อุปฆาตกกรรม

วันที่ 26 สค. พ.ศ.2558

 

อุปฆาตกกรรม

 ความหมายของอุปฆาตกกรรม

            อุปฆาตกกรรม หมายถึง กรรมที่มีหน้าที่เข้าไปฆ่าหรือเข้าไปตัดรอนกรรมอื่นๆ ที่มีสภาพตรงกันข้ามกับตนให้สิ้นลงอย่างเด็ดขาด จึงมีชื่อเรียกกรรมนี้อีกอย่างหนึ่งว่า อุปัจเฉทกกรรม ซึ่งแปลว่า กรรมที่เข้าไปตัด

 

ลักษณะของอุปฆาตกกรรม

            จากความหมายข้างต้นอาจเปรียบอุปฆาตกกรรมเสมือนบุรุษผู้กำลังจะยิงลูกศรที่สามารถไปได้ไกลประมาณ 8 อสุภ คือ 14 เส้น ในขณะนั้นมีบุรุษอีกคนหนึ่งถือค้อนยกขึ้นคอยสกัดหน้าลูกศรนั้นไว้ ทำให้ไม่สามารถที่จะยิงลูกศรออกไปได้จนถึงที่หมาย และให้หมดประสิทธิภาพตกลงยังพื้นดิน อุปฆาตกกรรมก็ เช่นกันเมื่อใดที่ตามมาทัน ก็ย่อมทำหน้าที่เข้าไปฆ่า เข้าไปตัดกรรมอื่นไม่ให้ผลอย่างเด็ดขาดในปัจจุบันทันด่วน

            อุปฆาตกกรรมจึงเป็นปฏิปักษ์ หรือตรงข้ามกับชนกกรรมและอุปัตถัมภกกรรม แต่จะสนับสนุนอุปปีฬกกรรม โดยจะทำหน้าที่เข้าไปฆ่ากรรมอื่นที่ชนกกรรม และอุปัตถัมภกกรรมแต่งไว้ เช่น ชนกกรรมชักนำให้มาเกิดเป็นมนุษย์ผู้โชคดี โดยเกิดเป็นลูกเศรษฐี มีปัญญาและหน้าตาดี อุปัตถัมภกกรรมก็สนับสนุนให้เป็นที่รักใคร่ของคนทั้งหลาย ทำอะไรก็ล้วนแต่ประสบความสำเร็จ แต่อุปฆาตกกรรมจะเข้าทำการตัดรอน เช่น ทำให้ล่มจม หรือเสียชีวิต เป็นต้น ในทางตรงกันข้ามถ้าชนกกรรมชักนำให้สัตว์เกิดมาในตระกูลต่ำ อุปัตถัมภกกรรมก็สนับสนุนให้มีความลำบากแร้นแค้นหนักเข้าอีก แต่ทันทีที่อุปฆาตกกรรมให้ผลก็ทำให้เขามีชีวิตที่ดีขึ้นผิดหูผิดตา เช่น ได้รับความยอมรับในสังคม ประสบผลสำเร็จในชีวิต เป็นต้น

 

ความแตกต่างกันของอุปปีฬกกรรมกับอุปฆาตกกรรม

            ดังที่กล่าวมาแล้วอุปปีฬกกรรม คือ กรรมที่ทำหน้าที่เบียดเบียนกรรมอื่นที่มีสภาพตรงกันข้าม แต่อุปปีฬกกรรมจะค่อยๆ เบียดเบียนอย่างช้าๆ ไม่รวดเร็วฉับพลัน เช่น ถ้าเป็นอุปปีฬกกรรมฝ่ายอกุศล เมื่อตามมาทันย่อมเข้าเบียดเบียนกุศลกรรมของมนุษย์ให้ค่อยหมดสิ้นไป ทำให้คนนั้นสิ้นความสุขความเจริญ สิ้นทรัพย์สมบัติไปอย่างช้าๆ ซึ่งมิได้ตัดอายุ

