วิธีเจริญพุทธานุสติ

วันที่ 24 กค. พ.ศ.2558

 

 

วิธีเจริญพุทธานุสติ

            พุทธานุสติ คือ การตามระลึกถึงคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นอารมณ์

             องค์สมเด็จพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ ทรงพระคุณอันประเสริฐและยิ่งใหญ่ไม่มีที่สิ้นสุด แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะตรัสสรรเสริญพระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยกันเอง ตลอดระยะเวลายาวนานเป็นกัปก็สรรเสริญได้ไม่หมดสิ้น เหล่าบัณฑิตผู้มีปัญญาครั้งจะสรรเสริญพระพุทธคุณด้วยตนแล้ว ก็อุปมาพระพุทธคุณที่ตนอาจกล่าวสรรเสริญได้นั้น เพียงดังอากาศในปีกนกขณะกระพือปีกซึ่งมีน้อยนิด เทียบมิได้กับพระพุทธคุณที่เปรียบดังอากาศสุดคณนาในสากลโลก สมดังพระพุทธคุณที่ทรงประกาศให้เป็นที่ประจักษ์แก่พระทัยของพระเจ้าอชาตศัตรูว่า

 

“    มหาบพิตร พระตถาคตเสด็จอุบัติในโลกนี้เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึกอย่างไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกพระธรรม พระตถาคตพระองค์นั้น ทรงทำโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก พรหมโลก มารโลก ให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งของพระองค์เอง ทรงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น งานในท่ามกลาง งานในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์อันบริสุทธิ์พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะ บริบูรณ์สิ้นเชิง

 

            ในขั้นต้นของการเจริญพุทธานุสติ ผู้ปฏิบัติพึงทำจิตของตนให้เลื่อมใสในพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ ซึ่งทรงพระคุณไม่มีประมาณ ไม่หวั่นไหวในพระพุทธคุณ เข้าอยู่ในที่สงบสงัด นั่งขัดสมาธิตั้งกายให้ตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า แล้วตามระลึกถึงพระพุทธคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ โดยพิจารณาตามบทสรรเสริญพระพุทธคุณดังภาษาบาลีที่ว่า

“    อิติปิ โส ภควา อรหํ สมฺมาสมฺพุทโธ วิชาจรณสมฺปนฺโน สุคโต

โลกวิทู อนุตฺตโร ปุริสทมมฺสารถิ สตฺถา เทวมนุสฺสานํ พุทฺโธ ภควาติ”8)

 

“    พระผู้มีพระภาคองค์นั้น ทรงเป็นพระอรหันต์… ทรงตรัสรู้เองโดยชอบ…ทรงบรรลุวิชชาและจรณะ…เสด็จไปดี…ทรงทราบโลก…ทรงเป็นสารภีฝึกบุรุษที่ควรฝึกอย่างไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า…ทรงเป็นศาสดาของเทพและมนุษย์ทั้งหลาย…ทรงเป็นพุทธะ…ทรงเป็นพระผู้มีพระภาค…“    9)

 

            พระพุทธคุณขององค์สมเด็จพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้ง 9 ประการ ข้างต้นนี้ แต่ละบทเป็นเนมิตกนาม คือ นามที่เกิดขึ้นตามลักษณะและคุณสมบัติ ซึ่งเกิดขึ้นพร้อมกับเมื่อพระพุทธองค์ทรงบรรลุพระโพธิญาณ อรหันต์ เป็นนามเหตุ พระคุณนามที่เหลือนอกนั้น เป็นนามผล พระพุทธคุณแต่ละบททรงไว้ซึ่งอานุภาพอย่างไม่มีประมาณ เป็นประโยชน์แก่สรรพสัตว์ทั้งหลาย ผู้มีบุญในกาลก่อนเพียงได้สดับแต่ละบทแห่งพระพุทธคุณ แล้วยังจิตของตนแต่ละบท อาจแสดงได้พอสังเขป เพื่อพิจารณาตามดังต่อไปนี้

 

------------------------------------------------------------------------

8) , 9) พระไตรปิฎกภาษาบาลี 45 เล่ม. เล่ม 1 หน้า 1 ข้อ 1.

 สมถกัมมัฏฐาน 40 วิธี


 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0093375007311503 Mins