หลักกรรมคืออะไร

วันที่ 24 สค. พ.ศ.2558

 

 หลักกรรมคืออะไร

 

            นักศึกษาได้ผ่านการศึกษาวิชาจักรวาลวิทยาและปรโลกวิทยามาแล้ว คงจะทราบดีแล้วว่า ชีวิตมนุษย์ไม่ได้มีเฉพาะชาตินี้เท่านั้น แต่ยังคงหมุนเวียนเปลี่ยนไปตามอำนาจแห่งการกระทำของแต่ละบุคคล นับภพนับชาติไม่ถ้วน จนกว่าจะหมดกิเลสเข้าสู่นิพพาน จึงจะถือว่าสิ้นสุดการเวียนว่ายตายเกิด

            แต่เป็นเรื่องที่น่าแปลก แม้มนุษย์จะเกิดมานับภพนับชาติไม่ถ้วน แต่กลับไม่สามารถทรงจำความผิดพลาดที่ตนได้กระทำไว้ในอดีตที่ส่งผลให้ต้องไปเกิดในทุคติได้ หรือไม่สามารถทรงจำความดีงามที่ตนกระทำไว้ในอดีตที่ส่งผลให้ไปเกิดในสุคติได้ ทั้งนี้เพราะมีอวิชชาคือความไม่รู้ครอบงำอยู่ มีภพชาติปิดกั้นความรู้เหล่านี้อยู่ จึงทำให้บางครั้งเกิดมาใหม่ ก็ยังคงใช้ชีวิตในรูปแบบเดิม แย่กว่า หรือดีกว่าเดิม แล้วแต่บุญบาปที่อยู่ในตัวส่งผล หรือสภาพแวดล้อมในปัจจุบัน และเนื่องจากการให้ผลของกรรมนั้นสลับซับซ้อนยากต่อการเข้าใจด้วยปัญญาธรรมดาของปุถุชน จึงก่อให้เกิดความไม่เชื่อเรื่องกฎแห่งกรรมขึ้นในหมู่ของผู้ที่ศึกษาพระพุทธศาสนาเพียงผิวเผิน

 

            ดังนั้น มีทางเดียวที่เป็นทางลัดและปลอดภัย คือ การเชื่อในปัญญาตรัสรู้ธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยเหตุผลที่ว่า กว่าที่พระองค์จะมาตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้นั้น พระองค์ต้องฝึกฝนตนเองอย่างจริงจังกระทั่งเอาชนะกิเลสมานับภพนับชาติไม่ถ้วน ตั้งแต่พระชาติแรกที่ทราบว่าตนเองตกอยู่ในวังวนของความทุกข์ ถูกความทุกข์คอยเผารนอยู่ทุกขณะจิต แม้มนุษย์และสัตวโลกทั้งหลายก็ตกเป็นทาสของกิเลสเช่นกัน พระองค์พิจารณาจนเห็นโทษภัยของการเวียนว่ายตายเกิด จึงตั้งใจมั่นในการที่จะแก้ไขตนเองอย่างยิ่งยวดโดยเอาชีวิตเป็นเดิมพันทุกภพทุกชาติ เพื่อมุ่งกำจัดกิเลส ทำตนให้สะอาดบริสุทธิ์ ทั้งกาย วาจา ใจ ไม่ไหลไปตามอำนาจกิเลส จนสามารถดับกิเลส รู้เหตุรู้ผลตามความเป็นจริงของสรรพสัตว์สรรพสิ่งทั้งปวง หลุดจากกรอบอวิชชาที่ครอบงำสรรพสัตว์ทั้งหลาย ยกตนขึ้นสู่ความเป็นผู้รู้ที่สมบูรณ์ นอกจากนี้พระองค์ยังทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ เมื่อตรัสรู้แล้วก็มิได้ปิดบัง กลับนำความรู้เหล่านั้นมาสั่งสอนสรรพสัตว์ทั้งหลายให้หลุดพ้นจากอำนาจกิเลสตามพระองค์ไปด้วย

 

            เรื่องกฎแห่งกรรม พระองค์ได้ทรงสั่งสอนพุทธบริษัทเป็นหลักสำคัญในพระพุทธศาสนา เพราะหากใครกระทำผิดกฎแห่งกรรมแล้ว จะมีผลต่อการดำเนินชีวิต จะต้องได้รับความทุกข์สิ้นกาลนานทั้งในปัจจุบันและอนาคต หลักกรรมที่พระองค์นำมาสั่งสอนมีปรากฏอยู่หลายแห่งในพระไตรปิฎก แต่ที่จะนำมากล่าวนี้อยู่ใน เวขสาขชาดก1)ความว่า

“    ยานิ กโรติ ปุริโส ตานิ อตฺตนิ ปสฺสติ

กลฺยาณการี กลฺยาณํ ปาปการี จ ปาปกํ

ยาทิสํ วปเต พีชํ ตาทิสํ รุหเต ผลํ

บุคคลทำกรรมใด ย่อมมองเห็นกรรมนั้นในตน

ผู้ทำกรรมดีย่อมได้ผลดี ผู้ทำกรรมชั่วย่อมได้ผลชั่ว

บุคคลหวานพืชเช่นใด ผลย่อมงอกขึ้นเช่นนั้น”

จากพุทธพจน์นี้ สามารถสรุปหลักกรรมที่ตรงไปตรงมา โดยที่ไม่ต้องตีความแต่อย่างไรว่า การกระทำใดๆ ในโลกนี้ ที่ไม่ให้ผลนั้นย่อมไม่มี ไม่ว่าจะเป็นกรรมดีหรือกรรมชั่วล้วนให้ผลทั้งสิ้น ใครทำดีก็จะได้รับผลดี ใครทำชั่วก็จะได้รับผลชั่ว เหมือนการหว่านพืชลงในดิน พืชนั้นย่อมเจริญเติบโตให้ดอกออกผล หากเราปลูกมะม่วงผลออกมาก็ต้องเป็นมะม่วง จะให้เป็นมังคุดก็คงเป็นไปไม่ได้ และส่วนมากคนทั่วไปจะเรียกหลักกรรมด้วยประโยคที่สั้นกระชับว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว

 

            หลักกรรมในทางพระพุทธศาสนา สามารถนำมาเปรียบเทียบกับหลักทางวิทยาศาสตร์ได้ ซึ่งจะทำให้นักศึกษาเห็นภาพได้ชัดเจนยิ่งขึ้น และจะทำให้ทราบว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งความรู้ ศาสนาของผู้รู้อย่างแท้จริง หลักกรรมตรงกับกฎของนิวตัน ที่เรียกว่า กฎกิริยา(Action) และปฏิกิริยา(Reaction) ซึ่งกฎของนิวตันนี้เป็นทฤษฏีที่ง่ายและตรงไปตรงมาเช่นกัน กฎของนิวตันนี้เป็นกฎทางด้านวัตถุ มีกฎเกณฑ์อยู่ว่า หากเราขว้างลูกเทนนิสไปกระทบกับผนัง ถ้าออกแรงขว้างด้วยกำลังแรงลูกเทนนิสก็กระดอนกลับมาแรง ถ้าออกแรงขว้างด้วยแรงที่เบาลูกเทนนิสก็กระดอนกลับมาเบา สรุปความตามกฎนี้ คือ ทำอย่างไรก็ได้อย่างนั้น ในเรื่องหลักกรรมก็เช่นกัน กรรมที่เราทำแล้ว ถ้าทำกรรมดีลงไป สิ่งตอบสนองมาก็เป็นผลของกรรมดี ถ้าทำกรรมชั่วลงไป สิ่งที่ตอบสนองมาก็คือผลของกรรมชั่ว หรืออีกนัยหนึ่งหากตั้งใจทำความดีหรือความชั่วมาก ผลของความดีความชั่วนั้นย่อมตอบสนองกลับมามาก ตามทฤษฎีของนิวตัน

 

            อย่างที่ทราบแล้วว่า หลักกรรมนั้น มีเพียงแค่ประโยคสั้นๆ ง่ายๆ ตายตัว จะว่าสามารถทำความเข้าใจได้ง่ายก็ง่าย แต่หากคิดพิจารณาอย่างถ่องแท้แล้ว จะพบว่าความเข้าใจเรื่องกฎแห่งกรรมนั้น เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายอย่างที่คิด และดูเหมือนว่า ยังมีคนอีกจำนวนมากที่ไม่เข้าใจหลักกรรมนี้ เพราะเหตุว่ากฎแห่งกรรมนั้นเป็นเรื่องที่ซับซ้อน รวมเอาการกระทำที่หลากหลายทั้งที่ดีและไม่ดีทั้งในอดีตและปัจจุบันนับครั้งไม่ถ้วนของบุคคลนั้นๆ ที่ยาวนานนับภพนับชาติไม่ถ้วนมาประมวลรวมส่งผล ทำให้ไม่สามารถจะแยกแยะตีความให้ชัดเจนลงไปเลยว่า ผลกรรมที่ทำให้เป็นเราในปัจจุบันนี้ เกิดจากกรรมอะไร เมื่อไร อย่างไร และจะส่งผลอย่างไรในอนาคต ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับเวลา โอกาส และการกระทำในปัจจุบันประกอบเข้าด้วยกัน

 

            อย่างเช่น ความโชคดีหรือโชคร้ายที่เราได้ประสบอยู่ในปัจจุบัน ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับอำนาจภายนอก หรืออำนาจดวงดาวใดๆ แท้ที่จริงขึ้นอยู่กับผลกรรมที่เราได้สั่งสมไว้ในอดีตติดตามมาให้ผลในปัจจุบัน และการที่เราจะได้รับความสุขหรือความทุกข์อยู่ในปัจจุบัน ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับกรรมที่เราสร้างไว้ในปัจจุบันอย่างเดียว อาจจะขึ้นอยู่กับกรรมในอดีตผนวกรวมด้วย เราต้องยอมรับอดีตชาติ ต้องยอมรับการกระทำของเราในวัน ในเดือน ในปี และในชาติที่ผ่านมาว่าเป็นสิ่งที่เราทำไว้เอง และสิ่งที่เราทำในปัจจุบันเราก็ต้องยอมรับด้วยว่า นั่นคือสิ่งที่จะดลบันดาลชีวิตของเราให้เป็นไปในอนาคต และเป็นไปตามกฎแห่งกรรมนั้น

             ดังนั้น เรื่องหลักกรรมเป็นสิ่งที่นักศึกษาต้องจำให้แม่นยำ และตระหนักตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า เป็นกฎที่จริงแท้แน่นอน เป็นกฎแห่งเหตุและผล และหมั่นตอกย้ำเตือนตนเสมอว่า กฎแห่งกรรมย่อมส่งผลอย่างแน่นอน ไม่ช้าก็เร็ว ไม่วันนี้ก็พรุ่งนี้ ไม่ชาตินี้ก็ชาติหน้า ต้องหมั่นสั่งสมแต่ความดีงาม และห่างไกลจากความชั่วตลอดชีวิต

 

-------------------------------------------------------------------

1) เวขสาขชาดก, ขุททกนิกาย ชาดก ,มก. เล่ม 58 ข้อ 713 หน้า 720.

GL 203 กฎแห่งกรรม
กลุ่มวิชาเป้าหมายชีวิต

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.021603715419769 Mins