จินตนาการ...ใครว่าธรรมดา

วันที่ 24 กค. พ.ศ.2558

 

จินตนาการ...ใครว่าธรรมดา


ทำไมไอน์สไตน์จึงบอกว่าจินตนาการสำคัญกว่าความรู้
                “ จินตนาการ ” คืออะไร ต่างกับ “ ความคิดอย่างมีเหตุผล ” อย่างไร การที่เราคิดแบบมีเหตุผล หมายถึงเราคิดบนพื้นฐานความรู้เดิมว่า เรามีสิ่งที่ค้นพบแล้ว เข้าใจแล้ว พิสูจน์ได้แล้ว จากนั้นเราก็ต่อยอดความรู้ขึ้นไป นั่นก็คือการคิดอย่างมีเหตุผล
                “ จินตนาการ ” คือการคิดกึ่งความฝัน โดยไม่อ้างอิงถึงความรู้ในปัจจุบัน เช่น คนสมัยก่อนมองไปที่ดวงจันทร์ แล้วเกิดความคิดขึ้นมาว่า สักวันหนึ่งคนเราน่าจะไปเดินเล่นบนดวงจันทร์ได้ แบบนี้เรียกว่าความคิดแบบใช้จินตนาการ เพราะในยุคนั้นยังไม่มีเครื่องบิน ไม่มีจรวดการนึกฝันว่า อยากจะไปเดินเล่นบนดวงจันทร์ เป็นความคิดแบบหลุดออกนอกกรอบ ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในยุคนั้น 


                หรือคนที่คิดว่า วันหนึ่งเราจะขึ้นไปบินบนฟ้าเหมือนนก ก็เป็นการคิดฝันแบบไม่ต้องอ้างอิงจากฐานข้อมูลปัจจุบัน เพราะในยุคนั้นยังไม่มีเครื่องบิน คนจะขึ้นไปบินบนท้องฟ้าได้อย่างไร ความคิดกึ่งนึกฝันแบบนี้ คือ “ จินตนาการ ”
                ทำไมไอน์สไตน์จึงบอกว่า “ จินตนาการสำคัญกว่าความรู้ ” ที่เขากล่าวเช่นนั้นเพราะเขารู้ว่า ถ้าเราอยากจะค้นพบอะไรใหม่ๆ ชนิดทะลุทะลวงสภาพทั่วไปแห่งยุค ต้องอาศัยจินตนาการ ถ้าคิดแบบไม่มีจินตนาการ คิดจากสิ่งที่เรารู้อยู่แล้วในปัจจุบัน จะพัฒนาต่อไปได้อีกเพียงนิดเดียว แต่ถ้ามีจินตนาการเมื่อไร จะสามารถคิดทะลุกรอบออกไปได้ การที่ไอน์สไตน์สรุปออกมาอย่างนี้ ก็เกิดจากประสบการณ์ในชีวิตจริงของเขาเอง


                 ทฤษฎีที่โด่งดังที่สุดของไอน์สไตน์ คือ ทฤษฎีสัมพันธภาพ ซึ่งเขาค้นพบทฤษฎีนี้ตั้งแต่อายุ 25 ปี ดังนั้นจึงไม่ใช่การค้นพบที่เกิดจากการค่อยๆ หาความรู้ หรือเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีประสบการณ์แล้วจึงค้นพบ ซึ่งถามว่าเขาคิดได้อย่างไร คำตอบก็คือ ไอน์สไตน์คิดทฤษฎีนี้ได้ด้วยการใช้จินตนาการบวกกับความรู้ที่เขามี
                ถ้ามีคนบอกว่ากระดาษทิชชู่ชินหนึ่งสามารถมีมวลสารมากกว่าโลกนี้ทั้งใบได้ ก็คงไม่มีใครเชื่อ เพราะเป็นความคิดที่หลุดกรอบเอามากๆ ทิชชู่แผ่นบางๆ จะมีมวลสารมากกว่าโลกทั้งโลก มากกว่าดวงอาทิตย์ทั้งดวงได้อย่างไร ถ้าเราคิดอย่างนักวิทยาศาสตร์ทั่วไปคงไม่มีทางคิดออก แต่ไอน์สไตน์สามารถคิดเรื่องนี้ออกมาได้ภายใน 1 วันเท่านั้น


