อรหัง ทรงเป็นพระอรหันต์

วันที่ 24 กค. พ.ศ.2558

 

 อรหัง ทรงเป็นพระอรหันต์

            ทรงพระนามว่า”อรหัง” คือ ทรงเป็นพระอรหันต์ เป็นผู้ไกลจากกิเลสอย่างเด็ดขาด เพราะทรงกำจัดกิเลสได้หมดอย่างสิ้นเชิงไม่เหลือเศษ

ความหมายของคำว่า อรหัง สามารถแปลได้ 7 นัยยะด้วยกันคือ

1.เป็นผู้ไกลจากกิเลส

2.เป็นผู้กำจัดข้าศึก คือ กิเลสสิ้นแล้ว

3.เป็นผู้หักกรรมแห่งสังสารจักร อันได้แก่ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน กรรม

4.เป็นผู้ควรแนะนำสั่งสอน

5.เป็นผู้ที่ควรรับความเคารพ

6.เป็นผู้ควรแก่ทักษิณา และการบูชาพิเศษ

7.เป็นผู้ไม่มีข้อลับ คือ ไม่มีข้อเสียหายอันควรปกปิด

 

            พระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี(สด จนฺทสโร ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย) ได้แสดงความหมายของคำ อรหัง ไว้ 2 นัย คือ เป็นผู้ไกลและผู้ควร10)

            อรหํ แปลสั้นๆ ว่าไกล ว่าควร เป็นสองนัยอยู่ ไกล หมายความว่า ไกลจากกิเลส หรือว่า พ้นจากกิเลส เสียแล้ว ไกล ตรงข้ามกับปุถุชนคนเรา ซึ่งยังอยู่ใกล้ชิดกิเลส พระองค์บริสุทธิ์ผุดผ่องดังแท่งทองชมพูนุทหรืออีกอย่างหนึ่งว่าใสเหมือนดวงแก้วอันหาค่ามิได้ สมคำที่ว่า”พุทธรัตนะ”

             ประกอบด้วย ตานิโน เป็นผู้คงที่ไม่หวั่นไหว หากจะมีของหอมมาชะโลมไล้พระวรกายซีกหนึ่ง และเอาของเหม็นมาชโลมซีกหนึ่ง พระหฤทัยของพระองค์ก็ไม่แปรผันยินดียินร้ายประการใด และเปรียบได้อีกสถานหนึ่งว่า อินฺทขีลูปโม พระทัยมั่นคงดังเสาเขื่อน ถึงจะมีพายุมาแต่จาตุรทิศก็ไม่คลอน เมื่อเช่นนี้จึงมีนัยที่แปลได้อีกอย่างหนึ่งว่าเป็น ผู้ควร คือเป็นผู้ที่เราสมควรจะเทิดจะบูชาไว้เหนือสิ่งทั้งหมด11)

 

ในคัมภีร์วิสุทธิมรรค แสดงความหมายของคำว่า อรหํ ไว้ 5 นัย

1.เป็นผู้ไกลจากกิเลส

2.เป็นผู้ทรงกำจัดอริ(หมายถึง กิเลส) ทั้งหลายเสียได้

3.เป็นผู้ทรงทำลายซี่กำ(หมายถึง อภิสังขาร)ทั้งหลายเสียได้

4.เป็นผู้ควรทักษิณา

5.เป็นผู้ไม่มีที่ลับในอันที่จะทำบาป

 

คำว่า “    อรหัง” อาจอธิบายสรุปความหมายเป็น 4 นัย คือ

            นัยที่ 1 ทรงไกลจากข้าศึก “    ข้าศึก” หมายถึง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นผู้ไกลจากกิเลส เพราะทรงกำจัดกิเลสทั้งปวงด้วยมรรคได้หมดอย่างสิ้นเชื้อไม่เหลือเศษจึงทรงพ้นจากกิเลส ไม่ข้องแวะกับกิเลสใด และไม่ทรงประกอบด้วยสิ่งอันเป็นโทษทั้งหลาย (คือ วาสนา12) ) เพราะเหตุนี้จึงทรงปรากฎพระนาม “    พระอรหันต์”

