สังฆเภท
สังฆเภท คือ การกระทำที่ทำให้พระภิกษุแตกกัน ซึ่งการทำให้สงฆ์แตกกันที่เป็นอนันตริยกรรมนั้น ผู้กระทำจะต้องเป็นพระภิกษุเท่านั้น หากเป็นผู้อื่นที่ไม่ใช่พระภิกษุ เช่น สามเณรหรือคฤหัสถ์ ก็ไม่จัดเป็นอนันตริยกรรม เป็นแต่เพียงได้สร้างกรรมหนักที่มีกำลังน้อยกว่าการที่พระภิกษุทำให้สงฆ์แตกกัน
พระภิกษุผู้กระทำสังฆเภทนั้น ต้องกระทำพร้อมด้วยเหตุ 5 ประการ4) ความเป็นสังฆเภทจึงจะสมบูรณ์ หากว่ากระทำไม่ครบเหตุ 5 ประการแล้ว ถึงแม้ว่าจะยุยงส่งเสริมให้ภิกษุทั้งหลายระส่ำระสายปั่นป่วนวิวาทสบประมาทกัน ด่าว่าโบยตีกัน ไม่พอใจกัน ไม่เข้าหน้าเข้าตากัน ต่างก็หันหน้าไปรูปละทิศละทาง ลักษณะอย่างนี้ ถือว่าเป็นอกุศลกรรม แต่ยังไม่เป็นสังฆเภท เนื่องจากสังฆเภทจะสมบูรณ์ได้ก็ต่อเมื่อกระทำเหตุครบ 5 ประการ คือ
1. กัมเมนะ คือ การกล่าวยุยงให้พระภิกษุสงฆ์ที่หลงเชื่อถ้อยคำของตนแยกออกกระทำสังฆกรรมอีกกลุ่มหนึ่งต่างหาก
2. อุทเทเสนะ คือ การกล่าวยุยงให้พระภิกษุสงฆ์ที่หลงเชื่อถ้อยคำของตนแยกออกไปสวดพระปาติโมกข์อีกกลุ่มหนึ่งต่างหาก
3. โวหะรันโต คือ การกล่าวเภทกรวัตถุทั้ง 18 ประการ มีดังต่อไปนี้
1. สิ่งที่ไม่ใช่ธรรม กล่าวว่า เป็นธรรม
2. สิ่งที่เป็นธรรม กล่าวว่า ไม่ใช่ธรรม
3. สิ่งที่ไม่ใช่วินัย กล่าวว่า เป็นวินัย
4. สิ่งที่เป็นวินัย กล่าวว่า ไม่ใช่วินัย
5. สิ่งที่พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ได้ตรัสไว้ กล่าวว่า ตรัสไว้
6. สิ่งที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ กล่าวว่า ไม่ได้ตรัสไว้
7. สิ่งที่พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่เคยทำมา กล่าวว่า เคยทำมา
8. สิ่งที่พระผู้มีพระภาคเจ้าเคยทำมา กล่าวว่า ไม่เคยทำมา
9. สิกขาบทที่ไม่ได้ทรงบัญญัติไว้ กล่าวว่า ทรงบัญญัติไว้
10. สิกขาบทที่ทรงบัญญัติไว้ กล่าวว่า ไม่ได้ทรงบัญญัติไว้
11. วัตถุไม่เป็นอาบัติ กล่าวว่า เป็นอาบัติ
12. วัตถุเป็นอาบัติ กล่าวว่า ไม่เป็นอาบัติ
13. อาบัติเบา กล่าวว่า เป็นอาบัติหนัก
14. อาบัติหนัก กล่าวว่า เป็นอาบัติเบา
15. อาบัติที่แก้ไขได้ กล่าวว่า แก้ไขไม่ได้
16. อาบัติที่แก้ไขไม่ได้ กล่าวว่า แก้ไขได้
