ชนกกรรม

วันที่ 26 สค. พ.ศ.2558

 

ชนกกรรม

 ความหมายของชนกกรรม

            ชนกกรรม หมายถึง กรรมที่ทำหน้าที่นำสัตว์ไปเกิดในภพภูมิต่างๆ เพราะการที่สัตวโลกจะเกิดขึ้นมาได้ในภพ 3 เช่น สัตว์เดรัจฉาน มนุษย์ เทวดา เป็นต้น ย่อมเกิดขึ้นด้วยอำนาจแห่งชนกกรรมทั้งสิ้น

 

 ลักษณะของชนกกรรม

            จากความหมายข้างต้นจึงอาจเปรียบชนกกรรมเสมือนมารดาผู้ให้กำเนิดบุตร เพราะมารดาย่อมมีหน้าที่ให้กำเนิดบุตร ชนกกรรมก็เช่นกัน มีหน้าที่เพียงนำสัตว์ทั้งหลายให้เกิดขึ้นเท่านั้น พอสัตว์นั้นเกิดแล้วก็หมดหน้าที่ของชนกกรรม นอกจากนี้ชนกกรรมยังทำหน้าที่ในการตกแต่งสัตว์ในแต่ละภพภูมิให้มีอวัยวะแตกต่างกัน เช่น ตา หู จมูก ปาก แขน ขา ให้เหมาะสมกับภาวะของสัตว์แต่ละประเภทในแต่ละภพภูมิ เช่นว่าเกิดเป็นคนต้องมีลักษณะอย่างนี้ เกิดเป็นสัตว์ชนิดนี้ต้องมีรูปร่างลักษณะอย่างนี้ นอกจากนี้การที่สัตวโลกมีสภาพแตกต่างกัน เช่น ร่างกายพิกลพิการ หรือสมบูรณ์แข็งแรง รูปร่างงดงามหรืออัปลักษณ์ เกิดมาในตระกูลสูงหรือต่ำ ฉลาดหรือโง่ ร่ำรวยหรือยากจน ล้วนเกิดจากชนกกรรมที่ให้ผลในคราวเดียวกับที่นำไปเกิดด้วยเช่นกัน ชนกกรรมจึงเป็นใหญ่ในการนำสัตว์ไปเกิด กรรมอื่นจะมาแทรกแซงแย่งทำหน้าที่ไม่ได้ เพราะชนกกรรมทำหน้าที่ตามลำพังในขณะนั้น เปรียบเสมือนมารดากำลังคลอดทารก ย่อมทำหน้าที่คลอดเพียงคนเดียว คนอื่นจะมาแย่งหน้าที่คลอดร่วมด้วยในขณะนั้นไม่ได้

            ชนกกรรมมีอยู่ 2 ฝ่าย คือ ชนกกรรมฝ่ายที่เป็นอกุศล และชนกกรรมฝ่ายที่เป็นกุศล ชนกกรรมฝ่ายที่เป็นอกุศลนั้น เมื่อทำหน้าที่นำให้สัตว์ไปเกิดนั้น ย่อมผลักดันให้ไปเกิดในทุคติภูมิ คือ อบายภูมิทั้ง 4 มีนรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน ดังเช่นกรณีศึกษาในเรื่องต่อไปนี้

 

 กรณีศึกษาจากพระไตรปิฎกฝ่ายอกุศลกรรม

บุพกรรมของสัตว์นรก 4 ตน1)

            ในสมัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า พระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า มีบุตรเศรษฐี 4 คน เป็นสหายรักใคร่สนิทสนมกันมาก ทั้ง 4 คนแม้มีทรัพย์สมบัติมาก ก็ไม่ได้ใช้ให้เกิดประโยชน์ กลับเป็นผู้ประมาท ทำแต่บาปอกุศล ไม่ตั้งอยู่ในศีล ประพฤติผิดในภรรยาคนอื่น เมื่อละโลกแล้วได้ไปบังเกิดในโลหกุมภีนรก รับทุกข์ทรมานมานาน 60,000 ปี สัตว์นรก 4 ตนนั้น เมื่อขึ้นมาถึงขอบปากโลหกุมภีแต่ละตนต่างปรารถนาจะบอกความในใจของตน จึงเปล่งคำพูดออกมา