            นัยที่ 2 ทรงหักกำฉัตร “    กำฉัตร” หมายถึงกิเลสทั้งปวง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงหักกิเลสเหล่านั้นด้วยศาสตรา คือปัญญา เพราะเหตุนี้จึงทรงพระนามว่า “    พระอรหันต์”

 

อนึ่ง คำว่า “    จักร” หมายถึง “    สังสาร” มีคำอธิบายแตกต่างกันเป็น 2 นัย คือ

“    สังสาร” ตามนัยที่ 1 อุปมาดัง “    จักร” ซึ่งตามธรรมดามีองค์ประกอบสำคัญ 3 อย่าง คือ ดุม กำ และกง ตามนัยที่ 1 นี้ อวิชชาและภวตัญหาเปรียบได้กับ “    ดุม” อภิสังขารเปรียบได้กับ “    กำ” ความแก่และความตายเปรียบได้กับ “    กง” ดุม กำ และกง ประกอบกันขึ้นเป็นจักรหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “    ล้อ” ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของ “    รถ” อันเปรียบได้กับ “    ภพ 3” รถคันนี้ย่อมแล่นไปเรื่อยๆ โดยหาต้นชนปลายไม่ได้ นี่คือ ความหมายของ “    สังสาร” หรือ “    จักร” ตามนัยที่ 1

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จประทับยืนบนแผ่นดินด้วยพระบาท “    ศีล” ของพระพุทธองค์นั้นเปรียบได้กับ “    แผ่นดิน” ส่วน “    ความเพียร” เปรียบได้กับ “    พระบาท” ทรงเอาพระหัตถ์ ซึ่งเปรียบได้กับ “    ศรัทธา” จับขวานคือ “    พระญาณ” ฟันกำของจักรให้ขาดสะบั้นลงหมดสิ้น รถจึง “    หยุด” นิ่งสนิท เป็นอีนสิ้นภพสิ้นชาติ ชรา มรณะ นี่คือความหมายของ “    ทรงหักกำจักร” ตามนัยที่ 1

“    สังสาร” ตามนัยที่ 2 อุปมาดัง “    จักร” ที่ประกอบมาจาก “    ปฏิจจสมุปบาท” คือมี “    อวิชชา” เปรียบได้กับ “    ดุม” เพราะเป็นมูลเหตุ “    ชราและมรณะ” เปรียบได้กับ “    กง” เพราะเป็นที่สุด ส่วนธรรมอีก 10 ข้อที่เหลือในปฏิจจสมุปบาท เปรียบได้กับ “    กำ” นี้คือ “    สังสาร” ตามนัยที่ 2

 

เพราะเหตุที่ทรงหักกำจักรสิ้นแล้วจึงปรากฎนามว่า “    พระอรหันต์”

            นัยที่ 3 ทรงควรแก่ปัจจัย พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบริสุทธิ์หมดจดด้วยประการทั้งปวง จึงทรงเป็นทักขิไณยบุคคลอันเลิศยิ่ง ย่อมควรแก่ปัจัยและการบูชาเป็นพิเศษ สำหรับ พรหม เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เพราะเหตุนี้ จึงทรงปรากฎพระนามว่า “    พระอรหันต์”

            นัยที่ 4 ทรงไม่ทำชั่วในที่ลับ โดยเหตุที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงกำจัดกิเลส ตัณหาและอวิชชาทั้งปวง ด้วยมรรคและญาณโดยสิ้นเชิงแล้ว การทำกรรมชั่วทั้งหลายแม้ในที่ลับ ย่อมไม่มีแก่พระองค์ เพราะเหตุนี้ จึงทรงปรากฎพระนามว่า “    พระอรหันต์”

 

------------------------------------------------------------------------

10) พระภาวนาวิริยคุณ (เผด็จ ทตฺตชีโว), พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ, กรุงเทพฯ : นฤมิต โซล(เพรส) จำกัด, 2546. หน้า 58.
11) วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ และสมาคมศิษย์หลวงพ่อวัดปากน้ำ, มรดกธรรมของหลวงพ่อวัดปากน้ำ (พระมงคลเทพมุนี), กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิซซิ่ง จำกัด (มหาชน), 2539. หน้า 2-3.
12) วาสนา คือ บุญ บารมี กุศลที่ทำให้ได้รับลาภยศ

 สมถกัมมัฏฐาน 40 วิธี

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.00095231533050537 Mins