17. อาบัติหยาบช้า กล่าวว่า เป็นอาบัติไม่หยาบช้า
18. อาบัติไม่หยาบช้า กล่าวว่า เป็นอาบัติหยาบช้า
4. อนุสาวเนนะ คือ การกล่าวกระซิบว่ากล่าวเล้าโลมใกล้หูของพวกภิกษุ เพื่อให้ภิกษุทั้งหลายลุ่มหลงเชื่อถ้อยคำของตน และให้ถือลัทธิของตนซึ่งเป็นลัทธิที่ผิดจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
5. สลากัคคาเหนะ คือ การเขียนสลากให้พวกภิกษุจับ เพื่อไม่ให้ภิกษุเหล่านั้นเปลี่ยนใจกลับไปเข้าพวกเดิม จะได้ยึดมั่นอยู่ในพวกของตนที่กล่าวตู่พระพุทธพจน์นั้น อาการที่จับสลากก็เป็นเล่ห์กลเพื่อให้ภิกษุเหล่านั้นจับถูกสลากที่ตนต้องการให้จับ
ภิกษุผู้มุ่งที่จะทำสังฆเภท ได้กระทำเหตุครบ 5 ประการนี้แล้ว เมื่อภิกษุทั้งหลายผู้มีปัญญาทราม มีความเห็นตามลัทธิของภิกษุนั้น ซึ่งผิดจากพระพุทธพจน์ ได้พร้อมเพรียงกันแยกออกจากสงฆ์ คือ 9 รูปก็ดี หรือเกินกว่า 9 รูปก็ดี5)ไปทำสังฆกรรมต่างหากจากพระภิกษุที่ปฏิบัติตามพระธรรมวินัย ในกรณีเช่นนี้ พระภิกษุสงฆ์จึงจะได้ชื่อว่าแตกแยกออกจากกัน และพระภิกษุที่เป็นตัวการในเรื่องนี้ ย่อมได้ชื่อว่ากระทำสังฆเภท ต้องอนันตริยกรรม
แต่ถ้าในกรณีที่ภิกษุทั้งหลายแม้จะได้รับการยุยงจากภิกษุผู้มุ่งจะทำสังฆเภทแล้ว ก็ไม่ได้เชื่อถ้อยคำของภิกษุนั้น ยังมีความเคารพเลื่อมใสในพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและยังปฏิบัติตามพระพุทธบัญญัติอยู่ แต่ว่าเกิดทะเลาะวิวาทขัดแค้นใจกันด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง จึงยกพวกแยกออกจากหมู่ไปอยู่ที่อื่นและทำสังฆกรรมต่างหาก กรณีเช่นนี้พระภิกษูผู้มุ่งจะทำร้ายสังฆเภทและกล่าวยุยงสงฆ์ให้แตกแยกกันนั้นไม่ต้องอนันตริยกรรม
กรณีศึกษาจากพระไตรปิฎก
เรื่องพระเทวทัตทำสังฆเภท6)
เทวทัตราชกุมารได้มีศรัทธาออกบวชพร้อมด้วยเจ้าศากยวงศ์ทั้ง 7 พระองค์ เมื่อพระเทวทัตบวชแล้วก็สามารถยังฌานโลกีย์ให้บังเกิดขึ้นได้ แต่กลับเกิดความปริวิตกในเรื่องลาภสักการะจึงคิดอยากจะปกครองสงฆ์เสียเอง จึงได้เข้าไปหาอชาตศัตรูกุมาร โดยใช้อิทธิปาฏิหาริย์จนทำให้อชาตศัตรูกุมารเลื่อมใสตน
