ปิสุณาวาจา (พูดส่อเสียด)
เจตนาของผู้มีจิตเศร้าหมองพยายามกระทำหรือพูด เพื่อต้องการให้คนอื่นมารักตนหรือเพื่อต้องการทำลายให้คนอื่นเกิดความแตกแยก ชื่อว่า ปิสุณาวาจา7)
กรณีศึกษาในเรื่องของกรรมปิสุณาวาจา
กรณีศึกษาที่ 1 (วันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2546) หญิงคนหนึ่งมีความเชื่อมั่นในเรื่องบุญมาก จึงตั้งใจสร้างบุญและทำหน้าที่กัลยาณมิตรให้กับทุกคน แต่เธอก็มีโรคประจำตัว คือ โรคคันและลมพิษ ซึ่งสร้างความรำคาญให้กับเธอมาก
สาเหตุที่หญิงผู้นี้เป็นโรคคันและลมพิษ เพราะวจีกรรมในอดีตชาติที่เกิดเป็นผู้หญิง ชอบพูดทำร้ายจิตใจคนอื่น และถ้าใครพูดไม่ถูกใจก็จะพูดย้อนไปให้เขาเจ็บใจ ประกอบกับในปัจจุบันที่ชอบอั้นปัสสาวะและอุจจาระ
กรณีศึกษาที่ 2 (วันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2548) หญิงคนหนึ่งอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี มีพ่อแม่ญาติพี่น้องเข้าใจและให้การสนับสนุนในการมาช่วยงานพระพุทธศาสนา ซึ่งเธอก็ได้ทำหน้าที่กัลยาณมิตรให้กับหมู่ญาติตลอดมา แต่เธอมีจุดด้อย คือ เป็นฝ้าที่ใบหน้า
สาเหตุที่หญิงผู้นี้เป็นฝ้าที่ใบหน้า เพราะกรรมในอดีตชาติเคยเกิดเป็นทหารมักชอบพูดให้เขาเสียหน้า โดยการคัดค้านในที่ประชุม ทำให้บุคคลที่เสนอความเห็นรู้สึกเสียหน้า
กรณีศึกษาที่ 3 (วันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2547) หญิงคนหนึ่งมีชีวิตที่ลำบากตั้งแต่เล็กจนโต และเป็นโรคหัวใจรั่ว ต้องถูกผ่าตัดหลายครั้ง แต่เมื่อเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลก็ได้ทำสมาธิไปด้วย ทำให้อาการดีขึ้นจนหมอแปลกใจ หลังจากนั้นจึงเข้าวัดปฏิบัติธรรมเรื่อยมา
สาเหตุที่หญิงผู้นี้เป็นโรคหัวใจ เพราะกรรมในอดีตชาติเคยเกิดในสังคมเกษตรกรรม ใช้วัวควายทำงานหนักเกินกำลัง และกรรมในอดีตชาติที่ชอบพูดให้คนเจ็บใจเป็นประจำ ส่วนสาเหตุที่ทำให้ต้องถูกผ่าตัดหลายครั้ง เพราะกรรมในอดีตชาติที่ฆ่าสัตว์ทำอาหาร
กรณีศึกษาที่ 4 (วันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ.2547) ชายคนหนึ่งกำพร้าพ่อแม่ตั้งแต่เด็ก พี่สาวจึงพาไปฝากไว้ที่โรงเจ ซึ่งเจ้าสำนักที่นั้นก็ได้ส่งให้เรียน แต่ว่าเรียนเท่าไรก็ไม่สามารถอ่านและเขียนหนังสือได้ ภายหลังจึงเลิกเรียน และไปทำธุรกิจส่วนตัวหลายอย่าง แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จทุกอย่าง จึงได้ไปเป็นคนเชียร์แขกที่โรงแรมม่านรูด แต่ก็ถูกตำรวจจับดำเนินคดี ทำให้เมื่อรอดพ้นจากคดีได้จึงเลิกอาชีพนี้
สาเหตุที่ชายผู้นี้ไม่สามารถอ่านและเขียนหนังสือได้ ทั้งที่มีโอกาสเล่าเรียน เพราะกรรมในอดีตชาติเคยเกิดเป็นคนเรียนเก่ง จึงมักจะพูดดูถูกเพื่อนที่เรียนด้วยกันว่า “ โง่” ทำให้เพื่อนได้รับความอับอายเป็นประจำ
กรณีศึกษาที่ 5 (วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2546) ชายคนหนึ่งเคยบวชเรียน ภายหลังลาสิกขามา เข้าเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยจนจบ แล้วมาเป็นทนายที่ซื่อสัตย์ ฐานะจึงค่อนข้างจะยากจน เลี้ยงดูลูกและครอบครัวด้วยความสุขตามอัตภาพ ในบั้นปลายของชีวิตเขาตายด้วยโรคมะเร็งในปาก
สาเหตุที่ชายผู้นี้ตายด้วยโรคมะเร็งในปาก เพราะกรรมในอดีตชาติเคยเกิดเป็นกุลบุตรในตระกูลที่มีฐานะปานกลาง แต่มีนิสัยมักโกรธจะชอบเถียงและด่าพ่อแม่ และถ้าใครที่พูดทำให้ไม่พอใจก็จะด่าตั้งแต่ตัวเขาจนถึงบรรพบุรุษของเขา ประกอบกับกรรมในปัจจุบันที่ชอบวิพากษ์วิจารณ์ด่าว่าพระเถระผู้ใหญ่ ตั้งแต่ยังบวชอยู่ และกรรมดื่มสุรา ดูดยาเส้นตามสมัยนิยม
-------------------------------------------------------------------
7) กถาว่าด้วยวินัย มังคลัตถทีปนีแปล เล่ม 2. (กรุงเทพฯ : มหามกุฎราชวิทยาลัย,2532), หน้า 107.
GL 203 กฎแห่งกรรม
กลุ่มวิชาเป้าหมายชีวิต