การกำเนิดบาปในพระพุทธศาสนา
จากการที่นักศึกษาได้เรียนรู้ทรรศนะการล้างบาปในศาสนาต่างๆ ที่ผ่านมา จะเห็นว่าในเรื่องการกำเนิดบาปในแต่ละศาสนามีความเชื่อที่ต่างกัน ศาสนาที่นับถือพระเจ้าอย่างศาสนาคริสต์และศาสนาพราหมณ์-ฮินดู มักจะเชื่อว่า บาปเกิดจากการที่ผิดคำสั่งของพระผู้เป็นเจ้า เช่น ศาสนาคริสต์เชื่อว่า บาปเกิดจากการที่อาดัมกับอีวาแอบกินแอปเปิ้ลในสวนเอเดน ซึ่งเป็นการผิดคำสั่งพระเจ้า ทำให้มีบาปติดตัวมาถึงลูกหลานและมนุษย์ทั่วโลก โดยนัยนี้ศาสนาคริสต์เชื่อว่า บาปตกทอดทางสายเลือด ดังนั้นมนุษย์ที่เกิดใหม่จะต้องรับศีลล้างบาป หรือคำสอนที่ว่า พระเจ้าทรงไว้ซึ่งสิทธิ์ขาดที่จะยกเลิกบาปให้ใครๆ ได้ โดยการไถ่บาป ขอเพียงอย่างเดียว คือ ให้ผู้นั้นภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้าเท่านั้น
ส่วนพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงรู้แจ้งโลกทั้งปวง มีความรู้ในทุกสิ่งทุกอย่างตามความเป็นจริง ทรงเห็นกลไกความเป็นไปของกฎธรรมชาติ เป็นผลทำให้พระองค์ทรงรู้จักธรรมชาติของกิเลส อันเป็น ต้นเหตุแห่งการเกิดบาปทั้งหลายได้อย่างถูกต้องตรงความเป็นจริง และสามารถกำจัดกิเลสเหล่านั้นออกไป โดยสิ้นเชิงและเด็ดขาด พระองค์ทรงสรุปเรื่องการกำเนิดบาปไว้อย่างชัดเจนว่า
“ นตฺถิ ปาปํ อกุพฺพโต
บาปย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้ไม่ทำบาป“ 4)
“ อตฺตนา ว กตํ ปาปํ อตฺตนา สงฺกิลิสฺสติ
ใครทำบาป คนนั้นก็เศร้าหมองเอต”
“ อตฺตนา อกตํ ปาปํ อตฺตนา ว วิสุชฺฌติ
ใครไม่ทำบาป คนนั้นก็บริสุทธิ์”5)
จากพระพุทธวจนะนี้ เป็นเครื่องยืนยันการค้นพบของพระองค์ว่า บาปเป็นเรื่องเฉพาะตัว ไม่ใช่สิ่งที่ติดต่อกันได้ ใครทำบาปคนนั้นก็ได้รับบาปเอง ใครไม่ทำบาปก็รอดตัวไป หากพ่อทำบาปก็เป็นกรรมของพ่อ จะไม่ตกไปถึงลูก เหมือนพ่อกินข้าวอิ่ม ลูกก็ไม่ได้อิ่มด้วย ดังนั้นสรุปว่า ตามความเห็นของพระพุทธศาสนา บาปเกิดขึ้นที่ตัวผู้ทำเอง คือ เกิดจากกิเลสในใจของผู้ทำ ไม่เกี่ยวกับบุคคลอื่น ถ้าใครทำชั่ว บาปก็จะกัดกร่อนใจผู้นั้น ให้ใจเศร้าหมอง ขุ่นมัว ทำให้เกิดทุกข์ทรมาน ขาดประสิทธิภาพ
บาปเกิดได้ 3 ทาง
ดังที่ทราบแล้วว่า บาปเกิดจากกิเลสภายในใจ คือ โลภะ โทสะ โมหะ บังคับจิตใจมนุษย์ให้กระทำความชั่วทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ เป็นผลให้เกิดความเดือดร้อนแก่จิต ทำให้จิตอยู่ในสภาวะ เศร้าหมองไม่ผ่องใส หนทางแห่งการทำบาป ทำความชั่ว ทำความไม่ดีนั้น ตามหลักพระพุทธศาสนา เรียกว่า อกุศลกรรมบถ มี 10 ประการ แบ่งออกเป็น 3 ทาง คือ กายกรรม 3 วจีกรรม 4 และมโนกรรม 3 ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
