ครุกรรมฝ่ายกุศลกรรม

วันที่ 29 สค. พ.ศ.2558

 

ครุกรรมฝ่ายกุศลกรรม

ครุกรรมฝ่ายกุศลกรรม คือ กรรมที่เป็นบุญหนัก ซึ่งมีดังนี้

            มหัคคตกุศล 9 ประการ ได้แก่ รูปกุศล 5 ประการ11) และอรูปกุศล 4 ประการ12) โดยที่มหัคคตกุศลทั้ง 9 ประการนี้ เกิดจากการบำเพ็ญสมถกรรมฐาน

            มหัคคตกุศล 9 ประการนี้เป็นครุกรรมฝ่ายกุศลกรรม โดยเป็นกุศลกรรมหรือความดีที่มีกำลังมาก มีลำดับการให้ผลเป็นอันดับแรกแก่ผู้ที่กระทำ คือให้ผลก่อนกรรมอื่น ครุกรรมฝ่ายกุศลกรรม คือ ฌานกุศล ทั้ง 9 ประการนี้มีกำลังมากที่จะทำให้ไปเกิดในพรหมโลกทันที เมื่อผู้ได้ฌานดับขันธ์จากกายมนุษย์แล้ว โดยไม่มีกรรมใดที่จะสามารถมากั้นขวางได้ แม้ว่าจะเคยทำกรรมอื่นทั้งที่เป็นกุศลกรรมและอกุศลกรรมมามากก็ตาม ผลแห่งกรรมเหล่านั้นไม่สามารถที่จะมีอำนาจเหนือฌานกุศลได้ ทั้งนี้เป็นเพราะฌานกุศลซึ่งเป็นครุกรรมฝ่ายกุศลกรรมนี้ มีกำลังมากกว่ากรรมอื่นทั้งหลาย

 

กรณีศึกษาจากพระไตรปิฎก

พระราชาผู้ได้ฌานสมาบัติ13)

            ในอดีตกาล พระเจ้าพาราณสีทรงครองราชสมบัติ ณ เมืองพาราณสี ครั้งหนึ่งมีพระปัจเจกพุทธเจ้า 5 พระองค์ เหาะลงมาที่ประตูเมืองพาราณสี แล้วเสด็จบิณฑบาตโปรดสัตว์จนมาถึงประตูพระราชวัง พระราชาทอดพระเนตรเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้น ทรงมีจิตเลื่อมใส จึงได้นิมนต์ให้เข้าไปสู่พระราชนิเวศน์ เพื่อต้องการถวายภัตตาหาร เมื่อพระปัจเจกพุทธเจ้าทรงฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว พระเจ้าพาราณสีจึงทรงถามพระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นในเรื่องการเห็นโทษของกาม

            เมื่อพระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นแสดงพระธรรมเทศนาตามลำดับเรียบร้อยแล้ว พระราชาจึงสดุดีชื่นชมในการออกบวชของพระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้น แล้วทรงถวายผ้าจีวรและเภสัช พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้น ก็ทำอนุโมทนาแก่พระราชาแล้วพากันกลับไปยังเงื้อมเขานันทมูลกะ

             ตั้งแต่นั้นมา พระราชาทรงมีจิตเบื่อหน่าย ไม่ยินดีในวัตถุกามทั้งหลาย เสด็จเข้าไปยังที่ประทับ แล้วนั่งบริกรรมกสิณจนกระทั่งบรรลุฌานสมาบัติ เมื่อพระอัครมเหสีของพระองค์ทรงดำริถึงการที่พระ-ราชาทรงเกิดความเบื่อหน่ายหลังจากที่ฟังพระธรรมเทศนาของพระปัจเจกพุทธเจ้าแล้ว จึงเสด็จไปยืนอยู่ที่พระทวารที่ประทับ แล้วถามถึงเหตุที่พระราชาทรงเกิดความเบื่อหน่าย พระราชาจึงแสดงธรรมแก่พระอัครมเหสีเรื่องโทษของกาม เมื่อพระราชาแสดงธรรมจบแล้ว จึงเสด็จไปยังท้องพระโรง เพื่อยกราชสมบัติให้พวกอำมาตย์ดูแล แล้วเสด็จไปสู่ป่าหิมพานต์ ผนวชเป็นฤาษี เมื่อละโลกแล้วก็ไปบังเกิดบนพรหมโลก

              พระเจ้ากรุงพาราณสีทรงมีจิตเลื่อมใสในพระปัจเจกพุทธเจ้า หลังจากที่ฟังพระธรรมเทศนาแล้วจึงเกิดความเบื่อหน่าย เพราะเห็นโทษของกาม ทำให้พระองค์ได้บำเพ็ญสมถกรรมฐานจนกระทั่งบรรลุฌานสมาบัติ ซึ่งการกระทำของพระเจ้าพาราณสีในครั้งนี้ถือได้ว่าทำครุกรรมฝ่ายกุศลกรรม จึงทำให้ครุกรรมนี้มีกำลังมาก เมื่อพระเจ้ากรุงพาราณสีละโลกแล้ว ก็ไปบังเกิดบนพรหมโลก ด้วยผลแห่งครุกรรมฝ่ายกุศลกรรมที่พระองค์ได้ทำเอาไว้

-------------------------------------------------------------------

11) รูปกุศล 5 ประการ, คือ 1. ปฐมฌานกุศล 2. ทุติยฌานกุศล 3. ตติยฌานกุศล 4. จตุตถฌานกุศล 5. ปัญจมฌานกุศล.
12) อรูปฌานกุศล 4 ประการ, คือ 1. อากาสานัญจายตนฌานกุศล 2. วิญญาณัญจายตนฌานกุศล 3. อากิญจัญญายตนฌานกุศล 4. เนวสัญญานาสัญญายตนฌานกุศล.
13) ปานียชาดก, อรรถกถาขุททกนิกาย ชาดก, มก. เล่ม 60 หน้า 51.

GL 203 กฎแห่งกรรม
กลุ่มวิชาเป้าหมายชีวิต

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.010650499661764 Mins