            ส่วนอุปฆาตกกรรม เมื่อตามมาทันย่อมทำหน้าที่เข้าไปฆ่า เข้าไปตัดกรรมที่มีสภาพตรงกันข้ามกับตนให้เด็ดขาดในปัจจุบันทันด่วน ไม่ชักช้าเหมือนอุปปีฬกกรรม เช่น ถ้าเป็นอุปฆาตกกรรมฝ่ายอกุศล เมื่อตามมาทันย่อมเข้าไปตัดกุศลกรรมของมนุษย์ในทันทีทันใด ทำให้คนนั้นสิ้นเนื้อประดาตัว ทรัพย์สมบัติพินาศย่อยยับ และก็จะทำให้หมดสิ้นอายุไปบังเกิดในอบายภูมิได้ ทั้งๆ ที่ได้สร้างบุญมาอย่างมากมาย

อุปฆาตกกรรมก็มีอยู่ 2 ฝ่ายเช่นกัน คือ อุปฆาตกกรรมฝ่ายที่เป็นกุศลและอุปฆาตกกรรมฝ่ายที่เป็นอกุศล อุปฆาตกกรรมฝ่ายที่เป็นอกุศลเมื่อตามมาทัน ก็ย่อมทำหน้าที่เข้าไปฆ่ากุศลกรรมให้สิ้นลงทันทีไม่ให้เหลือเลย ดังเช่นกรณีศึกษาในเรื่องต่อไปนี้

 

กรณีศึกษาจากพระไตรปิฎกฝ่ายอกุศลกรรม

กรรมของพระเจ้าอชาตศัตรู7)

           พระเจ้าอชาตศัตรูเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าพิมพิสาร ซึ่งเป็นพระราชาผู้ครองแคว้นมคธอันเป็นแคว้นใหญ่แคว้นมหาอำนาจหนึ่งในสี่ในสมัยพุทธกาล พระเจ้าพิมพิสารเป็นพระราชาผู้มีความเลื่อมใสในพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระพุทธศาสนาอย่างมั่นคง อีกทั้งทรงบรรลุเป็นพระโสดาบัน

            ในขณะที่พระเจ้าอชาตศัตรูยังอยู่ในพระครรภ์ของพระราชมารดานั้น พระนางทรงมีพระอาการแพ้ท้องอยากจะเสวยพระโลหิตในพระพาหาของพระเจ้าพิมพิสารผู้เป็นพระสวามี เมื่อพระเจ้าพิมพิสาร ทรงทราบ พระองค์มีพระทัยเมตตาพระโอรสที่ยังอยู่ในพระครรภ์ จึงทรงใช้พระแสงกรีดพระพาหาให้พระมเหสีได้เสวยพระโลหิต ซึ่งเมื่อพระนางได้เสวยแล้วอาการแพ้ท้องก็สงบลง พระเจ้าพิมพิสารทรงนำเรื่องราวที่พระนางแพ้ท้องอยากเสวยพระโลหิตของพระองค์เล่าให้เหล่าโหราจารย์ประจำพระนครฟังและตรัสถามเหตุการณ์ว่าดีร้ายอย่างไร ซึ่งเหล่าโหราจารย์ได้กราบทูลว่าพระโอรสนั้นจะเป็นศัตรูต่อราชสมบัติ แต่พระองค์ก็ไม่ได้ทรงกระทำประการใด

 

            ครั้นพระมเหสีทรงทราบเรื่องราวที่เหล่าโหราจารย์กราบทูลว่าพระโอรสที่อยู่ในพระครรภ์ของพระนางจะเป็นศัตรูต่อราชสมบัติจึงไม่ปรารถนาจะให้พระโอรสนั้นประสูติ ได้ทรงพยายามกระทำประการ ต่างๆ เพื่อให้พระโอรสนั้นสิ้นพระชนม์ตั้งแต่ยังอยู่ในครรภ์ เมื่อพระเจ้าพิมพิสารทรงทราบพระองค์ทรงห้ามพระนางเพราะทรงไม่ประสงค์จะให้พระนางกระทำบาป

