วิธีเจริญอานาปานสติในพระไตรปิฎก

วันที่ 01 สค. พ.ศ.2558

วิธีเจริญอานาปานสติในพระไตรปิฎก

ในพระไตรปิฎกได้กล่าวถึงวิธีการเจริญอานาปานสติที่เป็นลำดับ 16 ขั้นตอน จนกระทั่ง ผู้ปฏิบัติสามารถหมดกิเลส

            ในการปฏิบัติเมื่อต้องการเจริญอานาปานสติ พระพุทธองค์ทรงแนะนำให้เข้าไปสู่ป่า โคนไม้ หรือเรือนว่าง แล้วให้นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติอยู่เฉพาะหน้า มีสติกำหนดลมหายใจเข้าออก ดังที่พระองค์ตรัสไว้ว่า

“    ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ที่เรือนว่างก็ดี นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เธอมีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า ฯลฯ”4)

 

            ในอรรถกถาท่านอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับความสำคัญของการเจริญอานาปานสติแล้วต้องเข้าไปอยู่ป่า และมีอิริยาบถดังที่กล่าวไว้นั้นดังนี้

           พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแนะนำให้เลือกเสนาะสนะที่เป็น ป่า โคนไม้ หรือเรือนว่าง ว่าเหมาะต่อการเจริญภาวนา เพราะสถานที่เหล่านั้นเป็นที่สงัด ปราศจากสิ่งรบกวน ทำให้เมื่อเจริญอานาปานสติแล้วใจหยุดนิ่งตั้งมั่นเป็นสมาธิได้ง่าย เสนาสนะที่พระองค์แนะนำนั้น มีลักษณะดังนี้ เสนาสนะป่า คือ ที่ที่พ้นจากเขตบ้าน หรือเสนาสนะป่าที่ห่างจากเขตบ้านอย่างน้อย 500 ชั่วธนู (ประมาณ 1 กิโลเมตร) เข้าไปสู่โคนไม้ คือ เข้าไปสู่ที่ใกล้ต้นไม้เพื่อเจริญภาวนา ส่วนการอยู่เรือนว่าง คือ อยู่ในที่สงัดปลอดจากการรบกวน เหตุผลที่ทรงแนะนำที่เหล่านั้นมีอยู่ 3 ประการ คือ

            1.การเข้าสู่ป่า โคนไม้ หรือเรือนว่าง ย่อมเหมาะสมต่อการเจริญอานาปานสติ เพราะจิตนั้นคุ้นอยู่กับการแล่นไปสู่อารมณ์ต่างๆ ภายนอกมานาน เมื่อมาเจริญภาวนา จึงไม่รวมหยุดนิ่งได้โดยง่าย เหมือนเกวียนที่เทียมด้วยวัวดื้อ มักแล่นออกนอกทางอยู่เสมอ เพระฉะนั้น คนเลี้ยงโค เมื่อต้องการฝึกลูกโคที่ดื้อ ซึ่งยังกินนมของแม่โคอยู่ ต้องแยกมันออกจากแม่ ปักหลักขนาดใหญ่ไว้ให้มั่นคง แล้วผูกลูกโคไว้กับหลักนั้น ลูกโคนั้นก็จะดิ้นรนไปมาแต่ก็ไม่อาจหนีไปไหนได้ ในที่สุดก็จะเหนื่อยและหมดพยศนอนหมอบอยู่ที่หลักนั่นเอง

            ในทำนองเดียวกัน นักปฏิบัติ ผู้ต้องการทรมานจิตที่คุ้นเคยอยู่กับอารมณ์ต่างๆ ภายนอก มานาน มีรูป เสียง กลิ่น รส เป็นต้น ต้องพรากจากอารมณ์ มีรูป เป็นต้น นั้นเสีย แล้วเข้าไปสู่ป่า โคนไม้ หรือเรือนว่าง แล้วผูกจิตไว้ด้วยเชือกคือสติ ไว้ที่เสาคือลมหายใจเข้าออก เมื่อจิตถูกผูกไว้อย่างนั้น แม้จะดิ้นรนไปมาเพราะไม่ได้อารมณ์ที่เคยชิน ก็ไม่อาจตัดเชือกคือสติ หนีไปได้ ย่อมจะต้องหมอบอิงอารมณ์กัมมัฏฐาน และเข้าถึงอุปจารสมาธิ และอัปปนาสมาธิ ได้ในที่สุด

