ จตุตถ-ฌาน เข้าถึงกายอรูปพรหม เข้าอรูปฌาน คือ อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญ-จายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ”9)

 

            โดยสรุปผลแห่งการปฏิบัติสมถะหรือใจหยุดของพระมงคลเทพมุนีในเบื้องต้น คือ การเข้าถึง ดวงปฐมมรรคภายใน และเข้าถึงกายมนุษย์ละเอียดที่เป็นปฐมฌาน และเข้าถึงกายทิพย์ อันเป็นทุติยฌาน เข้าถึงกายรูปพรหมอันเป็นตติยฌาน เข้าถึงกายอรูปพรหมอันเป็นจตุตถฌาน

 

------------------------------------------------------------------------

7) , 8) มูลนิธิพุทธภาวนาวิชชาธรรมกาย, ชีวประวัติ ผลงานและรวมพระธรรมเทศนา 63 กัณฑ์, กรุงเทพฯ : เทคนิค 19, 2528 หน้า 274, 297.
9) มูลนิธิพุทธภาวนาวิชชาธรรมกาย, ชีวประวัติ ผลงานและรวมพระธรรมเทศนา 63 กัณฑ์, กรุงเทพฯ : เทคนิค 19, 2528 หน้า 187-189.

จากหนังสือ DOUMD 305  สมาธิ 5

หลักสมถวิปัสสนากัมมัฏฐาน

 


 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0010380665461222 Mins