                เรื่องมีอยู่ว่าวันหนึ่งเขานั่งปล่อยใจสบายๆ มองดูท้องฟ้า ดูดวงดาว พอใจเขาโปร่งๆ คล้ายๆเป็นสมาธิ ก็แวบขึ้นมาในใจว่า เอ๊ะ! ถ้าหากว่าไม่มีอะไรเร็วกว่าแสงแล้วจะเกิดอะไรขึ้น เขาลองนำความคิดนี้ไปลองคำนวณเล่นๆ ถ้าไม่มีอะไรเร็วเหนือแสงก็แสดงว่า วัตถุพอเคลื่อนที่ด้วยความเร็วมาก ใกล้ๆความเร็วแสง มวลสารจะต้องเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนพอมีความเร็วเท่าแสงแล้วจะมีค่ามวลสารเป็นอนันต์ ดังนั้นไม่ใช่ว่าจะใช้แสงมากเพียงใด ก็ไม่สามารถจะผลักให้วัตถุนั้นเคลื่อนที่ได้เร็วกว่านั้น เวลาก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปตามความเร็วของวัตถุนั้นด้วย คำนวณเสร็จก็นำผลที่ได้ไปทดลอง ผลปรากฏว่า การทดลองได้ผลตรงตามที่ทฤษฎีพยากรณ์ไว้ และนี่คือที่มาของทฤษฎีสัมพันธภาพของไอน์สไตน์นั่นเอง


                การคิดอย่างมีเหตุมีผล ไม่สามารถคิดทฤษฎีแบบนี้ออกมาได้ แต่ทฤษฎีที่ยิ่งใหญ่นี้ กลับเกิดขึ้นจากจินตนาการที่หลุดกรอบล้วนๆ นอกจากนี้ยังมีเรื่องที่มนุษย์สามารถทำได้สำเร็จอีกมากมายที่เกิดขึ้นจากจินตนาการ จินตนาการว่าวันหนึ่งเราจะบินบนท้องฟ้าได้ จินตนาการในวันนั้นได้กลายมาเป็นเครื่องบินในวันนี้ จินตนาการว่าวันหนึ่งเราจะสามารถไปเดินเล่นบนดวงจันทร์ได้ แล้วในที่สุดมนุษย์ก็สามารถสร้างยานอวกาศ ไปเดินเล่นบนดวงจันทร์ได้จริงๆ การค้นพบสิ่งใหม่ๆส่วนมากก็เกิดขึ้นเพราะจินตนาการ นั่นเอง ไอน์สไตน์จึงสรุปออกมาว่า “ จินตนาการนั้นสำคัญกว่าความรู้ ”


เราสามารถเปรียบเทียบได้ไหมว่าความรู้คือ อดีต และจินตนาการคืออนาคต?
                ควรมองว่า ความรู้ คือ พื้นฐาน จินตนาการ คือ การต่อยอดพื้นฐานสู่อนาคต เพราะถ้าเราจินตนาการแบบที่ไม่มีความรู้เลย มันก็จะคิดอะไรไม่ออกเลยเหมือนกัน เหมือนไอน์สไตน์ถ้าไม่มีความรู้เรื่องกฎของนิวตันเป็นพื้นฐานมาก่อน ทฤษฎีสัมพันธภาพก็จะเป็นเพียงความคิดเพ้อฝัน
                ถ้าเรามีความรู้พื้นฐานที่แน่นดีแล้ว เมื่อจินตนาการ เราสามารถดึงความรู้ตรงนั้นมาเป็นพื้นฐาน และต่อยอดเพื่อทำให้จินตนาการเป็นจริงได้ง่ายขึ้น เพราะฉะนั้นความรู้ที่เรามีอยู่ในปัจจุบัน คือ พื้นฐานที่สำคัญมาก แต่การที่เราจะค้นพบสิ่งใหม่ ที่ยิ่งใหญ่ได้ ต้องอาศัยจินตนาการช่วย เพราะ จินตนาการคือ อนาคตที่ไร้ขีดจำกัดนั่นเอง