 

            2.อีกเหตุผลหนึ่ง เพราะอานาปานสติ เป็นยอดแห่งกัมมัฏฐานที่ทำให้บรรลุคุณวิเศษ และการเข้าอยู่เป็นสุข (ทิฏฐธรรมวิหาร) ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพุทธสาวกทั้งปวง ซึ่งผู้ที่ไม่ได้ละทิ้งถิ่นที่ระงมไปด้วยเสียงคน เสียงสัตว์ ยากที่จะทำให้เกิดขึ้นได้ ด้วยเหตุที่ว่า เสียงเป็นอุปสรรคต่อฌาน ส่วนในป่าเป็นการง่ายที่จะทำให้ฌานเกิดด้วยการเจริญอานาปานสติ แล้วทำฌานให้เป็นฐาน เจริญวิปัสสนาพิจารณาสังขารจนกระทั่งบรรลุพระอรหัตผลได้ในที่สุด

 

            3.อีกอย่างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเป็นเหมือน อาจารย์ผู้ชำนาญการดูพื้นที่ในการสร้างเมือง เมื่อได้ตรวจตราดูพื้นที่จนตลอดแล้ว จึงชี้บอกให้สร้างเมืองตรงนั้นตรงนี้ เมื่อสร้างเมืองได้สำเร็จ ก็ย่อมได้รับการสักการะอย่างมากจากราชตระกูลฉันใด พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงตรวจตราดูเสนาสนะที่เหมาะสมแก่ผู้ปฏิบัติเป็นอย่างดีแล้ว จึงได้ชี้บอกว่าควรเจริญกัมมัฏฐาน ในที่นั้นที่นี้ เมื่อทำตามที่พระองค์แนะนำแล้ว ได้บรรลุอริยผลตามลำดับ จนกระทั่งเป็นพระอรหันต์แล้ว สักการะอันใหญ่หลวงย่อมบังเกิดขึ้นกับพระผู้มีพระภาคเจ้าว่าสมเด็จผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นผู้ตรัสรู้ชอบได้ด้วยพระองค์เอง จริงแท้หนอฯ

           ในเรื่องนี้อุปมาได้ด้วยพญาเสือเหลืองซึ่งอาศัยป่า พงหญ้า ป่ารกเชิงเขาซุ่มอยู่ ย่อมสามารถจับสัตว์ชนิดต่างๆ มีควายป่า ละมั่ง หมูป่า เป็นต้น ฉันใด ผู้ปฏิบัติธรรมเลือกสถานที่ที่เหมาะสมในการเจริญภาวนา มีป่า เป็นต้น ย่อมบรรลุถึง โสดาปัตติมรรค สกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค อรหัตมรรค และอริยผลตามลำดับ ฉันนั้น

 

             ครั้นทรงแนะนำเสนาสนะที่เหมาะสมแก่การบำเพ็ญอานาปานสติในฤดูทั้ง 3 รวมทั้งเหมาะกับธาตุและจริยาแล้ว ทรงแนะนำอิริยาบถที่สงบ และไม่เป็นไปในฝ่ายของความหดหู่และฟุ้งซ่าน คือ อิริยาบถนั่ง ท่านั่งที่นั่งได้นาน ลมหายใจเดินได้สะดวก ทรงแนะนำให้นั่งในท่า คู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติอยู่เฉพาะหน้า คือ นั่งพับขาทั้งสองโดยรอบ(นั่งขัดสมาธิขาขวาทับขาซ้าย) ตั้งกายส่วนบนให้ตรงซึ่งทำให้กระดูกสันหลังทั้ง 18 ข้อจดกัน เหมือนเหรียญที่วางซ้อนกันเป็นชั้นๆ มือขวาทับมือซ้าย เพราะเมื่อนั่งอย่างนี้แล้ว หนัง เนื้อและเส้นเอ็นจะไม่ตึง ทำให้ไม่ปวดไม่เมื่อย เมื่อเป็นอย่างนั้น จิตจะรวมหยุดนิ่งได้โดยง่าย มีความเจริญก้าวหน้าในการเจริญภาวนา เพราะมีสติอยู่กับกัมมัฏฐานตลอดเวลา

