ปฏิปทาให้ถึงความดับแห่งกรรม

วันที่ 22 สค. พ.ศ.2558

 

 ปฏิปทาให้ถึงความดับแห่งกรรม

            อวิชชาคือความไม่รู้ เมื่อไม่รู้จึงถูกกิเลสครอบงำได้ง่าย ทำให้หมู่สัตว์เห็นผิดเพี้ยนในการกระทำทางกาย ทางวาจา และทางใจ จึงส่งผลทำให้เกิดการเวียนว่ายตายเกิด มีสังขารมีวิญญาณรองรับ ถือกำเนิดในรูปแบบต่างๆ ตามแต่กรรมนำไป เมื่อมีกายและจิตแล้วทำให้พร้อมต่อการรับรู้สิ่งต่างๆ ทั้งดีและไม่ดี เมื่อตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกสูดดมกลิ่น กายรับรู้การสัมผัส ทั้งหมดนี้จะส่งความรู้สึกไปที่ใจ ใจก็จะ รับรู้และเก็บสิ่งที่ดีหรือไม่ดีนั้นไว้ จากตรงจุดนี้จึงเป็นมูลเหตุที่ก่อให้เกิดกรรม ซึ่งพระพุทธองค์ตรัสถึงการดับกรรมไว้ว่า “    ความดับแห่งกรรมย่อมเกิดขึ้น เพราะความดับแห่งผัสสะ”35) หมายความว่าถ้าดับผัสสะการกระทบนี้ได้แล้วสิ่งที่จะไม่เกิดก็คือ การรับรู้ว่าสุขทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ อันเป็นปัจจัยให้เกิดความตัณหาความทะยานอยาก ส่งทอดทำให้เกิดความยึดมั่นถือมั่น ข้องติดอยู่ในภพ ชาติ การเวียนว่ายตายเกิดใน วัฏสงสารแห่งทุกข์นี้ไม่รู้จบสิ้น ดังนั้นจึงตรัสว่า จะดับกรรมต้องป้องกันการกระทบรับรู้นั้นด้วยปฏิปทาให้ถึงความดับแห่งกรรม คือ อริยมรรคมีองค์ 8 ประการ

1) สัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูกต้อง

2) สัมมาสังกัปปะ ความคิดถูกต้อง

3) สัมมาวาจา วาจาถูกต้อง

4) สัมมากัมมันตะ การงานถูกต้อง

5) สัมมาอาชีวะ อาชีพถูกต้อง

6) สัมมาวายามะ พยายามถูกต้อง

7) สัมมาสติ ระลึกถูกต้อง

8) สัมมาสมาธิ ความตั้งใจไว้ถูกต้อง

 

พระพุทธองค์ตรัสกับสุภัททะว่า

“    อริยมรรคมีองค์ 8 มีแต่ในพระธรรมวินัยนี้ สมณะ 4 คู่ 8 ประเภท ก็มีแต่ในพระธรรมวินัยนี้เท่านั้น ไม่สามารถหาได้ในลัทธิอื่น”36) สมณะ 4 คู่ 8 ประเภท มีดัง ต่อไปนี้

  • สมณะคู่ที่ 1 คือ พระอริยบุคคลประเภทโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล
  • สมณะคู่ที่ 2 คือ พระอริยบุคคลประเภทสกทาคามิมรรค สกทาคามิผล
  • สมณะคู่ที่ 3 คือ พระอริยบุคคลประเภทอนาคามิมรรค อนาคามิผล
  • สมณะคู่ที่ 4 คือ พระอริยบุคคลประเภทอรหัตตมรรค อรหัตตผล

 

            การปฏิบัติตามอริยมรรค ทำให้บุคคลสามารถบรรลุธรรมเป็นพระอริยบุคคลประเภทต่างๆ พระอริยบุคคลคือผู้ที่สามารกำจัดกิเลสตั้งแต่ระดับเบาบางจนกระทั่งหมดสิ้น เมื่อบรรลุโสดาบัน กรรมกิเลสจะถูกขัดเกลาจนเบาบางทำให้กลับมาเกิดอีกเพียงชาติเดียวหรือเจ็ดชาติ เมื่อบรรลุสกทาคามี กรรมกิเลสจะถูกขัดเกลาจนเบาบางทำให้กลับมาเกิดอีกเพียงชาติเดียว เมื่อบรรลุอนาคามี กรรมกิเลสถูกขัดเกลาจนเหลือน้อยมากสามารถนิพพานได้ที่พรหมโลก เมื่อบรรลุอรหัตตผล กรรมกิเลสทั้งปวงถูกดับจนสิ้นเชื้อไม่เหลือเศษเพราะต้นเหตุที่ทำให้เกิดกรรมถูกดับไปเสียแล้วจึงไม่มีเหตุอันใดจะครอบงำให้สร้างกรรมได้อีกต่อไป และจะไม่กลับหวนมาสู่การเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป จากการสังเกตทำให้ทราบว่า ความเบาบางของกรรมจะเป็นไปตามภูมิธรรมของพระอริยบุคคลประเภทต่างๆ จนสุดท้ายหมดสิ้น และผู้ที่จะดับกรรมจนบรรลุธรรมเป็นพระอริยบุคคลได้นั้นคือ ผู้ที่ได้อัตภาพมนุษย์และพบพระพุทธศาสนา แม้เทวดาที่สามารถบรรลุธรรมได้นั้นก็มีน้อยเพราะยังข้องอยู่ในสุขอันเป็นทิพย์ยังไม่เห็นทุกข์ จะกล่าวไปใยกับเหล่าสัตว์ในอบายภูมิที่มีเสวยทุกข์ทรมานจนไม่มีเวลาว่างเว้นจะคิดทำความดี

 

-------------------------------------------------------------------

35) นิพเพธิกสูตร, อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาย, มก. เล่ม 36 ข้อ 334 หน้า 771.
36) มหาปรินิพพานสูตร, ทีฆนิกาย มหาวรรค, มก. เล่ม 13 ข้อ 138 หน้า 317.

GL 203 กฎแห่งกรรม
กลุ่มวิชาเป้าหมายชีวิต


 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.01300745010376 Mins