เมื่อพระเทวทัตทำให้อชาตศัตรูกุมารเลื่อมใสแล้ว ก็ได้เข้าไปเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อทูลขอปกครองสงฆ์ แต่กลับถูกพระพุทธองค์ตรัสห้าม ทำให้พระเทวทัตโกรธ น้อยใจและผูกอาฆาตในพระบรมศาสดาและได้ใช้วิธีการต่างๆ ในการปลงพระชนม์พระพุทธองค์ เช่น ให้อชาตศัตรูกุมารส่งราชบุรุษไปปลงพระชนม์ ปล่อยช้างนาฬาคีรีให้ไปทำร้ายพระองค์ และทำให้พระพุทธองค์ทรงห้อพระโลหิต แต่ก็ไม่สามารถที่จะปลงพระชนม์พระบรมศาสดาได้เลยสักครั้งเดียว
หลังจากนั้นพระเทวทัตจึงได้เข้าไปหาพรรคพวกมีพระโกกาลิกะเป็นต้น แล้วบอกว่า ตนจะทำสังฆเภทโดยการทูลขอวัตถุ 5 ประการนี้กับพระศาสดา แล้วจึงไปเข้าเฝ้าพระศาสดาเพื่อทูลขอวัตถุ 5 ประการ7) โดยอ้างเหตุเพื่อให้เป็นผู้มักน้อย สันโดษ เป็นต้น แต่พระพุทธองค์ไม่ทรงอนุญาตและทรงให้ภิกษุทั้งหลายปฏิบัติตามความปรารถนาของตน ซึ่งเมื่อพระพุทธองค์ตรัสแล้วพระเทวทัตกลับปีติใจ นำเอาความนั้นไปประกาศแก่หมู่สงฆ์ ทำให้หมู่สงฆ์แตกออกเป็น 2 พวก คือ พวกที่ไร้ปัญญาก็มีความเห็นดีงามกับพระเทวทัต ส่วนพวกที่มีปัญญาก็กล่าวติเตียนพระเทวทัต
เมื่อพระพุทธองค์ทรงทราบความก็ตรัสห้ามพระเทวทัต แต่พระเทวทัตก็ไม่ได้หยุดการกระทำของตน กลับเข้าไปบอกพระอานนท์ว่าตนจะแยกทำสังฆกรรมต่างหาก เมื่อถึงวันอุโบสถพระเทวทัตก็ได้ประกาศท่ามกลางสงฆ์เพื่อให้ภิกษุทั้งหลายจับสลากเลือกว่าจะอยู่กับฝ่ายใด จึงทำให้พระวัชชีบุตร 500 รูป ซึ่งเป็นผู้บวชใหม่หลงเชื่อถ้อยคำและได้ตามพระเทวทัตออกไปอยู่ที่คยาสีสะ แต่พระพุทธองค์ก็ได้ให้พระสารีบุตรและพระมหาโมคคัลลานะไปตามภิกษุเหล่านั้นกลับมา ซึ่งพระอัครสาวกทั้งสองก็สามารถไปตามภิกษุเหล่านั้นกลับมาได้ พร้อมกับทำให้มีความเห็นที่ถูกต้อง
เมื่อพระเทวทัตทราบความนั้น โลหิตร้อนได้พุ่งออกจากปากของพระเทวทัตทันที ซึ่งภายหลังพระเทวทัตสำนึกผิด จึงเดินทางเพื่อจะมาเข้าเฝ้าพระบรมศาสดาแต่ยังไม่ทันมาถึงที่ประทับของพระพุทธองค์ แผ่นดินได้สูบพระเทวทัตลงไปสู่อเวจีมหานรกในขณะนั้นนั่นเอง
พระเทวทัตผู้อยากเป็นใหญ่ จึงอยากจะปกครองสงฆ์ โดยได้วางแผนร่วมมือกับอชาตศัตรูกุมาร เพื่อปลงพระชนม์พระพุทธองค์ แต่เมื่อทำไปแล้วก็ไม่สามารถทำอะไรพระพุทธองค์ได้ จึงได้ทำสังฆเภทแยกพระภิกษุออกมาอีกกลุ่มหนึ่งต่างหาก ซึ่งการกระทำของพระเทวทัตเป็นอนันตริยกรรม ด้วยผลกรรมนี้จึงทำให้พระเทวทัตถูกแผ่นดินสูบลงไปสู่อเวจีมหานรกได้รับโทษอย่างยาวนาน