 

เมื่อได้เสนาสนะที่เหมาะสม และได้เริ่มเจริญกัมมัฏฐานแล้ว ท่านให้ตั้งสติเฉพาะหน้า แล้วตั้งสติระลึกถึงลมหายใจ ด้วยลักษณะ 16 ประการ5) คือ

            1.เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่าหายใจออกยาว เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่าหายใจเข้ายาว

            2.เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่าหายใจเข้าสั้น เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่าหายใจออกสั้น อาการที่ลมหายใจยาวหรือสั้นนั้น พึงทราบด้วยระยะทางและช่วงเวลาที่หายใจ เหมือนอย่างน้ำหรือทรายที่แผ่ออกไป เป็นพื้นที่กว้างหรือแคบ ก็เรียกน้ำมากทรายกว้าง หรือน้ำน้อยทรายแคบฉันใด ลมหายใจเข้าและลมหายใจออกก็ทำนองเดียวกัน เมื่อแผ่เข้าไปในร่างกายของช้างหรืองู ทำให้ลำตัวของมันเต็มช้าและออกมาช้าเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น จึงกล่าวว่า ลมหายใจของช้างและงูยาว ส่วนลมหายใจที่เข้าไปในร่างกายของของสุนัขและกระต่าย ซึ่งมีลำตัวสั้นและเล็ก เต็มไวและออกมาไว เพราะฉะนั้น จึงกล่าวว่าลมหายใจสั้น

            ส่วนลมหายใจของมนุษย์นั้น เมื่อหายใจออกหรือหายใจเข้า บางคนก็กินเวลานานเหมือนการหายใจของช้างหรืองู บางคนก็หายใจออกหายใจเข้าสั้น เหมือนการหายใจของสุนัขหรือกระต่าย ลมยาวหรือลมสั้นจึงรู้ได้ด้วยระยะเวลาของการหายใจนั่นเองในทางปฏิบัติ ให้เรากำหนดรู้ลมหายใจที่เข้าออกตามปกติ ไม่ต้องไปฝืนหรือบังคับลมให้ยาวหรือสั้น ลมหายใจเข้าออกอย่างไรก็กำหนดรู้อย่างนั้น ลมหายใจเข้ายาวออกยาว ก็รู้ว่าเข้ายาวออกยาว ลมหายใจเข้าสั้นออกสั้น ก็รู้ว่าเข้าสั้นออกสั้น ทำเพียงเท่านี้แค่นี้เท่านั้น

 

            3.ย่อมศึกษา6) ว่าเรารู้กายทั้งปวงหายใจเข้าออก กายในที่นี้คือ ลมหายใจ การรู้กายทั้งปวงนี้ คือ การรู้ลมหายใจที่มีอยู่ในร่างกาย คือ ทำเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด แห่งกอง ลมหายใจเข้าทั้งสิ้นให้รู้แจ้ง คือทำให้ปรากฏหายใจเข้า (และ) ย่อมสำเหนียกว่า เราจักทำเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด แห่งกองลมหายใจออกทั้งสิ้นให้รู้แจ้ง คือทำให้ปรากฏหายใจออก เมื่อเธอทำให้รู้แจ้ง คือทำให้ปรากฏด้วยอาการอย่างนั้น ย่อมหายใจเข้าและหายใจออก ด้วยจิตที่ สัมปยุตด้วยญาณ เพราะฉะนั้น ท่านจึงเรียกว่า ย่อมสำเหนียกว่า เราจักหายใจเข้า จักหายใจออก