สัตว์นรกตนแรกต้องการจะกล่าวว่า

“    ทุชฺชีวิตมชีวมฺหา เยสํ เตน ททามฺหเส วิชฺชมาเนสุ โภเคสุ ทีปนฺนากมฺห อตฺตโน” แปลว่า พวกเราเมื่อมีโภคทรัพย์สมบัติอยู่ ไม่ได้ให้ทาน ไม่ได้ทำที่พึ่งสำหรับตน จัดว่ามีชีวิตอยู่อย่างชั่วช้า แต่สัตว์นรกนั้นไม่สามารถที่จะกล่าวคำพูดที่ตนประสงค์จะพูดได้ตามที่ต้องการ จึงแค่กล่าวคำว่า ทุ เท่านั้น ก็ต้องจมหายลงไปในหม้อเหล็กร้อนใหญ่โตที่มีไฟนรกลุกไหม้ตลอดเวลา

สัตว์นรกตนที่ 2 ต้องการจะกล่าวว่า

“    สฏฺฐิวสฺสสหสฺสานิ ปริปุณฺณานิ สพฺพโส นิรเย ปจฺจมานานํ กทา อนฺโต ภวิสฺสติ” แปลว่า เราไหม้อยู่ในนรกตั้ง 60,000 ปีเต็ม ครบทุกอย่าง เมื่อไรจักสิ้นสุดกันเสียที แต่สัตว์นรกตนนี้ กล่าวได้แค่เพียงอักษรตัวแรกว่า ส เท่านั้น ก็จมหายลงไปในหม้อเหล็กร้อนที่มีไฟนรกลุกไหม้ตลอดเวลา

สัตว์นรกตนที่ 3 ต้องการจะกล่าวว่า

“    นตฺถิ อนฺโต กุโต อนฺโต น อนฺโต ปฏิทิสฺสติ ตทา หิ ปกตํ ปาปํ มม ตุมฺหญฺจ มาริสา” แปลว่า ไม่มีสิ้นสุด จะสิ้นสุดได้แต่ที่ไหน ความสิ้นสุดไม่ปรากฏเลย พวกเราเอ๋ย ก็เพราะข้ากับเจ้าทำบาปกรรมไว้มากในครั้งนั้น แต่สัตว์นรกตนนี้กล่าวได้แค่เพียงอักษรตัวแรกว่า น เท่านั้น ก็จมหายลงไปในหม้อเหล็กร้อนที่มีไฟนรกลุกไหม้ตลอดเวลา

สัตว์นรกตนที่ 4 ต้องการจะกล่าวว่า

“    โสหํ นูน อิโต คนฺตฺวา โยนึ ลทฺธาน มานุสึ วทญฺญู สีลสมฺปนฺโน กาหามิ กุสลํ พหุํ” แปลว่า ถ้าเราพ้นไปจากโลหกุมภีนรกนี้แล้ว ได้กำเนิดเป็นมนุษย์ จักให้ทาน รักษาศีลให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ จักสร้างกุศลไว้ให้มาก แต่กล่าวได้แค่เพียงคำว่า โส เท่านั้น ก็จมหายลงไปในหม้อเหล็กร้อนเฉกเช่นเดียวกับสัตว์นรกทั้ง 3 ตน

อกุศลกรรมที่บุตรเศรษฐีทั้ง 4 คนได้กระทำไว้ตลอดชีวิต ทำให้เป็นชนกกรรมที่นำทั้ง 4 คนนั้นไปเกิดเป็นสัตว์นรกถูกไฟนรกเผาไหม้ที่โลหกุมภีนรก ได้รับทุกข์โทษอย่างยาวนาน

ส่วนชนกกรรมที่เป็นฝ่ายกุศลนั้น เมื่อทำหน้าที่นำให้สัตว์ไปเกิดนั้น ย่อมผลักดันให้ไปเกิดในสุคติภูมิ ดังเช่นกรณีศึกษาในเรื่องต่อไปนี้

 

กรณีศึกษาจากพระไตรปิฎกฝ่ายกุศลกรรม

คติของอุบาสกผู้มีศรัทธา2)