1. กายกรรม 3 หมายถึง ความประพฤติไม่ดีที่แสดงออกทางกาย 3 ประการ ได้แก่
(1) ปาณาติบาต ทำสัตว์ให้ตกล่วง คือ ฆ่าสัตว์
(2) อทินนาทาน ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ ด้วยอาการแห่งขโมย
(3) กาเมสุมิจฉาจาร ประพฤติผิดในกาม
2. วจีกรรม 4 หมายถึง ความประพฤติไม่ดีที่แสดงออกทางวาจา 4 ประการ ได้แก่
(4) มุสาวาท พูดเท็จ
(5) ปิสุณาวาจา พูดส่อเสียด
(6) ผรุสวาจา พูดคำหยาบพูดเพ้อเจ้อ
(7) สัมผัปปลาปะ พูดเพ้อเจ้อ
3. มโนกรรม 3 หมายถึง ความประพฤติไม่ดีที่เกิดขึ้นในใจ 3 ประการ ได้แก่
(8) อภิชฌา โลภอยากได้ของเขา
(9) พยาบาท ปองร้ายเขา
(10) มิจฉาทิฏฐิ เห็นผิดจากคลองธรรม
สรุปว่า ทางที่จะทำชั่ว ทำบาปได้ มี 3 ทาง เมื่อนักศึกษาทราบดังนี้แล้ว จะต้องสำรวมระวัง ควบคุมกาย วาจา ใจ ไม่ให้พลาดพลั้งไปกระทำบาปอย่างเด็ดขาด โดยประพฤติตนตามหลักกุศลกรรมบถ 10 คือ ประพฤติตรงข้ามกับอกุศลกรรมบถ 10 หรือประพฤติตามหลักสุจริต คือ กายสุจริต วจีสุจริต และมโนสุจริต อันเป็นความประพฤติเพื่อความสะอาด ตามหลักคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดังที่กล่าวไว้ใน จุนทสูตร6) ว่า
พระศาสดาประทับอยู่ ณ สวนมะม่วงของนายจุนทกัมมารบุตร นายจุนทกัมมารบุตรได้กล่าวถึง ความสะอาด และวิธีการทำความสะอาดของพราหมณ์ ซึ่งต่างจากความสะอาดของพระอริยะ
พระศาสดาตรัสถึงความไม่สะอาดของพระอริยะ คือ การกระทำทุจริต 3 ทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ วิธีการทำความสะอาดของพระอริยะ หมายถึง ทำความสะอาดทางกาย คือไม่ฆ่าสัตว์ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม
ทำความสะอาดทางวาจา คือการละจากการพูดเท็จ ละจากการพูดส่อเสียด ละจากการพูดคำหยาบ ละจากการพูดเพ้อเจ้อ
ทำความสะอาดทางใจ คือ ไม่อยากได้ของคนอื่น ไม่มีความมุ่งร้ายคนอื่น และมีความเห็นถูก จากพระสูตรนี้ นักศึกษาจะเห็นว่า สิ่งที่ควรจะทำให้สะอาดบริสุทธิ์ มี 3 ทาง คือ กาย วาจา และใจ และทางแห่งการทำความชั่วก็มีอยู่ 3 ทางหลักๆ เช่นกัน
-------------------------------------------------------------------
4) เรื่องนายพรานกุกกุฏมิตร, อรรถกถาขุททกนิกาย คาถาธรรมบท, มก. เล่ม 42 หน้า 40.
5) เรื่องอุบาสกชื่อจุลกาล, ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท, มก. เล่ม 42 หน้า 222
6) จุนทสูตร, อังคุตรนิกาย ทสกนิบาต, มก. เล่ม 38 หน้า 427.
GL 203 กฎแห่งกรรม
กลุ่มวิชาเป้าหมายชีวิต