มนุษย์ใช้สมองในการจินตนาการใช่หรือไม่?
                เราต้องเข้าใจก่อนว่า สมองเป็นเพียงอวัยวะส่วนหนึ่งของร่างกายแต่ใจต่างหากที่เป็นตัวสั่งการสมอง ดังนั้นอย่าไปคิดว่า เราใช้สมองซีกขวาในการจินตนาการ ใช้สมองซีกซ้ายในการใช้เหตุผลและจดจำ เพราะสิ่งที่ใช้ในการจินตนาการจริงๆ ก็คือ ใจ ของเรา สมองเป็นเพียงเครื่องมือของใจเท่านั้น ใจเหมือนเป็น User สมองเหมือน Computer ซึ่งจะทำงานตามที่ User สั่งการ


การห้ามไม่ให้เด็กอ่านการ์ตูนหรือเกม เป็นการปิดกั้นจินตนาการของเด็กใช่หรือไม่?
               เด็กมีจินตนาการดีกว่าผู้ใหญ่ เพราะเด็กมีกรอบน้อยกว่าผู้ใหญ่ ความรู้ของเด็กยังไม่มาก เขาจึงใช้จินตนาการเป็นหลัก ยกตัวอย่างเด็กจะชอบมากถ้าได้มีการมุดท่อแล้วไปโผล่ในที่ที่ดูลึกลับ เพราะความรู้สึกว่าได้ผจญภัยอยู่ในโลกแห่งจินตนาการ พอโตขึ้นความรู้มากขึ้น ทำให้เขารู้จักความเป็นจริงมากขึ้น เมื่อรู้จักความเป็นจริงมากขึ้น จินตนาการก็เริ่มถูกจำกัดกรอบ พอจะคิดอะไรใหม่ๆแปลกๆ จะถูกความคิดที่ว่า “ เป็นไปไม่ได้ ” มาตีกรอบเอาไว้ เมื่อเป็นผู้ใหญ่ก็เลยไม่ค่อยกล้าที่จะจินตนาการ
                 เมื่อเรารู้แล้วว่าเด็กเป็นวัยที่ยังมีความรู้ไม่มาก แต่มีจินตนาการมาก ยังไม่ถูกจำกัดกรอบ เราควรจะเสริมจินตนาการให้เด็ก โดยอาจจะใช้นิทานหรือการ์ตูนที่สร้างสรรค์ ในสมัยโบราณจะเล่านิทานชาดกให้เด็กๆฟัง เพราะการเล่านิทานผู้ใหญ่ต้องใช้จินตนาการในการเล่า เด็กต้องใช้จินตนาการในการคิดตาม แบบนี้จึงจะเป็นการสร้างจินตนาการให้เด็กๆ ในทางที่ดี


                 หรือให้เด็กเล่นเกมตัวต่อ ที่สามารถนำมาต่อเป็นรูปอะไรก็ได้ ให้เด็กได้ใช้จินตนาการ ได้ช่วยกันคิด ช่วยกันต่อ อย่างนี้ก็จะยิ่งเสริมจินตนาการในทางสร้างสรรค์ให้กับเด็กๆ เพิ่มมากขึ้น


