อาจิณณกรรม
ความหมายของอาจิณณกรรม
อาจิณณกรรม คือ อกุศลกรรมและกุศลกรรมที่กระทำอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำหรือทำบ่อยๆ ทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ เมื่อกระทำบ่อยๆ เข้าก็จะกลายเป็นอาจิณณกรรม บางครั้งอาจเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า พหุลกรรม
ลักษณะของอาจิณณกรรม
อาจิณณกรรมนี้ให้ผลเป็นลำดับที่ 3 ถัดจากครุกรรม และอาสันนกรรม โดยเมื่อทั้งครุกรรมและอาสันนกรรมให้ผลเสร็จสิ้นแล้ว อาจิณณกรรมจึงจะให้ผล ซึ่งทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าอาจิณณกรรมฝ่ายใดมีกำลังแรงกว่า อาจิณณกรรมฝ่ายนั้นก็จะให้ผลก่อน เช่น ถ้าอาจิณณกรรมฝ่ายกุศลกรรมมีกำลังแรงกว่าก็จะให้ผลก่อนอาจิณณกรรมฝ่ายอกุศลกรรม เป็นต้น ซึ่งอาจเปรียบอาจิณณกรรมเหมือนนักมวยปล้ำสองคนที่ลงสนามต่อสู้กัน คนใดมีกำลังมากกว่าก็ปล้ำเอาอีกคนหนึ่งล้มลงได้ อาจิณณกรรมก็เช่นกัน ถ้าอาจิณณกรรมฝ่ายใดที่ทำไว้นานๆ บ่อยๆ จนคุ้น อาจิณณกรรมฝ่ายนั้นก็จะมีกำลังมากกว่า โดยจะส่งผลก่อนและหักห้ามอาจิณณกรรมที่มีกำลังน้อยกว่าไม่ให้ส่งผล
การกระทำในทางดีก็จะเป็นอาจิณณกรรมฝ่ายกุศลกรรม เช่น คนมีปกติชอบทำทาน ใส่บาตรพระอยู่เป็นประจำทุกเช้า หรือตั้งใจรักษาศีลทุกวันเป็นอย่างดี เป็นต้น อาจิณณกรรมฝ่ายกุศลกรรมนี้ก็จะมีกำลังมากที่จะให้ผลเกิดความสุขความเจริญยิ่งขึ้น หรือหากเป็นการกระทำที่ไม่ดีก็จะเป็นอาจิณณกรรมฝ่ายอกุศลกรรม เช่น ชอบยิงนกตกปลาเป็นประจำ ลักขโมยเป็นประจำ หรือฆ่าหมูฆ่าวัวขายเป็นอาชีพ เป็นต้น อาจิณณกรรมฝ่ายอกุศลกรรมนี้ก็จะมีกำลังมากที่จะให้ผลเกิดความทุกข์ความเดือดร้อนอย่างมาก
อาจิณณกรรมฝ่ายอกุศลกรรม
อาจิณณกรรมฝ่ายอกุศลกรรม คือ กรรมฝ่ายชั่วหรือกรรมฝ่ายบาป เมื่อผู้ใดทำอาจิณณกรรมฝ่ายอกุศลกรรมนี้ก็จะชักนำให้ผู้กระทำไปเกิดในทุคติภูมิได้รับทุกข์โทษเป็นเวลายาวนาน
กรณีศึกษาจากพระไตรปิฎก
คนฆ่าหมู16)
ในสมัยพุทธกาล มีชายคนหนึ่งชื่อว่า จุนทะ มีอาชีพฆ่าสุกรขาย ตลอดชีวิต เขาได้ฆ่าสุกรตายเป็นจำนวนมาก ยิ่งขายเนื้อสุกรได้มากเท่าใดเขาก็จะฆ่าสุกรมากขึ้นเท่านั้น และถ้าหากในปีใดที่เกิดภัยแล้งข้าวยากหมากแพง อาชีพฆ่าสุกรของเขาก็ยิ่งประสบความเจริญรุ่งเรืองทำกำไรได้มาก โดยเขาจะออกกว้านซื้อข้าวมากักตุนไว้ แล้วนำข้าวบรรทุกเกวียนไปแลกกับลูกสุกรของชาวบ้านในชนบท โดยแลกลูกสุกรด้วยข้าว 1 ทะนานบ้าง 2 ทะนานบ้าง
