โลหิตุปบาท
โลหิตุปบาท คือ การทำร้ายพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นผลให้พระโลหิตห้อในพระวรกาย ทั้งนี้เป็นเพราะพระวรกายของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็น อเภทกาย คือ เป็นพระวรกายที่ไม่แตกทำลาย โดยในขณะที่พระพุทธองค์ทรงมีพระชนมายุอยู่นั้น พระอวัยวะทั้งปวงจะไม่แตกทำลาย เว้นไว้แต่พระพุทธองค์ทรงมีพุทธานุญาตให้กระทำเพื่อรักษา แม้ว่าจะมีผู้ประทุษร้ายพระองค์ด้วยอาวุธหรือวิธีการใดๆ ก็ไม่อาจทำให้ร่างกายของพระองค์ปริแตกเป็นรอยบาดแผลเหมือนผิวกายของมนุษย์ทั่วไป แต่จะมีเพียงอาการฟกช้ำและห้อพระโลหิตเท่านั้น ซึ่งเพียงเท่านี้ผู้กระทำหรือผู้เป็นต้นเหตุให้พระพุทธองค์ห้อพระโลหิต ก็ถือว่าต้องอนันตริยกรรมแล้ว
กรณีศึกษาจากพระไตรปิฎก
เรื่องพระเทวทัตทำโลหิตุปบาท3)
พระเทวทัตได้ผูกเวรกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาหลายแสนชาติจนถึงชาติปัจจุบัน โดยในสมัยพุทธกาล เทวทัตราชกุมารมีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามากถึงกับทูลขอบรรพชาอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ภายหลังบำเพ็ญสมณธรรมจนได้โลกียฤทธิ์ แต่ด้วยกรรมที่ได้ผูกเวรกันเอาไว้มาส่งผล จึงทำให้พระเทวทัต มีความปรารถนาจะบริหารการคณะสงฆ์แทนพระพุทธองค์
คราวหนึ่งหลังจากที่ทำให้อชาตศัตรูกุมารเลื่อมใสในตนแล้ว ก็ได้ปีนขึ้นไปบนภูเขา โดยเลือกหินก้อนใหญ่เท่าเรือนยอดก้อนหนึ่ง แล้วนั่งจดจ้องคอยให้พระพุทธองค์เสด็จมา เมื่อพระพุทธองค์เสด็จผ่านมาก็ได้ผลักก้อนหินลงมาทันทีหมายจะปลงพระชนม์ เมื่อก้อนหินตกลงมาใกล้จะถึงพระองค์ ก็พลันบังเกิดมีศิลาใหญ่ 2 ก้อนผุดขึ้นมาจากปฐพี น้อมยอดเข้าหากันมาขวางกั้นทำให้ก้อนหินใหญ่นั้นหยุดในทันที ก้อนหินใหญ่นั้นได้แตกออกเป็นสะเก็ดกระจาย มีสะเก็ดหินชิ้นหนึ่งกระเด็นมาถูกปลายพระบาทของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงทำให้พระพุทธองค์ห้อพระโลหิต
ดังนั้น พระเทวทัตจึงได้รับกรรมหนักขั้นโลหิตุปบาทต้องรับผลอนันตริยกรรม ต่อมาหมอชีวกโกมารภัจจ์ทำการผ่าพระฉวีวรรณ บริเวณที่ถูกสะเก็ดหินออกด้วยมีด รีดเอาพระโลหิตร้ายออกจากพระบาท การกระทำของหมอชีวกไม่จัดเป็นโลหิตุปบาท ไม่ต้องรับผลอนันตริยกรรม เพราะหมอชีวกมีกุศลเจตนา ต้องการถวายการรักษาพระพุทธองค์
-------------------------------------------------------------------
3) พระเทวทัตทำโลหิตุปบาท, พระวินัยปิฎก จุลวรรค, มก. เล่ม 9 หน้า 293.
GL 203 กฎแห่งกรรม
กลุ่มวิชาเป้าหมายชีวิต