            เมื่อพระโอรสประสูติแล้วพระเจ้าพิมพิสารทรงให้พระนามว่า อชาตศัตรู เมื่อพระกุมารเจริญพรรษาขึ้นพระองค์ทรงรู้จักและคบหากับพระเทวทัตซึ่งเป็นภิกษุพาล คิดน้อยใจที่ตนไม่ได้ลาภสักการะเหมือนพระเถระผู้ใหญ่องค์อื่น อีกทั้งมีจิตคิดประทุษร้ายพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อหวังปกครองสงฆ์เสียเอง

            พระเทวทัตได้ยุยงให้อชาตศัตรูกุมารปลงพระชนม์พระเจ้าพิมพิสารผู้เป็นพระราชบิดา เพื่อแย่งราชสมบัติ พระกุมารทรงเชื่อถ้อยคำของพระเทวทัต ทรงซ่อนกริชติดพระกายเข้าเฝ้าพระเจ้าพิมพิสารหมายปลงพระชนม์ แต่ถูกเหล่าอํามาตย์ผู้รักษาวังจับได้ เมื่อสอบสวนจนทราบเนื้อความทั้งหมดจึงนำเข้าเฝ้าพระราชา พระองค์ทรงถามพระกุมาร พระกุมารยอมรับว่าประสงค์จะปลงพระชนม์ เพราะปรารถนาราชสมบัติ พระราชาจึงทรงยกราชสมบัติให้แก่พระกุมาร

 

            เมื่อได้ราชสมบัติแล้ว พระเจ้าอชาตศัตรูเสด็จไปหาพระเทวทัต ทรงเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นให้พระ-เทวทัตฟัง พระเทวทัตเมื่อทราบเรื่องราวทั้งปวงจึงยุยงให้พระเจ้าอชาตศัตรูปลงพระชนม์พระเจ้าพิมพิสาร ซึ่งพระเจ้าอชาตศัตรูก็ทรงเชื่อถ้อยคำ ทรงรับสั่งให้จับพระราชบิดาขังไว้ในเรือนจำและไม่อนุญาตให้ผู้ใดไปมาหาสู่นอกจากพระราชชนนี แต่เมื่อทราบว่าพระนางลอบนำพระกระยาหารไปถวายพระเจ้าพิมพิสารจึงห้ามมิให้พระนางเข้าไปในเรือนจำ แม้จะไม่ได้เสวยพระกระยาหาร พระเจ้าพิมพิสารก็ไม่ทรงสิ้นพระชนม์ พระองค์ยังทรงพระชนมชีพได้ด้วยการเดินจงกรม ระลึกถึงคุณพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ แต่เมื่อพระเจ้าอชาตศัตรูทรงทราบจึงรับสั่งให้ช่างโกนผมใช้มีดโกนกรีดฝ่าพระบาททั้ง 2 ข้างของพระองค์แล้วทาด้วยน้ำเกลือ ทำให้พระเจ้าพิมพิสารไม่อาจทนต่อทุกขเวทนาได้พระองค์จึงสิ้นพระชนม์ในที่สุด

            ภายหลังจากปลงพระชนม์พระราชบิดาแล้ว พระเจ้าอชาตศัตรูไม่ทรงมีความสำราญพระทัยเลย เพราะทรงระลึกถึงบาปกรรมที่ได้ปลงพระชนม์พระราชบิดาอยู่เนืองๆ ต่อมาทรงมีโอกาสเข้าเฝ้า พระ-สัมมาสัมพุทธเจ้า และได้สดับพระธรรมเทศนา ทำให้เกิดความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก ต่อมาภายหลังเมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน พระองค์ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ในการสังคายนาพระธรรมวินัย และทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาตลอดพระชนมชีพ เมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์ พระองค์ได้ไปบังเกิดเป็นสัตว์นรกในโลหกุมภีนรก ทั้งนี้เป็นเพราะอุปฆาตกกรรมฝ่ายอกุศลที่ทรงปลงพระชนม์พระราชบิดาอันเป็นอนันตริยกรรมมาตัดรอนแม้ว่าจะสร้างบุญกุศลในพระพุทธศาสนาอย่างมากมายในภายหลังก็ตาม

 