เมื่อได้ลูกสุกรเต็มเกวียนก็นำกลับมาเลี้ยงที่บ้าน เลี้ยงจนกระทั่งสุกรนั้นโตพอที่จะฆ่าเอาเนื้อขายได้ ก็จะทยอยฆ่าสุกรเหล่านั้น ในการฆ่าสุกรของนายจุนทะนั้น เขาจะนำสุกรตัวที่จะถูกฆ่ามาผูกยึดไว้กับหลัก แล้วใช้ค้อนสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ทุบตีไปตามตัวสุกร เพื่อให้เนื้อของสุกรหนาขึ้นแต่จะไม่ทำให้สุกรตายจากนั้นใช้ท่อนไม้ใส่เข้าไปในปากของสุกรให้ปากของสุกรอ้าค้างไว้ แล้วใช้กระบวยตักน้ำร้อนที่ต้มจนเดือดกรอกใส่เข้าไปในปากของสุกรทั้งที่มันยังมีชีวิตอยู่ เพื่อจะเอาสิ่งปฏิกูลที่อยู่ในท้องของสุกรออกมาทางทวาร จนกระทั่งไม่มีสิ่งปฏิกูลไหลออกมา เหลือเพียงแต่น้ำใสๆ ซึ่งแสดงว่าอวัยวะภายในของสุกรสะอาดหมดจดดีแล้ว จากนั้นจึงเอาน้ำร้อนเทราดไปบนตัวของสุกร เพื่อทำความสะอาดภายนอกจนปราศจากขน จึงใช้ดาบตัดคอสุกรจนขาด เอาภาชนะมารองใส่เลือดเก็บไว้ แล้วจึงแล่เนื้อสำหรับเอาไว้ขาย
เขาฆ่าสุกรขายเป็นอาชีพนานถึง 55 ปี โดยที่ไม่ได้ทำบุญกุศลใดๆ เลยตลอดชีวิต ทั้งๆ ที่บ้านของเขาก็อยู่ไม่ไกลจากพระวิหารที่ประทับของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เขาได้ทำปาณาติบาต คือฆ่าสุกรเป็นประจำทุกวัน จนกระทั่งในเวลาที่เขาใกล้จะเสียชีวิต เขาล้มป่วยลงและเห็นคตินิมิตเป็นไฟในอเวจีมหานรก ทำให้มีความรู้สึกเร่าร้อนอย่างแรงกล้าไปทั่วทั้งร่างกาย มีความทุกข์ทรมานมากจนไม่อาจนอนนิ่งบนเตียงเช่นคนป่วยโดยทั่วไปได้ เขาลงมาคลานรอบๆ ห้องและแผดเสียงดังเหมือนกับสุกรที่ร้องขณะจะถูกฆ่า บุตร ภรรยา และชาวบ้านที่อยู่ในระแวกใกล้เคียง เห็นเขามีอาการเช่นนั้นก็รู้สึกสงสารและสังเวชจึงช่วยกันจับเขาให้นอนอยู่กับที่ แต่เขากลับผลักคนเหล่านั้นกระเด็นไปคนละทิศละทาง แล้วคลานร้องครวญครางต่อไป
เขาทุกข์ทรมานและแสดงอาการเช่นนั้นเป็นเวลานานถึง 7 วัน พอครบ 7 วันจึงขาดใจตาย หลังจากที่ตายจากความเป็นมนุษย์แล้ว เขาได้ไปบังเกิดเป็นสัตว์นรกร่างกายใหญ่โตในอเวจีมหานรก ถูกไฟนรกเผาไหม้ตลอดเวลา ได้รับความทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัส ทั้งนี้เป็นเพราะกรรมปาณาติบาตที่นายจุนทะฆ่าสุกรทุกวันจนเป็นอาจิณณกรรม ชักนำเขาไปเกิดในอเวจีมหานรก
อาจิณณกรรมฝ่ายกุศลกรรม
อาจิณณกรรมฝ่ายกุศลกรรม คือ กรรมฝ่ายบุญหรือกรรมฝ่ายดีที่จะชักนำผู้ที่กระทำอาจิณณกรรม ฝ่ายกุศลกรรมให้ไปบังเกิดในสุคติภูมิหลังจากตายไปแล้วให้ได้เสวยสุข
กรณีศึกษาจากพระไตรปิฎก
เทพนารีอดีตนางทาสี17)