             ในกรณีที่มีการเคลื่อนไหวอันเกิดจากการหายใจเข้า ปลายจมูกเป็นจุดเริ่มต้น หัวใจเป็นจุดกลาง และสะดือเป็นจุดสุดท้าย ในการหายใจออก สะดือเป็นจุดเริ่มต้น หัวใจเป็นจุดกลาง และปลายลมเป็นจุดสุดท้าย ธรรมดาว่า เบื้องต้นในกองลมหายใจเข้าหรือในกองลมหายใจออกที่แล่นไปอย่างละเอียด ย่อมปรากฏแก่บางคน แต่ท่ามกลางและที่สุดไม่ปรากฏ เขาย่อมสามารถกำหนดได้เฉพาะเบื้องต้นเท่านั้น ย่อมกำหนดไม่ได้ในท่ามกลางและที่สุด บางคนย่อมปรากฏแต่ท่ามกลาง เบื้องต้น และที่สุด ไม่ปรากฏ เขาย่อมสามารถกำหนดได้เฉพาะท่ามกลางเท่านั้น ไม่สามารถกำหนดได้ในเบื้องต้นและที่สุด บางคนย่อมปรากฏแต่ที่สุด เบื้องต้นและท่ามกลางไม่ปรากฏ เขาย่อมสามารถกำหนดได้เฉพาะที่สุดเท่านั้น ไม่สามารถกำหนดได้ในเบื้องต้นและท่ามกลาง บางคนย่อมปรากฏได้แม้ทั้งหมด เมื่อเขาสามารถกำหนดได้แม้ทั้งหมด พระพุทธองค์ทรงประสงค์ ให้กำหนดให้ได้ทั้งหมด จึงจะได้ชื่อว่า รู้แจ้งซึ่งกองลมทั้งปวงหายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่าเราจักรู้แจ้งซึ่งกองลมทั้งปวงหายใจออก

 

            4.ย่อมศึกษาว่าเราจักยังกายสังขารให้สงบหายใจเข้าออก กายสังขาร หมายถึง ลมหายใจเข้าออก การหายใจเข้าออกด้วยกายสังขาร เช่น โน้มตัวลง ก้มตัวลง โค้งตัวลงโน้มไปข้างหน้า เอี้ยวตัว เอน คู้ เคลื่อน แกว่ง สั่น ไหว เมื่อทำความเพียรต่อไปด้วยคิดว่าเราจะทำอาการที่ไม่สงบเหล่านี้ให้สงบให้นิ่งด้วยการกำหนดลมหายใจเข้าออก กายสังขารที่หยาบก็จะค่อยๆ สงบระงับ มีความรู้สึกว่ากายเบาใจเบา ลมหายใจละเอียดอ่อน จากนั้นก็บำเพ็ญปฐมฌานโดยอาศัยกายที่ละเอียด จากนั้นก้าวไปสู่ทุติยฌาน โดยอาศัยกายสังขารที่ละเอียด ยิ่งขึ้น จากนั้นก้าวไปสู่ตติยฌานโดยอาศัยกายสังขารที่ละเอียดยิ่งกว่า จากนั้นก้าวไปสู่จตุตถฌาน เมื่อได้ทำกายสังขารให้ดับสิ้นโดยไม่เหลือ (ลมหายใจเข้าออกหยุดเมื่อเข้าถึงระดับของฌาน 4)

 