            ในสมัยพุทธกาล มีอุบาสกคนหนึ่งเป็นผู้มีความศรัทธาเลื่อมใสในพระรัตนตรัยเป็นอย่างยิ่ง รักใคร่ในพระพุทธศาสนา เคารพในโอวาทของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตั้งใจประกอบกุศลธรรม และรักษาศีล 5 เนืองนิตย์ เมื่อถึงวันอุโบสถ คือวันพระ ก็ตั้งใจสมาทานถืออุโบสถศีล และถวายอาหารบิณฑบาตแด่เหล่าพระภิกษุ จากนั้นจึงแต่งกายด้วยชุดขาว นำน้ำอัฐบานไปถวายแด่พระภิกษุสามเณรยังพระเวฬุวันวิหาร ถวายน้ำอัฐบานแล้วได้เข้าไปฟังธรรมจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตลอดชีวิตอุบาสกท่านนี้ตั้งใจประกอบแต่กุศลกรรม จนชื่อเสียงในการทำคุณงามความดีของเขาแพร่กระจายเป็นที่รู้จักทั่วกันในยุคนั้น

            เมื่อสิ้นชีวิตกุศลกรรมที่เขาสั่งสมไว้ ได้กลายเป็นชนกกรรมนำให้เขาไปเกิดเป็นเทพบุตร ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีช้างเผือกขาวปลอด ร่างสูงใหญ่ประดับร่างกายด้วยเครื่องประดับสวยงามอลังการ เกิดเป็นช้างทิพย์สำหรับเป็นพาหนะในการเดินทางไปในที่ต่างๆ ซึ่งช้างเผือกทิพย์นี้เกิดขึ้นด้วยบุญของเทพบุตรนั้น เมื่อจะเดินทางไปในที่แห่งใดเทพบุตรก็จะขึ้นขี่ช้างออกจากวิมาน มีบริวารแวดล้อมจำนวนมาก

            คืนหนึ่งเทพบุตร อดีตอุบาสกนั้น ระลึกถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงประดับร่างกายด้วยเครื่องประดับ และผ้าอันเป็นทิพย์งดงามวิจิตรอลังการ ขึ้นขี่ช้างเผือกอันเป็นทิพย์นั้น แวดล้อมด้วยเทพบริวารออกจากวิมาน ลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มาเข้าเฝ้ากราบสักการะที่พระบาทของพระพุทธองค์ ณ พระเวฬุวันมหาวิหาร

            ขณะที่เทพบุตรมาเข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่นั้น พระวังคีสะซึ่งเป็นพระอรหันต์และอยู่ในที่นั้น เห็นเทพบุตรซึ่งมีความรุ่งเรืองสว่างไสวงดงามด้วยอานุภาพมากมาย พระเถระมีความประสงค์จะสนทนาด้วย จึงกราบทูลขอพุทธานุญาตจากพระพุทธองค์ เมื่อได้รับพุทธานุญาตแล้ว พระวังคีสะจึงถามเทพบุตรถึงเหตุที่ได้ทิพยสมบัติอันโอฬารนั้น เทพบุตรเมื่อจะบอกบุพกรรมของตนจึงพนมมือนมัสการตอบถึงเหตุที่ตนได้ทิพยสมบัตินั้นว่า

            ครั้งเมื่อเป็นมนุษย์ ได้ฟังธรรมจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วก็ปฏิญาณตนเป็นอุบาสกตั้งใจรักษาศีล 5 คือ งดเว้นการฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ การประพฤติผิดในกาม การกล่าวคำเท็จ และการเสพสุรา นอกจากนั้นก็ยังมีจิตเลื่อมใสถวายข้าวและน้ำแด่พระภิกษุสามเณรโดยความเคารพ ถึงวันอุโบสถ ก็ตั้งใจสมาทานอุโบสถ ถือศีล 8 สิ้นชีวิตจากความเป็นมนุษย์แล้วจึงได้ไปบังเกิดเป็นเทพบุตร ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และมีทิพยสมบัติดังที่พระวังคีสะเห็น เมื่อบอกบุพกรรมของตนแก่พระเถระแล้ว เทพบุตรจึงถวายนมัสการลาพระพุทธองค์และกราบนมัสการลาพระวังคีสเถระ กลับไปสู่วิมานของตน กุศลกรรมที่อุบาสกท่านนี้กระทำไว้เมื่อครั้งเป็นมนุษย์ ได้เป็นชนกกรรมนำท่านไปเกิดยังเทวภูมิ คือ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีบริวารและทรัพย์สมบัติมากมาย

-------------------------------------------------------------------

1) ยัญญสูตร, อรรถกถาสังยุตตนิกาย สคาถวรรค, มก. เล่มที่ 24 หน้า 438.
2) อรรถกถาทุติยนาควิมาน, ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ, มก. เล่ม 48 หน้า 489.

GL 203 กฎแห่งกรรม
กลุ่มวิชาเป้าหมายชีวิต


 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.035384281476339 Mins