อนันตริยกรรมทั้ง 5 ประการนี้ อาจจะกล่าวโดยสรุปได้อย่างนี้ คือ มาตุฆาต ปิตุฆาต อรหันตฆาต และโลหิตุปบาท เป็นสาธารณอนันตริยกรรม คือเป็นอนันตริยกรรมที่ทำได้ทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต ส่วนสังฆเภทเป็นอสาธารณอนันตริยกรรม คือเป็นอนันตริยกรรมที่เฉพาะพระภิกษุเท่านั้น จึงจะกระทำสังฆเภทได้ บุคคลอื่นที่ไม่ใช่พระภิกษุไม่อาจทำอนันตริยกรรมที่เป็นสังฆเภทได้ ดังเช่นที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสกับพระอุบาลีว่า
“ ดูก่อนอุบาลี ภิกษุณีทำลายสงฆ์ย่อมไม่ได้ แต่พยายามเพื่อจะทำลายได้ สิกขมานาก็ทำลายสงฆ์ไม่ได้ สามเณรก็ทำลายสงฆ์ไม่ได้ สามเณรีก็ทำลายสงฆ์ไม่ได้ อุบาสกก็ทำลายสงฆ์ไม่ได้ อุบาสิกาก็ทำลายสงฆ์ไม่ได้ แต่พยายามเพื่อจะทำลายได้ ดูก่อนอุบาลี ภิกษุปกตัตตะ มีสังวาสเสมอกัน อยู่ในสีมาเดียวกัน ย่อมทำลายสงฆ์ได้ ”8)
เมื่อผู้ใดทำอนันตริยกรรมทั้ง 5 ครบทุกประการแล้ว เมื่อตายไปสังฆเภทก็จะส่งผลก่อนและมีกำลังให้รับโทษตลอดกัป9) เมื่อใดกัปยังไม่สิ้นไป ผู้ที่ทำสังฆเภทก็ยังไม่พ้นจากอเวจีมหานรก เมื่อกัปสิ้นไปก็เป็นอันว่าพ้นจากอเวจีมหานรกเมื่อนั้น
อนันตริยกรรมทั้ง 5 ประการนี้ มีโทษหนักเบาและมีลำดับการให้ผลดังนี้
สังฆเภท โทษหนักที่สุดให้ผลเป็นอันดับแรก
โลหิตตุปบาท มีโทษหนักและให้ผลรองจากสังฆเภท
อรหันตฆาต มีโทษหนักและให้ผลรองจากโลหิตุปบาท
มาตุฆาตและปิตุฆาต มีโทษหนักน้อยที่สุดและให้ผลในลำดับสุดท้าย
อนันตริยกรรมทั้ง 5 ประการนี้ เมื่อผู้ทำอนันตริยกรรมครบทั้ง 5 ประการได้ตายไปแล้ว สังฆเภทก็จะให้ผลนำไปสู่อเวจีมหานรก แต่ถ้าไม่ได้ทำสังฆเภท โลหิตตุปบาทย่อมให้ผล แต่ถ้าไม่ได้ทำทั้งสองอย่างที่กล่าวมาแล้ว อรหันตฆาตย่อมให้ผล แต่ถ้าอรหันตฆาตก็ไม่ได้ทำ สังฆเภทและโลหิตตุปบาทก็ไม่ได้ทำ มาตุฆาตและปิตุฆาตก็จะให้ผล โดยมาตุฆาตและปิตุฆาตมีกฎเกณฑ์ในการให้ผลตามนัยแห่งอรรถกถาสัมโมหวิโนทนี10) อย่างนี้ ในกรณีที่ฆ่าทั้งบิดาและมารดา
1. บิดาเป็นผู้มีศีล มารดาเป็นผู้ทุศีล หรือมีศีลต่ำกว่าบิดา ปิตุฆาตย่อมให้ผล