            5.ย่อมศึกษาว่าเรารู้ปีติหายใจเข้าออก การเจริญสมาธิด้วยการกำหนดลมหายใจเข้าออก เมื่อถึงในระดับของฌานที่ 2 องค์ฌาน คือ ปีติ จะปรากฏอยู่ในขั้นนี้ ซึ่งสามารถรู้ได้ด้วยวิธีการ 2 อย่าง คือ โดยอารมณ์ และโดยความไม่หลงคือ เมื่อได้บรรลุฌาน 2 ประเภทแรก ย่อมได้รับปีติอันเนื่องมาจากความสำเร็จซึ่งเกิดจากการรู้แจ้งอารมณ์นั้น และเมื่อออกจากฌานทั้งสองซึ่งมีปีติแล้ว ย่อมพิจารณาปีตินั้นซึ่งประกอบด้วยฌานและรู้แจ้งว่าปีตินั้นเป็นปีติชั่วคราวและไม่ถาวร ในขณะที่รู้แจ้งแทงตลอดลักษณะของปีติโดยอาศัยวิปัสสนา ย่อมมีปีติเพราะไม่มีความสับสนใดๆ

            6.ย่อมศึกษาว่าเรารู้สุขหายใจเข้าออก การเจริญสมาธิด้วยการกำหนดลมหายใจเข้าออก เมื่อถึงในระดับของฌานที่ 3 องค์ฌาน คือ สุข จะปรากฏอยู่ในขั้นนี้ สามารถรู้ได้ด้วยวิธีการ 2 อย่าง คือ โดยอารมณ์และโดยความไม่หลง

 

            7.ย่อมศึกษาว่าเรารู้จิตตสังขารหายใจเข้าออก คำว่าจิตสังขาร หมายถึง สัญญา7) และเวทนา8) ซึ่งจิตตสังขารนี้จะเกิดขึ้นในฌานที่ 4 สามารถรู้ได้ 2 วิธี คือ โดยความไม่หลง และโดยอารมณ์

            8.ย่อมศึกษาว่าเราระงับจิตตสังขารหายใจเข้าออก จิตตสังขารได้อธิบายผ่านมาแล้วในตอนต้น

            9.ย่อมศึกษาว่าเรารู้จิตหายใจเข้าออก นั้นคือ เมื่อใส่ใจถึงลมหายใจเข้าออกอยู่จิตรู้การเข้ามาและออกไปของอารมณ์ ซึ่งรู้ได้ด้วยวิธีการ 2 อย่าง คือ โดยความไม่หลง และโดยอารมณ์

 

            10.ย่อมศึกษาว่าเราทำจิตให้รื่นเริงหายใจเข้าออก ปีติ คือ ความรื่นเริง ซึ่งปีติเกิดขึ้นในฌานที่ 2 ทำจิตให้รื่นเริงด้วยอำนาจสมาธิและวิปัสสนา

             11.ย่อมศึกษาว่าเราทำจิตให้ตั้งมั่นหายใจเข้าออก นั้นคือ ผู้ปฏิบัติใส่ใจถึงลมหายใจที่เข้ามาและออกไป ได้ทำจิตให้ตั้งมั่นอยู่กับอารมณ์และด้วยฌาน เมื่อทำจิตให้ตั้งมั่นแล้ว ความสำเร็จก็เกิดขึ้น (ประสบความสำเร็จในการเจริญอานาปานสติ)

           12.ย่อมศึกษาว่าเราทำจิตให้หลุดพ้นหายใจเข้าออก ผู้ปฏิบัตินั้นได้ใส่ใจถึงลมหายใจเข้าลมหายใจออก ถ้าจิตเฉื่อยชา หดหู่ ก็ทำให้หลุดพ้นจากความเฉื่อยชา หดหู่ ถ้าจิตขวนขวายมากเกินไปเกิดความฟุ้งซ่าน ก็ทำจิตให้พ้นจากความฟุ้งซ่าน ถ้าจิตฟูขึ้น ก็ทำจิตให้พ้นจากราคะ ถ้าจิตคับแค้น ก็ทำจิตให้พ้นจากความคับแค้น ถ้าจิตเศร้าหมอง ก็ทำจิตให้พ้นจากอุปกิเลส (โทษเครื่องเศร้าหมอง) ถ้าจิตไม่มุ่งต่ออารมณ์และไม่พอใจอยู่ในอารมณ์นั้น ก็ทำจิตให้มุ่งหน้าต่ออารมณ์นั้น การทำดังกล่าวมาทั้งหมดนี้ เรียกว่าทำจิตให้หลุดพ้น