            พระเจ้าอชาตศัตรูทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาเอาไว้อย่างมากมาย ครั้งที่สำคัญที่สุดก็คือ การได้เป็นองค์อุปถัมภ์ในการทำสังคายนาหลังจากที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงปรินิพพานแล้ว แต่ถึงอย่างไรกุศลกรรมที่ทำเอาไว้อย่างมากมายก็มิได้ช่วยให้พระองค์ได้ไปบังเกิดบนเทวภูมิ เพราะกรรมที่พระองค์ทรงทำปิตุฆาตพระราชบิดา ซึ่งเป็นอุปฆาตกกรรมอันหนักที่เข้ามาตัดรอนให้ไปตกอยู่ที่โลหกุมภีนรก ได้รับ ทุกข์โทษอย่างยาวนานมาก

            ส่วนอุปฆาตกกรรมฝ่ายกุศล เมื่อตามมาทันย่อมทำหน้าที่เข้าไปฆ่าอกุศลกรรมของบุคคลนั้นให้สิ้นลงอย่างเด็ดขาดเหมือนกัน ถึงแม้บุคคลนั้นจะทำบาปมาตลอดชีวิต ดังเช่นกรณีศึกษาในเรื่องต่อไปนี้

 

กรณีศึกษาจากพระไตรปิฎกฝ่ายกุศลกรรม

พระองคุลิมาล8)

            พระองคุลิมาลเป็นพระอรหันต์องค์สำคัญองค์หนึ่งในพระพุทธศาสนา ท่านเป็นบุตรของปุโรหิตของพระเจ้าปเสนทิโกศลพระราชาผู้ปกครองแคว้นโกศล ในวันที่พระองคุลิมาลจะคลอดนั้นได้ปรากฏเหตุอัศจรรย์คือ อาวุธทั้งหลายในเมืองลุกเป็นเปลวเพลิงสว่างทั่วทั้งเมือง เมื่อปุโรหิตเข้าเฝ้าพระราชา พระราชาตรัสถามถึงเหตุที่เกิดขึ้น ปุโรหิตตอบว่า

“    ที่เกิดเหตุอัศจรรย์เป็นด้วยอานุภาพของบุตรตนซึ่งเกิดในฤกษ์โจร ซึ่งในภายหน้าจะเป็นโจรใหญ่ทำอันตรายต่อชาวเมืองทั้งหลาย จึงเสนอให้พระราชาประหารชีวิตบุตรของตนเสีย”

แต่พระราชาเห็นว่าเด็กนั้นไม่เป็นอันตรายต่อราชสมบัติจึงไม่รับสั่งให้ประหารแต่ให้ปุโรหิตเลี้ยงดูบุตรนั้นต่อไป

            ปุโรหิตได้ให้นามบุตรของตนว่า อหิงสกะ ซึ่งแปลว่าผู้ไม่เบียดเบียน เมื่อเขาเจริญเติบโตขึ้น ปุโรหิตส่งเขาไปศึกษาศิลปวิทยาการต่างๆ ที่เมืองตักสิลา ซึ่งเป็นเมืองที่เป็นศูนย์รวมแหล่งให้ความรู้ในสมัยพุทธกาล และด้วยเหตุว่าอหิงสกะ เป็นคนมีปัญญาดี อีกทั้งมีวัตรปฏิบัติที่งดงาม จึงทำให้ศึกษาศิลปศาสตร์ต่างๆ ที่อาจารย์ถ่ายทอดให้ได้อย่างรวดเร็วและเป็นที่รักของอาจารย์ แต่เพราะความเฉลียวฉลาดกว่าเพื่อนๆ ร่วมสำนักเรียนรวมทั้งเป็นที่โปรดปรานของอาจารย์ จึงทำให้ไม่เป็นที่พออกพอใจของ เหล่าเพื่อนๆ พวกเพื่อนร่วมสำนักเรียนจึงวางแผนการช่วยกันยุแยงให้อาจารย์ระแวงและเกลียดกลัวว่าอหิงสกะคิดประทุษร้ายผู้เป็นอาจารย์ ซึ่งในตอนแรกอาจารย์ก็ไม่สนใจกลับไล่ศิษย์เหล่านั้น แต่ด้วยอุบายที่แยบยล เมื่อถูกศิษย์สลับหน้ากันมากล่าวร้ายอหิงสกะบ่อยครั้งเข้าจึงเชื่อว่าเป็นความจริง และคิดหาวิธีที่จะกำจัดอหิงสกะ ซึ่งในที่สุดก็คิดวิธีการออกคือ จะยืมมือชาวเมืองฆ่าอหิงสกะ

