เวทนาขันธ์

วันที่ 14 สค. พ.ศ.2558

 

เวทนาขันธ์

เวทนาขันธ์ หมายถึง การเสวยอารมณ์ การรับอารมณ์ การรู้อารมณ์

เวทนาเมื่อแยกแบ่งได้ 3 อย่าง คือ

1.สุขเวทนา เป็นความรู้สึกสุข คือ สบายกาย สบายใจ

2.ทุกขเวทนา เป็นความรู้สึกทุกข์ คือ ไม่สบายกาย ไม่สบายใจ

3.อทุกขมสุขเวทนา เป็นความรู้สึกไม่สุขไม่ทุกข์ เฉยๆ

 

            เวทนาเกิดจากการที่มีวัตถุภายนอกมากระทบประสาทสัมผัสทั้ง 5 แล้วส่งไปให้ใจ ใจรับเอาไว้แล้วจึงเกิดเป็นความรู้สึกขึ้นมา เช่น มีรูปมากระทบ ประสาทตาส่งไปให้ใจ ใจรับเอาไว้ คือ เห็น เมื่อเห็นแล้วก็เกิดความรู้สึกว่า รูปนี้สวย จึงเกิดความสบายใจ หรือไปเห็นสุนัขเน่า ทั้งตัว จึงไม่สบายใจ เป็นทุกข์ หรือเห็นคนที่หน้าตาธรรมดา จึงเกิดความรู้สึกเฉยๆ

            เมื่อมีเสียงมากระทบหู ประสาทหูส่งไปให้ใจ ใจรับเอาไว้ เรียกว่า ได้ยิน เมื่อได้ยินแล้วก็อาจจะสุข เพราะว่าเสียงนั้นเป็นเสียงชม อาจจะทุกข์ เพราะว่าเป็นคำนินทา อาจจะเฉยๆ เพราะว่าไม่รู้ว่าเขาพูดเรื่องอะไร เมื่อมีกลิ่นมากระทบจมูก ประสาทจมูกส่งไปให้ใจ ใจก็รับเอาไว้ เรียกว่า ได้กลิ่น เมื่อได้กลิ่นแล้วก็เกิดเวทนา เช่น ถ้าหอมก็เกิดความสบายใจ ถ้าเหม็นก็เกิดความทุกข์ หรือมีกลิ่นนิดๆ หน่อยๆ จึงไม่ได้รู้สึกอะไร เฉยๆ

            เมื่อรสมากระทบลิ้น ประสาทลิ้นก็ส่งไปให้ใจ ใจก็รับเอาไว้ เรียกว่า ลิ้มรส เมื่อลิ้มรสก็เกิดเวทนาขึ้นทันที ถ้าอร่อยสุขเวทนาก็เกิดทันที ถ้าเผ็ดหรือขมปี๋ ทุกขเวทนาก็เกิดหรือไม่ก็เฉยๆ เมื่อมีวัตถุมากระทบกาย ประสาทกายส่งให้ใจ ใจก็รับเอาไว้ เมื่อรับเอาไว้ก็เกิดเวทนาขึ้นมาว่า เย็น ร้อน อ่อน แข็ง นิ่ง กระด้าง1)

------------------------------------------------------------

1) พระภาวนาวิริยคุณ (เผด็จ ทตฺตชีโว), พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ, กรุงเทพฯ : นฤมิต โซล(เพรส), 2546, หน้า 118-119.

MD 408 สมาธิ 8: วิปัสสนากัมมัฏฐาน

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0091223359107971 Mins