 

            13.ย่อมศึกษาว่าเรากำหนดรู้ความไม่เที่ยงหายใจเข้าออก คือ การกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก อารมณ์ของลมหายใจเข้าออก จิต9)และเจตสิก10) และการเกิดขึ้นของจิตและเจตสิกนั้น

            14.ย่อมศึกษาว่าเราเห็นความไม่กำหนัดหายใจเข้าออก คือ กำหนดลมหายใจเข้าออก ด้วยความคิดอย่างนี้ว่า “    นี้ คือความไม่เที่ยง นี้คือความไม่กำหนัด นี้คือความดับ นี้เป็นนิพพาน”

 

           15.ย่อมศึกษาว่าเราเห็นความดับกิเลสหายใจเข้าออก คือ เมื่อเรารู้ชัดนิวรณ์11) ทั้งหลายตามความเป็นจริงแล้วคิดว่า นิวรณ์เหล่านี้ไม่เที่ยง ความดับของนิวรณ์เหล่านี้ คือ นิพพาน เรามีความเห็นที่สงบ

            16.ย่อมศึกษาว่าเราเห็นการสละคืนกิเลสหายใจเข้าออก คือ รู้ชัดทุกข์โทษภัย ตามความเป็นจริง คิดว่าสิ่งเหล่านี้ไม่เที่ยง แล้วทำตัวเองให้พ้นจากทุกข์โทษภัยไปอยู่ในความดับ คือ นิพพาน เราสำเหนียกอย่างนี้แล้วบรรลุความสุข ความสงบ ความประณีต บัณฑิตทั้งหลายพึงเข้าใจอย่างนี้ว่า สังขารทุกอย่างถูกนำไปสู่ความระงับ กิเลสทุกอย่างถูกละทิ้งไป ตัณหาถูกทำลาย ราคะสิ้นไป เป็นความสงบที่เกิดจากนิพพาน

ในวิธีฝึกอานาปานสติทั้ง 16 วิธีนี้ 12 วิธีแรกทำให้ได้ทั้งสมถะและวิปัสสนา ส่วน 4 วิธีหลัง ทำให้ได้วิปัสสนาอย่างเดียว

------------------------------------------------------------------------------

 4) สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค, มก. เล่ม 24 ข้อ 1352 หน้า 230.
5) มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์, มก. เล่ม 22 ข้อ 288 หน้า 367.
6) ย่อมศึกษา คือ ย่อมเสพ ย่อมเจริญ ย่อมทำให้มาก ด้วยสตินั้น ด้วยการใฝ่ใจในอารมณ์ คืออานาปานสติ.
7) สัญญา ความจำได้หมายรู้ คือ หมายรู้ไว้ซึ่ง รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสและอารมณ์ที่เกิดกับใจ.
8) เวทนา คือ ความเสวยอารมณ์, ความรู้สึกสุข ทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์.
9) จิต คือ ธรรมชาติที่รู้อารมณ์
10) เจตสิก คือ ธรรมที่ประกอบกับจิต, อาการหรือคุณสมบัติของจิต หมายถึงกิเลสและคุณธรรมทั้งปวง เช่น ความโลภ ความโกรธ ความหลง ศร้ทธา เมตตา สติ ปัญญา เป็นต้น.
11) นิวรณ์ คือ ธรรมที่กั้นจิตไม่ให้บรรลุความดี มีอยู่ 5 อย่าง คือ กามฉันทะ (ความพอใจในกามคุณ 5) พยาบาท (ความปองร้ายผู้อื่น) ถีนมิทธะ (ความหดหู่เชื่องซึม) อุทธัจจกุกุจจะ (ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ) วิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย).

 

 สมถกัมมัฏฐาน 40 วิธี


 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.013091333707174 Mins