 

            เมื่อคิดวิธีกำจัดศิษย์ที่ตนเข้าใจว่าคิดประทุษร้ายตนได้แล้ว อาจารย์จึงเรียกอหิงสกะให้มาพบแล้วลวงว่าวิชาความรู้ที่ถ่ายทอดนั้นได้ถ่ายทอดให้หมดแล้ว เหลืออีกเพียงวิชาเดียวซึ่งเป็นสุดยอดวิชาซึ่งจะเรียนได้นั้นต้องฆ่าคนให้ครบหนึ่งพันคน จึงถ่ายทอดให้ แม้จะไม่เคยฆ่าคนเพราะตระกูลของตนเป็นตระกูลพราหมณ์ไม่เบียดเบียนชีวิตสัตว์ แต่เพราะเป็นผู้ใคร่ในการศึกษาประกอบกับไม่รู้ทันเล่ห์เพทุบายของผู้เป็นอาจารย์ที่หมายปองชีวิตตน จึงเชื่อคำของอาจารย์คว้าอาวุธเข้าป่าฆ่าคนที่พบเจอ เมื่อฆ่าคนไปได้จำนวนหนึ่งก็ลืมเลือนไม่สามารถจำได้ว่าฆ่าไปจำนวนเท่าใดแล้ว ในภายหลังเมื่อฆ่าคนครั้งใดก็จะตัดนิ้วมือ 1 นิ้ว มาร้อยเป็นพวงห้อยคอ ด้วยเหตุที่เป็นโจรฆ่าตัดนิ้วแล้วนำมาห้อยคอ ชนทั้งหลายจึงเรียกเขาว่า องคุลิมาลโจร

             โจรองคุลิมาลฆ่าคนที่เดินทางผ่านป่าตายเป็นจำนวนมาก นานเข้าก็ไม่มีใครกล้าเดินทางผ่านป่า โจรองคุลิมาลจึงออกมาฆ่าคนถึงในหมู่บ้าน ชาวบ้านทั้งหลายเมื่อถูกฆ่าตายลงเป็นอันมากก็อพยพทิ้งบ้านเรือนหนีไปยังเมืองสาวัตถีอันเป็นเมืองหลวงของแคว้นโกศล และได้พากันกราบทูลเรื่องราวแด่พระราชาให้ทรงทราบ

 

            พระราชาซึ่งทรงทราบเรื่องราวอยู่แล้ว ครั้นได้ฟังคำร้องทุกข์ของชาวเมือง จึงทรงรับสั่งให้เหล่าอำมาตย์เตรียมการที่จะไปปราบโจรองคุลิมาล เมื่อปุโรหิตผู้เป็นบิดาของโจรทราบ จึงนำเรื่องราวไปบอกแก่ นางพราหมณีผู้เป็นภรรยา นางรู้สึกทุกข์มาก กลัวบุตรจะเป็นอันตรายจึงเดินทางเข้าไปยังป่าที่โจรองคุลิมาล อยู่เพื่อจะบอกให้หลบหนี ซึ่งในวันนั้นเอง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรวจข่ายพระญาณพิจารณาสัตวโลก ตามพุทธวิสัย ทรงเห็นองคุลิมาลโจรมาปรากฏในข่ายพระญาณ เมื่อพิจารณาดูก็ทรงทราบว่า หากพระองค์เสด็จไปพบ แล้วแสดงธรรมแก่โจรนี้ เขาก็จะเกิดศรัทธาเลื่อมใสขอบรรพชาอุปสมบทเป็นพระ-ภิกษุและจะได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ในภายหลัง แต่ถ้าหากเขาฆ่ามารดาของเขาก่อนก็จะเป็นมาตุฆาตซึ่งเป็นอนันตริยกรรม เป็นบาปหนักที่จะมาปิดกั้นเขาจากทางมรรคผล