2. มารดาเป็นผู้มีศีล บิดาเป็นผู้ทุศีล มาตุฆาตย่อมให้ผล
3. มารดาเป็นผู้มีศีล บิดาเป็นผู้มีศีล มาตุฆาตย่อมให้ผล
4. มารดาเป็นผู้ทุศีล บิดาเป็นผู้ทุศีล มาตุฆาตย่อมให้ผล
ในกรณีของข้อที่ 3 และข้อที่ 4 นั้น เมื่อผู้ใดทำแล้ว มาตุฆาตย่อมให้ผล เพราะครุกรรมที่ฆ่ามารดาย่อมมีโทษมากกว่าครุกรรมที่ฆ่าบิดา เนื่องจากมารดาเป็นผู้มีพระคุณแก่บุตรมากกว่า เพราะต้องลำบากทนทุกข์ทรมานในการรักษาครรภ์จนกว่าจะคลอดออกมา เมื่อคลอดออกมาแล้วก็ต้องให้การเลี้ยงดู สงเคราะห์แก่บุตรจนเติบโตขึ้นมา
เพราะฉะนั้น มารดาจึงมีพระคุณมากกว่าบิดา ครุกรรมที่ฆ่ามารดาจึงมีกำลังที่มากกว่าครุกรรมที่ฆ่าบิดา เมื่อผู้ที่ทำครุกรรมโดยการฆ่ามารดาหรือบิดาผู้มีศีลหรือไม่มีศีลก็ตาม มาตุฆาตย่อมให้ผลในการนำผู้ที่กระทำไปรับโทษในอเวจีมหานรกตลอดกัป
-------------------------------------------------------------------
4) สังฆาทิเสสสิกขาบทที่ 10, พระวินัยปิฎก สังฆาทิเสสกัณฑ์, มก. เล่ม 3 หน้า 582.
5) สังฆเภทขันธกะ, พระวินัยปิฎก จุลวรรค, มก. เล่ม 9 หน้า 316.
6) สังฆเภทขันธกะ, พระวินัยปิฎก จุลวรรค, มก. เล่ม 9 หน้า 300.
7) วัตถุ 5 ประการ, คือ 1. ภิกษุทั้งหลายพึงถือการอยู่ป่าเป็นวัตรตลอดชีวิต รูปใดอาศัยบ้านอยู่ รูปนั้นพึงต้องโทษ 2. ภิกษุทั้งหลายพึงถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตรตลอดชีวิต รูปใดยินดีกิจนิมนต์ รูปนั้นพึงต้องโทษ 3. ภิกษุทั้งหลายพึงถือผ้าบังสกุลเป็นวัตรตลอดชีวิต รูปใดยินดีคหบดีจีวร รูปนั้นพึงต้องโทษ 4. ภิกษุทั้งหลายพึงถือการอยู่โคนไม้เป็นวัตรตลอดชีวิต รูปใดเข้าอาศัยที่มุงที่บัง รูปนั้นพึงต้องโทษ 5. ภิกษุทั้งหลายไม่พึงฉันปลาและเนื้อตลอดชีวิต รูปใดฉันปลาและเนื้อ รูปนั้นพึงต้องโทษ.
8) สังฆเภทขันธกะ, พระวินัยปิฎก จุลวรรค, มก. เล่มที่ 9 หน้า 316.
9) กัปในที่นี้ หมายถึง วิวัฏฏัฎฐายีอสงไขยกัป ช่วงที่กัปกำลังเจริญ เริ่มมีสิ่งต่างๆ เกิดขึ้นบนโลกและจักรวาล
10) ทสกนิทเทส, พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์, มก. เล่ม 78 หน้า 685.
GL 203 กฎแห่งกรรม
กลุ่มวิชาเป้าหมายชีวิต