คนไม่ค่อยมีจินตนาการมีวิธีแก้ไขได้อย่างไร?
                สิ่งแรกเลย คือ อย่าไปยึดติดกับความรู้ที่เรามีในปัจจุบันมากเกินไป ให้เรารู้ว่าความรู้ปัจจุบัน คือ ความรู้ที่สั่งสมมาจนถึงวันนี้ แต่เรายังสามารถก้าวไปข้างหน้าได้อีก มนุษย์เราเจริญมาจนถึงวันนี้ได้ก็ด้วย จินตนาการ เช่น การเดินทางไปในอวกาศที่ตอนแรกเป็นเพียงแค่จินตนาการ ในนิยายวิทยาศาสตร์ แล้วสุดท้ายมนุษย์ก็หาทางไปอวกาศได้จริง 
              โลกนี้จึงไม่มีคำว่าเป็นไปไม่ได้ ทุกอย่างสามารถเป็นไปได้เสมอแม้แต่ตอนนี้ สิ่งที่วิทยาศาสตร์ในปัจจุบันรู้ ยังไม่ถึงหนึ่งเปอร์เซ็นต์ที่กฎธรรมชาติมีอยู่จริงเลย เมื่อมนุษย์มีใจมุ่งมั่นในเรื่องใดเรื่องหนึ่งมากๆ จะไปเหนี่ยวนำความคิดและวิธีการต่างๆ จนสุดท้ายก็จะค้นพบวิธีการที่จะทำให้เรื่องนั้นเป็นจริงขึ้นมาได้ในที่สุด ให้เรารู้ว่ามนุษย์เรานั้นมีความสามารถแบบที่แทบจะเรียกได้ว่า ไร้ขีดจำกัด ทุกอย่างสามารถเป็นไปได้ ถ้าเราตั้งใจจริง เมื่อรู้อย่างนี้ก็อย่าไปจำกัดกรอบของตนเอง ด้วยความคิดที่ว่า เป็นไปไม่ได้
                การติดกรอบนั้นไม่ได้มาจากเรื่องวิทยาศาสตร์เรื่องเดียว เรื่องทางสังคมก็เป็นอีกหนึ่งกรอบ ที่จำกัดจินตนาการของเรา เพราะถ้าเราถูกปลูกฝังเลี้ยงดูมาอย่างไร ก็มักจะคิดอย่างนั้นโดยไม่รู้ตัว สำหรับวิธีการที่จะแก้ไขคนที่ไม่ค่อยมีจินตนาการ ให้มีจินตนาการมากขึ้นนั้นให้แก้ที่ทัศนคติของเขาก่อน แล้วฝึกจินตนาการโดยให้ลองขีดเขียน วาดรูป และใช้สมองซีกขวา ฝึกนั่งสมาธิให้ใจนิ่ง เพราะเวลาที่ใจของเรานิ่งจินตนาการจะยิ่งเกิด เพราะการทำสมาธิถือเป็นการเคลียร์ใจให้เราหลุดออกจากกรอบความคิดที่เราถูกครอบงำโดยไม่รู้ตัว