            เมื่อทรงทราบความทั้งปวงแล้ว พระพุทธองค์จึงเสด็จไปพบโจรองคุลิมาล เมื่อเขาเห็นพระพุทธองค์ จึงคว้าดาบไล่ตามหมายจะฆ่า แต่แม้จะวิ่งอย่างไรก็ไม่อาจตามทันพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้งนี้เป็นด้วยพระองค์ทรงใช้ฤทธิ์เพื่อจะทรมานโจรองคุลิมาลให้เหนื่อยอ่อน เมื่อเขาอ่อนแรงลงได้ร้องบอกให้พระองค์หยุด ซึ่งพระพุทธองค์ทรงตอบเขาว่า พระองค์หยุดแล้ว แต่เขาต่างหากที่ยังไม่หยุด เขารู้สึกขัดเคือง จึงต่อว่าพระพุทธองค์ว่ากล่าวคำมุสาวาท พระพุทธองค์จึงตรัสตอบเขาไปว่า พระองค์พ้นจากเกิด แก่ เจ็บ ตาย ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารอีกต่อไป ชื่อว่าหยุดแล้ว แต่ตัวเขามีใจหยาบช้าฆ่าคนล้มตายมากมาย จะต้องได้รับทุกข์โทษในอบายภูมิเพราะบาปที่ทำไป และจะต้องเวียนว่ายตายเกิดรับทุกข์ทรมานในวัฏสงสารอีกยาวนานชื่อว่ายังไม่หยุด

 

            โจรองคุลิมาลเมื่อฟังคำของพระพุทธองค์จึงกลับได้สตินึกพิจารณาว่า ผู้ที่สนทนากับตนน่าจะเป็นเจ้าชายสิทธัตถะซึ่งได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้งนี้เป็นเพราะอุปฆาตกกรรมฝ่ายกุศลตามมาทัน จึงเกิดความเคารพเลื่อมใส ขว้างทิ้งอาวุธแล้วเข้าไปกราบพระบาทพระพุทธองค์ทูลขอบรรพชา ซึ่งพระองค์ก็ได้ประทานการบวชด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทาให้แก่เขา เพราะทรงตรวจดูแล้วพบว่าเขาเคยถวายเครื่องอัฐบริขารให้แก่พระภิกษุสงฆ์ผู้ทรงศีลมาในอดีต

            เมื่อโจรองคุลิมาลบวชเป็นพระภิกษุสงฆ์แล้ว ท่านก็ปฏิบัติตามกิจของสงฆ์ ได้เข้าไปบิณฑบาตในพระนคร แต่เมื่อชนทั้งหลายเห็นท่านต่างก็จำได้จึงหวาดกลัวหลบหนีไม่มีใครถวายบิณฑบาตท่าน มิหนำซ้ำยังขว้างปาด้วยก้อนหินและท่อนไม้ ทุกวันท่านจึงกลับจากบิณฑบาตด้วยบาตรเปล่า มีแต่รอยฟกช้ำและเลือดที่ไหลโทรมกายกลับพระวิหาร ทั้งนี้เป็นเพราะชาวเมืองโกรธแค้นที่ท่านเคยฆ่าญาติและบุคคลอันเป็นที่รักของพวกเขา แต่นานวันไปชาวบ้านก็เริ่มถวายอาหารท่าน และต่อมาท่านได้บำเพ็ญสมณธรรมจนกระทั่งบรรลุเป็นพระอรหันต์ในที่สุด

            อุปฆาตกกรรมฝ่ายกุศลของโจรองคุลิมาลติดตามมาทัน และเริ่มทำหน้าที่ คือ เมื่อองคุลิมาลได้ฟังพระพุทธดำรัสแล้ว จึงได้สติแล้วทูลขอบวชเป็นพระภิกษุ และด้วยบุญบารมีที่ได้สั่งสมมา เมื่อท่านบำเพ็ญเพียรแล้ว ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ซึ่งทำให้ท่านหลุดพ้นวิบากจากการฆ่าคนมากมายในตอนต้น