ครั้งหนึ่งในสมัยพุทธกาล ขณะนั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน เมืองสาวัตถี แคว้นโกศล มีอุบาสกท่านหนึ่งเข้าไปสู่วิหารในเวลาเย็นพร้อมกับเหล่าเพื่อนอุบาสกเป็นจำนวนมากเพื่อฟังพระธรรมเทศนาจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อจบพระธรรมเทศนา ชนทั้งหลายที่มาฟังธรรมต่างก็แยกย้าย กันไป ส่วนอุบาสกท่านนั้นได้เข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดา อภิวาท แล้วกราบทูลความประสงค์ของตนที่จะถวายนิตยภัตแก่พระสงฆ์วันละ 4 รูป พระพุทธองค์จึงตรัสให้เขาไปบอกกับพระภิกษุผู้ทำหน้าที่จัดภิกษุ เขาจึงไปพบภิกษุรูปนั้นและกราบเรียนความประสงค์ของตน
ครั้นแล้วเขาจึงกลับไปสู่เรือนของตนสั่งกำชับแก่นางทาสีในการดูแลจัดเตรียมนิตยภัตถวายแด่พระภิกษุที่ตนได้อาราธนาไว้ ซึ่งปกตินางก็มีศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอยู่แล้ว เมื่อได้รับมอบหมายจากอุบาสกผู้เป็นนายเช่นนั้นจึงมีความยินดีเป็นอันมาก ทุกเช้านางจึงตื่นแต่เช้ามืดจัดเตรียมโภชนาหารและปูลาดอาสนะตกแต่งให้มีกลิ่นหอม และเมื่อพระภิกษุมาถึงก็กล่าวอาราธนาให้นั่งบนอาสนะด้วยความเลื่อมใส กราบนมัสการแล้วบูชาด้วยธูปเทียนดอกไม้ จากนั้นจึงถวายภัตตาหารด้วยความเคารพ
วันหนึ่งหลังจากเห็นพระภิกษุฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว นางจึงได้เข้าไปกราบเรียนถามด้วยความเคารพว่า
“ บุคคลทำประการใดจึงจะประสบความสุขความสบายในปรโลกภายหน้า ทั้งนี้เป็นเพราะนางปรารถนาที่จะมีชีวิตที่สุขสบายในภพชาติต่อไป จะได้ไม่ต้องเกิดเป็นทาสีเหมือนในชาติปัจจุบัน”
พระภิกษุจึงบอกแก่นางว่า
“ ถ้านางปรารถนาความสุขสบายในภพชาติภายภาคหน้า นางต้องสมาทานไตรสรณคมน์และศีล แล้วพระภิกษุให้นางรับไตรสรณคมน์และศีล”
จากนั้นจึงบอกถึงอานิสงส์ของการสมาทานไตรสรณคมน์และศีล พร้อมทั้งกำชับให้นางรักษาให้ดี นับแต่วันนั้นมานางก็ตั้งใจรักษาไตรสรณคมน์และศีลอย่างดีตลอดชีวิต จนเวลาผ่านไป 16 ปี นางก็เสียชีวิตลง เมื่อนางตายแล้วได้ไปบังเกิดเป็นเทพนารีบนทิพยวิมาน ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีรูปโฉมงดงาม ทั้งนี้เป็นเพราะอำนาจแห่งสรณคมน์และศีลที่นางตั้งใจรักษาอย่างดีตลอดชีวิตจนเป็นอาจิณณกรรมชักนำให้นางไปบังเกิด ณ ที่นั้น
-------------------------------------------------------------------
16) เรื่องนายจุนทสูกริก, อรรถกถาขุททกนิกาย คาถาธรรมบท, มก. เล่ม 40 หน้า 170.
17) ทาสีวิมาน, อรรถกถาขุททกนิกาย วิมานวัตถุ, มก. เล่ม 48 หน้า 157.
GL 203 กฎแห่งกรรม
กลุ่มวิชาเป้าหมายชีวิต