เรื่องเล่าจากโซเวียต
                 เรื่องหนึ่งที่เกิดขึ้นในสหภาพโซเวียต ซึ่งเป็นประเทศคอมมิวนิสต์มาเกือบสองร้อยปี เดิมทีทุกอย่างต้องวางแผนจากรัฐบาลส่วนกลาง เช่น โรงงานนี้จะต้องผลิตนอตเท่าไร ผลิตรถเท่าไร ผลิตล้อเท่าไร ทุกอย่างจะถูกส่วนกลางวางแผนให้หมด ไม่ต้องใช้ความรู้ด้ารการตลาดในการผลิตเลย แต่นโยบายที่ใช้การวางแผนอย่างเดียวนั้น มีข้อจำกัดเพราะ ทำให้เกิดความสูญเปล่ามาก ทำให้เศรษฐกิจมีปัญหา
                ผู้นำคือ กอร์บาชอฟ มีนโยบายที่จะเปิดกว้างทางการเมืองและเศรษฐกิจ โดยใช้ระบบการตลาดเข้ามาช่วย มีคนที่หัวธุรกิจกว่าคนอื่นคนหนึ่ง ตั้งบริษัทแท็กซี่เล็กๆ ขึ้นมาในตัวเมืองเพื่อรับส่งคน ปรากฎว่ากิจการดี เริ่มก้าวหน้ามากขึ้น แต่ในขณะที่กิจการกำลังรุ่งเรืองนั้น เขากลับถูกคณะกรรมการคอมมิวนิสต์ประจำเมืองสั่งยุบบริษัท ด้วยสาเหตุที่ว่ามีชาวบ้านมาร้องเรียนต่อคณะกรรมการคอมมิวนิสต์ และคณะกรรมการก็เห็นด้วยว่าบริษัทนี้โกงประชาชน เหตุผลคือบริษัทนี้ควรเก็บค่าบริการลูกค้าแค่ 20 บาท เพราะถ้าคำนวณค่าเสื่อมราคาของรถ ค่าน้ำมันและค่าใช้จ่ายอื่นๆแล้วต้องเก็บลูกค้าแค่ 20 บาท จึงจะเท่ากับราคาทุน แต่บริษัทแท็กซี่แห่งนี้กลับเรียกเก็บค่าบริการถึง 25 บาท การเอากำไรจากประชาชน 5 บาทนั้น หมายถึงบริษัทแท็กซี่แห่งนี้โกงประชาชน


                 ในบ้านเราถ้ามีคนทำเสื้อมาขาย 1 ตัว คำนวณต้นทุนค่าขนส่งรวมแล้วทั้งหมด 100 บาท แล้วถูกบังคับให้ต้องขายเสื้อที่ราคา 100 บาท ก็คงไม่มีใครยอมทำธุรกิจเพราะไม่รู้จะไปเอากำไรจากที่ไหน การทำธุรกิจต้องมีกำไรด้วยถึงจะอยู่ได้ แต่บ้านเขาบอกว่าไม่ใช่ ถ้าต้นทุน 100 บาท ก็ต้องขาย 100 บาท ห้ามเอากำไร การเอากำไรถือว่าบริษัทโกงประชาชน คณะกรรมการคอมมิวนิสต์ก็สั่งยุบบริษัทเลย เพราะคนของเขาถูกสอนมาว่า ต้นทุนเท่าไรก็ต้องขายเท่านั้นเมื่อไรที่บวกกำไรเข้ามาเมื่อนั้น คือ การโกง ความคิดเขาเป็นอย่างนั้นจริงๆ เขาไม่ได้แกล้วเพราะถูกปลูกฝังมาอย่างนั้น นี่คือตัวอย่างกรอบความคิดที่ถูกปลูกฝังทางสังคม 
                 จะเห็นว่า มนุษย์เราถูกตีกรอบจากข้อมูลที่ตัวเราเองรับเข้าไปทุกวันๆ โดยไม่รู้ตัว คนที่มองกรอบที่จำกัดตนเองออก แล้วสามารถหลุดกรอบออกมาได้ นั่นคือคนที่มีปัญญาและมีจินตนาการ ซึ่งการที่จะหลุดออกจากกรอบได้นั้น สามารถเริ่มต้นได้ง่ายๆ ด้วยการฝึกสมาธิ ทำใจนิ่งๆ เพราะการทำสมาธิ ก็เหมือนเราได้เคลียร์กรอบทั้งหลาย ที่มีอยู่ให้หลุดออกไปจากใจของเรา และช่วยทำให้ใจของเราทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และเป็นจินตนาการในทางบวกอีกด้วย

 

----------------------------------------------------------------

หนังสือของสำนักพิมพ์ ทันโลกทันธรรม โดยพระมหาสมชาย ฐานวุฑโฒ
http://www.tltpress.com/

วางแผงจำหน่ายแล้วที่ร้านหนังสือ
ซีเอ็ดบุ๊คเซ็นเตอร์ , นายอินทร์ , ศูนย์หนังสือจุฬา , คิโนะคุนิยะ , บุ๊คสไมล์ ฯลฯ

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0011733333269755 Mins