 

            สรุปความว่า “    กิจจจตุกะ ” คือ ประเภทกรรมที่ทำตามหน้าที่ของแต่ละกรรม ถ้าหากจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพของแต่ละกรรมชัดเจนขึ้นนั้น อาจจะเปรียบชนกกรรมเสมือนพี่ใหญ่ เปรียบอุปัตถัมภกกรรมเสมือนน้องที่เชื่อฟังพี่ทุกอย่าง ส่วนอุปปีฬกกรรมและอุปฆาตกกรรมเปรียบเสมือนน้องที่ไม่เชื่อฟังพี่ มีความคิดเป็นของตนเอง ไม่ทำตามในสิ่งที่พี่สอนหรือบอกให้ทำ แต่อุปปีฬกกรรมนั้นจะค่อยๆ ไม่ทำตามในสิ่งที่พี่สอนหรือบอก ซึ่งผิดกลับอุปฆาตกกรรมที่ตรงไปตรงมา คือ ไม่ทำตามในสิ่งที่พี่สอนหรือบอกอย่างเห็นได้ชัดเจนมากกว่าอุปปีฬกกรรม

            ที่เปรียบเช่นนี้ก็เพราะว่าชนกกรรม คือ กรรมที่นำสัตว์ไปเกิด โดยมีอุปัตถัมภกกรรมคอยสนับสนุนและทำตามชนกกรรม คือ ถ้าชนกกรรมนำสัตว์ไปเกิดดี อุปัตถัมภกกรรมก็จะสนับสนุนในสิ่งที่ดีตามที่ชนกกรรมนำไป ส่วนอุปปีฬกกรรมและอุปฆาตกกรรมจะให้ในสิ่งที่ตรงกันข้ามกับชนกกรรม คือ ถ้าชนกกรรมนำสัตว์ไปเกิดดี มีฐานะดี อุปปีฬกกรรมและอุปฆาตกกรรมก็จะเข้าไปทำให้สัตว์เจ็บป่วย ไม่สามารถใช้ทรัพย์นั้นได้ ให้ชีวิตไม่มีความสุข เป็นต้น แต่อุปปีฬกกรรมจะเหมือนเชื้อโรคที่สะสมอยู่ในร่างกายที่จะค่อยๆ บั่นทอนให้ร่างกายนั้นทรุดลงเรื่อยๆ กล่าวคือ อุปปีฬกกรรมเมื่อส่งผลจะค่อยๆ ส่งผล อย่างช้าๆ จนบุคคลนั้นย่อยยับ ส่วนอุปฆาตกกรรมจะให้ผลในทันทีทันใด ไม่มีการลังเล ซึ่งอาจทำให้บุคคลนั้นย่อยยับทั้งทรัพย์สินและชีวิต

            เพราะฉะนั้น นักศึกษาจึงไม่ควรประมาทในการดำเนินชีวิต ต้องหมั่นสั่งสมบุญทุกๆ บุญอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง อย่าได้เผลอไปทำบาปอกุศล พร้อมกับทำใจให้ใส แล้วนึกถึงแต่บุญกุศลที่ตนได้ทำเอาไว้ตลอดเวลาให้ได้ทั้งวัน ก็จะทำให้บาปอกุศลที่จะมาตัดรอนชีวิตและทรัพย์สินไม่ได้ช่องในการส่งผล แต่กลับจะทำให้บุญกุศลส่งผลให้เรามีชีวิตที่รุ่งเรืองมีความสุขยิ่งขึ้นไปอีกจนกว่าจะหมดกิเลสเข้าสู่พระนิพพานเฉกเช่นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลาย

-------------------------------------------------------------------

7) อรรถกถาสามัญญผลสูตร, ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค, มก. เล่ม 11 หน้า 288.
8) อังคุลิมาลสูตร, มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์, มก. เล่ม 21 หน้า 141.

GL 203 กฎแห่งกรรม
กลุ่มวิชาเป้าหมายชีวิต

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.036801215012868 Mins