ลักษณะของใจ

วันที่ 11 สค. พ.ศ.2558

 

ลักษณะของใจ

พระมงคลเทพมุนี ได้อธิบายลักษณะของใจไว้ว่า

” อะไรที่เรียกว่าใจ เห็นอย่างหนึ่ง จำอย่างหนึ่ง คิดอย่างหนึ่ง รู้อย่างหนึ่ง 4 อย่างนี้รวมเข้าเป็นจุดเดียวกัน นั่นแหละเรียกว่า ใจ อยู่ที่ไหน อยู่ในเบาะ น้ำเลี้ยงหัวใจ คือ ความเห็นอยู่ที่ท่ามกลางกาย ความจำอยู่ที่ท่ามกลางเนื้อหัวใจ ความคิดอยู่ท่ามกลางดวงจิต ความรู้อยู่ท่ามกลางดวงวิญญาณ เห็น จำ คิด รู้ 4 ประการนี้ หมดทั้งร่างกาย ส่วนเห็น เป็นต้นของรู้ ส่วนจำ เป็นต้นของเนื้อหัวใจ ส่วนคิด เป็นต้นของดวงจิต ส่วนรู้ เป็นต้นของดวงวิญญาณ ดวงวิญญาณ เท่าดวงตาดำข้างในอยู่ในกลางดวงจิต ดวงจิต เท่าดวงตาดำข้างนอกอยู่ในกลางเนื้อหัวใจ ดวงจำ กว้างออกไปอีกหน่อยหนึ่งเท่าดวงตาทั้งหมด ดวงเห็น อยู่ในกลางกายโตกว่าดวงตาออกไป นั่นเป็นดวงเห็น”3)

 

            จากคำเทศนาของพระมงคลเทพมุนี นักศึกษาจะเห็นว่าท่านอธิบายลักษณะของใจว่า คือ เห็น จำ คิด รู้ และบอกที่อยู่ของใจไว้ ว่าอยู่ที่เบาะน้ำเลี้ยงหัวใจ ซึ่งจะอธิบายเพิ่มเติมให้เข้าใจเกี่ยวกับ ใจ และเห็น จำ คิด รู้ ดังนี้

1.ความเห็นอยู่ท่ามกลางกาย คือ อยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ 7                                                                                 2.ความจำอยู่กลางเนื้อหัวใจอยู่ซ้อนกับดวงจิต หัวใจส่วนใหญ่จะอยู่ตรงกลางทรวงอก มีตรงปลายคล้ายๆ กับดอกบัวจะเยื้องไปทางอกซีกซ้าย แต่ส่วนใหญ่จะไปอยู่ตรงกลาง มีขนาดเท่ากำปั้น กลางเนื้อหัวใจจะมีบ่อน้ำเลี้ยงหัวใจลอยอยู่ แล้วก็จะมีดวงจิตของเราไปลอยอยู่ในกลางบ่อน้ำเลี้ยง ถ้าส่วนหยาบก็เป็นเลือด ส่วนละเอียดก็เป็นน้ำใสๆ ไม่ว่าจะผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจก็ตาม ส่วนละเอียดก็จะยังอยู่ ดวงจิตอยู่ตรงกลางเนื้อหัวใจนี้ความจำก็ซ้อนอยู่กับดวงจิตนี้               3.ความคิดอยู่ท่ามกลางดวงจิต ลอยอยู่ท่ามกลางเบาะน้ำเลี้ยงหัวใจ                                                                       4.ความรู้อยู่อยู่ท่ามกลางดวงวิญญาณ

อธิบายเป็นภาพคือ

 

เห็น จำ คิด รู้ 4 อย่างนี้เข้ามารวมเป็นจุดเดียวกัน เรียกว่า ใจ

            การที่พระมงคลเทพมุนีอธิบายลักษณะของที่ตั้งใจว่าอยู่ที่เบาะน้ำเลี้ยงหัวใจ และมีความเห็นอยู่ที่ท่ามกลางกาย ความจำอยู่ที่ท่ามกลางเนื้อหัวใจ ความคิดอยู่ท่ามกลางดวงจิต ความรู้ อยู่ท่ามกลางดวงวิญญาณเช่นนี้ เป็นการอธิบายลักษณะการทำงานของเห็น จำ คิด รู้ ที่เดินทาง ออกมาจากศูนย์กลางกาย เพราะในภาคปฏิบัติพบว่า ใจอยู่ที่ศูนย์กลางกาย แต่เมื่อใจทำหน้าที่ ในการรับอารมณ์ทางอายตนะต่างๆ ใจซึ่งเป็นเหมือนสถานีต้นจะส่งเห็น จำ คิด รู้ ออกมาเพื่อทำหน้าที่รับอารมณ์ โดยจะส่งผ่านมาที่หัวใจก่อน ซึ่งเป็นเหมือนสถานีกลาง ที่จะเชื่อมโยง ระหว่างส่วนละเอียดกับส่วนหยาบ คือ ประสาทตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เมื่อความเห็น ความจำ ความคิด ความรู้ มาอยู่ที่หัวใจแล้ว ก็จะส่งไปยังฐานต่างๆ ทั้ง 5 ฐาน คือ เพลาตา กลางกั๊ก เพดานปากที่อาหารสำลัก ปากช่องคอเหนือลูกกระเดือก กลางลำตัว ซึ่งเป็นศูนย์รวมอายตนะต่างๆ เมื่อรับอารมณ์ต่างๆ แล้วก็จะส่งสัญญาณกลับไปที่หัวใจ และกลับไปที่ศูนย์กลางกาย

            ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า สถานีต้นของใจจะอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ 7 สถานีกลางจะอยู่ที่เนื้อหัวใจคอยเป็นตัวเชื่อมระหว่างหยาบและละเอียด สถานีปลายจะอยู่ตามฐานต่างๆ อีก 5 ฐาน จากที่กล่าวมาข้างต้น นักศึกษาจะเห็นว่า จิตเป็นแค่ส่วนหนึ่งของใจ หัวของใจจะอยู่ที่กลางทรวงอก ตัวของใจจะอยู่ที่ฐานที่ 7

 

------------------------------------------------------------------------

3) เอกสารรวบรวมพระธรรมเทศนา (พระมงคลเทพมุนี), กรุงเทพฯ : อาคารทวีสินคอมเพล็กซ์, 2539.

MD 408 สมาธิ 8: วิปัสสนากัมมัฏฐาน

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.026869666576385 Mins